|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2549
|
|
ภาพของชายวัยทำงานในชุดสากลสีเรียบ เสื้อเชิ้ตสีขาวกลัดกระดุมคอ และผูกเนกไทอย่างประณีต ที่สัญจรไปมาอย่างขวักไขว่ในชั่วโมงเร่งด่วนของกรุงโตเกียว อาจเป็นภาพสามัญที่สถิตอยู่ในมโนสำนึกเมื่อกล่าวถึงญี่ปุ่น แต่สำหรับฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง ชุดแต่งกายที่เป็นประหนึ่งเครื่องแบบของ salaryman เหล่านี้ กำลังถูกผลักให้ out ไปโดยปริยาย
ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นของแนวคิดจากเหล่า fashion designer ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคมญี่ปุ่น หากเกิดขึ้นจากดำริของนักการเมืองหญิงที่หยิบเรื่องราวที่ดูจะเล็กน้อยมาสร้างให้เกิดเป็นกระแสสำนึกใหม่ได้อย่างมีสีสัน
Yuriko Koike เป็นนักการเมืองหญิงที่ได้รับการจับตามองและคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นสู่บทบาทสำคัญในทางการเมืองญี่ปุ่นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการคาดหมายว่าอาจจะได้รับเลือกและเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้
แม้ว่าการคาดหมายดังกล่าวอาจแปลกแยกออกจากความเป็นไปได้สำหรับสังคมญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสังคม male dominant มาอย่างยาวนาน แต่ความเป็นมาและเป็นไปของ Yuriko Koike กลับสะท้อนภาพที่ข้ามพ้นขีดจำกัดนานาประการไปก่อนหน้านี้แล้ว
Koike เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1952 ที่เมือง Ashiya จังหวัด Hyogo และผ่านการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก Konan Girl's Junior/Senior High School ก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในคณะสังคมวิทยา (School of Sociology) ที่มหาวิทยาลัย Kwansei Gakuin ในปี 1971
เรื่องราวว่าด้วยภูมิหลังทางการศึกษาของ Yuriko Koike อาจไม่มีสิ่งใดน่าสนใจติดตาม หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1972 เธอได้ย้ายเข้าศึกษาในคณะ Oriental Studies ของ American University of Cairo ที่ประเทศอียิปต์ เพื่อเรียนวิชา Arabic Intensive Course และเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย Cairo จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในปี 1976
เมื่อกลับสู่มาตุภูมิ Yuriko Koike เริ่มอาชีพด้วยการเป็นล่ามภาษาอาหรับ และก้าวเข้าสู่แวดวงสื่อมวลชนด้วยการเป็นผู้ประสานงาน และสัมภาษณ์ Yasser Arafat และ Qaddafi ให้กับ Nippon TV ก่อนผันตัวมาเป็นผู้ประกาศ ข่าวและผู้ดำเนินรายการให้กับทั้ง Nippon TV และ TV Tokyo ตั้งแต่เมื่อปี 1978 และต่อเนื่อง ยาวนานนับ 10 ปี
ชีวิตทางการเมืองของ Yuriko Koike เริ่มขึ้นในปี 1992 เมื่อเธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (House of Councillors) ในสัดส่วนของพรรค Japan New Party และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) จากเขตเลือกตั้งในจังหวัด Hyogo ในปีต่อมา
แม้ว่า Yuriko Koike จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนจากจังหวัด Hyogo อีกหลายครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งประกอบด้วยการยุบย้าย และสร้างพรรคใหม่ของกลุ่มขั้วการเมืองที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Yuriko Koike มีสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภา ภายใต้สังกัดของพรรคการเมืองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น New Frontier Party หรือ Liberal Party ซึ่งเธอมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งพรรค และ New Conservative Party ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Liberal Democratic Party (LDP) ในปัจจุบัน
ความน่าตื่นตาตื่นใจ ของ Yuriko Koike มิได้จำกัดอยู่เฉพาะบทบาทในตำแหน่งทางการเมืองหลากหลายตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่เธอโลดแล่นอยู่ หากประสบการณ์ในฐานะนักสื่อสารมวลชนทำให้ Yuriko Koike สนใจและให้ความสำคัญกับงานสารนิเทศและการประชาสัมพันธ์อย่างหาตัวจับยาก
ภายใต้สถานะของการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม พันธกิจเร่งด่วนของ Yuriko Koike ในด้านหนึ่งอยู่ที่การจัดวางมาตรการสำหรับลดปริมาณสารทำลายชั้นบรรยากาศให้สัมฤทธิผล ตามข้อกำหนดในปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) ขณะเดียวกันในฐานะเจ้าภาพจัดงาน World Exposition 2005 (Aichi Expo 2005) ภายใต้แนวคิดว่าด้วย Nature's Wisdom ซึ่งญี่ปุ่นพยายามจะนำเสนอเรื่องราวที่มีเนื้อหาหลักเน้นย้ำอยู่ที่ประเด็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นี่คือโอกาสสำคัญที่ Yuriko Koike ไม่ได้ปล่อยให้ผ่านเลยอย่างไร้ความหมาย
Yuriko Koike อาศัยโอกาสและเงื่อนไขดังกล่าวผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับโครงการ Cool Biz เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติสำหรับฤดูร้อนปี 2005 ได้อย่างลงตัว โดยแนวความคิดหลักและเป้าหมายของ Cool Biz ที่ชักชวนให้เหล่า salaryman ถอดเสื้อสากล คลายเนกไท และปลดกระดุมเสื้อเชิ้ตเม็ดบน อาจจะดูเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความจริงจังอย่างยิ่ง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของ Cool Biz อยู่ที่การระบุว่าปริมาณสารทำลายชั้นบรรยากาศ (ozone-depleting gases) ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างหนักหน่วงในช่วงอากาศร้อน ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นรณรงค์และเชิญชวนให้บรรษัทธุรกิจแต่ละแห่ง ตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศในสำนักงานไว้ไม่ให้เกิน 28 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงฤดูร้อนที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน แต่นโยบายดังกล่าวย่อมไม่สามารถเกิดผลในเชิงปฏิบัติได้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแต่งกายของพนักงานในสำนักงานเหล่านี้
Cool Biz เปิดตัวออกสู่สาธารณะอย่างมีสีสัน เมื่อ Junichiro Koizumi นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมด้วยบุคคลระดับนำในคณะรัฐบาล ต่างขานรับนโยบายดังกล่าวด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและเป็นพรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์ให้กับ Cool Biz ตั้งแต่เมื่อเริ่มโครงการ ขณะที่ Cool Biz กลายเป็นกุศโลบายที่เข้ามาเติมเต็มการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาลญี่ปุ่น และกำลังมีผลสืบเนื่องไปสู่มิติอื่นๆ อย่างกว้างขวางกว่าการเป็นนโยบายประหยัดพลังงาน และลดปริมาณสารเรือนกระจกอีกด้วย
แม้จะได้รับการตอบรับจากกลไกของหน่วยงานรัฐในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ Cool Biz ที่นำเสนอโดย Yuriko Koike นับเป็นสิ่งที่ท้าทาย ต่อวัตรปฏิบัติของผู้คนในโลกธุรกิจ ซึ่งถือเครื่องแต่งกายในชุดสากลผูกเนกไท เป็นประหนึ่งเครื่องแบบมานานกว่า 150 ปี อย่างไม่อาจเลี่ยง และด้วยเหตุที่สังคมญี่ปุ่นมีขนบและแบบแผนที่ยึดโยงอยู่กับโครงสร้างของลำดับชั้นการบริหาร การรณรงค์ให้นักธุรกิจและ salaryman หันมาแต่งกายแบบ Cool Biz ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรไม่ได้แสดงออกถึงฉันทามติที่จะยอมรับให้ Cool Biz เป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับการแต่งกายในช่วงฤดูร้อนของแต่ละปี
Yuriko Koike อาศัยเวทีการจัดงาน Aichi Expo 2005 เชิญชวนให้ผู้บริหารระดับสูงสุดของทั้ง Toyota, Fuji Xerox, Matsushita, Sanyo รวมถึง Shell Oil ให้เข้าร่วมเดินแบบ Fashion Show ชุด Cool Biz ซึ่งออกแบบโดย Hiroko Koshino ดีไซเนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่น และถือเป็นประหนึ่งการรับรอง Cool Biz ให้มีฐานะเป็น dress code ที่ไม่แปลกแยกออกจากสังคมธุรกิจญี่ปุ่นอีกต่อไป
ผลจาก Cool Biz ที่มีต่อแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะรูปแบบของเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนไปเท่านั้น หากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการออกแบบและการใช้วัสดุเส้นใยจากธรรมชาติในการตัดเย็บ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศญี่ปุ่น เริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า Cool Biz อย่างเอิกเกริก ซึ่งมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาไม่น้อย
ขณะเดียวกัน Yuriko Koike ประเมินว่าการรณรงค์เรื่อง Cool Biz จะมีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากถึง 460,000 ตัน ซึ่งเทียบได้กับปริมาณ CO2 ที่ปล่อยจาก 1 ล้านครัวเรือนต่อเดือนเลยทีเดียว
ความสำเร็จของจุดเริ่มต้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ Yuriko Koike เชิญคณะรัฐมนตรี นักการเมืองและทูตานุทูตนานาประเทศ เข้าร่วมในกิจกรรม fashion show ชุด Cool Biz ที่ Omotesando Hills เขต Shibuya ศูนย์กลางแฟชั่นชั้นนำอีกแห่งของกรุงโตเกียว ในปี 2006 เพื่อเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง และเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายของ Cool Biz ให้กว้างขวางขึ้นอีก แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับความพยายามของ Yuriko Koike ที่จะขยายเรื่องราวของ Cool Biz ให้เป็นวาระของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของเครื่องแต่งกายในฤดูร้อน (Cool Biz) หรือเครื่องแต่งกายฤดูหนาว (Warm Biz) เท่านั้น
หาก Yuriko Koike กำลังดำเนินการยื่นขอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยวัสดุห่อหุ้มและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย 3Rs (Reduce, Reuse and Recycle) ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม และมาตรการทางเศรษฐกิจการค้า ของญี่ปุ่นทั้งระบบในอนาคต
บางที Cool Biz by Yuriko Koike อาจทำให้ประเทศคู่ค้าของญี่ปุ่นต้องสะท้าน หนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกัน
|
|
|
|
|