Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2539
ม.ล. ชัยวัฒน์ ชยางกูร MD ไทยคนแรกที่ DEC             
 


   
search resources

ดิจิตอล อีควิปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น
ชัยวัฒน์ ชยางกูร, ม.ล.




ม.ล.ชัยวัฒน์ ชยางกูร กรรมการผู้จัดการบริษัทดิจิตอล อีควิปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม นอกจากจะเป็นเอ็มดีไทยคนแรกของบริษัทข้ามชาติแห่งนี้แล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้จุดประทัดได้ดังกว่าใครในดิจิตอลอีกด้วย นับเป็นสไตล์ที่ต่างจากดอน คาร์คีค กรรมการผู้จัดการที่หมดวาระลง

ในตลาดที่เบียดอัดกันแน่น หลายบริษัทข้ามชาติเริ่มมอบตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดให้แก่นักการตลาดมากกว่าวิศวกร ดูเหมือน ม.ล.ชัยวัฒน์ เข้าใจเป็นอย่างดีว่า กลยุทธ์ง่าย ๆ คือการสร้างความกระหึ่มให้แก่บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งยังมิอาจกล่าวได้ว่า มีชื่อคุ้นหูคนไทย

ความกระหึ่มประการแรก คือ ประกาศว่าจะเป็นที่ 1 แทนไอบีเอ็ม ภายในปี 2000 สร้างความคึกคักให้แก่วงการคอมพิวเตอร์ยิ่งนัก นี่เป็นการวางเป้าหมายสูงซึ่งก่อให้เกิดความกระตือรือร้น และความกดดันแก่พนักงาน แต่มันก็เป็นสไตล์ฝรั่งที่มีความหมายระหว่างบรรทัดว่า ถ้าไม่แน่จริง ไม่ขยันขันแข็งจริง คุณก็คงก้าวหน้าที่ดิจิตอลไม่ได้

สำหรับคลาดที่เบียดอัดกันแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องโน้ตบุ๊ค เดสก์ท็อป เวิร์กสเตชั่น เซิร์ฟเวอร์ แม้กระทั่งการขายชิป กลยุทธ์ในทำนองนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะนำมาใช้เสมอ แต่บ่อยครั้งก็เป็นการวางกับดักตนเอง

คำพูดเป็นนายตนเอง ม.ล.ชัยวัฒน์ คงไม่จ๊าบเกินไปจนไม่เคยได้ยินภาษิตข้อนี้

ชัยวัฒน์ ในสไตล์ผู้บริหารอารมณ์ดีกล่าวว่า "วนารักษ์เขาโทรมาแสดงความยินดีกับผม ผมก็บอกกับเขาว่า คุณไม่ต้องไปคิดอะไรมากหรอก เมื่อถึงปี 2000 ซึ่งดิจิตอลเป็นที่ 1 แทนไอบีเอ็ม ในเวลานั้นคุณก็คงออกจากตำแหน่งเอ็มดีไอบีเอ็มแล้ว"

วนารักษ์ คนนี้ก็คือวนารักษ์ เอกชัย กรรมการผู้จัดการไอบีเอ็มประเทศไทยนั่นเอง ฟังถ้อยคำแบบอารมณ์ดีของ ม.ล.ชัยวัฒน์แล้ว ไม่รู้ว่า "คุณโจ" จะต้องฝืนยิ้มหรือไม่ แต่ทั้งสองคนก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนไดบีเอ็มมาด้วยกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ ม.ล.ชัยวัฒน์ สร้างความกระหึ่มขึ้นมาคือ การคิดจะย้ายออฟฟิศใหญ่ย่านบางนาเข้ามาอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันดิจิตอลมีออฟฟิศใหญ่อยู่ที่ หมู่ 14 ถนนบางนา-ตราด กม.6 ตำบลบางแล้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายขาย ศูนย์ฝึกอบรมลูกค้า ศูนย์บริการซ่อมบำรุงรักษา สำนักงานกรรมการผู้จัดการ ความห่างไกลขนาดนี้ไม่ว่านักข่าวหรือลูกค้า ต่างบ่นกันพึมว่า ไม่รักกันจริงไม่ไปหาหรอก

ดังนั้นเหตุผลที่ ม.ล.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า "ต้องการย้ายออฟฟิศ เพื่อใกล้ชิดลูกค้า และบริการลูกค้า ส่วนที่บางนาจะคงหน่วยงานไว้ส่วนหนึ่ง" นับว่าเป็นแนวคิดที่น่าเลื่อมใส

เหนืออื่นใด การเข้ามาบริหารของเขาแสดงว่า ดิจิตอลถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ จากบริษัทเทคโนโลยี เป็นบริษัทการตลาดอย่างเต็มตัว จึงต้องเลือกนักการตลาดซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเข้ามาบริหาร

รายได้สำคัญของดิจิตอลนั้นอยู่ที่ตลาดองค์กร ไม่ใช่ตลาดคอนซูเมอร์ และวิธีการขายของดิจิตอลนั้นก็เน้นที่การขายระบบ จึงต้องการผู้บริหารท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์กว้างขวาง พูดกับคนไทยรู้เรื่อง ในขณะเดียวกันก็พูดกับฝรั่งแล้วเข้าใจ

คุณลักษณะเด่นของ ม.ล.ชัยวัฒน์คือ เคยอยู่ในวัฒนธรรมฝรั่งเช่น ไอบีเอ็ม และอยู่ในสไตล์ท้องถิ่น เช่นสยามกลการ นับว่าเข้าตาดิจิตอลทีเดียว นอกจากนี้เขายังมีความชำนาญในเรื่อง EXHIBITION และการทำ ROAD SHOW ทั้งยังเคยประสบความสำเร็จในการขายเป็นล็อตใหญ่ เช่น ในสมัยอยู่ไอบีเอ็ม เคยทำโปรเจ็กต์ที่สยามกลการและบริษัทในเครือ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

ผู้บริหารท้องถิ่นของดิจิตอลในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ล้วนทำให้ดิจิตอลเติบโตกันแบบก้าวกระโดด ในอินโดนีเซียขยายตัว 60% ในมาเลเซียขยายตัว 80% ดังนั้นการที่จะฝากความหวังไว้ว่า ม.ล.ชัยวัฒน์จะทำให้ยอดขายของดิจิตอลเพิ่มขึ้นอีก 50% จึงไม่น่าที่จะเป็นฝันไกลนัก เพราะมอบอำนาจหน้าที่ให้เต็มที่ บริษัทแม่เพียงแต่เขียนไกด์ไลน์ให้เท่านั้นเอง

นี่เป็นไพ่เด็ดอีกใบหนึ่งของดิจิตอล ซึ่งเป็นเสมือนคนเรียนดีมาโดยตลอด กล่าวคือมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล้ำเลิศจนลูกค้าต้องง้อและต้องวิ่งเข้าหา ไม่ต่างจากฮิวเลตต์ แพคการ์ด ไอบีเอ็ม และแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ในอดีต

บริษัทเหล่านี้ต่างเป็นบริษัท R&D มีการตั้งงบประมาณทางด้านนี้ไว้สูงมาก คือ 10-20% เนื่องจากเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีที่สูงส่งทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ จะช่วยเพิ่มจอดขายในตลาด แต่การตลาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ได้ตอกย้ำชัดเจนว่าเทคโนโลยีล้ำเลิศอย่างเดียวไม่ช่วยให้เป็นผู้ชนะ แต่อาจจะทำให้ขาดทุนและพ่ายแพ้ได้

ตัวอย่างที่เห็นดันได้อย่างชัดเจนก็คือ แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ แม้การเป็นระบบปิดที่มีเทคโนโลยีเหนือใคร ทั้งในเรื่องชิป และระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จะทำให้แอปเปิ้ลได้มาร์จิ้นสูงในระยะแรก เพราะขายในราคาแพง แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มตามกันทัน ในขณะที่ค่ายอื่นมีราคาถูกกว่า ก็เท่ากับแอปเปิ้ลทำร้ายตัวเองในแบบโดมผู้จองหองนั่นเอง

สิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการตลาด และเกมการตลาดมากกว่า เพราะทุกวันนี้ยุคสมัยที่ตลาดเป็นของผู้ขายนั้นหมดไปแล้วจากวงการคอมพิวเตอร์

ดิจิตอลเริ่มมีจำหน่ายในไทยในปี 1987 และตั้งสำนักงานประจำประเทศไทยขึ้นในปี 1988 สินค้าของดิจิตอลนั้นได้แก่คอมพิวเตอร์ในตระกูล PDP VAX DEC ALPHA AXP ซึ่งมีขีดความสามารถตั้งแต่การใช้งานส่วนบุคคล ไปจนถึงเครื่องเมนเปรมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่

ดิจิตอลเฟื่องฟูมาตลอดในตลาดการเงินการธนาคารอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งยังเป็นบริษัทที่ออกแบบซอฟต์แวร์ และเชี่ยวฃาญระบบเน็ตเวิร์กอีกด้วยแต่การที่มีคู่แข่งหนาแน่นก็ทำให้ผู้นำเทคโนโลยีแบบดิจิตอล เริ่มต้องสั่งสมฝีมือด้านการตลาด ทั้งนี้ ชิปอัลฟ่าซึ่งเป็นชิปที่เร็วที่สุดของดิจิตอล ก็ไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง

ดังนั้น ม.ล.ชัยวัฒน์ จึงต้องเปลี่ยนบริษัท R&D แห่งนี้ให้เป็นบริษัทการตลาด โดยการเดินเกมรุก อาศัยสายสัมพันธ์เพื่อสร้างเม็ดเงินจากการขายเป็นระบบ ปัญหาของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี คือ เมื่อเทคโนโลยีที่ตนเองผลักดันออกมาไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่อยากที่จะยุบสายงานที่เกี่ยวข้องทิ้ง เพราะเสียดายงบวิจัยพัฒนาที่ลงไปแล้วมหาศาล จึงต้องเดินเกมยุทธศาสตร์ขายเป็นระบบ เพื่อให้โปรดักส์ทุกตัวเกื้อหนุนกัน

"ผมไม่หนักใจในการประกาศให้ดิจิตอลเป็นที่ 1 เพราะเรามีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ที่เหลืออยู่ก็คือการเข้าถึงลูกค้าแนะนำให้เขารู้จัก และสร้างความกระหึ่มขึ้นมาให้ได้ ต่อไปคนจะต้องจดจำชื่อดิจิตอลได้เหมือนกับไอบีเอ็ม"

สิ้นปีงบประมาณที่ผ่านมา ดิจิตอลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการเติบโตทางธุรกิจคือ อัลฟ่าเซิร์ฟเวอร์ 55% เวิร์กสเตชั่น 250% ธุรกิจครบวงจรรวมระบบ 60% พีซี 27% บำรุงรักษา 40%

นี่เป็นภาพจำลองที่พอเทียบเคียงกับประเทศไทยได้ ซึ่งแผนงานของชัยวัฒน์ก็คือการขายเป็นระบบเคียงคู่ไปกับการมีพันธมิตรชั้นนำอย่างออราเคิล ไมโครซอฟท์ และแน่นอนว่าจะต้องนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้กับสินค้าและการขายด้วย

ก็แค่ข้ามเดือนเองที่ ม.ล.ชัยวัฒน์เข้าไปชิมลางที่ดิจิตอล

อันที่จริง ภารกิจของเขาน่าจะเป็นเรื่องภายในมากกว่าเรื่องภายนอก นั่นคือการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการเป็นนักการตลาดมากขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนการแถลงข่าวอย่างแน่นอน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us