เคยรู้สึกไหมครับว่า ทำไมรายการโทรทัศน์ในฟรีทีวีทั้งหลายของประเทศไทยถึงมีแต่รายการน่าเบื่อ รายการที่ไม่ตรงใจเรา หรือมีรายการที่ตรงใจแต่มีน้อยจนเกินไป
แฟนละครของคุณกบ สุวนันท์ อาจจะอยากดูบทบาทของเธอรวดเดียวจบ ไม่ต้องมานั่งรอดูสัปดาห์ละสองวัน เกิดสัปดาห์ไหนงานยุ่งขึ้นมากลับมาบ้านไม่ทัน และบังเอิญว่ามันเป็นตอนอวสานเสียด้วย มันเหมือนที่ดูมาทั้งหมดแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าพลาดตอนนั้นเพียงตอนเดียว
เหมือนหลายๆ คนต้องเลือกระหว่างการไปร่วมม็อบคุณสนธิกับแดจังกึม ซึ่งก็ตัดสินใจยากพอๆ กับการเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิต
หลายคนเลือกที่จะเสพรายการจากเคเบิลทีวีซึ่งมีช่องเฉพาะที่สามารถตอบสนองความชอบส่วนตัว เช่น ช่องเอ็มทีวีที่มีแต่รายการเพลงและมิวสิกวิดีโอ, ช่องกีฬาที่มีฟุตบอล, บาสเกตบอล หรือกีฬาอื่นๆ ให้ดูจนตาแฉะ, ช่องเอชบีโอที่เปิดโอกาสให้เรานั่งๆ นอนๆ ดูภาพยนตร์ทั้งวันทั้งคืน หรือช่องซีรี่ส์ที่ออกมาตอบสนองแฟนหนังซีรี่ส์ทั้งหลาย
ทางเลือกของเคเบิลทีวีเป็นอีกทางออกหนึ่งที่เราสามารถเลือกรายการได้ระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นทางออกที่ยังจำกัดอยู่ดี เพราะไม่มีใครนั่งดูฟุตบอลได้ทั้งวันทั้งคืน พวกเขาย่อมอยากฟังเพลงบ้าง และดูหนังบ็อกซ์ออฟฟิศบ้างเช่นกัน และถ้ารายการเหล่านี้เกิดฉายพร้อมกันในแต่ละช่องขึ้นมาล่ะ พวกเขาก็ต้องลำบากใจที่จะต้องตัดสินใจอีกครั้ง
ความต้องการที่หลากหลายและเฉพาะตัว บวกกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย, รวดเร็ว และต้นทุนต่ำลง กำลังจะเข้ามาตอบสนองตลาดกลุ่มนี้แล้ว โดยทำให้ผู้ชมสามารถออกแบบโปรแกรมรายการโทรทัศน์ของตัวเองได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจครั้งสำคัญมาจากวงการเพลงของประเทศสหรัฐอเมริกา มาถึงยุคตกต่ำในช่วงหลายทศวรรษหลังที่ผ่านมา เนื่องจากโมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมเพลงที่พยายามฝืนใจลูกค้ามาโดยตลอด ทั้งๆ ที่สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ พวกเขาต้องการสินค้าที่สามารถติดตัวไปไหนมาไหนได้ง่าย (โซนี่วอล์คแมนเข้ามาอุดช่องว่างนี้ได้เกือบสมบูรณ์), พวกเขาสามารถเลือกสรรได้ (ซีดีเถื่อนประเภทรวมเพลงเอ็มพีสามทั้งหลายน่าจะตอบโจทย์ได้ถูกระดับหนึ่ง), และพวกเขาต้องการซื้อเฉพาะเพลงที่พวกเขาชอบ ในขณะที่อีกเกือบสิบเพลงที่เหลือในอัลบั้มพวกเขามองว่า มันเป็นขยะ (พวกเขาจึงไปเลือกหาจากซีดีเอ็มพีสาม ส่งผลให้ธุรกิจอัดเพลงใส่แผ่นเถื่อนเฟื่องฟูในช่วงระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับเว็บไซต์ Napster)
ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้กำเนิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ มากมาย แต่วงการเพลงก็ยังคงพยายามข่มขืนใจผู้บริโภค พวกเขากลัวการสูญเสียรายได้อย่างหนักถึงขนาดที่ปฏิเสธเทคโนโลยีการดาวน์โหลดเพลงใดๆ นั่นทำให้ผู้บริโภคต้องดิ้นรนเอง จึงเป็นที่มาของ Napster ที่กลายเป็นข้อพิพาทครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเพลง และเกือบทำให้วงการธุรกิจเพลงเกือบล่มสลายไป ถ้าไม่มีศาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
วงการเพลงพยายามเดินหน้าในทางสร้างศัตรู โดยการอาศัยกฎหมายมาจัดการกับลูกค้าของตน ในขณะที่ iTunes ของแอปเปิล เริ่มต้นขายเพลงโดยลูกค้าสามารถเลือกดาวน์โหลดเพลงที่ต้องการได้ในราคา 99 เซ็นต์ต่อเพลง โมเดลธุรกิจใหม่นี้ตอบโจทย์ที่ผู้บริโภคต้องการได้ทั้งสามข้อ คือ พวกเขาต้องการสินค้าที่สามารถติดตัวไปไหน มาไหนได้ง่าย, พวกเขาสามารถเลือกสรรได้, และพวกเขาต้องการซื้อเฉพาะเพลงที่พวกเขาชอบ และทำให้แอปเปิลฟื้นคืนชีพอีกครั้งในอุตสาหกรรมไอทีโลก
ปลายปีที่แล้ว แอปเปิลขยายธุรกิจไปสู่รายการโทรทัศน์โดยเปิดขายรายการของสถานีโทรทัศน์ ABC และดิสนีย์ผ่านทาง iTunes ซึ่งมีลูกค้ากว่าหนึ่งล้านรายดาวน์โหลด รายการผ่านทาง iTunes เพียงไม่กี่วันหลังเปิดตัว
โมเดลธุรกิจใหม่ในวงการโทรทัศน์นี้อาจจะก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ครั้งใหญ่ และเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตรายการยังสามารถเป็นอิสระจากอิทธิพลของผู้ลงโฆษณาทั้งหลายด้วย และนำไปสู่การสร้างสรรค์รายการที่ดีขึ้นและหลากหลายขึ้น พวกเขาไม่ต้องประนีประนอมกับสถานี ขณะเดียวกับที่พวกเขาไม่ต้องเอาใจผู้ชมสุดๆ
รายการโทรทัศน์สามารถทำยาวหรือสั้นได้ตามต้องการ ไม่ต้องติดกับข้อจำกัดเรื่องเวลาเหมือนในทุกวันนี้ เนื้อหาสามารถทำให้ซับซ้อนขึ้น, เข้มข้นขึ้น, มีประเด็นมากขึ้น, ไม่จำเป็นต้องดำเนินเรื่องฉับไวโดยทิ้งรายละเอียดสำคัญๆ หลายๆ อย่างทิ้งไป และพวกเราก็ไม่ต้องมานั่งรอดีวีดีหลายๆ เวอร์ชั่น ตั้งแต่เวอร์ชั่นฉายจริงในเมืองไทย เวอร์ชั่น ฮอลลีวู้ด, ไดเร็กเตอร์คัต, ฉากที่ถูกตัดทิ้งหรือเวอร์ชั่นของใครคัตอีกมากมาย
นอกจากนี้บางครั้งภาพยนตร์ซีรี่ส์ทั้งหลายเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ผู้ชมต้องมีพื้นความรู้ที่มาของเรื่องในบางฉากบางตอน ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ชมหน้าใหม่ที่พวกเขาอาจจะตัดสินใจไม่ดูเพราะไม่ได้ดูตั้งแต่ต้น ซึ่งซีรี่ส์เหล่านี้จะต้องตัดฉากบางฉากมาเพื่อเล่าเรื่องย่อๆ ให้ทราบถึงที่มาที่ไปก่อน แต่ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่นี้ ทางผู้ผลิตสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการแนะนำให้ผู้ชมซื้อตอนที่เกี่ยวข้องไปชมก่อน ทำให้พวกเขาไม่เสียลูกค้ารายใหม่และรักษาลูกค้ารายเก่าที่ไม่ต้องมานั่งฟังเรื่องเก่าซ้ำไปซ้ำมาด้วย
ทุกวันนี้ การผลิตรายการใดๆ ล้วนตกอยู่ในวัฏจักรเดียว คือ ถ้าคนดูส่วนใหญ่ไม่ชอบรายการนั้นก็ตกผังไป แม้บางครั้งรายการจะถูกมองว่าผลิตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ถ้าไม่สอดคล้องกับผู้ชมส่วนใหญ่ รายการก็อยู่ไม่ได้ ความหลากหลายของรายการโทรทัศน์จึงมีค่อนข้างต่ำ
การดาวน์โหลดรายการโดยตรงยังเป็นการเช็กกระแสความชื่นชอบของผู้ชมไปในตัวด้วย และมีผลต่อการวางแผนการผลิตรายการในอนาคต โดยพิจารณาจากรายได้โดยตรงที่ได้รับจากการดาวน์โหลดนั้น นอกจากนี้ถ้ารายการยังไม่ได้รับรายได้ที่มากพอ พวกเขาอาจจะเปลี่ยนรูปแบบโดยการให้ผู้ชมดาวน์โหลดไปชมฟรี เพียงแต่ต้องแลกกับการเพิ่มโฆษณาเข้าไปในรายการ นั่นทำให้พวกเขายังคงมีรายได้ที่จับต้องได้อยู่
นอกจากนี้ยังมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้ชมที่เชื่อมือผู้ผลิตอาจจะยอมจ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับรายการใดๆ ทั้งซีซั่น (ทั้งภาค) ซึ่งเงินส่วนนี้จะกลายเป็นเงินทุนเริ่มต้นสำหรับช่วยในการผลิตงานได้ โดยทางผู้ผลิตอาจจะตั้งราคาที่ต่ำสำหรับการจ่ายล่วงหน้า และตั้งราคาที่สูงขึ้นเมื่อออกฉายจริงแล้ว
ที่สำคัญ รายการต่างๆ เหล่านี้จะมีตลาดกว้างขึ้น โดยครอบคลุมไปทั่วโลก มิได้จำกัดอยู่เพียงตลาดภายในประเทศของผู้ผลิตเท่านั้น นั่นทำให้ผู้ชมในต่างประเทศไม่ต้องรอว่าเมื่อไรจะมาฉายในประเทศของตนบ้างด้วย และจะช่วยลดกรณีซีดี/ดีวีดีเถื่อนลงไปได้ระดับหนึ่ง
แต่คำถามสำคัญก็คือ คอมพิวเตอร์จะมาแทนที่โทรทัศน์ได้หรือไม่
ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการแทนที่โทรทัศน์ด้วยคอมพิวเตอร์คือเรื่องของแบนด์วิธนั่นเอง ในขณะที่วงการเพลง เปิดศักราชใหม่ด้วย iTunes ซึ่งผู้ฟังใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเพื่อดาวน์โหลดเพลงสักหนึ่งเพลงไปฟัง แต่สำหรับภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ใดๆ พวกเขาต้องการเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อให้ได้ไฟล์ภาพที่คมชัด (แม้กระทั่งระดับพอดูได้ก็ตาม)
ที่ผ่านมา iTunes ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะปัญหาก็คือ ไม่มีใครอยากมานั่งดูรายการต่างๆ ผ่านหน้าจอขนาด 2.5 นิ้ว (ซึ่งอาจจะใช้เวลาดาวน์โหลดน้อยกว่าไฟล์สำหรับเล่นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพราะภาพคมชัดน้อยกว่า) แต่ทุกวันนี้ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล, ยาฮู และไมโครซอฟท์ ต่างก็กำลังเข้าร่วมในสงครามโทรทัศน์อย่างเต็มตัวแล้ว เช่นเดียวกับผู้ครองตลาดโทรทัศน์ในปัจจุบันก็กำลังหาทางออกที่ดีที่สุด และสามารถตอบสนองโมเดลธุรกิจใหม่ได้เนียนที่สุด
BitTorrent ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเป็นการใช้รูปแบบการแลกเปลี่ยนไฟล์ระหว่างกัน โดยเราสามารถดาวน์โหลดไฟล์จากผู้ใช้คนใดก็ตามที่มีไฟล์ที่เราต้องการ เช่นเดียวกับที่เรายอมให้เขาดาวน์โหลดไฟล์จากเราไป โดยสามารถลดปัญหาคอขวดของการส่งข้อมูลได้โดยการแบ่งไฟล์ออกเป็นส่วนย่อยๆ และดาวน์โหลดจากผู้ที่มีไฟล์นี้หลายๆ คน นั่นคือ ถ้าไฟล์นั้นเป็นที่นิยมก็มีคนเก็บไฟล์นั้นอยู่หลายคน จึงสามารถดาวน์โหลดแต่ละส่วนจากหลากหลายแหล่งซึ่งทำให้ดาวน์โหลดได้เร็วขึ้น และจะแก้ปัญหาคอขวดได้มากกว่า ซึ่งก็มีเว็บไซต์ของคนไทยหลายเว็บที่ให้บริการในลักษณะนี้แล้ว โดยกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์กลุ่มหนึ่ง และมีแนวโน้มจะขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนไฟล์ในลักษณะนี้ยังสุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ เพราะเป้าหมายของ BitTorrent เพื่อแลกเปลี่ยนไฟล์โดยอาศัยซอฟต์แวร์ BitTorrent มิใช่เป้าหมายเฉพาะเจาะจงเพื่อแลกเปลี่ยนภาพยนตร์ที่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งกรณีของ BitTorrent อาจจะลงเอยเหมือนกับ Napster ในอนาคตได้ทางออกที่สวยที่สุดน่าจะทำเหมือนกับที่ สตีฟ จ็อบส์ ทำไว้กับ iTunes โดยวงการโทรทัศน์จะต้องอาศัย BitTorrent หรือซอฟต์แวร์ในลักษณะเดียวกันเป็นเครื่องมือในการกระจายสินค้าของพวกเขาเอง
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของผู้ผลิตรายการต่างๆ ก็คือ เริ่มมีการผลิตรายการเพื่อให้ผู้ชมทดลองดาวน์โหลดมาชมฟรีมากขึ้นแล้ว และหลายๆ เจ้าก็เตรียมไฟล์ให้ดาวน์โหลดเพื่อชม (และเก็บเงิน) หลังรายการออกอากาศจริงหนึ่งวันหรือระยะหนึ่ง ซึ่งเราก็พอเห็นบ้างในเมืองไทยที่เราสามารถชมผ่านไฮสปีดอินเทอร์เน็ต (ทั้งรายการสดประเภทเรียลลิตี้และรายการย้อนหลังบางรายการ)
ในขณะที่ราคาของ HDTV จอยักษ์ที่ราคาเริ่มลดลงเรื่อยๆ ก็ทำให้ความต้องการไฟล์วิดีโอที่มีคุณภาพของภาพและเสียงที่ดีเพิ่มมากขึ้นถ้าต้องการนำคอมพิวเตอร์มาแทนที่โทรทัศน์จริงๆ ซึ่งหลายๆ คนก็มองข้ามช็อตไปถึงการส่งภาพวิดีโอคุณภาพสูง, ความละเอียดสูงแบบเรียลไทม์ผ่านอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว ซึ่งอนาคตอันใกล้คงยังไม่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ แต่ถ้าอีกสิบปีข้างหน้าอาจจะเป็นไปได้ (ต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงในวงการเทคโนโลยีมักมาเร็วกว่าการคาดการณ์เสมอ)
นั่นคือ ณ ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์คงยังไม่สามารถมาแทนที่โทรทัศน์ได้สำหรับรายการประเภทเรียลไทม์ พวกเขาต้องการแบนด์วิธที่สูงขึ้น เพื่อส่งภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น ทุกวันนี้การดูรายการผ่านทางคอมพิวเตอร์ อาจจะดูใช้ได้ระดับหนึ่ง เพราะเราดูบนหน้าจอเล็กๆ แต่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคต้องการดูภาพความละเอียดระดับ 1,280 x 768 พิกเซลบนจอพลาสมาขนาด 50 นิ้ว ซึ่งไฟล์วิดีโอของสถานี ABC ระดับ 700 x 394 พิกเซล ยังใช้ไม่ได้ (แต่ดูดีบนจอ โน้ตบุ๊กส่วนตัวของเรา)
ภาพวิดีโอคุณภาพระดับดีวีดีต้องการคุณภาพการส่งระดับ 1.5-5 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งห่างจากแบนด์วิธตามบ้านในทุกวันนี้แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง (ยังไม่ต้องพูดถึงประเทศไทย) ในขณะที่ถ้าต้องการคุณภาพความละเอียดสูงก็ต้องการคุณภาพการส่ง 5-7 เมกะบิตต่อวินาที และที่ต้องไม่ลืมก็คือ หลายๆ บ้านมีโทรทัศน์มากกว่าหนึ่งเครื่อง นั่นหมายความว่า ถ้าลูกสาวอยากดูละครและลูกชายต้องการดูฟุตบอลซึ่งเป็นรายการคนละช่องกัน แบนด์วิธที่ต้องการก็จะต้องเพิ่มเป็นสองเท่า ยังไม่รวมพ่อและแม่ที่อาจจะอยากดูรายการอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน นั่นทำให้การดาวน์โหลดภาพวิดีโอเพื่อดูแบบเรียลไทม์คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฝ่าด่านปัจจุบันที่ผู้คนรับชมผ่านเสาโทรทัศน์, เคเบิล หรือดาวเทียม ด้วยคุณภาพที่ดีกว่า
แม้รายการแบบเรียลไทม์ประเภทข่าวด่วน, ผลกีฬา, หรือผลการโหวตออกจากบ้านบิ๊กบราเธอร์ คุณภาพแบนด์วิธปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองได้ แต่เมื่อดูถึงเหตุผลแล้วก็ยังไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ในเมื่อทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็มีโทรทัศน์อยู่ที่บ้านอยู่แล้ว พวกเขาสามารถดูผ่านโทรทัศน์ได้ แต่เมื่อมองถึงการดาวน์โหลดเพื่อมาชมในภายหลังแล้ว ไฟล์วิดีโอก็น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ชมแต่ละคนที่อยากจะดูเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ดูๆ หยุดๆ ก็ได้ โปรแกรมรายการโทรทัศน์จึงออกแบบได้ แต่คอมพิวเตอร์คงยังไม่สามารถมาแทนที่โทรทัศน์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
อ่านเพิ่มเติม
1. Captain, S. (2006), Forget YouTube, http://www.slate.com/id/2140930
2. Askwith, I. (2005), TV You'll Want To Pay For, http://www.slate.com/id/2129003/
3. Penenberg, A. L. (2005), The Death of Television, http://www.slate.com/id/2128201/
4. Boutin, P. (2006), A Grand Unified Theory of YouTube and MySpace, http://www.slate.com/id/2140635/
5. BitTorrent, http://www.bittorrent.com/
6. iTunes, http://www.apple.com/itunes/overview/
|