|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2549
|
|
เมื่อตลาดยังมีปัจจัยความเสี่ยงมารุมล้อม ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าแบงก์จะเพิ่มความถี่ถ้วนในการพิจารณาเงื่อนไขแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้กู้ก่อนอนุมัติสินเชื่อ และระดับความเข้มข้นนี้อาจเป็นเรื่องที่ผู้ยื่นขอเงินกู้ควรคำนึงถึงให้มาก
เป็นเวลา 5 เดือนมาแล้วที่นวรัตน์ สาวโสดวัย 29 ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานการเงินแผนกบัญชีในบริษัทข้ามชาติ ต้องรัดเข็มขัด ยอมหั่นค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่จำเป็นลง เพราะแต่ละเดือนเธอต้องผ่อนดาวน์ห้องชุด และต้นปีหน้า เธอก็ต้องยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารแล้ว แม้ยังไม่รู้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไร แต่คาดว่าอย่างไร ก็คงต้องจ่ายแพง
ในภาวะอัตราดอกเบี้ยแพง การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจเข้มงวดขึ้นกว่าแต่ก่อน เดือนนี้จึงเป็นเดือนเริ่มต้นที่นวรัตน์อาจต้องเฉือนค่ากินค่าเที่ยวลงมาอีก เพื่อให้แน่ใจว่าในแต่ละเดือนเธอจะรักษาสัดส่วนเงินออมต่อค่าใช้จ่ายของเธอไว้ได้ที่ 60 ต่อ 40 จากที่ราคาสินค้าต่างๆ อาจมีราคาแพงขึ้น เพราะตรงนี้ ถือเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้กู้ที่ธนาคารต่างๆ จะนำมาเป็นเงื่อนไขในอนุมัติสินเชื่อ
โดยยังไม่นับรวมเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจมีตามมา เช่นความมั่นคงของบริษัทที่ผู้กู้ทำงาน ซึ่งในเวลานี้เจ้าหน้าที่ประจำสาขาของธนาคารกรุงเทพบอกเธอว่า ธนาคารคงต้องหันมาดูเงื่อนไขตัวนี้บ้างแล้ว เพราะต้นทุนภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นอย่างแรง จากนโยบายดอกเบี้ยสูงต่อเนื่องของทางการ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากแรงดันน้ำมันที่มีราคาแพงต่อเนื่องหลายรอบ
นวรัตน์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่จะขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อขนาดไหน ทั้งยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรอีกบ้างที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เธอจึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าพยายามยึดวินัยการใช้จ่ายไว้อย่างเหนียวแน่นหลังจากที่เธอเริ่มมีภาระหนี้สินแล้ว
แต่ไหนแต่ไรมา เธอไม่เคยอยากรู้เงื่อนไขแคมเปญเงินกู้ซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งที่เป็นเวลาหลายปีแล้วที่แคมเปญแบบนี้ถือเป็นเทรนด์หลัก ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผูกขึ้นเป็นความร่วมมือ เพื่อปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยซบเซาอย่างหนักจากยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และสร้างฐานสินเชื่อรายย่อยในธนาคารที่ยังเข็ดกับหนี้เสียจากการปล่อยกู้ธุรกิจรายใหญ่ในยุคเฟื่องฟู
กระทั่งปลายปีก่อน ที่เธอตัดสินใจซื้อห้องชุดราคาล้านต้นๆ จากโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งเปิดตัวขึ้นแถวๆ ส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นวรัตน์ผู้ไม่เคยคิดกู้เงินธนาคารพาณิชย์ กลับต้องมาใช้วันหยุดสุดสัปดาห์กับการเดินเข้าออกตามสาขาของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเปิดให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอดูเงื่อนไขสินเชื่อแคมเปญเงินกู้ซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และลองขอคำแนะนำด้านการเลือกใช้บริการจากเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์
เจ้าหน้าที่ที่สาขาธนาคารไทยพาณิชย์บอกเธอว่า การจะตัดสินใจเลือกแคมเปญแบบใดนั้นขึ้นกับมุมมองการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของตัวผู้กู้เอง และหากใครที่เชื่อว่าดอกเบี้ยจะยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป ก็ควรเลือกแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ให้ระยะเวลาในการคงดอกเบี้ยยาวที่สุด เพราะจะช่วยให้ผู้กู้ตัดยอดเงินต้นลงอย่างเท่ากันทุกๆ เดือนในช่วงต้นของการผ่อนส่งค่างวด
แต่หากเชื่อว่าดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาลงแล้ว ควรเลือกแคมเปญดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เพราะจะช่วยให้มีเงินส่วนเกินจากดอกเบี้ยที่ลดลง มาช่วยลดยอดส่วนที่เป็นเงินต้นลงได้อีก หากดอกเบี้ยลงมาอย่างที่คาด
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รายเดียวกันนี้แนะนำแบบอ้อมๆ ว่า หากเป็นเขาที่ต้องเป็นผู้กู้ในภาวะเช่นนี้ ดอกเบี้ยคงที่ที่มีระยะเวลาไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไปถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า เมื่อดอกเบี้ยขึ้นไปจนสุดแล้ว อาจจะมีโอกาสลดลง
ความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต้องเพิ่มความถี่ในการปรับดอกเบี้ยในแคมเปญหลักที่แต่ละแห่งนำมาเสนอขายแก่ลูกค้าทั่วไป บางแห่งจะปรับทุกๆ 3 เดือน แต่บางแห่งอาจปรับทุกๆ 1 เดือน
แต่โดยรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะพวกรายใหญ่จะไม่ต่างกันมากนัก เพราะแต่ละค่ายต้องรักษาตลาดของตัว ส่วนที่อาจทำให้ต่างกันได้คือ รายละเอียดเงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในโครงการที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์แต่ละราย ซึ่งปกติจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าลูกค้า walk in โดยทั่วไปในแคมเปญเดียวกันราว 0.25-0.5% ขึ้นกับเกรดและขนาดของโครงการ
สำหรับแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษสินเชื่อบ้านของไทยพาณิชย์ ที่ใช้ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าในโครงการที่ไทยพาณิชย์สนับสนุนสินเชื่อและลูกค้าขาจรนั้น ปัจจุบันยังอยู่ที่ 2 รูปแบบ คือ
แบบแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี คิดที่ 4.25%, ปีที่ 2 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1.25% และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR+0.75%
แบบที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัวแบบขั้นบันได โดยปีแรก คิด MLR-1.75%, ปีที่ 2 MLR-0.75 และปีที่ 3 เป็นต้นไป คิด MLR +0.75%
อัตราดอกเบี้ยในทั้ง 2 แคมเปญนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ จากนั้นธนาคารจะประกาศใช้เรตใหม่ใน 2 แคมเปญนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยปกติแล้วไทยพาณิชย์จะทิ้งช่วงการปรับดอกเบี้ยในแคมเปญทุกๆ 3 เดือน
ขณะที่เจ้าหน้าที่สาขาธนาคารกสิกรไทยบอกว่า แคมเปญเงินกู้อัตราพิเศษที่กสิกรไทยใช้อยู่นั้น ในทุกๆ เดือนจะปรับเรตดอกเบี้ยขึ้นใหม่
รูปแบบแคมเปญของกสิกรไทย ซึ่งใช้ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.2549 กำหนดเงื่อนไขสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยใน 3 เดือนแรก ใช้ดอกเบี้ยคงที่ 2% จากนั้นใช้เป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่เลือกได้ใน 3 รูปแบบคือ
แบบที่ 1 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว 1 ปี (ตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 12) ใช้ MLR-2.50%
แบบที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว 2 ปี (ตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 24) ใช้ MLR-1.50%
แบบที่ 3 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว 3 ปี (ตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 36) ใช้ MLR-1% โดยหลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ MLR-0.25
ส่วนที่สาขาของธนาคารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ประจำสาขาบอกว่า ดอกเบี้ยในแคมเปญสินเชื่อบ้านบัวหลวง ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะมีทางเลือกอยู่ 4 ทางเลือก คือ
ทางเลือกที่ 1 ดอกเบี้ยคงที่ 1.5% เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นใช้ดอกเบี้ยตามเรต MLR
ทางเลือกที่ 2 ดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี โดยปีที่ 1 ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 5.5% และปีที่ 2 ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.5% จากนั้นใช้เรตตาม MLR
ทางเลือกที่ 3 ดอกเบี้ย MLR-1.5% เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นใช้อัตราดอกเบี้ยตาม MLR
ทางเลือกที่ 4 ดอกเบี้ย MLR-1.75 ในปีที่ 1, ปีที่ 2 ใช้ดอกเบี้ย MLR-1 และปีที่ 3 ดอกเบี้ย MLR-0.5% จากนั้นใช้เรต MLR ปกติ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาขาของธนาคารกรุงเทพชี้ว่า ในภาวะแบบนี้ทางเลือกที่ 2 ของแคมเปญถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเธอให้เหตุผลเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารไทยพาณิชย์ว่า เป็นทางเลือกที่ให้ความนอนใจได้ว่า จะช่วยให้ลูกค้าตัดต้นเงินงวดได้มากกว่า เพราะไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มเป็นเท่าไรในตลาดก็ตาม จะไม่มีส่วนเพิ่มของดอกเบี้ยเข้าไปกินส่วนของเงินต้นที่ต้องส่งในแต่ละเดือน
|
|
|
|
|