อเล็กซานเดอร์ร่ำไห้ เพราะไม่มีแผ่นดินให้พิชิตอีกต่อไปแล้ว คติเช่นนี้เชื่อว่า
บิล เกตส์ ประธานไมโครซอฟท์ ถึงเคยได้ยิน ก็คงไม่อยากเก็บเอามาใส่ใจหรอก
เพราะตลาดระบบเครือข่ายในองค์กร และอินเตอร์เน็ตกำลังเป็นเนื้อชิ้นใหญ่ที่ไมโครซอฟท์จะยอมให้หลุดมือไปไม่ได้
ที่สำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ในซีแอตเติล ข้างหน้าติดป้ายว่าไมโครซอฟท์
แคมปัส หรือวิทยาเขตไมโครซอฟท์ มิได้ติดป้ายว่าไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น แค่นี้ก็สะท้อนระบบคิดและวัฒนธรรมของไมโครซอฟท์ได้แล้วว่ายังเป็นคนหนุ่มสาวเสมอ
พร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อมิให้ตกเวทีประวัติศาสตร์
ไมโครซอฟท์เคยถูกสบประมาทอยู่พอควรเมื่อปีที่แล้วว่า ล้าหลัง เพราะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอินเตอร์เน็ต
มัวแต่คิดโปรโมตไมโครซอฟท์เน็ตเวิร์กอย่างขนานใหญ่ ปล่อยให้เน็ตสเคปครอบครองตลาดโปรแกรมนำทางบนอินเตอร์เน็ตไปถึง
80% ทั้งยังขยายตลาดเว็บเซิร์ฟเวอร์ (โปรแกรมประยุกต์ที่ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต)
เข้าสู่เครือข่ายภายในองค์กรต่าง ๆ แต่ก็ดังที่กล่าวไปแล้ว ด้วยคุณลักษณะแบบวิทยาเขต
ทำให้ไมโครซอฟท์รีบปรับตัว ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ออกมาว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของไมโครซอฟท์ต้องมุ่งไปสู่การรองรับเครือข่ายโลก
เช่น อินเตอร์เน็ต
ดังนั้นไม่ว่า ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 95 วินโดวส์ เอ็นที ( วินโดวส์ นิวเทคโนโลยี
) และไมโครซอฟต์เน็ตเวิร์กก็ต้องสามารถเชื่อต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ทั้งนั้น
โดยเฉพาะวินโดวส์ เอ็นที ซึ่งเวอร์ชั่นแรกคือ 3.1 และเวอร์ชั่นที่ 2 คือ
4.0 ถือเป็นอาวุธตัวร้ายใหม่ ซึ่งจะทำให้ไมโครซอฟท์ยกระดับการครอบครองตลาดจากระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซี
ขึ้นสู่ตลาดระบบปฏิบัติการบนเครือข่ายทีเดียว
วินโดวส์ เอ็นที สะท้อนชัดเจนว่า ไมโครซอฟท์กำลังเคลื่อนตัวจากตลาดระดับล่างสู่บน
จากการเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซี ไปสู่การเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมระบบปฏิบัติการบนเครือข่ายในองค์กร
และจากนั้นไมโครซอฟท์ก็จะทำให้วินโดวส์ เอ็นที และวินโดวส์ 95 กลายเป็นเรื่องเดียวกัน
เรื่องเดียวกันที่ว่านี้ เป็นไปตามคำกล่าวของ อาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการไมโครซอฟท์
ประเทศไทย ที่ว่า "ต่อไปเราคงไม่ต้องเรียกวินโดวส์ เอ็นที วินโดวส์
95 96 หรือ 97 เราเรียกแต่วินโดวส์ ก็พอแล้วเพราะ 95 และเอ็นทีจะเดินไปด้วยกัน
คือ เอ็นที่เดินบนเซิร์ฟเวอร์ ส่วน 95 ก็ทำงานบนพีซี แต่โดยธรรมชาติมันก็จะมาพบกันในที่สุด
นั่นคือ เอ็นทีจะเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ได้ทั้งบนเซิร์ฟเวอร์ และเครื่องพีซีทั่วไป
ที่ประมวลผลและเก็บข้อมูลได้มากขึ้น"
เช่นนี้แล้ว ไมโครซอฟท์จึงถูกมองว่า กำลังพยายามผูกขาด
ปัญหาที่เน็ตสเคปออกมาโวยวายว่าไมโครซอฟท์ผูกขาด ถือได้ว่าเป็นการเล่นนอกกระดาน
หมายถึงในเชิงการตลาดมีทีท่าว่าจะพ่ายแพ้ ก็ต้องยืมมือกฎหมายมาช่วย
เช่นเดียวกับไอบีเอ็มเคยเสนอเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว
เมื่อเห็นว่าไมโครซอฟท์พยายามขยายบริการไมโครซอฟท์ เน็ตเวิร์ก โดยการบรรจุโปรแกรมเข้าสู่บริการนี้ลงไปในระบบปฏิบัติการวินโดวส์
95
ไมโครซอฟท์เป็นผู้ครอบครองตลาดระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซีอยู่ถึง 80%
ดังนั้นกลยุทธ์การตลาดในทำนองดังกล่าว ก็ต้องถูกสกัดด้วยกฎหมายป้องกันการผูกขาด
แต่ไมโครซอฟท์ก็ผ่านวิกฤตมาได้
กรณีวินโดวส์เอ็นที 3.1 และ 4.0 การถูกกล่าวหาว่า พยายามผูกขาดระบบปฏิบัติการบนเซิร์ฟเวอร์
นับเป็นเรื่องมองต่างมุมระหว่างไมโครซอฟท์ และคู่แข่งขัน
วุฒิชัย รุจิระประภา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดให้ความเห็นว่า ปัจจุบันระบบปฏิบัติการบนเครือข่ายในองค์กร
(บนเซิร์ฟเวอร์หรือที่เรียกว่าเครื่องแม่ข่าย) มีอยู่หลายระบบ เช่นเน็ตแวร์
ยูนิกซ์ และวินโดวส์ เอ็นที ถึงแม้ระบบปฏิบัติการเหล่านี้จะสามารถทำงานได้กับทุกระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซี
แต่กรณีเน็ตแวร์ของบริษัทโนเวลล์ นั้นก็ไม่มีระบบปฏิบัติบนพีซี ส่วนยูนิกซ์
ก็เป็นระบบปฏิบัติการที่มีอยู่หลายแพลตฟอร์ม ดังนั้นหากใช้เน็ตแวร์ ผู้ใช้ก็ต้องเรียนรู้ทั้งระบบปฏิบัติการบนเซิร์ฟเวอร์
และที่ตัวลูก แต่ถ้าใช้วินโดวส์เป็นพื้นฐานทั้งบนแม่ข่ายและลูกข่ายก็จะมีความสะดวกและประหยัดกว่า
ไม่ต้องเรียนรู้หลาย ๆ เรื่องจึงไม่น่าจะมองเป็นการผูกขาด
"เน็ตแวร์เป็นระบบปฏิบัติการที่มีจุดเด่นในการทำงานด้านแชร์เอกสารและการพิมพ์เท่านั้น
ไม่ได้เด่นในการทำงานด้านแอพพลิเคชั่น (โปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ) ในขณะที่วินโดวส์
เอ็นทีสามารถทำงานด้านเอกสาร การพิมพ์ โปรแกรมประยุกต์ จึงถือได้ว่าเป็นการประหยัดกว่า
ส่วนที่กล่าวว่าไม่ค่อยมีซอฟต์แวร์สำหรับเอ็นทีก็ไม่จริง เพราะในเมื่อเอ็นทีถูกออกแบบมาอย่างสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า
เดี๋ยวนี้มีคนเขียนซอฟต์แวร์ให้เอ็นทีมากขึ้นเรื่อย ๆ"
แต่เดิมผู้ที่เป็นเจ้าตลาดระบบปฏิบัติการเครือข่ายในองค์กรก็คือ เน็ตแวร์
ของโนเวลล์ โดยครองตลาดอยู่ถึง 90% ในขณะที่ไมโครซอฟท์เจ้าตลาดระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซี
ดูเหมือนจะไม่ให้ความสนใจเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ก็เคยชิมลางตลาดนี้ โดยการออกซอฟต์ แวร์วินโดวส์
ฟอร์ เวิร์กกรุ๊ป ซึ่งเป็นการทำงานแบบกรุ๊ปแวร์หรือการทำงานเป็นกลุ่ม สำหรับเครือข่ายขนาดเล็ก
คืออาจจะมีเครื่องพีซีทำงานร่วมกันได้ประมาณ 5-10 ตัว โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์
"คอนเซ็ปต์ของกรุ๊ปแวร์ก็คือเป็นการประหยัด เพราะเมื่อไม่ต้องใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์
ก็เท่ากับประหยัดเงินไปหลายแสน แต่ถ้าใช้เน็ตแวร์ ซึ่งต้องมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ด้วย
ก็ย่อมเป็นการสิ้นเปลืองแก่เครือข่ายขนาดเล็ก นอกจากนี้การใช้เน็ตแวร์เป็นการสิ้นเปลือง
เพราะถึงแม้จะเป็นระบบปฏิบัติการบนเซิร์ฟเวอร์ และใช้กับเซิร์ฟเวอร์ที่มีสมรรถนะสูง
แต่ก็เป็นการใช้ไม่เต็มศักยภาพเนื่องจากทำงานด้านไฟล์ แอนด์ พริ้นต์ เท่านั้น
ที่สำคัญก็คือการประมวลผลก็ไม่ได้ทำบนเซิร์ฟเวอร์ แต่มาประมวลผลที่ตัวลูกต่างจากเอ็นทีที่ประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์"
อย่างไรก็ตาม วินโดวส์ ฟอร์ เวิร์กกรุ๊ป ก็ไม่เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการตัวลูกเป็น
100-1,000 ตัว ในเมื่อตลาดนี้ในระดับโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์
ก็เป็นเรื่องที่ไมโครซอฟท์จะต้องเข้าครอบครองตลาดให้ได้
มาร์เก็ตแชร์ของตลาดโลกนั้น บริษัทวิจัย อินเตอร์เนชั่นแนลดาต้า คอร์ป
ประมาณการณ์ว่า ในปี 1995 โนเวลล์ มีส่วนแบ่งการตลาด 42% ยูนิกซ์ 14% ในขณะที่วินโดวส์
เอ็นทีมีส่วนแบ่ง 19% เท่านั้น แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในไทย อาภรณ์ ให้ความเห็นว่าโนเวลล์ ยังครองตลาดโดยมีส่วนแบ่งอยู่ในราว
80-85% ในขณะที่ไมโครซอฟท์มีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณ 5 % แต่ยอดขายก็เติบโตขึ้นเรื่อย
ๆ แน่
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ไมโครซอฟท์ยังบุกตลาดได้ไม่ง่ายนัก เป็นเพราะองค์กรต่าง
ๆ นั้นก็ใช่ว่าจะยอมเปลี่ยนระบบของตนได้ง่าย ๆ เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
แต่ไมโครซอฟท์ ก็ไม่หนักใจ เนื่องจากในระยะยาวคู่แข่งตัวจริงของไมโครซอฟท์น่าจะเป็นยูนิกซ์
ในขณะที่โนเวลล์จะมีการเติบโตลดลง เพราะมีข้อจำกัดในตัวผลิตภัณฑ์ที่ไม่เก่งด้านรองรับโปรแกรมประยุกต์
ในปัจจุบัน วินโดวส์ เอ็นที 4.0 ทำงานเร็วกว่าเวอร์ชั่นแรกถึง 8 เท่า แต่ใช้หน่วยความจำน้อยลงถึง
3 เท่า ทั้งที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก็ก้าวมาถึงยุคการทำงานแบบ 32 บิต จึงทำให้วินโดวส์
เอ็นทีซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการแบบ 32 บิตได้รับความสนใจมากขึ้น
นอกจากนี้เอ็นที 4.0 ยังมีความสามารถรองรับโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ รวมทั้งเว็บ
เซิร์ฟเวอร์ (โปรแกรมประยุกต์ที่อาศัยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ทั้งยังมีกราฟิกที่น่าสนใจเช่นเดียวกับวินโดวส์
95)
เกมรุกเช่นนี้ เกิดขึ้นในขณะที่โรเบิร์ต แม็กเกนเบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโนเวลล์ลาออก
ส่วนโนเวลล์สาขาประเทศไทย ก็ยังไร้กรรมการผู้จัดการคนใหม่ ทิศทางของโนเวลล์ก็ยังไม่ชัดเจน
ไมโครซอฟท์ จึงไม่กังวลใจกับโนเวลล์นัก แต่กำลังแข่งขันกับยูนิกซ์และเน็ตสเคปมากกว่า
เนื่องเพราะเน็ตสเคป พยายามใช้การเป็นเจ้าตลาดบราวเซอร์ (โปรแกรมนำทางบนอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ต
หรืออาจเทียบได้กับ FILE MANAGER) มาเป็นตัวขายเว็บแอพพลิเคชั่นของตนเอง
ในตลาดอินทราเน็ต ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ตมาใช้สร้างเป็นแอพพลิเคชั่นบนเครือข่ายในองค์กร
"ตัวทำเงินไม่ใช่บราวเซอร์ แต่เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ต่างหาก" อาภรณ์กล่าว
ถ้าจะว่าไปแล้ว ไมโครซอฟท์ก็มองขาดมาแล้วตั้งแต่การดีไซน์โปรดักส์ กล่าวคือ
เมื่อองค์กรนิยมการทำงานเครือข่ายมากขึ้น พร้อมกับการตื่นตัวเรื่องอินเตอร์เน็ต
ผู้ชนะต้องประกอบไปด้วย
1) ระบบปฏิบัติการบนเซิร์ฟเวอร์ที่สามารถรองรับโปรแกรมประยุกต์ได้
2) มีบราวเซอร์ยอดนิยม ซึ่งไมโครซอฟต์ก็มีอินเตอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเลอร์ที่คอยไล่ล่าเน็ตสเคปนาวิเกเตอร์อยู่แล้ว
3) มีโปรแกรมประยุกต์ที่เรียกว่าเว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือเว็บแอพพลิเคชั่น
คู่แข่งไม่ว่าจะเป็นโนเวลล์ เน็ตสเคป และซัน ไมโครซิสเต็มส์ ยังไม่มีใครครบวงจร
และตีฆ้องร้องเป่าได้ดังเท่ากับไมโครซอฟท์
นี่แหละพิษสงของวิทยาเขตไมโครซอฟท์ และการตลาดซึ่งมักจะเหมาะกับคนอายุต่ำกว่า
40 ปีเท่านั้น !