|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2549
|
|
บัตรพรีเพด ที่แม้จะเป็นของที่คนในประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี แต่ในเมืองไทยยังถือเป็นเพียงของใหม่ แถมยังมีปัญหา จุดขาย จุดเติมเงิน พันธมิตรร้านค้าเครือข่ายให้บริการยังไม่กว้าง และผู้ให้บริการก็ยังต้องใช้เวลาแก้ไขกันอีก
VISA ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดระบบการชำระเงินด้วยบัตรรายใหญ่สุดในไทย ประกาศไว้ชัดแล้วว่า เป้าหมายในปีนี้ของพวกเขาคือ ต้องผลักดันให้ 4 ผลิตภัณฑ์บัตรชำระเงินเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในฐานะที่จะเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ ที่อนาคตจะเข้าทดแทนการใช้จ่ายในรูปเงินสด โดยบัตรพรีเพดถือเป็น 1 ใน 4 ผลิตภัณฑ์แห่งปีที่ VISA จะก้าวเข้ามาช่วยกระตุ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรประเภทนี้ให้มากขึ้น
ส่วนทางเพย์เมนท์ โซลูชั่น ผู้ให้บริการบัตรเงินสดยี่ห้อ "OK CASH" นั้น หลังจากใช้เวลาปีเศษๆ กับการทำตลาดในกลุ่มวัยทีน และคนทำงานที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ซึ่งถือบัตรรวมกันราว 200,000 ใบ โดยแต่ละคนจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000 บาท หรือ 200 ล้านบาท หากคิดเป็นยอดรวมการใช้บัตรนั้น ก็เริ่มคิดว่าจะต้องทำพอร์ตใหม่ๆ ขยายฐานครอบคลุมคนที่มีกำลังซื้อ และกลุ่มที่อายุมากขึ้น
จนล่วงเข้าปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงเป็นเวลาที่ทั้ง ธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการทั่วไป เพย์เมนท์ โซลูชั่น และสมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการ วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะต้องออกมาร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวบัตรท่องเที่ยวแบบเติมเงินบัตรแรกของไทย ในคอลเลกชั่น "เรารักในหลวง" ที่สิทธิพิเศษของผู้ใช้บัตรนี้ ดูจะใกล้เคียงกับผู้ถือบัตรเครดิต คือได้ส่วนลดราว 10-60% จากการใช้บัตรซื้อบริการในร้านค้าหรือที่พักโรงแรม ซึ่งเป็นเครือข่ายของวีซ่า
หากมองผ่านกลยุทธ์การทำตลาด ซึ่งครอบคลุมทั้งฐานนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศ ที่มุ่งเน้นกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปแล้ว ดูเหมือนว่าธานินทร์จะบอกเป็นนัยๆ ว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่จำนวนบัตรที่เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องการขยายการให้บริการสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งมีพลังการจับจ่ายใช้สอยที่แรงยิ่งกว่าพอร์ตที่มีในปัจจุบัน
แม้ผู้บริหารจากทั้ง 2 ค่าย บอกว่ายังมองไม่เห็นภาพแนวโน้มความนิยมที่ชัดเจนของผู้บริโภคในตอนนี้ จากที่ตลาดยังอยู่ในช่วงเตาะแตะก็ตาม แต่ระหว่างการแถลงข่าวนั้น ทั้งคู่ต่างก็เน้นย้ำให้เห็นเป็นช่วงๆ ถึงสารพัดข้อดีจากการใช้บัตรเงินสดที่มีเหนือกว่าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นทั้งมวล
แต่ที่เห็นจะชัดเจนเวลานี้คือ เมื่อความต้องการของผู้ให้บริการหมายเลข 1 จากตลาดทั้ง 2 ค่ายมาบรรจบกัน จนนำไปสู่ความร่วมมือเช่นนี้แล้ว พัฒนาการในตลาดบัตรเงินสดจึงเป็นที่น่าจับตามองเพราะต้องไม่ลืมว่าครั้งหนึ่ง VISA เคยประสบผลสำเร็จจากการอาศัยทุกยุทธวิธีในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต
และเมื่อ VISA ได้ตัดสินใจจะเข้ามาปลุกตลาดบัตรเงินสดแล้ว ก็มีโอกาสว่าบัตรนี้น่าจะประสบผลสำเร็จในแบบเดียวกันกับกรณีของบัตรเดบิต ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี จำนวนผู้ถือบัตรก็โดด ขึ้นมายืนอยู่ที่ 11.4 ล้านใบเมื่อสิ้นปี 2548
|
|
|
|
|