|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2549
|
|
แม้แต่องค์กรที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยอย่างเครือซิเมนต์ไทย ยังต้องพยายามสร้าง innovation ในองค์กร เพื่อหนีการแข่งขันที่นับวันจะมากยิ่งขึ้น
หากพูดถึง innovation หรือนวัตกรรม สิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงมักจะเป็นความใหม่ ของใหม่ หรือของแปลกที่ยังไม่เคยมีมาก่อน สอดคล้องกับความหมายของ "นวัตกรรม" ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ระบุว่า "เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการหรืออุปกรณ์"
เมื่อดูจากความหมายแล้ว นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เครือซิเมนต์ไทยต้องการมากที่สุดในเวลานี้!!!
เครือซิเมนต์ไทยเป็นองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยในปัจจุบัน มีอายุจะครบ 1 ศตวรรษ ในอีก 7 ปีข้างหน้า และยังได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศในด้านการบริหารจัดการไปจนถึงธรรมาภิบาล มีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในระดับอาเซียน ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทยเข้าใจดีว่า ธุรกิจหลักของเครือที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นสินค้า commodity ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์ กระดาษ ปิโตรเคมีและวัสดุก่อสร้าง ที่มีความแตกต่างหรือโดดเด่นจากผู้ผลิตรายอื่นไม่มากนัก
ขณะเดียวกันสถานะของการเป็นผู้ผลิต (Manufacturing sector) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมาร์จินต่ำที่สุดในซัปพลายเชนเมื่อเทียบกับเซกเตอร์อื่น และยังต้องเผชิญกับการแข่งขัน จากผู้ผลิตรายใหญ่ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งในที่สุดย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาไปได้ ทำให้เครือซิเมนต์ไทยเห็นแนวทางได้ชัดว่า หากต้องการอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวจำเป็นต้องสร้างหรือผลิตสินค้าที่มีความแปลกใหม่และแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่เครือเป็นเจ้าของความคิด หรือมีสิทธิบัตรในเทคโนโลยีก็จะยิ่งเป็นจุดเด่นเหนือผู้ผลิตรายอื่น
"ยกตัวอย่างไนกี้ เขามีแต่ดีไซน์ มี R&D มีแบรนด์ จะผลิตที่ไหนก็ได้ ถ้าเรายังเน้นแต่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอยู่เราจะลำบาก เพราะฉะนั้น value added ต้องสูงขึ้น ถึงสรุปออกมาว่าเราต้องทำอินโนเวชั่น" กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษเป็นครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งต่อจากชุมพล ณ ลำเลียง
เครือซิเมนต์ไทยตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2546 ในยุคของชุมพลที่ได้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมขึ้นในช่วงกลางปีดังกล่าว โดยมีกานต์ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธานคณะทำงานด้านนี้โดยตรง และนำไปสู่การจัดงาน Innovation Change for Better Tomorrow เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นการประกาศให้พนักงานและคนภายนอกได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมใหม่ของเครือซิเมนต์ไทยที่จะมี innovation เป็นองค์ประกอบสำคัญ
นวัตกรรมหรือ innovation ในความหมายของเครือซิเมนต์ไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังกินความไปถึงกระบวนการทำงาน รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่เครือซิเมนต์ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยสิ่งใหม่เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนหรือเป็นสิ่งที่เคยทำขึ้นแล้ว แต่นำมาต่อยอดเพิ่มขึ้น
การจะทำในสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จต้องเริ่มที่ "คน"
พนักงานเครือซิเมนต์ไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่มาจากสายงานวิศวกร การบริหารงานมีลำดับชั้นชัดเจน ผู้บริหารมีประสบการณ์ในสายงานที่กำกับดูแลเป็นอย่างดี ทำให้ลูกน้องเชื่อฟังหัวหน้าอย่างมาก จนอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแปลกใหม่หรือความคิดนอกกรอบจากที่เคยปฏิบัติกันอยู่
"พวกเราจะเป็นเอ็นจิเนียร์กันหมด จะคิดคล้ายๆ กัน แล้วรู้ลึก รู้จริง ลูกน้องจะเสนออะไรก็รู้หมด พอจะเสนอแนวคิดอะไรเราก็จะบอกอันนี้อั๊วลองมาแล้ว เพราะฉะนั้นลูกน้องจะเชื่อผู้บังคับบัญชามาก จนถึงจุดหนึ่งผมเกรงว่าจะเป็นอันตราย เพราะอะไรก็จะให้นายตัดสินใจ" กานต์กล่าว
เครือซิเมนต์ไทยจึงต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรกันเสียใหม่ ให้เป็นวัฒนธรรมนวัตกรรมที่สนับสนุนและสร้างบรรยากาศให้พนักงานทุกระดับมีการคิดนอกกรอบ เปิดใจรับฟังความคิดเห็น กล้าแสดงความเห็น กล้ารับความเสี่ยงในการทดลองสิ่งแปลกใหม่ มีการพัฒนาตนเองและให้รางวัลพนักงานที่มีส่วนในการพัฒนานวัตกรรมด้วย
โดยได้กำหนดลักษณะของพนักงานภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว มี 5 ประการด้วยกัน คือ กล้าเปิดใจรับฟัง กล้าคิดนอกกรอบ กล้าพูด กล้าทำ กล้าเสี่ยง กล้าริเริ่ม และกล้าเรียนใฝ่รู้ สำหรับผู้บริหารยังต้องเพิ่มบทบาทของความเป็นผู้นำอีก 3 ประการ ได้แก่ นำการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำเป็นแบบอย่าง
นอกจากการกระตุ้นให้พนักงานมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เครือซิเมนต์ไทยยังได้ขยายต่อไปถึงพนักงานที่จะรับเข้าทำงานใหม่ด้วย โดยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีลักษณะหรือความคิดแตกต่างจากแพทเทิร์นเดิมๆ มากขึ้น รวมถึงการรับสมัครพนักงานในระดับ mid-career มากกว่าเดิมที่นิยมรับเด็กจบใหม่ ซึ่งมีผลให้ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรจนกลายเป็นบุคลิกของคนเครือซิเมนต์ไทยที่มีลักษณะเดียวกัน แต่การได้พนักงานระดับ mid-career จะช่วยให้พนักงานมีความคิดที่แตกต่างและหลากหลายยิ่งขึ้น
หนังสือ "CHANGE FOR BETTER TOMORROW" ซึ่งเป็นคู่มือที่อธิบายถึงสาเหตุและความจำเป็นของการทำ innovation ถูกจัดพิมพ์และแจกจ่ายให้กับพนักงานในเครือซิเมนต์ไทยทุกคน เช่นเดียวกับวารสารรายเดือน SCG Innonews ที่มีจำนวนพิมพ์เท่ากับจำนวนพนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารความเป็นไปและข่าวคราวเกี่ยวกับ innovation ของเครือให้กับพนักงานทุกคนได้รับรู้ เป็นหนึ่งในความพยายามที่เป็นรูปธรรมของเครือซิเมนต์ไทยที่จะกระตุ้นพนักงาน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมใหญ่ที่ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปีที่แล้ว คือการจัดประกวดรางวัล SCG Power of Innovation เพื่อให้แต่ละธุรกิจภายในเครือจัดทีมส่งผลงานเข้าประกวด เกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาทั้งในด้านความคิด กระบวนการผลิต การตลาด ไปจนถึงโอกาสในการจดสิทธิบัตร โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องทำได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการก็ตาม
พนักงานเครือซิเมนต์ไทยส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ถึง 300 ทีม มีครบในทุกกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ปิโตรเคมี กระดาษ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จัดจำหน่าย แม้กระทั่งสายงานด้านการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นสายงานที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของการประกวดครั้งนี้ก็ยังสามารถเสนอผลงานที่ฝ่าฟันเข้าสู่รอบ 11 ทีมสุดท้ายได้ ถึงแม้จะไม่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศรับเงินรางวัล 1 ล้านบาท แต่ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้บริหารของเครืออยู่ไม่น้อย
ความสำเร็จของ SCG Power of Innovation ครั้งแรกทำให้เครือซิเมนต์ไทยสานต่อการประกวดครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยเพิ่มรางวัลชนะเลิศจากเดิมที่มี 1 รางวัลเป็น 3 รางวัล โดยแยกเป็น Best of Innovative Product สำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ Best of Innovative Manufacturing Process สำหรับการสร้างสรรค์กระบวนการผลิตใหม่ และ Best of Innovative Service or Non-Manufacturing Process สำหรับการสร้างสรรค์กระบวนการทำงาน การบริการหรือรูปแบบธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มรางวัล Best Innovative Idea สำหรับการประกวดในระดับกลุ่มธุรกิจด้วย
ในหนังสือรายงานประจำปี 2548 นับเป็นครั้งแรกที่เครือซิเมนต์ไทยได้มีการสื่อสารผลงานด้านนวัตกรรมให้ผู้ถือหุ้นได้รับรู้ โดยมีการแยกหัวข้อด้านนวัตกรรมของแต่ละธุรกิจเพื่อให้เห็นความคืบหน้าอย่างชัดเจน
หลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา เครือซิเมนต์ไทยเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย การที่องค์กรแห่งนี้เน้นให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการให้มากขึ้นนั้น อาจเป็นสัญญาณที่ภาคธุรกิจไทยไม่ควรวางเฉยก็เป็นได้
|
|
|
|
|