|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2549
|
|
อาจไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่องค์กรขนาดใหญ่ของโลกอย่างไอบีเอ็มประกาศทิศทางที่ชัดเจนว่าจะนำเรื่อง Innovation มาเป็นธงหลักสำหรับใช้ในการทำธุรกิจในยุคหลังจากนี้ ซึ่งเป็นคำประกาศที่ตรงกับองค์กรอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่างเครือซิเมนต์ไทย
ได้เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว
ทั้งไอบีเอ็ม และเครือซิเมนต์ไทย มองเรื่อง Innovation ในนิยามที่คล้ายคลึงกัน คือ Innovation เป็นเครื่องมือและทางออกสำคัญสำหรับใช้หลีกหนีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นของทั้ง 2 ธุรกิจ
แม้กระบวนการนำมาใช้และวิธีการนำเสนอเรื่องของ Innovation ของทั้ง 2 องค์กรอาจแตกต่างกันตามธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรม
แต่การที่ทั้ง 2 องค์กร ที่เป็นองค์กรใหญ่ มองเห็นถึงจุดเดียวกัน นั่นอาจหมายถึงการส่งสัญญาณให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องการนำ Innovation มาพิจารณาในการปรับพันธกิจของตนเอง
ต้นเดือนเมษายน ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นัดหมายพบปะบรรดาสื่อมวลชนสายเทคโนโลยีสารสนเทศจากสำนักพิมพ์หลายแห่ง เพื่อกระชับสัมพันธภาพพร้อมๆ กับใช้โอกาสดังกล่าวบอกเล่าถึงทิศทางในการทำตลาดของไอบีเอ็มนับจากนี้เป็นต้นไป
การนัดหมายของไอบีเอ็ม โดยมีศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้นำทัพ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการทันทีหลังจากที่ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ เริ่ม kickoff แนวทางในการทำธุรกิจของไอบีเอ็มเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
และหลังจากที่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศรุกแนวทางเดียวกันกับไอบีเอ็ม ระดับโลกต่อหน้าพนักงานนับพันชีวิต ณ สโมสรกองทัพบก บนถนนวิภาวดี ถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่เปิดเผยแนวทางดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน
แนวทางของไอบีเอ็มนับตั้งแต่นี้อยู่ใต้คำจำกัดความที่ว่า "Innovation Partner" หรือหากแปลตรงตัวตามภาษาไทยก็คงให้ความหมายได้ว่า "พันธมิตรด้านนวัตกรรม"
หลายปีก่อนหน้านี้ไอบีเอ็มพยายามผลักดันให้องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของคำว่า "on-demand" หรือการทำให้องค์กรสามารถอยู่ได้อย่างยืดหยุ่นภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ทั้งสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขัน การทำให้โครงสร้างทางการเงินหรือค่าใช้จ่ายยืดหยุ่นต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้น การหา Core business ที่แท้จริงและผลักภาระงานที่ไม่ถนัดออกไปให้คนอื่นทำ หรือตัดสินใจขายออกไปจนถึงการเปลี่ยนองค์กรให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจที่ไอบีเอ็ม เรียกว่าการทำ transformation
กรณีศึกษาในการทำ on-demand ไม่ใช่ใครที่ไหน ไอบีเอ็มยกตัวอย่างตัวเองเป็น case study ให้องค์กรเหล่านั้นได้เห็นแทนการใช้องค์กรอื่นเป็นตัวอย่าง
ผู้บริหารของไอบีเอ็มในแต่ละประเทศ รวมถึงศุภจี ซึ่งเป็นผู้นำของไอบีเอ็มในประเทศไทย มีหน้าที่เดินทางไปพบปะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปในไอบีเอ็มตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาหลังการทำ transformation ในองค์กรของไอบีเอ็มเอง ซึ่งผลที่ได้คือ ผู้บริหารนั้นๆ มักคิดอยากจะให้ตนเป็นแบบไอบีเอ็มบ้าง กลายเป็นการเจรจาธุรกิจเพื่อให้ไอบีเอ็มเข้ามาช่วยเหลือในท้ายที่สุด
วันนี้ไอบีเอ็มประกาศชัดเจนว่า on-demand ของไอบีเอ็มถึงเวลาขยับเข้าสู่ยุค "innovation" หรือ "นวัตกรรม" แทน เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยต่อยอดธุรกิจขององค์กรได้ดีกว่าการปล่อยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างเดิมๆ
จดหมายความยาวหลายหน้าในรายงานประจำปี 2548 ของไอบีเอ็ม ที่ระบุสุนทรพจน์ของ Samuel J. Palmisano ประธานกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอบีเอ็ม ซึ่งเผยแพร่และแจกจ่ายไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในการ kickoff แนวทางของไอบีเอ็มที่เห็นชัดที่สุดอย่างหนึ่ง ได้นำเสนอใจความสำคัญที่ใครอ่านก็ย่อมรู้ดีว่า "ไอบีเอ็ม" เจ้าแห่งวงการไอทีกำลังให้ความสำคัญกับคำว่า "นวัตกรรม" มากเพียงใด
ไอบีเอ็มเป็นองค์กรระดับโลกที่เพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ของตนเองอย่างชัดเจนว่านับจากนี้ จะเป็นปีแห่ง "นวัตกรรม" และเป็นปีที่ไอบีเอ็มจะวาง position ของตัวเองว่าเป็น "Innovation Partner" หรือเป็นผู้ที่ช่วยเหลือให้องค์กรเหล่านั้นบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมอย่างจริงๆ จังๆ เสียที หลังพบว่า "นวัตกรรม" จะเป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่ต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรทั่วไปเท่านั้นแต่หมายถึงต่อยอดธุรกิจของตนด้วยในเวลาเดียวกัน
"ใครจะรู้ว่าธนาคารจะมีไปรษณีย์เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ขณะที่บริษัทโทรคมนาคมโดยเฉพาะโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะมีคู่แข่งสำคัญคือการไฟฟ้า ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายไฟฟ้าได้แล้ว" ศุภจียกตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรไว้อย่างน่าสนใจ
ศุภจีบอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อมีโอกาสได้พบปะกับเธออีกครั้งหลังการนัดหมายครั้งก่อนหน้าว่า ไอบีเอ็มประเทศไทยเองก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มานานพอสมควร และเชื่อว่าบริษัทในประเทศไทยบางบริษัทก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
ปลายปีที่แล้ว ไอบีเอ็มมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงหรือซีอีโอของบริษัททั่วโลก 700 กว่ารายทุกสายอุตสาหกรรม เธอบอกว่าแทบทุกคนกล่าวไปในทางเดียวกันว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องจำเป็นและช่วยให้ธุรกิจของตนเติบโตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยให้องค์กรไม่ต้องห่วงมากนักเรื่องผลกำไรหรือขาดทุน เพราะหากว่าบริษัทสามารถสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองได้แล้ว นั่นย่อมหมายถึงรายได้ที่เกิดจากการดึงดูดกำลังซื้อจากผู้บริโภคเข้ามาได้ในที่สุดนั่นเอง
แม้นวัตกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญมากเท่าไร แต่ศุภจีก็แสดงออกถึงความห่วงใยอย่างชัดเจนว่า หัวใจสำคัญของนวัตกรรมกลับไม่ได้อยู่ที่ใครมองว่ามันสำคัญแค่ไหน แต่อยู่ที่ใครสามารถนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดผลมากกว่า
แม้กระทั่งซีอีโอจากองค์กรต่างๆ ที่ไอบีเอ็มลงมือสัมภาษณ์กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรเหล่านั้น สนใจเรื่องนวัตกรรมแทบทั้งสิ้น แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งขององค์กรเหล่านี้เท่านั้นที่สนใจที่จะเอามาใช้จริงๆ ทั้งตัดสินใจตั้งทีมในองค์กรจัดตั้งงบประมาณ หรือว่าทำโครงสร้างสนับสนุนให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กร
ไอบีเอ็มเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชูประเด็นที่ว่า องค์กรไหนอยากที่จะสร้างความแตกต่าง และอยู่รอดได้ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น อย่างที่ Samuel J. Palmisano กล่าวเอาไว้ในสุนทรพจน์ว่า "องค์กรต้องรับมือกับโลกธุรกิจที่กำลัง 'แบนลง' สิ่งที่องค์กรต้องทำคือสร้าง 'กับดักหนูที่ดีกว่า' "
แม้จะไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของตนอย่างเห็นได้ชัด แต่ไอบีเอ็มก็เปลี่ยนแนวทางในการทำตลาด โดยการสอดแทรกเนื้อหาของการสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร และแนะนำให้องค์กรที่ตนพบปะเห็นความสำคัญและเร่งนวัตกรรมให้ได้
ตารางนัดพบระหว่างศุภจีและผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ยังแน่นขนัดเช่นเคย การพูดคุยยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรไอบีเอ็มเช่นที่ผ่านมา แต่ว่าสรุปสุดท้ายเมื่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของไอบีเอ็มเปลี่ยนไป เนื้อหาที่ปิดท้ายอาจจะแถมพ่วงด้วยเรื่องที่ว่าด้วยการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไรไปโดยปริยาย
|
|
|
|
|