|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2549
|
|
เจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีที่มาจากวิกฤติการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในปี 2535 ซึ่งผู้คนในสังคมถูกปิดหูปิดตาจากสื่อของรัฐ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ที่แท้จริงบนถนนราชดำเนินที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
บทบาทสื่อของรัฐดังกล่าว ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวีแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 สถานี และต้องเป็นสถานีที่ดำรงบทบาทในการรายงานข่าวสารความเคลื่อนไหวในบ้านเมืองแบบเสรี ไม่มีองค์กรใดทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าไปมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้
ทีโออาร์ในการยื่นขอสัมปทานในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ จึงถูกกำหนดไว้ในลักษณะที่รัดกุม อาทิ ต้องไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สามารถควบคุมอำนาจการบริหารได้อย่างเบ็ดเสร็จ โครงสร้างการถือหุ้นจึงถูกกำหนดให้เป็นนิติบุคคลไม่ต่ำกว่า 10 ราย แต่ละรายถือหุ้นได้ไม่เกิน 10% และที่สำคัญคือเนื้อหารายการต้องนำเสนอข่าวสารและสาระ 70% มีรายการบันเทิงได้เพียง 30%
ผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัทในเครือคือธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีการเซ็นสัญญาสัมปทานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 และเริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม 2539
"ชายวัยกลางคนร่างสันทัด มาดเท่ อารมณ์ดี ชอบสูบไปป์เป็นนิจศีล เป็นบุคลิกของจุลจิตต์ บุณยเกตุ หรือที่ใครต่อใครมักเรียกขานสั้นๆ ว่า เจ. เจ. ที่มักพบเห็นอยู่เป็นประจำ
ด้วยคุณสมบัติของการเป็นมือประสานสิบทิศ ผสมกับประชาสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมทำให้ชื่อเสียงของจุลจิตต์ติดอยู่บนทำเนียบของนักบริหารในองค์กรใหญ่ๆ มาตลอด นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไทยออยล์ รวมทั้งนั่งเป็นกรรมการขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ในยุคสมัยหนึ่ง จนมาถึงการนั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของสยามอินโฟเทนเม้นท์ เพื่อประกอบธุรกิจทีวีระบบยูเอชเอฟในนามไอทีวี
จุลจิตต์ได้ชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญในการคว้าสัมปทานทีวีเสรีมาให้กับกลุ่มสยามทีวี ทั้งในแง่ของสายสัมพันธ์ และการที่เขาคือหนึ่งในผู้ร่างทีโออาร์ประมูล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในเวลาต่อมาจะปรากฏชื่อของจุลจิตต์ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของสยามทีวี แถมพ่วงด้วยประธานกรรมการบริหารของสหศีนิมา
ช่วงชีวิตในระยะปีถึงสองปีที่ผ่านมาของจุลจิตต์จึงค่อนข้างผูกติดอยู่กับธุรกิจทางด้านมีเดีย และอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว แม้ว่าปัจจุบันเขาจะนั่งเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการของไทยออยล์
จุลจิตต์มีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ
จุลจิตต์นับเป็น 1 ใน 2 ขุนพล ตัวแทนของสำนักงานทรัพย์สิน ที่มีสหศีนิมาเป็นหัวหอกเคียงคู่กับบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ที่ส่งตรงมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในการนำพาสยามทีวีก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจมีเดียและอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ"
(จากเรื่อง "จุลจิตต์ บุณยเกตุ ถึงเวลาต้องทิ้งสยามทีวี" นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2539)
จุดเด่นที่ติดตัวไอทีวีนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มออกอากาศ คือเรื่องข่าว
"ความน่าสนใจของไอทีวีไม่ได้อยู่แค่การเป็นสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่ แต่ไอทีวีเป็นสัมปทานโทรทัศน์รายที่ 6 ของเมืองไทยเพียงช่องเดียวในรอบหลายสิบปีมานี้ จากกลไกกึ่งระบบผูกขาดของธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทย ทำให้โทรทัศน์ของเมืองไทยล้วนแต่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ การบริหารงานโดยเอกชนมีเพียงช่อง 3 และช่อง 7 เท่านั้น
ไอทีวียังเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ความไม่พร้อมของระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของไอทีวี
ในขณะที่ไอทีวีต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์สัมปทานผูกรัดด้วยเงื่อนไขที่ว่าไอทีวีจะต้องนำเสนอเนื้อหาข่าวและสาระ 70% บันเทิง 30% ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ตรงกันข้ามกับสภาพความเป็นจริง
แต่แล้วไอทีวีก็ใช้เวลา 3 ปีเต็มกับการสร้างสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักด้วยสไตล์ข่าวที่แตกต่างไป ฉีกโมเดลธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทย ที่ต้องว่ากันด้วยรายการบันเทิงเป็นหลัก ถึงแม้จะยังไม่สามารถครอบคลุมไปถึงรายจ่ายที่เป็นค่าสัมปทาน และดอกเบี้ยก็ตาม"
(จากเรื่อง "สายพันธุ์ใหม่ทีวีไทย ไม่มี...พระเอกขี่ม้าขาว" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542)
"เดิมทีไอทีวีมีผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในด้านข่าวอยู่หลายรายทั้งไอเอ็นเอ็น หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ย และตงฮั้ว ซึ่งไตรภพ ลิมปพัทธ์ก็ถูกกำหนดให้เป็นหัวหอกในการผลิตรายการ แต่แล้วทั้ง 3 รายก็ขอถอนหุ้นออกไปในช่วงที่สถานีไอทีวีเพิ่งเปิดดำเนินการไม่นาน ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกมาสามสิบกว่าปี และลีลาการวิเคราะห์ข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิม สุทธิชัย หยุ่น ถูกดึงมาร่วมถือหุ้น 10% กำลังสำคัญในการผลิตข่าวและสาระ 70% ให้แก่ไอทีวี
การสร้างทีมข่าวไอทีวีในช่วงแรกของไอทีวี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากแกนนำของกลุ่มเนชั่น ที่มาพร้อมกับฐานข้อมูลและแนวคิด สุทธิชัย หยุ่น รับสมัครทีมข่าวภายในของกลุ่มเนชั่น เพื่อมาทำงานที่ไอทีวี ปรากฏมีผู้ยื่นใบสมัครและผ่านคัดเลือกประมาณ 10 คน และในจำนวนนั้นคือ เทพชัย หย่อง น้องชายของสุทธิชัย ที่เวลานั้นเป็นบรรณาธิการข่าวของเนชั่น สุภาพ คลี่ขจาย ที่ช่วงหลังเริ่มจัดรายการเนชั่นนิวส์ทอล์กคู่กับสุทธิชัย และเป็นกรรมการผู้จัดการดูแลวิทยุเนชั่น ประจักษ์ มะวงศา ก่อเขตต์ จันทเลิศรัตน์ อดีตโปรดิวเซอร์รายการเนชั่นนิวส์ทอล์ก พวกเขาเหล่านั้นยื่นใบลาออกและมาเป็นพนักงานของไอทีวี ทันทีที่ไอทีวีเริ่มแพร่ภาพออกไป
"ผมตัดจากความเป็นพนักงานตั้งแต่วันแรกที่ก้าวออกมาแล้ว และเนชั่นเองก็มีคนอยู่แค่ 10 คนเท่านั้น ทำงานหนังสือพิมพ์มาเกือบ 20 ปี มาทำทีวีผมก็ว่าท้าทายดี และบังเอิญว่าเนชั่นมีแผนกทีวีเล็กๆ อยู่แผนกหนึ่ง หลายคนเห็นว่าแคบไปก็ย้ายตามมาไอทีวี" เทพชัยเล่า
แม้ว่าหลายปีมานี้สุทธิชัย หยุ่น จะมีประสบการณ์ในการทำข่าว แต่ประสบการณ์การเป็นผู้ผลิตข่าวโทรทัศน์ ไม่เหมือนกับทำข่าวหนังสือพิมพ์ หรือรายการทอล์กโชว์ ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบและขั้นตอนการทำงานและการผลิตที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สุทธิชัย หยุ่น และคนของเนชั่นเองยังไม่เคยมีมาก่อน
อัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีตหัวหน้าข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ที่คร่ำหวอดในการผลิตข่าวโทรทัศน์มาหลายสิบปี ถูกชักชวนมาร่วมในทีมข่าวไอทีวีตั้งแต่เริ่มต้นใหม่ๆ ประสบการณ์และความเก๋าในการทำข่าวโทรทัศน์ของอัชฌา ช่วยไอทีวีได้มากในเรื่องของทั้งมุมมองข่าวและเทคนิคต่างๆ ที่จำเป็นกับการผลิตข่าวโทรทัศน์ รวมถึงการติดต่อกับสติงเกอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ภาพข่าวเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานี ที่ทำให้ไอทีวีเป็นซีเอ็นเอ็นย่อยจากการได้ออกข่าวเป็นสถานีแรก ขอภาพข่าวสั้นๆ (Footage) จากช่อง 11 ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้แพร่ภาพนำมาออกในไอทีวีได้ก่อน ก็เป็นผลงานของอัชฌา ที่เป็นผู้หยิบยืมมาจากช่อง 11
นอกจากอัชฌาแล้ว ทีมข่าวของไอทีวียังจัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางของ "สื่อ" จากเกือบทุกประเภท หนังสือพิมพ์เกือบทุกค่ายของเมืองไทย เอ่ยชื่อไปมีหมด ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ มติชน ฐานเศรษฐกิจ ผู้จัดการ รวมถึงผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9 สำนักข่าวแปซิฟิก และสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็น หรือแม้แต่โปรดักชั่นเฮาส์
ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมที่ถูกนำมาเขย่ารวมกันเป็นทีมข่าวไอทีวี "ตอนแรกคนก็สงสัยเหมือนกันว่าข่าวไอทีวีจะทำได้ดีกว่าช่องอื่นได้อย่างไร นักข่าวส่วนใหญ่ก็มาจากหนังสือพิมพ์ แต่ผมแน่ใจว่าเราต้องทำได้ดีกว่าช่องอื่น เพราะผมดูข่าวทุกคืนรู้ว่า จุดอ่อนของเขาอยู่ตรงไหน สไตล์ของเราคือการทำให้คนดูข่าวไอทีวีมีสีสัน น่าติดตาม มีการเจาะลึกมากกว่าช่องอื่นๆ บวกกับความพยายามในการเจาะลึกเรื่องต่างๆ เนื่องจากการที่เรามีเสรีภาพมากกว่าคนอื่น" ความเห็นของเทพชัย หย่อง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายข่าวของไอทีวี ที่สะท้อนความสำเร็จของข่าวไอทีวี"
(อีกตอนหนึ่งของเรื่องเดียวกัน)
เคยมีการคาดหมายว่าแนวทางการนำเสนอข่าวที่โดดเด่นของไอทีวี อาจทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ของไทยรายนี้มีโอกาสเป็นซีเอ็นเอ็นย่อมๆ ได้ หากประเทศไทยไม่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินขึ้นในปี 2540 เสียก่อน
ผลพวงจากวิกฤติครั้งนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในไอทีวีตามมา
"บ่ายสามโมงตรงของวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2542 สุทธิชัย หยุ่น รองประธานกรรมการบริหารบริษัทไอทีวี จำกัด เปิดห้องประชุมฝ่ายข่าวของไอทีวี เพื่อแถลงข่าวบนชั้น 22 ของอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ท่ามกลางสื่อมวลชนจำนวนมาก รวมทั้งพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวี
นับเป็นการตอบโต้ครั้งแรกของสุทธิชัย หลังจากมีกระแสข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ช่วง 2-3 วันก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้ระบุถึงปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างสุทธิชัย และผู้บริหารไอทีวีที่มาจากธนาคารไทยพาณิชย์
เนื้อหาที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันมติชน ไทยรัฐ ผู้จัดการรายวัน และไทยโพสต์ วันที่ 25 มิถุนายน ระบุถึงความต้องการผ่าตัดโครงสร้างของประกิต ประทีปะเสน อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เพิ่งเลือกโปรแกรมเกษียณอายุก่อนกำหนด ลาออกจากแบงก์ไปหมาดๆ และถูกเลือกจากแบงก์ไทยพาณิชย์ให้มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไอทีวีแทนโอฬาร ไชยประวัติ
หลังมารับตำแหน่ง ประกิตได้ประกาศจะแก้ปัญหาขาดทุนของไอทีวี โดยปรับผังรายการใหม่ให้เน้นบันเทิงมากขึ้น พร้อมกับลงมือผ่าตัดโครงสร้างการบริหารงานภายในโดยยุบบอร์ดบริหารที่มีบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเวลานี้ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้แล้ว และให้การบริหารงานอยู่ในมือของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดใหญ่) ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นทั้ง 13 ราย ซึ่งประกิตให้เหตุผลกับ "สื่อมวลชน" ว่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ซ้ำซ้อน
การเข้ามากวาดบ้านในไอทีวีของประกิตสร้างความไม่พอใจให้กับสุทธิชัย หยุ่น อย่างมาก เพราะการยุบบอร์ดบริหารเท่ากับว่าตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารฝ่ายข่าวที่สุทธิชัยนั่งอยู่ต้องถูกยุบไปด้วย"
(จากเรื่อง "ความขัดแย้งปะทุที่ไอทีวี" นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2542)
"ตลอดการแถลงข่าวในวันนั้น สุทธิชัยตอกย้ำถึงการเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างไอทีวีของประกิต ที่มุ่งแก้ปัญหารายได้ จนก่อให้เกิดความแตกแยกและปั่นป่วนขึ้นในฝ่ายข่าวของไอทีวี และที่สำคัญจะส่งผลต่อจุดยืนของการเป็นสถานีข่าวของไอทีวีเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือไพ่ใบสำคัญที่สุทธิชัยจะอาศัยฐานเสียงจากมวลชน และฝ่ายข่าวของไอทีวี ในการต่อรองกับธนาคารไทยพาณิชย์
ในสายตาของสุทธิชัย เขาเชื่อว่า ความสำเร็จของไอทีวีมาจากการทุ่มเทของตัวเขาและทีมงานของเนชั่น ที่มาร่วมกันบุกเบิกสร้างทีมงานข่าวของไอทีวี และการเป็นสถานีข่าวของไอทีวี ก็เป็นตัวที่ทำรายได้ให้กับไอทีวี 80%
แต่เป็นการทำไม่ใช่ในลักษณะของการครอบงำแต่เป็นเพราะความทุ่มเท และเสียสละ
"ถ้าผมจะผิดก็มีอย่างเดียว คือทำงานมากไปขยันมากไป"
ความรู้สึกของสุทธิชัยต่อการกระทำของธนาคารไทยพาณิชย์ในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ไม่ต่างจากประโยคที่ว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล"
(เนื้อหาอีกตอนจากเรื่องเดียวกัน)
"กรรมการแบงก์มองว่าไอทีวีเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้น ยังอยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต อยากให้มีคนดูแลใกล้ชิด ก็เลยให้ผมไปดูแลแทน ดร.โอฬาร ดูแลให้ทุกอย่างเดินไปอย่างเรียบร้อยเพราะสัมพันธภาพของธนาคารไทยพาณิชย์กับไอทีวี ในฐานะหนึ่งก็คือผู้ถือหุ้น และในด้านหนึ่งก็คือเจ้าหนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องดูให้ไอทีวีประสบความสำเร็จ" คำตอบของประกิต ให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในไอทีวีนับจากนี้
ธนาคารไทยพาณิชย์ใช้เงินลงทุนในไอทีวี ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 40% คิดเป็นเงิน 480 ล้านบาท บวกกับความสัมพันธ์ในฐานะของเจ้าหนี้อีก 3,000 ล้านบาท ค้ำประกันอีก 1,000 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ 4,000 ล้านบาท
เป็นตัวเลขการลงทุนในช่วง 3 ปีที่แบงก์ไทยพาณิชย์ยังไม่ได้รับประโยชน์กลับมาเลย นายธนาคารอย่างประกิตแค่กดเครื่องคิดเลขนิดเดียวก็รู้แล้วว่า ไอทีวีมีปัญหาขาดทุน และยังมีปัญหาค่าสัมปทานก้อนใหญ่ที่เป็นเงื่อนปมใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นประกิตยังมีคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานของไอทีวีอีกมากมาย โดยเฉพาะอำนาจรองประธานกรรมการบริหาร ที่มีบทบาทมากกว่าผู้บริหารในระดับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
(จากเรื่อง "ไอทีวีกับเนชั่น CONFLICT OF INTEREST" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542)
บทสรุปของความขัดแย้งครั้งนี้ คือธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้าควบคุมการบริหารงานในไอทีวีอย่างเบ็ดเสร็จ ส่วนทีมงานของเนชั่นได้ลาออกเพื่อไปจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเนชั่น แชนแนล สถานีข่าว 24 ชั่วโมง
แนวทางแก้ปัญหาไอทีวีของธนาคารไทยพาณิชย์ คือต้องขายกิจการของไอทีวีออกไป โดยมีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาสัมปทานก่อนขาย โดยเฉพาะประเด็นการกระจายการถือครองหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย รายละไม่เกิน 10%
"มติของคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ที่อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมการงานของไอทีวี 2 ข้อ คือ การยกเลิกสัญญาสัมปทานข้อ 1.2 ที่กำหนดให้มีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย และแต่ละรายถือไม่เกิน 10% ระบุว่าเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ.2535 และข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องเหล่านี้โดยตรง
ถัดจากนั้น ในวันที่ 25 เมษายน 2543 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวีตามมติของคณะรัฐมนตรี ในสัญญาข้อ 1.2 และสัญญาในเรื่องของการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ลงนามโดยผู้บริหารของไอทีวี และธนาคารไทยพาณิชย์ ประกอบด้วยนพพร พงษ์เวช ในฐานะของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ศรัณย์ทร ชุติมา ผู้จัดการทั่วไปลงนามร่วมกับผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานไอทีวีในครั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลของชวน หลีกภัย ยอมให้มีการเลื่อนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน แต่อยู่ที่การแก้ไขสัญญาในข้อ 1.2 ในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นที่เปลี่ยนแปลงให้นิติบุคคลสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 75%
ถัดจากนั้นในเดือนมิถุนายน ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้ดึงเอากลุ่มชินคอร์ปเข้ามาซื้อหุ้นในไอทีวี ซึ่งกลุ่มชินคอร์ปได้ใช้เงินลงทุนไปในไอทีวีแล้วประมาณ 1,600 ล้านบาท แลกกับการเข้ามาถือหุ้นในไอทีวี 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงจากหนี้เป็นทุน เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 55% โดยสิทธิในการบริหารงานทั้งหมดเป็นของกลุ่มชินคอร์ป จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลของชวน หลีกภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่กลุ่มเนชั่น ได้ยอมรับในหลักการที่ว่าทีวีเสรีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป กับข้อเท็จจริงในเรื่องภาระของสำนักงานทรัพย์สินฯ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการขาดทุน และทรัพย์สินที่เหลืออยู่ก็คือไอทีวี
และนี่คือที่มาของวิกฤติที่เกิดขึ้นกับไอทีวี ที่คำว่าทีวีเสรีได้ตายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง"
(จากเรื่อง "ทีวีเสรีตายไปแล้ว" นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2544)
"ทุกวันนี้ โทรทัศน์ยังเป็นสัมปทานที่ถูกผูกขาดอย่างแน่นหนา มีเพียงแค่เอกชน 2 รายเท่านั้น และโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะอนุมัติง่ายๆ กว่าไอทีวีจะเกิดขึ้นก็เลือดตาแทบกระเด็น ไม่เหมือนกับธุรกิจสื่อสาร โอกาสที่จะเปิดสัมปทานให้กับรายใหม่มีมากกว่า และสิ่งที่บุญคลีมองลึกลงไปกว่านั้นก็คือชื่อของไอทีวีเป็นแบรนด์เนม ที่ติดหูติดตาคนดูแล้ว ช่อง 3 และช่อง 7 ก็ยังไม่ได้สร้างแบรนด์เหมือนกับไอทีวี
ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในไอทีวีก็คือจะทำให้พอร์ตการลงทุนของชินคอร์ปดูดีขึ้น ต้องไม่ลืมว่าชินคอร์ปอเรชั่น อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค
การลงทุนในไอทีวีจึงเท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน ไม่มุ่งเน้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือธุรกิจสื่อสารเท่านั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงราคาหุ้นของชินคอร์ปด้วย
ชินคอร์ปรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้สถานีโทรทัศน์มาด้วยเงินลงทุนเท่านี้คงไม่มีอีกแล้ว หากจะรอจนถึงเปิดเสรีในปี 2006
"ลงทุนถูกวันนี้ใช้เงินแค่ 25 บาทต่อดอลลาร์ แต่อนาคตมัน 40 บาท ถ้าเราต้องรอจนถึงปี 2006 รอให้ถึงวันเปิดเสรี"
ชินคอร์ปได้ไอทีวีมาด้วยราคาถูกมาก เงินจำนวน 1,600 ล้านบาท แลกกับหุ้น 39% ที่ทำให้ชินคอร์ปกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสถานีโทรทัศน์ ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งเครือข่าย และ content"
(จากเรื่อง "ไอทีวี" จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย? ของชินคอร์ป" นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2543)
บุญคลีที่กล่าวถึงในเนื้อหาข้างต้นคือ บุญคลี ปลั่งศิริ CEO ของชินคอร์ป
ชินคอร์ปได้ใช้เวลาลองผิดลองถูกในการบริหารไอทีวีอยู่กว่า 3 ปี ระหว่างนี้ นอกจากการนำไอทีวีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังมีการผ่าตัดทีมงานข่าว และมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารระดับสูงไปหลายระลอก
จนในที่สุด แนวทางของไอทีวีก็ได้ข้อสรุปถึงทิศทางที่ชัดเจนในต้นปี 2547 ที่อนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้ลดค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายให้รัฐจากปีละ 1,000 ล้านบาท เหลือเพียงปีละ 230 ล้านบาท และปรับสัดส่วนเนื้อหาระหว่างข่าวสารและสาระ กับรายการบันเทิง จาก 70 : 30 เป็น 50 : 50 โดยเนื้อหาในส่วนบันเทิงนั้นมีการดึงไตรภพ ลิมปพัทธ์ และกันตนา กรุ๊ป กลับเข้ามาร่วมจัดทำรายการอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน
สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้คัดค้านคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการในครั้งนั้น และได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด
วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการประเด็นที่ไอทีวีได้ลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายเหลือปีละ 230 ล้านบาท เป็นโมฆะ และให้ปรับผังรายการใหม่ กลับมาใช้รูปแบบเดิมคือต้องมีเนื้อหาที่เป็นข่าวสารและสาระ 70% เหลือสัดส่วนสำหรับการเสนอรายการบันเทิงเพียง 30%
เป็นคำพิพากษาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองระลอกใหญ่ ที่สังคมกำลังไม่พอใจการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งชิน คอร์ปอเรชั่น ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่อาจนำพาประเทศไปสู่ความวิบัติ
ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งของไอทีวี ที่เกิดขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับวิกฤติ
(รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก www.gotomanager.com)
|
|
|
|
|