Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน24 พฤษภาคม 2549
หนี้เน่าสินเชื่อบริโภค-รายย่อยพุ่ง เตือน"แบงก์-นอนแบงก์"คุมเข้มปล่อยกู้             
 


   
www resources

โฮมเพจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

   
search resources

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจก.
Loan




วิจัยกสิกรฯเตือนยอดหนี้เน่าจากสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคเริ่มส่อแววสร้างปัญหา เผยยอดเอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินที่เน้นการขายสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 49 เพิ่มขึ้น 4.45 หมื่นล้าน หรือ 49.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดหนี้ย้อนกลับยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตที่มียอดการใช้จ่าย-เบิกถอนเงินสดล่วงหน้ามากขึ้น อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหามากขึ้น แต่ภาพรวมทั้งระบบยังลดลงจากยอดเอ็นพีแอลของแบงก์ใหญ่ที่ลดลง ระบุเป็นผลจากดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาน้ำมันแพง และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นับจากปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ได้ทำให้มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางว่า อัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นดังกล่าว ผนวกกับภาวะน้ำมันแพง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นที่คาดหมายว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ จะยังไม่สิ้นสุดลง และอาจปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 7.5 ในปัจจุบัน ไปถึงร้อยละ 8.00 ได้ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้

แม้ว่าปัญหาเอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินในปัจจุบัน ได้ลดลงมามากแล้วเมื่อเทียบกับช่วงสมัยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ๆ ทำให้ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจลดลง แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของเอ็นพีแอลตามประเภทสถาบันการเงิน ทิศทางของเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ ตลอดจนสถิติเกี่ยวกับคดีล้มละลายในอดีตแล้ว ยังคงสะท้อนถึงความเสี่ยงของปัญหาคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะหนี้ในระดับย่อย ที่ควรจะจับตามอง โดยเฉพาะในกรณี...

เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินที่เน้นการขยายสินเชื่อเพื่อ ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยปริมาณเอ็นพีแอล ของธนาคารพาณิชย์ ขนาดเล็กที่มีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยในสัดส่วนสูง บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2548 ที่ผ่านมา จากจำนวน 3.04 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/2548 มาที่ 4.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 4/2548 และ 4.45 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2549 หรือคิดเป็นการเพิ่ม ขึ้นประมาณ 49.7% จากไตรมาส 1/2548 ขณะที่มูลค่าเอ็นพีแอล ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินปรับตัวลดลง โดยมีเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 8.73% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2549 เทียบกับ 8.89% ณ สิ้นปี 2548

ทั้งนี้ ถึงแม้สัดส่วนเอ็นพีแอลของกลุ่มสถาบันการเงินที่เน้นการให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคดังกล่าวจะอยู่ที่เพียง 6.2% ณ สิ้นไตรมาส 1/2549 ซึ่งต่ำกว่า 9.13% ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่การเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว จึงทำให้ปัญหาหนี้ของสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นการทำธุรกิจรายย่อยนี้ ยังคงน่าเป็นห่วง และควรจะต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด

ปัญหาเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับยังน่าเป็นห่วง จากการประเมินปัญหาเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ (Re-entry NPLs) ในรูปของสัดส่วนเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ (สะสม) ต่อเอ็นพีแอลที่ปรับโครงสร้างหนี้ในงวดปีก่อนหน้า (สะสม) ของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะคำนึงถึงความสามารถในการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินร่วมด้วยนั้น จะพบว่า สัดส่วนดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.7 ในปี 2547 มาที่ร้อยละ 61.5 ในปี 2548 โดยยังคงรักษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความสามารถในการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินน้อยลงจากความสลับซับซ้อนของปัญหาหนี้ที่มากขึ้น นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลจากสาเหตุอื่นๆ (เช่น การให้สินเชื่อเพิ่มเติม และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลกระทบให้ยอดหนี้เอ็นพีแอลที่มี การกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศนั้น เพิ่มขึ้น เป็นต้น) ปรับตัวสูงขึ้น เช่นกัน โดยมีมูลค่าสูงถึง 86,170 หมื่นล้านบาทในปี 2548 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจาก 21,166 ล้านบาท ในปี 2547

ด้านเอ็นพีแอลรายใหม่ ระบบสถาบันการเงินไทยมีเอ็นพีแอลรายใหม่จำนวน 123,961 ล้านบาท ในปี 2548 ลดลงเล็กน้อยจากจำนวน 127,156 ล้านบาท ในปี 2547 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในปี 2548 ยังอาจไม่ใช่เครื่องชี้ที่ดีพอ เนื่องจากไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นมากเท่าในปัจจุบัน ซึ่งภาคธุรกิจและครัวเรือนต้องเผชิญปัญหาทั้งจากราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ที่สูงกว่าในปี 2548 รวมทั้งภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง นอกจากนี้ จากการเปรียบเทียบเอ็นพีแอลรายใหม่กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) พบว่ามีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ตรงกันข้ามกัน ดังนั้น จึงอาจตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า ในปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นในปี 2549 นี้ สถาบันการเงินอาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาเอ็นพีแอลรายใหม่สูงขึ้น

จำนวนคดีล้มละลายยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูล เฉพาะของศาลล้มละลายกลาง จำนวนคดีล้มละลายที่ศาลรับเข้ามาสู่การพิจารณาใหม่ในแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2548 มีจำนวนสูงถึง 8,021 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 จาก ปี 2547 ในขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 นั้น จำนวนคดีล้มละลายใหม่อยู่ที่ 2,869 คดี ซึ่งประเมินได้ว่าจำนวนคดีล้มละลายที่ศาลรับเข้ามาสู่การพิจารณาใหม่นั้น อาจสูงเกิน 1 หมื่นคดีสำหรับทั้งปี 2549 และเมื่อพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์เฉลี่ยต่อคดี จะพบว่ามีขนาดเล็กลงอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2546-2548 จำนวนทุนทรัพย์เฉลี่ยต่อคดี จะอยู่ที่ประมาณ 14-51 ล้านบาท เทียบกับ 130-399 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2543-2545 และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 นั้น จำนวนทุนทรัพย์เฉลี่ยต่อคดี อยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาทต่อคดี

ดังนั้น จากทั้งจำนวนคดีล้มละลายที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับขนาดทุนทรัพย์เฉลี่ยต่อคดีที่ลดลง ยังคงยืนยันว่า สถานการณ์หนี้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งหนี้รายย่อยนั้น ยังไม่ได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การติดตามและประเมินแนวโน้มปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ และ/หรือสินเชื่อ จากข้อมูลเอ็นพีแอล หรือสถิติคดีล้มละลายแต่เพียงลำพัง อาจไม่มีเพียงพอในการช่วยให้สถาบันการเงินบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตและเตรียมการรับมือกับการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจเพิ่งเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เนื่องจากเครื่องชี้ ต่างๆ ดังกล่าว มีกำหนดการเปิดเผยเป็นรายไตรมาส (สำหรับข้อมูลเอ็นพีแอล) และถือเป็น Lagging Indicator ที่จะสะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในอดีต เป็นหลัก ซึ่งตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ หรือสูงกว่าร้อยละ 5.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ข้อมูลเอ็นพีแอลและสถิติคดีล้มละลายดังกล่าว อาจไม่สามารถสะท้อน ถึงการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เริ่มซับซ้อนขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548 ถึงช่วงต้นปี 2549 ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้ง เมื่อใดที่ปัญหาคุณภาพหนี้สะท้อนออกมาในรูปของจำนวนเอ็นพีแอล ที่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมหมายความว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเลยระยะที่จะสามารถป้องกันได้แล้ว ดังนั้น สถาบันการเงินจึงอาจตรวจสอบเครื่องชี้อื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจ ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคจากสถิติการใช้บัตรเครดิต ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการเบิกเงินสดล่วงหน้าของผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นชัดเจน โดยยอดการเบิกเงินสดล่วงหน้าในไตรมาส 1/2549 ขยายตัว 27.09% เร่งตัวขึ้นมากจาก 16.69% ในไตรมาส 4/2548 และ 2.37% ในไตรมาส 3/2548 ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนการเบิกเงินสดต่อยอดการใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 25.58 % ในไตรมาส 3/2548 และ 28.26% ไตรมาส 4/2548 มาที่ 30.24% ในไตรมาส 1/2549 ถึงแม้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต จะมีระดับที่ทรงตัวก็ตาม

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายและเบิกเงินสดผ่านบัตรเครดิตมากขึ้นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ควร ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการใช้จ่ายและการเบิกเงินสดดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน มากกว่าจะเป็นการใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าคงทน หรือสินค้าฟุ่มเฟือยเหมือนเช่นในอดีต เพราะนั่นหมายความว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น หากอำนาจซื้อยังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำมันแพง และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพหนี้ท้ายที่สุด

ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ เริ่มสะท้อนผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ยและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เมื่อพิจารณาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน จะพบว่าความสามารถ ในการทำกำไรที่วัดจากอัตราการทำกำไรสุทธิ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (RoA) ของหลายประเภทอุตสาหกรรม มีแนวโน้มถดถอยลงในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ทรัพยากร บริการ และเทคโนโลยี ในขณะที่ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการ ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นั้น ก็มีเครื่องชี้วัดความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงชัดเจนในปีดังกล่าวเช่นกัน โดยสามารถเห็นการปรับตัวลดลงของทั้งอัตราการทำกำไรสุทธิ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ติดต่อกันทุกไตรมาสของ ปี 2548 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะอยู่ระหว่างการประมวล ข้อมูลผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2549 ทั้งหมดออกมาในรูปอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่สำคัญ แต่ศูนย์ วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน น่าจะยังคงมีแนวโน้มที่ไม่สดใส เนื่องจากผู้ประกอบการคงจะสามารถผลักภาระจากปัญหาราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบ ที่สูงขึ้น ไปยังผู้บริโภคได้จำกัด ตราบใดที่การปรับราคาสินค้าจำเป็น ยังอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากทางการ อีกทั้ง ธุรกิจเผชิญการแข่งขันในระดับสูงและผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ โดยสรุปจากพิจารณาข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ จำนวน เอ็นพีแอล ของสถาบันการเงินที่เน้นการขยายสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องถึงช่วงไตรมาสแรก ของปี 2549 เช่นเดียวกับทิศทางของสัดส่วนเอ็นพีแอลไหล ย้อนกลับ (สะสม)ต่อเอ็นพีแอลที่ปรับโครงสร้างหนี้ในงวดปีก่อนหน้า (สะสม) ของปี 2548 และจำนวนคดีล้มละลายที่ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับเครื่องชี้อื่นๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่วัดจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจ พบว่า โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา ทั้งปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการเบิกเงินสดของผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นชัดเจน ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในหลายกลุ่มธุรกิจในปี 2548 ถดถอยลง และคาดว่าจะยังมีแนวโน้มที่ไม่สดใสในไตรมาส 1/2549 ซึ่งทั้งสองตัวแปรหลักดังกล่าว อาจใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning Indicator) ที่ทั้งทางการและสถาบันการเงินควรติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าความเสี่ยงเครดิตและโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ อาจเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมที่มีความเอื้ออำนวยลดลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของระบบสถาบันการเงิน ยังน่า จะมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลจากแนวทางของ ธปท.ที่สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์โอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มาที่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) มากกว่าจากการพึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเพียงลำพัง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโอนย้ายหนี้เสียออกจากสถาบันการเงินเอกชนได้ ดังนั้น จึงน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สนับสนุนให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม ยังมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับ ความตั้งใจของ ธปท.ที่ต้องการเห็นเอ็นพีแอลขยับเข้าหาร้อยละ 2 ภายในปี 2550   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us