ลีเวอร์อ้างข้อมูลเอซีนีลเส็นคุยข่ม โววอลล์ขึ้นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งตลาดไอศกรีมในไทย ตัวเลขรอบล่าสุดเติบโต 30% แชร์ช่องทางค้าปลีก 52% ทุ่มงบลงทุน 100 ล้านบาทขยายตู้แช่ พร้อมอัดเงิน 1,000 ล้านบาทโหมตลาดเต็มเหนี่ยว หวังสิ้นปีขยับแชร์รวมเป็น 45%
นายลออิค ทาร์ดี้ ประธานกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดไอศกรีมโดยรวมในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมากไม่ต่ำกว่า 15% ในปีนี้ เนื่องจากว่าอัตราการบริโภคไอศกรีมของคนไทยยังต่ำอยู่มากประมาณ 6 ลิตรต่อคนต่อปีในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดประมาณ 0.6 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอากาศเย็นกว่าไทยบริโภคไอศกรีมมากกว่า 30 ลิตรต่อคนต่อปี อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนด้วย จึงคาดว่าไอศกรีมยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอศกรีมประเภท เทคโฮม หรือซื้อกลับบ้านที่บริษัทฯมีแบรนด์ "ซีเล็คชั่น" ที่ขายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก ยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้อีก ส่วนไอศกรีมประเภทอิมพัลส์นั้นเป็นช่องทางรายได้หลักที่เติบโตตามปรกติ
ทั้งนี้ในปีนี้บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางตู้แช่ คาดว่าปีนี้จะเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ตู้ และเพิ่มรถจำหน่ายเคลื่อนที่อีก 40% ขณะเดียวกันตั้งงบการตลาดไว้สูงถึง 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ใช้ 600 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 30%
การเพิ่มตู้แช่เพื่อต้องการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตู้แช่ของไอศกรีมวอลล์มีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคดังนี้ ภาคเหนือ 1 ตู้ไอศกรีมวอลล์ต่อสัดส่วนประชากร 1,292 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วน 1 ตู้ต่อประชากร 1,149 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก สัดส่วนประมาณ 1 ตู้ต่อ 1,139 คน ภาคใต้ สัดส่วนประมาณ 1 ตู้ต่อ 1,129 คน กรุงเทพฯและปริมณฑล สัดส่วนประมาณ 1 ตู้ต่อ ประชากร 1,614 คน โดยไอศกรีมวอลล์มีตู้แช่ในเวลานี้ทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 50,000 ตู้
นายลออิค กล่าวอ้างถึงข้อมูลวิจัยของบริษัท เอซีนีลเส็น ที่ระบุว่า ในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2549 ไอศกรีมวอลล์มีอัตราการเติบโตประมาณ 30% ในช่องทางร้านค้าปลีกนั้น วอลล์เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 52% และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 55% ในสิ้นปีนี้ ขณะที่ คู่แข่งอันดับที่สองมีส่วนแบ่ง 16%
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาส่วนแบ่งตลาดโดยรวมแล้ว วอลล์มีส่วนแบ่งกว่า 44% และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 45% ในสิ้นปีนี้ ส่วนอันดับที่สองมีส่วนแบ่งตลาด 32% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 7,000 ล้านบาท
ส่วนผลิตภัณฑ์แต่ละซับแบรนด์นั้น แบรนด์ "แพดเดิลป็อป" มีส่วนแบ่งกว่า 43% ในกลุ่มเด็ก แบรนด์คอร์นเนตโตมีแชร์ประมาณ 56% ในกลุ่มวัยรุ่น และแบรนด์ "ซีเล็คชั่น" มีแชร์ประมาณ 52%
ทั้งนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเพิ่มศูนย์จัดจำหน่ายใหม่ด้วย จากเดิมที่เวลานี้มีศูนย์จำหน่ายหรือคอนเซสชันแนร์ประมาณ 48 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังมีศูนย์จัดจำหน่ายแบบมินิกระจายไปอีกกว่า 500 ศูนย์ด้วย
ปัจจุบันวอลล์เป็นผู้นำในตลาดไอศกรีม ด้วยการทำการตลาดและกิจกรรมที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมร่วมกับเซเว่นอีเลฟเว่น กิจกรรมส่งเสริมการขายและพัฒนาสินค้าใหม่สำหรับแบรนด์ แพดเดิลป็อป และการเปิดตัวอีกครั้งของคอร์นเนตโตและวอลล์ซีเลคชั่น ไอศกรีมชนิดนำกลับบ้าน ล้วนช่วยทำให้วอลล์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจากการสำรวจการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อไอศกรีมวอลล์ที่จัดทำขึ้นโดย มิลวาร์ด บราวน์ ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริโภคที่ทำการสำรวจทุกคนมีการรับรู้ในแบรนด์ไอศกรีมวอลล์ โดย 78% มีความผูกพันเหนียวแน่น ทิ้งคู่แข่งอันดับที่สองซึ่งมีเพียง 38%
ปัจจุบันในตลาดมีผู้ประกอบการไอศกรีมแบรนด์ใหญ่เช่น วอลล์ เนสท์เล่ ครีโม แมกโนเลีย เป็นต้น
สำหรับภาวะทางเศรษฐกิจในเวลานี้ นายลออิคกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ถือเป็นวิกฤติของบริษัทฯแต่อย่างใด เพราะว่าบริษัทฯยังสามารถทำการตลาดได้และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% การส่งออกของบริษัทฯก็ยังไปได้ดี ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯได้ปรับราคาสินค้าบางประมาณ 0.9% ตามอัตราเงินเฟ้อที่มี 4-5% ปัจจุบันบริษัทฯมีสินค้ามากกว่า 60 แบรนด์รวมกว่า 200 เอสเคยู
|