|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- คัมภีร์ธุรกิจการจัดการตลาดมือถือแบรนด์ไทย "ไอ-โมบาย"
- 3 วิธีคิดบนหลักการ I ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า Information-Interactive-Individual
- วิธีคิดแน่นหนาแข็งแรงที่นำไปสู่ยอดขาย 1 ใน 5 ของตลาดโทรศัพท์มือถือ
- วิสัยทัศน์ regional brand สร้างความสำเร็จยกกล่องจากโมเดลเมืองไทย
ท่ามกลางสงครามการให้บริการโทรศัพท์มือถืออันร้อนระอุ ธุรกิจการจัดจำหน่ายเครื่องก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 3G สามารถแสดงผลได้ทั้งภาพ ข้อมูลและเสียง ทำให้มือถือสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นที่ต้องการควบคู่ไปกับการบริโภคข้อมูลที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น
"ไอ-โมบาย" เป็นบริษัทหนึ่งในเครือสามารถ ที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นกรณีศึกษาของแบรนด์ไทยที่มีขีดความสามารถไม่แพ้แบรนด์อินเตอร์อย่างโนเกีย
จุดหนึ่งที่ยังเป็นข้อจำกัดของความเป็นแบรนด์ไทยคือ ถ้าแบรนด์ยังไม่แข็งแกร่ง เวลาสี่ตีนยังรู้พลาดขึ้นมา การให้อภัย ความเห็นอกเห็นใจ ดูจะขาดแคลนมากกว่าแบรนด์อินเตอร์
ไอ-โมบายค่อยๆ สร้างแบรนด์ทีละก้าวๆ แต่เป็นไปอย่างมั่นคงและตั้งอกตั้งใจ ภายใต้โจทย์หลักคือ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และหาตลาดเฉพาะกลุ่มที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง เป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจทั้งวิธีคิดและการจัดการ
3 แนวทางสร้างไอ-โมบาย
ธนานันท์ วิไลลักษณ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด(มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงปัจจัยที่ทำให้ไอ-โมบาย ประสบความสำเร็จว่า เกิดจาก 3 แนวคิดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ 1. I-information :เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและครบวงจร 2. I-interactive : สังคมใหม่ของชาวไร้สายที่มีความสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และ 3. I-individual : ความเป็นตัวของตัวเองของคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาให้ ไอ-โมบาย เป็นศูนย์กลางของสังคมมือถือของคนไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างแท้จริง
"ปัจจัยสำคัญที่สุดคือเราเป็นบริษัทคนไทย แนวคิดคือ ทำอย่างไร? ให้คนไทยหรือคนเอเชียลูกค้าในภูมิภาคนี้พึงพอใจในสินค้าของเรา เพราะสินค้าที่ขายในปัจจุบันไม่เข้าใจคนไทยมากเท่ากับคนไทยด้วยกันเอง
แรกเริ่มเราใส่รายละเอียดในโทรศัพท์รุ่นแรก เราเลือกใช้เอ็มพี 3 เพราะถ้าหากนึกถึงความเป็นคนไทยมักจะรักสนุก และเพลงก็คือสิ่งที่บ่งบอกลักษณะเด่นของคนไทยได้ดีที่สุด เราจึงผลักดันตลาดของไอ-โมบายโดยใช้เพลงเป็นจุดยืนตลอดมา เรามองเห็นตลาดที่โทรศัพท์ควรจะมีเพลงติดอยู่ในเครื่อง จากนั้นเคลื่อนมาที่กล้อง วีดีโอ และอื่นๆ เป็นเครื่องเดียวในตลาดที่ให้ได้มากที่สุด ความคิดที่สำคัญของไอ-โมบาย คือ ต้องคิดเสมอว่าลูกค้าฉลาด ไม่ดูถูกลูกค้า"
เขาบอกว่านโยบายของกลุ่มสามารถ ได้กำหนดวิสัยทัศน์และภาพลักษณ์ ของการเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน ที่ต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอล ซึ่งมีวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดนิ่ง
ไอ-โมบาย จึงทำตลาดตามแนวคิด Multimedia Society โดยวางภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ใช้ ไอ-โมบาย เป็นผู้ที่ชื่นชอบในเทคโนโลยีมัลติมีเดีย รักความสนุกสนาน ไอ-โมบาย เลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่เน้นฟังก์ชั่นมัลติมีเดีย ทั้ง วิดีโอ กล้องดิจิตอล เครื่องเล่น MP3 และ เลือกสรร Content แปลกใหม่ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน
การซื้อโทรศัพท์ แบรนด์ ไอ-โมบาย จึงไม่ใช่เป็นเพียงการซื้อเครื่องโทรศัพท์ไปเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาและบริการพิเศษที่มาพร้อมกันอีกด้วย
การทำตลาดตาม brand concept นี้ ยังสะท้อนผ่านแคมเปญโฆษณาของโทรศัพท์มือถือ ไอ-โมบาย ทำให้โฆษณาทุกชิ้นเป็นที่จดจำของผู้บริโภค ในภาพลักษณ์การเป็นผู้นำตลาด Music Phone หรือ MP3 Phone และ ไอ-โมบาย ใช้จุดแข็งของผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทุกระดับ ตั้งแต่ basic phone ไปจนถึง ระดับ high-end
"ปัจจัยไม่ได้อยู่แค่ตัวเครื่อง เพราะเราก็พยายามคิดว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้งานง่าย บางครั้งอาจจะใช้ไอเดียของคู่ต่อสู้บ้าง เช่น บางยี่ห้อมีฟังชันที่ง่ายก็เอามารวมกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
นอกจากนี้เราก็พยายามหาความตกต่างจากสินค้าอื่นๆ เช่นเราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์และความก้าวหน้า สร้างให้ไอ-โมบายมีนวัตกรรมที่ใครถือแล้วจะสร้างความรู้สึกไฮเทค ทันสมัย เป็นประเด็นหลักที่จะทำให้มั่นใจในสินค้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายสินค้ากลุ่มนี้ได้มาก เพราะสินค้ากลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อย ผลิตได้ยากและมีราคาสูง ทำได้เพียงเป็นตัวเสริมให้สินค้าที่เป็นกลุ่มราคาในระดับกลาง คือตั้งแต่ 5,000 บาทไปได้ดี" ธนานันท์กล่าว
เรียนรู้และค่อยๆ เติบโต
เป้าหมายหลักของกลุ่มสามารถมองเห็นกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจมือถือ ไม่ใช่เพียงการเลือกสรรความล้ำหน้าของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับความสนุกสนาน ความบันเทิงที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นที่มาของการจัดทำ ไอ-โมบายแพกเกจ "โมบาย + คอนเทนต์" เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
รวมถึงสร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์ และยังต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายในการจับจ่ายแบบ One Stop Shopping โดยได้มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของร้านไอ-โมบาย บายสามารถ ให้เป็นร้านโมบายมัลติมีเดีย ต้นแบบ ในคอนเซปต์ The Futuretainment Experience โดยผู้ใช้บริการจะได้พบกับประสบการณ์ของเทคโนโลยีสื่อสารและความบันเทิงแบบล้ำอนาคต
ธนานันท์มองการแข่งขันในธุรกิจมือถือในตลาดว่า จริงๆ แล้วการแข่งขันในธุรกิจนี้มีมาโดยตลอด ไม่คงที่ซึ่งอาจจะมีรุนแรงบ้างในช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่สำหรับปีนี้และปีหน้า การแข่งขันคงไม่รุนแรงไปกว่านี้มากนัก เพราะตลาดขายเครื่องมีการแข่งขันอย่างรุนแรงมามากพอแล้ว แต่เขามองว่า การแข่งขันที่จะรุนแรงจะเป็นเรื่องของโอเปอเรเตอร์และการให้บริการมากกว่า
"ในอดีตเราเคยมีปัญหาเรื่องคุณภาพของเครื่อง ซึ่งปัจจุบันก็ยังถือเป็นจุดอ่อนของไอ-โมบาย ที่ทำให้คนไม่เชื่อถือ ซึ่งลอตแรกที่เราเอามาขายจะมีปัญหาเรื่องของฝาพับ อาจจะทำให้ไม่ค่อยได้ยิน แต่เราก็คิดว่าเครื่องโทรศัพท์ทุกยี่ห้อในช่วงยุคของการเริ่มต้นก็ต้องมีการทดลอง ซึ่งเราก็ผ่านปัญหาจุดนั้นมาได้
โดยนำมาปรับปรุงจุดด้อยที่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง เรื่องแบรนด์ก็ต้องค่อย ๆ ก้าวไป ทำอย่างไร? ที่จะทำให้คนซื้อรู้สึกเช่นเดียวกันกับที่ซื้อโนเกีย คือถ้าเครื่องพังยังรู้สึกให้อภัย แต่ของเรายังไม่ให้อภัย นั่นคือจุดสุดท้ายที่เราจะไปคือ การให้อภัยเครื่องของคนไทยเหมือนกับยี่ห้อต่างชาติ"
ด้วยแนวความคิดที่อยากมีโทรศัพท์มือถือของคนไทย และพยายามหาจุดที่จะทำให้ไอ-โมบายเหนือยี่ห้ออื่นๆ เขาจึงมองใน 3 หลักการสร้างสมดุลคือ 1. ประสิทธิภาพ 2. การออกแบบ และ 3. ราคา
เริ่มจากการทำการสำรวจตลาด และความต้องการของผู้บริโภคว่าอยากได้หรืออยากให้โทรศัพท์เป็นแบบใด? ส่วนของการออกแบบนั้นพยายามสร้างความหลากหลายของตัวเครื่อง แต่จุดแข็งที่เน้นก็คือ Performance มากกว่า คือประสิทธิภาพของเครื่องในการที่จะฟังเพลง ดูหนัง ซึ่งประสิทธิภาพด้านนี้ของ ไอ-โมบาย มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด
เป้าหมาย regional brand
ในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งปีเศษ สินค้าของไอ-โมบายกลายเป็นผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือ 1ใน 5 ของไทย ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม แต่การสร้างความสำเร็จของสินค้าตัวนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้เท่านั้น กลุ่มสามารถพยายามสอดส่ายสายตาหาตลาดต่างประเทศ เพื่อเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคระดับเอเชีย
ธนานันกล่าวถึงการบริหารไอ-โมบายในต่างประเทศว่า ทั้งหมดดำเนินการโดย บริษัท ไอ-โมบาย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งจำหน่ายโทรศัพท์และให้บริการข้อมูล ในต่างประเทศ ที่ผ่านมาไอ-โมบาย อินเตอร์ฯ ได้เริ่มทำธุรกิจตลาดโทรศัพท์มือถือใน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ศรีลังกา บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และลาว
ทิศทางต่อไปในการดำเนินธุรกิจของ สามารถ ไอ-โมบายคือ ผลักดันแบรนด์ไอ-โมบาย ให้เป็น regional brand โดยอาศัยความร่วมมือและฐานธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน บรูไน และ อินเดีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และการให้บริการ Contents & Mobile Applications
ทั้งนี้เขาได้วางแผนที่จะเปิดตัวโทรศัพท์มือถือไอ-โมบาย ในกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขยายกิจการสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องประจำภูมิภาค (Regional Distributor) ให้กับมือถืออินเตอร์แบรนด์ชั้นนำอีกด้วย นอกจากนี้ความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเทเลคอม มาเลเซีย ยังส่งผลให้ไอ-โมบายได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต
2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหน้าใหม่พยายามนำเข้าโทรศัพท์มือถือมาเปิดตลาดในไทยอย่างหนาตา แต่หลายรายมาแล้วก็จากไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
สิ่งที่ธนานันท์คาดการณ์ก็คือ ปีนี้บรรยากาศการนำเข้ายังคงคึกคักเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังสำหรับแบรนด์ใหม่แกะกล่องจะมีมากขึ้น หลังจากเห็นโมเดลความสำเร็จของไอ-โมบาย ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากตัวแทนจำหน่าย
มาวันนี้กลายเป็นไอ-โมบายที่ประสบความสำเร็จในตลาดมือถือกลุ่มบันเทิง กับจังหวะธุรกิจที่เร้าใจไม่แพ้ลีลาของ hip hop
|
|
|
|
|