Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2539
3 บทบาทของครูชัยอนันต์ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเจ้ากรมทหาร-เจ้าอาวาส-CEO             
 


   
search resources

ชัยอนันต์ สมุทวณิช
Education




หากจะกล่าวถึงนักคิด นักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมและการเมืองไทยระดับมือหนึ่งของประเทศ ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จัก ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช หนุ่มใหญ่วัย 52 ปี ผู้สั่งสมประสบการณ์อันหลากหลายมามากกว่าครึ่งชีวิต

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาหายหน้าหายตาไปจากวงการพักใหญ่ จนในที่สุดก็กลับมาสู่วงการการเมืองอีกครั้งด้วยการเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และล่าสุดได้มีการประกาศแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย นับเป็นข่าวที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแก่ชาววชิราวุธวิทยาลัย และวงการศึกษาของไทยที่จะได้ครูดีผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาช่วยสร้างอนาคตของชาติ

"เรามีทางเลือกมากมายหลายทาง แต่เราเลือกทางนี้ มันก็ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาของชีวิตอย่างหนึ่งว่า จริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร แล้วสิ่งที่เราต้องการในขณะที่เราอายุ 52 ปีคืออะไร ซึ่งทางที่เราเลือกนี้ได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วมิได้เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ที่สำคัญที่สุดก็ไม่ได้เกิดจากการผิดหวังในอะไร" อาจารย์ชัยอนันต์ให้เหตุผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต พร้อมย้ำว่า การเลือกทางเดินชีวิตครั้งนี้ได้เลือกในขณะที่อยู่ในจุดสูงสุดของชีวิตการทำงาน

"เราไม่ได้เลือกทางนี้ เพราะว่าเราไม่มีทางไป"

แม้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของอาจารย์จะทำให้เขาต้องเลิกประกอบกิจกรรมหลายอย่างทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ได้แก่ เลิกบรรยายเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง เลิกเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด เลิกทำงานเป็นที่ปรึกษากับทุกบริษัท รวมทั้งได้มอบหมายงานที่ค้างคาอยุ่ทั้งหมดให้แก่ผู้ช่วยที่เคยช่วยงานนั้น ๆ อยู่ ขาดก็แต่เพียงหน้าที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เขายังไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้

"เมื่อใดที่ภารกิจนี้เสร็จสิ้นแล้ว ก็เท่ากับว่า ฉากชีวิตทางการเมืองของผมได้ปิดลงอย่างเด็ดขาดแล้ว" นี่คือ คำยืนยันของอาจารย์ชัยอนันต์ ผู้ที่ไม่เคยว่างเว้นต่อกิจกรรมทางการเมือง และนับจากวินาทีที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากเดิมที่เคยเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เพิ่มบทบาทความเป็น "ครู" สั่งสอน และหล่อหลอมเด็ก "นักเรียน" ในรั้ววชิราวุธให้เป็น "คนดี" ต่อสังคมอีกบทบาทหนึ่ง

ชีวิตการทำงานที่เหลืออยู่ของชายผู้นี้ ก็จะทุ่มเทให้กับวชิราวุธเต็ม 100%

"ผมและภรรยาย้ายบ้านเข้ามาอยู่ในโรงเรียนเลย เพื่อจะได้สละเวลาให้โรงเรียนได้อย่างเต็มที่ ชีวิตที่จะให้กับตรงนี้อย่างน้อยก็ 5 ปีแล้วจะต่อหรือไม่ก็ได้ 5 ปีที่เราอยู่นั้นต้องชัดเจน ไม่มีการถอยหลัง กลับมีแต่การเดินหน้า" เขาให้ความเชื่อมั่นและเขาก็ภูมิใจกับตำแหน่งใหม่ที่ได้รับนี้เป็นอย่างมาก

"มีเพื่อนผมเคยบอกว่าตำแหน่งของผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธนี้สำคัญกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียอีก เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่จะต้องมีอะไรหลายอย่างที่นักการเมืองสูงสุดไม่จำเป็นต้องมี คือ ต้องเป็นแบบอย่างได้ในทุก ๆ เรื่องทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการเรียน ดนตรี กีฬา และคุณธรรม จิตใจที่ผสมผสานกลมกลืนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะมีได้ยากในตำแหน่งอื่น ตำแหน่งนี้ ต้องมีแต่ "GIVE" มิใช่ "TAKE"

ทั้งนี้อาจารย์ยังได้กล่าวอีกว่า ตำแหน่งผู้บังคับการนี้จะต้องทำหน้าที่ 3 อย่างควบคู่กันไป คือ เป็นผู้บังคับการเหมือนเจ้ากรมทหาร เจ้าอาวาส และ CEO (CHIEF EXECUTIVE OFFICER)

ทำหน้าที่เหมือนเจ้ากรมทหาร ก็คือ การฝึกเด็กที่อายุตั้งแต่ 8 ขวบให้มีระเบียบวินัยเหมือนทหาร มีเครื่องแบบ มีการแบ่งเป็นกองพันกองร้อย

ที่ว่าเป็นเสมือนเจ้าอาวาสวัดก็เนื่องจากลักษณะที่ตั้งของอาคารในโรงเรียนแบ่งเป็นคณะอยู่ 4 มุมเหมือนกุฏิพระและส่วนตรงกลางก็มีอาคารหอประชุมที่เป็นเสมือนโบสถ์ สำหรับสวดมนต์เป็นประจำทุกเช้าก่อนเด็กจะแยกย้ายกันไปเรียนหนังสือ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น ในวันอาทิตย์จะมีการเชิญวิทยาการผู้มากด้วยประสบการณ์ในสาขาอาชีพต่าง ๆ มาให้ความรู้แก่นักเรียน

และบทบาทสุดท้ายก็คือ ทำหน้าที่เหมือน CEO คือ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานทั้งหมดของโรงเรียน

"ผมไม่ใช่อาจารย์ใหญ่ ผมเป็น DIRECTOR ที่นี่จะมีอาจารย์ใหญ่ 1 คน และก็มีผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถม ฝ่ายมัธยมส่วนเจ้าของโรงเรียนก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และผมก็คือ ผู้ทำการแทนเจ้าของโรงเรียน ดังนั้น จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อทุกคน" อาจารย์ย้ำบทบาทของตนเอง

แม้ว่าอาจารยชัยอนันต์จะเข้ามารับตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้เพียง 2 เดือนเศษ แต่เมื่อ "ผู้จัดการรายเดือน" ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์อาจารย์ ถึงสถานภาพใหม่นี้ก็ได้ทราบถึงแผนงานที่เข้มข้นชนิดที่จะนำความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาสู่ทุกชีวิตในวชิราวุธ ทั้งครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่พนักงานทุกส่วน ล้วนต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงอาคารเรียนและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่ในรั้ววชิราวุธด้วย

"ผมเข้ามาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ผมเข้ามาทำหลายหลายอย่างควบคู่กันไปไม่ได้ทำทีละอย่าง แผนแรกที่ผมเข้ามาทำ คือ แผนแม่บทแผนใหญ่ เรียกว่า แผนวชิราวุธ 100 ปี เนื่องจากวชิราวุธจะมีอายุครบ 100 ปีในอีก 14 ปีข้างหน้า โดยจะมีการระดมสมองกันระหว่างนักเรียนเก่ากับนักเรียนปัจจุบันโดยตั้งโจทย์ว่า ในอีก 14 ปีข้างหน้า เมื่อโรงเรียนวชิราวุธมีอายุครบ 100 ปี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร" อาจารย์ชัยอนันต์เล่าและเผยความในใจว่า

"ผมคิดอะไรรู้ไหม…เมื่อวชิราวุธครบ 100 ปีเราจะมี CAMPUS แต่ไม่ใช่ CAMPUS ที่เด็กไปอยู่ประจำนะ แต่จะเป็นสถานที่ที่เด็กจะได้อยู่กับธรรมชาติ" และเขายังคิดต่อไปอีกว่า "ทำไมวชิราวุธต้องเป็นโรงเรียนชายล้วน ทำไมไม่เป็นโรงเรียนสห" ไอเดียต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และวิธีการที่จะทำให้ทุกคนในวชิราวุธยอมรับความคิด จินตนาการใหม่ ๆ เหล่านี้ด้วยความรู้สึกที่ไม่ต่อต้านนั้น อาจารย์ชัยอนันต์ก็ใช้วิธีการที่ทำให้ทุกคนทั้งครู นักเรียน เจ้ากน้าที่ นักการ ภารโรงมีส่วนร่วมในการคิดการปรุงแต่งโรงเรียนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยให้พวกเขาเหล่านั้นค่อย ๆ ซึมซับความแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และที่สำคัญภายใต้ความแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องอยู่ในกรอบของปรัชญาประเพณีดั้งเดิมของโรงเรียนด้วย

"ผมทำตัวเหมือนกับน้ำที่พยายามไหลอย่างไม่ขาดสาย ที่สำคัญจะต้องไม่เป็นพิษ แต่จะต้องใสสะอาด" เขาเปรียบเปรย

นอกจากแผนวชิราวุธ 100 ปีแล้ว การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน รวมถึงเรื่องสุขอนามัยและโภชนาการของนักเรียน ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันในเวลาเดียวกันด้วย

"ได้มีการนำโภชนาการแผนใหม่เข้ามาใช้ โดยให้ครูโภชนาการทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่นี้ก่อนแล้วค่อย ๆ นำไปปฏิบัติให้เกิดความสมดุลทั้งกาย และใจ" อาจารย์ชัยอนันต์หมายถึงโภชนาการแผนใหม่ที่เรียกว่า MICROBIOTIC

การเรียนการสอนก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือ การงดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในห้องเรียน แต่ปรับมาเป็นการเรียนการสอนด้วยการปฏิบัติจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน

"ผมยกเลิกการเรียนการสอนพุทธศาสนาในห้องเรียนทั้งหมดในเทอมหน้า และเวลานี้ ทุกคนที่นี่ก็เข้าใจกันหมดแล้ว เรื่องพุทธศาสนานี้ เราจะเรียนจะสอนกันทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ไม่มีห้อง เราถือว่าจริยธรรมอยู่กับเราตลอดเวลา"

นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีดำริและแผนงานที่จะอนุรักษ์อาคารตึกเรียน รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ทรงคุณค่า โดยการจะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น ซึ่งแผนนี้ก็รวมอยู่ในแผนวชิราวุธ 100 ปีด้วย

และการที่ในปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีที่ทันสมัย อาจารย์ก็มีนโยบายที่จะให้เด็กวชิราวุธทุกคนได้ใช้คอมพิวเตอร์ โครงการคอมพิวเตอร์จึงได้ก่อรูปขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเอง

"เราถือเป็นการลงทุนในตัวเด็ก วิธีการที่เราใช้ก็คือ ให้คนที่อยู่ ม.6 เสียน้อยที่สุด เนื่องจากใกล้จะจบแล้ว ส่วนชั้นอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ เรามีการทำจดหมายถึงผู้ปกครองว่า เรื่องนี้เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียน เรื่องนี้เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งพวกเขาก็เห็นด้วย สำหรับคอมพิวเตอร์คนที่ถูกเก็บสูงสุดก็แค่ 5,000 บาทเท่านั้น" อาจารย์ชี้แจง

ทั้งนี้ จากโครงการต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นอย่างมากมายในยุคของท่านผู้บังคับการคนใหม่นี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าเงินงบประมาณที่ได้รับจากภาครัฐจะเพียงพอต่อการพัฒนาโรงเรียนหรือ คำตอบก็คือ ไม่เพียงพอแน่นอน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เงินสนับสนุนจากผู้ปกครองเด็กหรือบรรดาศิษย์เก่าทั้งหลายจะทำให้เพียงพอหรือ ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คือ ท่านผู้บังคับการคนใหม่นั่นเอง

"โรงเรียนวชิราวุธตั้งแต่ก่อตั้งมาได้เงินจากงบประมาณสูงสุด คือ 1.5 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ในอดีตก็ได้เพียงแสนสองแสนบาทเท่านั้น เงินส่วนใหญ่ที่ใช้ในกิจการของโรงเรียนก็จะมาจากพระคลังข้างที่ผู้ดูแลทรัพย์สินของวชิราวุธวิทยาลัย"

ซึ่งทรัพย์สินของวชิราวุธก็คือมรดกของรัชกาลที่ 6 ได้แก่ ที่ดินที่ตั้งของโรงแรมรีเจ้นท์ในปัจจุบัน ที่ดินบริเวณซอยมหาดเล็กหลวงด้วย และบ้านเบอร์ 2 ของสถานทูตอเมริกัน เป็นต้น

ปัจจุบันวชิราวุธมีนักเรียนทั้งสิ้น 933 ชีวิต จากเดิมที่เคยรักษาระดับไว้ที่จำนวน 600 คนมาเป็นเวลานาน และวชิราวุธในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีนักเรียนไม่เกิน 1,000 คนภายใต้คำขวัญของผู้บังคับการโรงเรียนคนใหม่นี้ที่ว่า

"ให้วชิราวุธเป็น 1 ใน 100 และ 1 เท่ากับ 100 ในเวลาเดียวกัน" โดยอาจารย์ชัยอนันต์ได้ขยายความคำขวัญนี้ว่า

1 ใน 100 หมายถึงในแง่ของคุณธรรมความดี 1 เท่ากับ 100 หมายถึงสมรรถนะ ดังนั้น ถ้าเอานักเรียนของวชิราวุธที่มีอยู่เกือบ 1,000 คนคูณ 100 เข้าไป นั่นคือ คุณภาพของเด็กวชิราวุธ

"ที่นี่ไม่ปั๊มคน ไม่หลอมคน แต่เราจะสร้างสภาวการณ์ที่เอื้ออำนวย และสร้าง EMPOWER ให้เกิดในตัวเด็กทุกคน ผมต้องการให้เด็กจบ ม.6 จากวชิราวุธมีความรอบรู้ทางสังคมเท่า ๆ กับเด็กที่จบปี 4 จากมหาวิทยาลัย"

สภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยในความหมายของชัยอนันต์ก็คือ สิ่งแวดล้อมที่วชิราวุธมีอยู่บนพื้นที่กว่า 90 ไร่ และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโรงเรียนเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีอากาศหายใจเป็นของตนเอง เนื่องจากภายในโรงเรียนรื่นรมย์ไปด้วยร่มเงาของไม้น้อยใหญ่จำนวนเพียงพอที่จะผลิตออกซิเจนสำหรับคนมากกว่า 1,000 คน

ส่วน EMPOWER ก็หมายถึง การสร้างเด็กให้เติบโตอย่างมีศักยภาพสูงสุด โดยลักษณะการวัดผลสำเร็จของเด็กนักเรียนวชิราวุธจะไม่ได้วัดจากคะแนนของการเรียน แต่จะวัดจากการที่เด็กมีศักยภาพและความสามารถรอบด้านเป็นหลัก

"เด็กของเราอาจจะเรียนอยู่ในระดับปานกลาง แต่ถ้าเขาเป็นนักดนตรี นักรักบี้ นักกีฬาของโรงเรียน และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เราก็ถือว่าเขาเป็นคนที่ศักยภาพสูง เราไม่ได้ดูว่า เด็กเรียนเก่ง หรือแนะให้เขาไปแข่งขันเรียนเพื่อแพ้คัดออก แต่เราสร้างสภาวการณ์ที่ให้เขารู้ว่า ชีวิตยังมีสิ่งอื่นที่อยู่รอบด้านอีก ที่นี่สอนเด็กว่า ถ้าการเรียนเราเรียนแบบพอไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะพ่ายแพ้ในชีวิตหากสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้" อาจารย์เล่าและกล่าวถึงข้อได้เปรียบของวชิราวุธในแง่ของการเป็นโรงเรียนประจำที่มีประเพณีที่เหมาะสมมาตั้งแต่เริ่มแรก"

ทั้งนี้ อาจารย์ชัยอนันต์ได้สรุปความมุ่งหมายจากพระบรมราโชบายว่า เป็นหลักการสำคัญของโรงเรียนนั้น มุ่งหมายที่จะอบรมนักเรียนให้เป็นผู้มีการศึกษาอันสมบูรณ์เป็นผู้ดีแท้ ซึ่งคำว่า "ผู้ดีแท้" นี้มิได้หมายถึงผู้มีสกุลสูง หรือมีทรัพย์สมบัติมากมายแต่ประการใด หากหมายถึง ผู้รู้จักใช้ความรู้ และคุณสมบัติของตัวให้เกิดประโยชน์แก่ตัว โดยไม่กระทบกระเทือนผู้อื่น ทั้งให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมและบ้านเมือง

"จากแนวทางปรัชญาในการศึกษาของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงไว้นี่เองทำให้หลายคนอยากเห็นอุดมคตินี้ได้บรรลุอย่างน้อยก็มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และก็มีอีกหลายคนบอกว่า ในอดีต 20-30 ปีที่ผ่านมาที่ผมพยายามทำให้สังคมนี้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น หากผมใช้เวลาต่อจากนี้มาทุ่มเทให้กับโรงเรียนให้กับเด็กที่นี่ ความหวังอันนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเท่าที่ผ่านมา ผมก็พอจะมี IMPACT ต่อสังคมไทย ถ้าคนอย่างผมทุ่มเทสิ่งเหล่านี้บวกกับประสบการณ์ที่ผมสั่งสมมาให้กับที่นี่ วชิราวุธก็อาจก่อให้เกิดนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มีความสมดุลทั้งกายและใจในตนเอง ไม่ยอมสยบต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม" อาจารย์ชัยอนันต์ ผู้ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาการเมืองการปกครองในระดับมหาวิทยาลัย กล่าวตั้งความหวังในการสอนและปกครองเด็ก ๆ ในโรงเรียนวชิราวุธ

เพื่อเป็นการยืนยันความตั้งใจอันแน่วแน่ของผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติผู้นี้ ขอยกข้อความบางตอนที่ "ครู" ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "การเปลี่ยนแปลงความรู้ การศึกษากับวชิราวุธวิทยาลัย" เมื่อคราวที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ผู้เป็นเสมือนตัวแทนพระองค์ในการมอบ "ถ้วย" ให้แก่เด็กวชิราวุธทุกคน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2539 ดังมีความดังนี้

"ข้าพเจ้าได้รับการศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัยตั้งแต่ "หัวเท่ากำปั้น" ข้าพเจ้าเติบโตจากเด็กอายุ 6 ขวบ จนจบการศึกษาชั้นสูงสุดเมื่ออายุ 16 ปี ข้าพเจ้าเชื่อมั่นและซาบซึ้งในพระบรมราโชบายของพระองค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน โดยเฉพาะพระบรมราโชบายถึงความแตกต่างระหว่างความรู้กับการศึกษา

…เด็กวชิราวุธในปัจจุบันและอนาคตจะต้องเป็นผู้ที่มีทั้งความรู้และมีการศึกษา มีความคิดทั้งในแง่ความคิดเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ และความคิดที่เป็นสัมมาทิฐิ รู้จักแยกผิด-แยกถูก มีทั้งสติและปัญญาควบคู่กันไป…

ข้าพเจ้าจะสานต่อภารกิจที่ท่านผู้บังคับการ พระยาภะรตราชา และศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้ปฏิบัติมาอย่างเต็มกำลังความสามารถ ข้าพเจ้า และคณาจารย์ ตลอดจนพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อนร่วมงานทุกระดับ จะรักษาความดีงามของมรดกที่บรรพชนได้ส่งทอดมายังชนรุ่นเราให้สืบสานต่อไปชั่วกาลนาน"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us