ฟรีทีวีหน้าบาน ผลประกอบการไตรมาสแรก โตถ้วนหน้า ช่อง 3 - โมเดิร์นไนน์ มองแนวโน้ม บอลโลก - เลือกตั้ง ส่งผลให้ครึ่งปีแรกรับทรัพย์ถ้วนหน้า เหลือแต่ไอทีวี หลังแพ้คดีจ่ายสัมปทาน รายได้เริ่มถอย ส่อแววขาดทุนบักโกรก
จากผลการสำรวจมูลค่าโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2549 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ผันผวน แม้การใช้งบโฆษณาจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 ซึ่งอยู่ในช่วงได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติสึนามิ แต่ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2548 กลับส่งผลกระทบถึงสื่อโทรทัศน์ที่แสดงบทบาทชัดเจนในการทำหน้าที่เป็นสื่อของรัฐบาล ให้มีการเติบโตที่ลดลง
โดยมูลค่าการใช้สื่อโดยรวม ประมาณ 12,362 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 ประมาณ 5.19% โดยนีลเส็นฯ ประมาณการรายได้ของสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ยกเว้นสถานโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 พบว่าส่วนใหญ่มีการเติบโตขึ้น สถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 ยังคงเป็นช่องที่มีส่วนแบ่งรายได้สูงสุด ทำได้ราว 3,453 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้เพียง 3,68 ล้านบาท
ส่วน สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 จะมีรายได้ 2,835 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 2,345 ล้านบาท สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 5 มีรายได้ 2,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,894 ล้านบาท สถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีรายได้ 2,014 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 2,160 ล้านบาท และโมเดิร์นไนน์ ทีวี มีรายได้ 1,766 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกปี 2548 ที่ทำได้ 1,713 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มทยอยแถลงผลการดำเนินงาน กลับพบว่า ปัญหาทางการเมืองอาจไม่ได้กระทบกับการเติบโตของธุรกิจโทรทัศน์มากนัก ส่งผลให้เกือบทุกสถานีมีอัตราการเติบโตขึ้น และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2 เหลือเพียงสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ประสบปัญหาการแพ้คดีการจ่ายค่าสัมปทาน และปรับสัดส่วนรายการ จนทำให้ผลประกอบการไตรมาสแรก ลดลง และหากการอุธรณ์ไม่เป็นผล ไอทีวีก็จะกลับเข้าสู่ภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน
ช่อง 3 มั่นใจบอลโลก - เลือกตั้ง ส่งธุรกิจโตเท่าตัว
โดยผลประกอบการของสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งปัญหาราคาน้ำมัน ตลอดจนปัญหาการเมือง ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจโทรทัศน์ เนื่องจากสินค้าที่ใช้โฆษณาสื่อนี้อยู่เป็นประจำ เป็นสินค้าตลาดกว้าง(Mass Marketing) หรือกลุ่มคอมมูนิตี้ ที่ไม่สามารถลดงบโฆษณาลง เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องอาศัยการโฆษณาเพื่อตอกย้ำแบรนด์ หรือสร้างความแตกต่างจากสินค้าคู่แข่ง
สำหรับผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บีอีซี เวิล์ด มีรายได้ 1,680 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากค่าโฆษณา 1,498 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ส่วนผลกำไรสุทธิในไตรมาสแรก ทำได้ 436 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 184% เนื่องจากช่วงต้นปี 2548 อุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ในภาวะถดถอย หลังเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติทางภาคใต้ ซึ่งส่งผลให้การซื้อสื่อโฆษณาโดยเฉพาะช่วงเวลาไพร์มไทม์ลดต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงมกราคม - กุมภาพันธ์
ปัจจัยที่ส่งผลให้บีอีซี เวิล์ด ที่มีธุรกิจหลักอยู่ที่ไทยทีวีสีช่อง 3 มีกำไรเติบโตเพิ่มขึ้น ฉัตรชัย กล่าวว่า เป็นผลมาจากแนวโน้มการปรับตัวฟื้นขึ้นจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเมื่อปลายปี 2547 และส่งผลกระทบมาถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 จากนั้นอัตราการใช้นาทีโฆษณาเริ่มกลับมาเติบโตขึ้น และเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานมีการควบคุมให้คงที่ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่า หากบริษัทฯ ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตในไตรมาสที่ 2 ได้ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ก็จะส่งผลให้ผลประกอบการตลอดทั้งปีของบีอีซี เวิล์ด มีการเติบโตเท่าตัว
ทั้งนี้ ฉัตรชัยมองว่า แนวโน้มของไตรมาส 2 ของปีนี้ เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างสดใสของธุรกิจสื่อโฆษณา เมื่อมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่กินเวลาการแข่งขัน 1 เดือน รออยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงไตรมาสนี้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของวงการสื่อ แต่เมื่ออานิสงส์จากฟุตบอลโลกจะแผ่มาถึงก็จะเป็นไตรมาสพิเศษของวงการสื่อโฆษณา ที่ 4 ปีจะเวียนมาสักครั้ง นอกจากนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยที่หนุนให้ธุรกิจสื่อโฆษณาเติบโตขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 2
อสมท. ตั้งเป้ากำไรโต 25% ด้วยการขึ้นค่าโฆษณา
สอดคล้องกับผู้บริหาร บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่มองแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2 ของ อสมท. ที่มีสื่อหลักคือ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี รวมถึงสถานีวิทยุในเครือข่าย อสมท. ว่าน่าจะมีการเติบโตที่โดดเด่น ซึ่งแม้โมเดิร์นไนน์ จะเป็นสถานีโทรทัศน์สถานีสุดท้ายที่ตัดสินใจร่วมรับสัญญาณถ่ายทอดสดการแข่งขันจากบริษัททศภาค เจ้าของลิขสิทธิ์ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว โมเดิร์นไนน์ กลับกลายเป็นสถานีที่มีการจัดโปรแกรมรายการที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกมากที่สุด ทั้งการดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมจัดรายการ การเสาะหาสารคดีที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกมาเผยแพร่ ดึงเงินจากการโฆษณาได้เป็นกอบเป็นกำ
ในส่วนของการจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่นั้น อสมท ได้ชื่อว่าเป็นสถานีที่สร้างรายได้จากกิจกรรมทางการเมืองสูงสุดมาโดยตลอด ซึ่งคาดหมายได้ว่า นอกเหนือจากพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย ที่จะใช้งบประมาณด้านการใช้สื่อจำนวนมากแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีบทบาทในการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ ก็จะเป็นอีกหน่วยงานที่ต้องใช้งบประมาณผ่านสื่อก้อนใหญ่ และที่ผ่านมา อสมท ทั้งโมเดิร์นไนน์ และสถานีวิทยุ ก็แทบจะเป็นสถานีหลักในการรณรงค์การเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงเชื่อว่า 2 ปัจจัยหลักนี้จะส่งผลให้ อสมท.มีการเติบโตขึ้นอีกในไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ ผลประกอบการของ อสมท ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้รวม 946 ล้านบาท เป็นรายได้จากสถานีโทรทัศน์ 580 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ราว 6% โดยมีกำไรสุทธิ 316 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิของไตรมาสแรกของปีก่อนที่ทำได้ 252 ล้านบาท ราว 25% มิ่งขวัญกล่าวว่า เป็นการเติบโตที่เกินกว่าเป้าหมาย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน ผนวกกับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น สื่อหลายส่วนถูกลดงบโฆษณา แต่ อสมท ยังเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับ 25% ได้ตลอดทั้งปี
รายได้ของ อสมท ที่เติบโตขึ้น มิ่งขวัญ อธิบายที่มาว่า เป็นเพราะ อสมท. กำหนดนโยบายที่จะเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ และผลิตรายการเองให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้รายการซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ชมมากที่สุด ส่งผลให้รายการต่าง ๆ ของโมเดิร์นไนน์ได้รับความนิยม และสามารถขายโฆษณาได้มากขึ้น ปัจจุบันโมเดิร์นไนน์มีอัตราการขายโฆษณาประมาณ 85% โดยแบ่งเป็นรายได้โฆษณาจากภาคเอกชน 65% และส่วนราชการ 35% นอกจากนี้ในส่วนของสถานีวิทยุ หลังจาก อสมท นำสถานีต่าง ๆ กลับมาบริหารเอง สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะทำรายได้เฉลี่ยต่อคลื่นให้ได้ 15-20 ล้านบาทต่อเดือน
กรรมการผู้อำนวยการ อสมท ยังกล่าวถึงแผนสร้างรายได้ให้กับโมเดิร์นไนน์อีกส่วนว่า โมเดิร์นไนน์มีแผนที่จะปรับอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายการที่ได้รับความนิยม และมีเม็ดเงินโฆษณาไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กบนอกกะลา คุยคุ้ยข่าว สุริวิภา และ The Icon ฯลฯ นอกจากนี้รายการใหม่ที่จะเปิดตัวร่วมกับพันธมิตรในสัปดาห์หน้า ก็จะมีการใช้อัตราค่าโฆษณาที่ปรับเพิ่มตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย
ไอทีวี กำไรหด ยังไม่รู้อนาคต
ด้านสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หลังจากศาลปกครอง มีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะส่งผลให้ไอทีวีต้องกลับไปปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับสำนักนายกรัฐมนตรีเดิม คือ ต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1,000 ล้านบาท และปรับสัดส่วนรายการให้เป็นรายการข่าว และสาระ 70% ส่วนรายการบันเทิงเหลือ 30% และห้ามออกอากาศช่วงเวลาไพร์มไทม์ ก็เริ่มมีข่าวร้ายทะยอยออกมาเป็นลำดับ
ผลประกอบการในไตรมาส 1 ของปี 2549 ไอทีวี มีรายได้รวม 496.68 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 กลับทำรายได้ถึง 567.68 ล้านบาท ลดลง 12.51% โดยมีผลกำไรสุทธิในปีนี้ 103.25 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกของปีก่อน 161.61 ล้านบาท คิดเป็น 36.11%
คาดการณ์กันว่า หากไอทีวีแพ้อุธรณ์ต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1,000 ล้านบาท อาจทำให้ผลการดำเนินงานของไอทีวี ปี 2549 ที่เคยคาดว่าจะมีกำไรกว่า 807 ล้านบาท จะกลับกลายเป็นการขาดทุนทันที 1.9 พันบ้านบาท เพราะไอทีวีจะต้องจ่ายค่าสัมปทานย้อนหลัง 3 ปี หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท และต้องปรับผังรายการเพิ่มสัดส่วนรายการข่าว และสาระ เป็น 70% ซึ่งไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ยิ่งจะทำให้ไอทีวีขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก
|