ตลาดหุ้นไทยทรุดต่อเนื่อง ดัชนีรูด 14 จุด ต่างชาติทิ้งหุ้นไทยอีกเกือบ 5 พันล้านบาท ทำให้ยอดรวมขายสิทธิ 4 วัน 1.2 หมื่นล้านบาท เหตุกังวลเฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ห่วงต่างชาติขาย เชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจ "วิจิตร สุพินิจ" แอบหวังเบียร์ช้างกลับเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยในอนาคต ด้านนักวิเคราะห์ แนะปรับกลยุทธ์ทิ้งหุ้นขนาดใหญ่ หันถือเงินสดแทนหรือลงทุนหุ้นขนาดเล็ก หลังการเมืองยังคลุมเครือ-เศรษฐกิจไม่ฟื้น ขณะที่หุ้นแถบเอเชียก็หล่นเป็นแถว
ภาวะการซื้อขายหุ้นวานนี้ (18 พ.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันก่อน โดยในระหว่างวันได้ปรับตัวลดลงมาต่ำสุดที่ระดับ 743.96 จุด ติดลบไปกว่า 18 จุด ก่อนที่จะมีแรงซื้อเข้ามาทำให้ดัชนีกระเตื้องขึ้นและปิดที่ 748.30 จุด ต่อมาได้มีแรงซื้อเข้ามาทำให้ดัชนีกระเตื้องขึ้นและมาปิดที่ 748.30 จุดลดลง 14.06 จุดหรือ 1.84% มูลค่าการซื้อขาย 20,021.06 ล้านบาท
ส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายกลุ่ม ปรากฏว่า นักลงทุนต่างประเทศยังเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยขายสุทธิ 4,984.61 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 3,474.69 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,509.92 ล้านบาท ทำให้ยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ต้นสัปดาห์รวมทั้งสิ้น 4 วัน (15 - 18 พ.ค.) คิดเป็นมูลค่า 12,776.59 ล้านบาท
**ตลาดไม่ห่วงต่างชาติขายหุ้น
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะตลาดที่ปรับตัวลดลงในช่วงนี้เป็นการปรับตัวตามตลาดภูมิภาคและปรับตัวตามตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องที่ต้องกังวล ขณะที่การขายหุ้นทิ้งของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงการปรับพอร์ตเท่านั้น
"มองว่านักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ ยังไม่ย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ในแถบภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย เนื่องจากราคาหุ้นยังถูกอยู่ แม้จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศ แต่ปัจจัยภายนอกด้านอื่นๆ ก็มีผลผลกระทบกับตลาดอื่นๆ เช่นกัน"
**วิจิตรชี้เบียร์ช้าง-RRC
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงไม่น่าจะเกิดจากการถอนเงินเพื่อไปลงทุนในบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้าง และบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) หรือ RRC แต่น่าจะมาจากปัจจัยภายนอกทั้งความกังกลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ซึ่งได้กดดันให้ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลงเช่นกัน
ส่วนการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ถึงปัจจุบัน น่าจะเกิดจากปัจจัยการปรับพอร์ตขายทำกำไรออกมาบางส่วน
อย่างไรก็ตาม มองว่าในอนาคตบริษัทไทยเบฟเวอเรจ น่าจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยด้วยในลักษณะการจดทะเบียน 2 ตลาด ทั้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ดูโอ ลิสติ้ง) ซึ่งขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการหารือกับบริษัทต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญในการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยให้เพิ่มขึ้นและจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น โดยเชื่อว่าบริษัทไทยเบฟเวอเรจเพียงแต่คงจะรอจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น
**ลุ้น RRC เข้ามาสร้างสีสัน
ขณะเดียวกัน หลังจากที่โรงกลั่นน้ำมันระยอง เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแล้วน่าจะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง และน่าจะเป็นตัวนำร่องหุ้นจองตัวอื่นๆ ที่ขณะนี้รอจังหวะและภาวะตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวยหลายบริษัท และดึงนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาใหม่อีกครั้ง
**การเมืองคลุมเครือ-ศก.ไม่ฟื้น
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงเกิดจากความกังวลของนักลงทุนต่างประเทศต่อการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอีกรอบหนึ่ง หลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ จึงส่งผลต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง
ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศยังคลุมเครือ รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีขึ้น และหากมีการปรับประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายรอบ อาจทำให้ตลาดรับรู้ปัจจัยลบหลายครั้งอาจส่งผลให้ดัชนีปรับลงเป็นระยะๆอย่างไรก็ตามหากดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงมาที่ 724-730 จุดซึ่งเป็นแนวรับที่หนาแน่น ก็น่าจะทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้ง
สำหรับดัชนีตลาดหุ้นวันนี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบซึ่งมีโอกาสที่จะปรับตัวลงมากกว่าขึ้น หรืออาจจะมีการดีดตัวกลับบ้างแล้วขายเก็งกำไรออก โดยมีระดับแนวรับอยู่ที่740 จุด และระดับแนวต้านอยู่ที่ 760 จุด
"ช่วงนี้บริษัทแนะนำให้นักลงทุนปรับลดพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่มีอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย เช่นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์" นางสาวสุภากร กล่าว
**ทั่วโลกปรับพอร์ตถือเงินสดเพิ่ม
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาฝ่ายงานวิจัย บล. พัฒนสิน กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั้งภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมีการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อถือเงินสดเพิ่มขึ้น และความกังวลของนักลงทุนต่อท่าทีของเฟดที่อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยบล.พัฒนสิน ได้คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีการค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประกาศในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า อาจจะขาดดุลทั้ง 2 บัญชี รวมทั้งสภาพคล่องของตลาดที่ลดลงจาก หุ้นจองบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง, บริษัทไทยเบฟเวอเรจ และธนาคารไชน่าแบงก์ ที่กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตามห ากดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป จนถึง 720 จุด น่าจะทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งเพราะตลาดจะมีแนวโน้มที่ขาขึ้น(Upside)ถึง10%ถ้าเป้าหมายดัชนีตลาดอยู่ที่ 800 จุด และเมื่อรวมผลตอบแทนจากการปันผลซึ่งอยู่ที่ 4% จะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นขึ้นมาสูงถึง14%ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้น่าจะเป็นการปรับฐานเพื่อการหาดัชนีดต่ำสุด โดยมีระดับแนวรับอยู่ที่728-740จุด และระดับแนวต้านอยู่ที่760
"ในช่วงนี้แนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นกลุ่มบลูชิพ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเชื่อมโยงกับดอกเบี้ย และให้ไปซื้อหุ้นบริษัทที่มีรายได้แน่นอน เช่น หุ้นกลุ่มโรงแรม กลุ่มโรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์แบบให้เช่า นิคมอุตสาหกรรม และหุ้นขนาดเล็กบางตัว" นายถนอมศักดิ์กล่าว
**แนะ ทิ้งหุ้นใหญ่ถือเงินสดแทน
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นวานนี้ปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยปรับพอร์ตการลงทุนถือเงินสดมากขึ้น
"ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางของสหรัฐประกาศ สูงกว่าที่คาดการณ์ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะสูงขึ้นได้ และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้นด้วย"นายสุกิจ กล่าว
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยวันนี้น่าจะเป็นการปรับฐานและมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่า2-3วันที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนได้รับรู้ปัจจัยลบโดยเฉพาะเฟด ทำให้การเปลี่ยนแปลงของเฟดมีอิทธิพลต่อดัชนีตลาดหุ้นลดลง โดยมีระดับแนวรับอยู่ที่740จุดและระดับแนวต้านอยู่ที่755จุด
"ในช่วงนี้แนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตลงทุน โดยลดหุ้นขนาดใหญ่ลง และถือหุ้นขนาดกลางและเล็กมากขึ้นหรือถือเป็นเงินสดแทน เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศลงทุนหุ้นขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก และขณะนี้ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสูงทำให้หุ้นที่มีขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน"นายสุกิจกล่าว
นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า การที่ตลาดปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศได้ขายสุทธิ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในสหรัฐฯเนื่องจากมีความกังวลว่าเฟดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หากว่าดัชนีผู้บริโภคเดือนเมษายนมีตัวเลขสูงเกินกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวลดลงตาม และมีแรงขายต่อเนื่องในหุ้นกลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ทำให้ตลาดปรับตัวลดลงมาทดสอบแนวรับที่ 740-745 จุด สำหรับปัจจัยภายในประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการปรับลดลงในครั้งนี้มากนักด้านราคาน้ำมันยังอ่อนค่าไม่สูงเกิน 70 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งยังส่งผลดีให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นได้อยู่
"การที่ตลาดปรับตัวลดลง และเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก หรือเรื่องที่น่าตื่นตระหนกตกใจเพราะตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเข้ามาสูงถึงกว่า 1.1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาที่มีการขายออกมารวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ไม่ถึงว่าเป็นจำนวนที่มาก"
**หุ้นแถบเอเชียก็หล่นเป็นแถว
สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ราคาหุ้นของตลาดอื่นๆ ในแถบเอเชีย ถูกกระหน่ำเทขายกันอีกรอบเมื่อวานนี้ หลังจากกระเตื้องได้แค่วันเดียว เนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ฉุดให้วอลล์สตรีทย่ำแย่ไปในวันพุธ อีกทั้งเพิ่มความหวาดผวาว่า เมื่อเงินเฟ้อยังขยับสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ก็มีหวังต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก
ตามประกาศของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯในวันพุธ ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายกัน แถมดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งคือตัดเอาราคาสินค้าที่วูบวาบอย่างอาหารและพลังงานออกไป ก็ยังคงสูงขึ้น 0.3% จากที่นักวิเคราะห์เก็งกันทั่วไปว่าน่าจะอยู่แค่ 0.2%
ตลาดซึ่งกำลังหวั่นไหวว่าเฟดจะขยับดอกเบี้ยต่ออยู่แล้ว จึงถือข่าวนี้เป็นข่าวร้าย และฉุดให้ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันพุธ โดยตกลงไป 1.88% หรือ 214.28 จุด ซึ่งถือเป็นวันที่ตัวเลขดัชนีตกเยอะที่สุดในรอบ 3 ปี
เมื่อถึงคิวตลาดแถบเอเชียเปิดทำการ ปัจจัยนี้ก็พลอยทำให้หุ้นในภูมิภาคนี้แดงเถือกเป็นแถว โดยดัชนีหุ้นนิกเกอิของโตเกียวหล่นลง 1.35%, ดัชนีหุ้นฮั่งเส็งของฮ่องกงก็หายไป 2.10%, ดัชนีหุ้นสำคัญของตลาดโซลติดลบ 2.59% ขณะที่ดัชนีหุ้นสำคัญของตลาดมุมไม(บอมเบย์)ในอินเดียก็หล่นฮวบถึง 6.76%
ฟูมิยูกิ นาคานิชิ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนแห่งบริษัทหลักทรัพย์ เอสเอ็มบีซี เฟรนด์ ซีเคียวริตีส์ ของโตเกียว กล่าวว่า ไม่มีข้อสงสัยเลยที่การไหลรูดของวอลล์สตรีท อยู่เบื้องหลังการติดลบดำดิ่งของหลักทรัพย์ญี่ปุ่น เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯซึ่งเพิ่มแรงกว่าคาดหมาย เป็นการฟื้นคืนกระแสกะเก็งที่ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด อาจจะขยับขึ้นดอกเบี้ยกันอีกรอบในการประชุมคราวต่อไปเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ไปแรง
กระแสเทขายหุ้นในเอเชียนั้น เริ่มขึ้นอย่างน่าหวั่นไหวตั้งแต่วันศุกร์(12)ที่แล้ว ภายหลัง เบน เบอร์นันกี ประธานเฟด ล้มเหลวไม่สามารถส่งสัญญาณอันชัดเจนได้ว่า วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันกำลังใกล้จะยุติแล้วหรือยัง
การเทขายยิ่งเร่งทวีเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งเห็นกันว่าจะส่งผลให้การส่งออกของแถบเอเชียย่ำแย่ลง อีกทั้งราคาพวกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ก็ดำดิ่งหลุดจากระดับสูงสุดเป็นสถิติ จึงยิ่งสร้างความหวั่นใจขึ้นไปอีก เนื่องจากเห็นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ราคาซึ่งพุ่งลิ่วๆ ได้ไปถึงจุดที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่เพียงเท่านั้น การตกวูบของสินค้าโภคภัณฑ์ในเวลาเดียวกับตลาดหุ้นแถบเอเชีย ยังมองกันว่า พวกนักลงทุนสถาบันระดับโลก กำลังเทขายทรัพย์สินที่พวกเขาถือว่ามีความเสี่ยงสูง อันได้แก่สัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นแถบเอเชียนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เพลเยอร์ในตลาดเอเชียหลายคนยังมองโลกในแง่ดี อาทิ มิตสึชิเกะ อาคิโนะ หัวหน้าผู้จัดการกองทุนแห่งบริษัทจัดการการลงทุน อิชิโยชิ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ ของโตเกียวกล่าวว่า หุ้นญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ยังไม่ใช่การกระหน่ำขายแบบไม่มีหูรูด เพราะเมื่อดัชนีนิกเกอิลดลงต่ำกว่าระดับจิตวิทยา 16,000 ก็สามารถดึงดูดให้พวกนักลงทุนกลับเข้ามาช้อนซื้อของถูก จนปิดที่ระดับ 16,087.18
นอกจากนั้นในตลาดแถบยุโรป ซึ่งหุ้นในอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี ต่างหล่นฮวบกว่า 2.5% ในวันพุธ พอถึงช่วงเช้าวานนี้ก็อยู่ในอาการพอประคับประคองตัวได้มากขึ้นแล้ว โดยที่ดัชนีฟุตซี่ 100 ของลอนดอนไหลลง 0.28%, ดัชนีแดกซ์ 30 ของแฟรงเฟิร์ต ลบ 0.04% และดัชนีซีเอซี 40 ของปารีส บวกขึ้น 0.22%
เช่นเดียวกับราคาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยที่ทองคำตลาดจรที่ลอนดอน ลดต่ำลงราว 2 ดอลลาร์อยู่ที่ออนซ์ละ 689 ดอลลาร์
|