|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
นักลงทุนต่างชาติ ถล่มตลาดหุ้นไทย เทขายทำกำไรวันเดียวกว่า 3.7 พันล้านบาท กดดัชนีติดลบ 16.53 จุด หลังจากทยอยเก็บมาตั้งแต่ต้นปีถึง 1.1 แสนล้านบาท นักวิเคราะห์ เผยนักลงทุนขายหุ้นเพื่อนำเงินไปจองซื้อ 2 หุ้นใหญ่ "เบียร์ช้าง-โรงกลั่นน้ำมันระยอง" ส่งผลต่อตลาดเงินทำให้ค่าบาทอ่อนค่า หลังจากเจอแรงขายบาทซื้อเงินดอลลาร์สิงคโปร์กันไว้ซื้อหุ้นเบียร์ช้าง ด้านผู้ว่าแบงก์ชาติ ยันเงินบาทมีเสถียรภาพ
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (15 พ.ค.) ดัชนีได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายในช่วงเช้า จากแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้มีแรงซื้อสุทธิเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บวกกับขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน จึงได้ขายทำกำไรออกมาในตลาดทุน ขณะที่นักลงทุนบางส่วนได้ขายหุ้นเพื่อเตรียมเงินไว้จองซื้อหุ้นของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด ที่กำลังจะกระจายหุ้นในช่วงครึ่งเดือนหลังนี้
โดยดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงสุดระหว่างวันที่ 775.40 จุด และต่ำสุด 763.69 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 765.97 จุด ลดลง 16.53 จุด หรือลดลง 2.11% มูลค่าการซื้อขาย 19,260.28 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 3,741.62 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 419.96 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 3,321.66 ล้านบาท
**นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นทำกำไร
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าปรับตัวลดลงติดต่อกันใน 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้หุ้นกลุ่มน้ำมันซึ่งมีมูลค่าราคาตลาดรวมสูงปรับตัวลดลง ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมด้วย ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนได้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/49 ออกมาเกือบหมดแล้ว ทำให้ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น นักลงทุนจึงได้ทยอยขายหุ้นทำกำไร โดยเฉพาะหุ้นน้ำมัน และหุ้นกลุ่มธนาคาร จากแนวโน้มอัตราเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่กลุ่มธนาคารจะมีปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ลดลง
ขณะเดียวกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศได้ซื้อสุทธิหุ้นไทยสูงถึงกว่า 1.1 แสนล้านบาท จึงขายทำกำไรออก แต่คาดว่าจะเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งการที่ค่าเงินทุกสกุลในเอเชียอ่อนค่า เกิดจากการนักค้าเงินมีการขายออกมาจากที่ผ่านมาค่าเงินได้มีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ค.นี้ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) หรือ RRC จะมีการเปิดให้จองหุ้น และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จะมีการเปิดจองซื้อหุ้นในวันที่ 19-23 พ.ค. ทำให้นักลงทุนต่างประเทศส่วนหนึงมีการขายหุ้นออกมาเพื่อเตรียมเงินไว้จองซื้อหุ้นทั้ง 2 บริษัท
สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าหากน้ำมันมีการอ่อนตัว ก็เชื่อว่าหุ้นกลุ่มน้ำมันก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน และปัจจัยทางการเมืองก็ยังไม่มีผลบวกจากการเลือกตั้งในอีก 4-5 เดือนจากนี้ โดยหากดัชนีมีการปรับตัวลดลงก็ลงไม่มาก โดยมองแนวรับที่ 758-760 จุด แนวต้านที่ 768-770 จุด
**หลีกเลี่ยงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์
นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ธนชาต จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นวานนี้เกิดจากปัจจัยหลักคือ การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นต่างประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนตัวทำให้มีเม็ดเงินไหลออก บวกกับนักลงทุนต่างประเทศเทขายทำกำไรในหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET 50 หลังจากช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อสุทธิแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับยอดซื้อสุทธิของปีที่ผานมาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท
"ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้น 8.5% ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 725 จุด เพิ่มขึ้นประมาณ 60 จุด หรือ 5-6% จุดสูงสุดดัชนีปีนี้ที่ 785 จุด จึงทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นออกมา เพื่อเก็งกำไรออกมา ทำให้เม็ดเงินมีการไหลออก โดยหุ้นที่ปรับตัวลงแรงคือ กลุ่มธนาคาร น้ำมัน และสื่อสาร" นายแสงธรรม กล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าภาวะตลาดจะมีการทรงตัว และมีการรีบาวด์ หลังจากปรับตัวลดแรงวานนี้ และการไหลออกจากเม็ดเงินจะเป็นเพียงระยะสั้น โดยมองแนวรับที่ระดับ 760 จุด แนวต้านที่ระดับ 770 จุด กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ นักลงทุนสามารถเข้าทยอยซื้อหุ้นในกลุ่มส่งออก จากค่าเงินบาทที่มีการอ่อนตัว และหุ้นกลุ่มพลังงาน ส่วนหุ้นที่ไม่แนะนำเข้าลงทุนคือ หุ้นกลุ่มธนาคาร ที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการชะลอ
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยการมการผู้จัดการ บล.ทีเอสอีซี กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงแรงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งมีความกังวลจะเกิดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐทำให้มีการขายหุ้นพลังงานออกมา และจากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งดัชนี มอร์แกนสแตนเลย์ (MSCI)ได้มีการปรับลดน้ำการลงทุนในตลาดหุ้นไทย จึงทำให้ต่างชาติมีการขายหุ้นไทยออกมา ในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัว และบริษัทจดทะเบียนก็มีกำไรทรงตัวและปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จึงไม่มีแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศมีการเข้ามาลงทุน จึงทำให้มีแรงขายออกมา ซึ่งส่วนหนึ่งของเม็ดเงินต่างชาติที่มีการไหลออก จะมาจากนักลงทุนมีการเตรียมเงินไว้จองซื้อหุ้น โรงกลั่นน้ำมันระยอง และหุ้นไทยเบฟเวอเรจ
**ทิ้งบาทรอซื้อหุ้นเบียร์ช้าง
ด้านนักวิเคราะห์การเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวถึง ค่าเงินบาทวานนี้ (15 พ.ค.) ว่า ภาวะค่าเงินบาทอยู่ในภาวะผันผวน โดยเปิดตลาดอ่อนค่าที่ระดับ 37.90-37.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าไปแตะระดับต่ำสุดที่ 38.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะมีแรงเทขายออกมาทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าสูงสุดที่ระดับ 37.85 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และผันผวนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยผันผวนประมาณ 20 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ สวนทางตลาดค่าเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนแข็งค่าที่ 109.60 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสาเหตุที่ค่าเงินบาทผันผวน เนื่องจากมีการเทขายเงินบาทเพื่อซื้อเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ในการเตรียมซื้อหุ้น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของผลิตภัณฑ์เบียร์ช้าง ที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสิงคโปร์ รวมทั้งยังมีแรงเก็งกำไรในค่าเงินบาท แต่คาดว่าในระยะสั้นเงินบาทจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าลง
"เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ไม่น่าเป็นห่วง คงจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ แต่หลังจากที่เบียร์ช้างเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสิงคโปร์แล้ว เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้น เพอุ๋ยยันไม่มีเงินทุนไหลออก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงวานนี้ ว่า เป็นตามฃทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย และไม่มีเงินทุนไหลออกเพื่อไปซื้อหุ้นไทยเบฟฯ ในตลาดหุ้นสิงคโปร์อย่างที่ฃเป็นข่าว เพราะการที่ไทยเบฟฯนำหุ้นไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์น่าจะทำให้มีเงินไหลเข้ามากกว่า
"ค่าเงินบาทวันนี้ไม่ได้ถือว่าผันผวน ไม่มีใครรู้ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร และกรณีเบียร์ช้างไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนฃด้วย ซึ่งบางครั้งการที่นักค้าเงินคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทอ่อ ทำให้เงินบาทอ่อนลงได้ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของเงินฃบาทวันเดียวไม่สามารถบอกแนวโน้มในอนาคตได้ และแบงก์ชาติเองก็ไม่ได้เข้าแทรกแซงด้วย" ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าว
น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ร่วง
สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมัน ตลอดจนตลาดหลักทรัพย์ในทั่วโลก พากันไหลรูดเมื่อวานนี้(15) สืบเนื่องจากความหวั่นผวาเรื่องเศรษฐกิจโลกชักส่ออาการเติบโตต่อไม่ไหว เนื่องจากน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีราคาแพงลิบ รวมทั้งการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีแนวโน้มอาจจะขยับขึ้น
ราคาน้ำมันและทองคำ ที่ซื้อขายกันในตลาดลอนดอนช่วงเช้าวานนี้ (15) ลดฮวบกว่า 2% ขณะที่ราคาทองแดงดิ่งลงเช่นกันเกือบ 9% เนื่องจากนักลงทุนหวั่นวิตกว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวที่กำลังพุ่งสูงขึ้นหรือพุ่งขึ้นทำลายสถิติแล้วอาจส่งผลฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันได้หล่นฮวบกลับไปต่ำกว่าระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากมีการเปิดเผยรายงานหลายชิ้นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนที่บ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงกำลังส่งผลกระทบต่อดีมานด์ความต้องการบริโภคเชื้อเพลิงทั่วโลก รวมถึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ขณะที่มาร์ก มาเธียส กรรมการผู้จัดการของบริษัทเฮดจ์ฟันด์ ดอว์เนย์ เดย์ ควอนตัม กล่าวว่า "ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆได้ถีบตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ราคาจะขยับถอยลงมาเล็กน้อย"
ทั้งนี้ การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบไลท์สวีทครูดของตลาดไนเม็กซ์แห่งนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนมิถุนาย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ลอนดอนเช้าวานนี้ ราคาลดฮวบลงไปถึง 2.12 ดอลลาร์ อยู่ที่ 69.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันชนิดเบรนท์ ก็ลดลงไป 2.14 ดอลลาร์อยู่ที่ 70.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้านราคาโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมและโลหะมีค่าต่างๆ ก็พลอยลดต่ำลงไปด้วย เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นถดถอยลง โดยราคาทองแดงซึ่งพุ่งทำสถิติใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรับลดลงไปอยู่ที่ 7,700/7,900 ดอลลาร์ต่อตัน หรือขยับลงไป 8.8% เมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดวันศุกร์ที่แล้ว (12) สังกะสีก็ควงสว่านร่วงลง 10% ก่อนกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย ขณะที่ราคาทองคำร่วงลงไปอยู่ที่ออนซ์ละ 687.60 ดอลลาร์ หรือลดลง 3.7% จากราคาปิดตลาดในนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ 714.10/715.10 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนยังมองกันว่า ราคาน้ำมันไม่น่าที่จะร่วงลงไปกว่านี้มากนัก ซ้ำร้ายยังอาจจะยิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีกในอนาคต มาเธียสคาดหมายว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ตลาดหลักทรัพย์ก็ตกเป็นแถว
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ก็อยู่ในอาการติดลบแดงเถือกเช่นกัน โดยที่มีสัญญาณไม่ดีตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดวอลล์สตรีท ติดลบ 141.92 จุด หรือ 1.22% และ 119.74 จุด หรือ 1.04% ในวันพฤหัสบดี(11) และวันศุกร์(12) ตามลำดับ ด้วยความหวั่นไหวเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้ยังคงมีการเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีก
เมื่อถึงช่วงการซื้อขายของตลาดหุ้นแถบเอเชียวานนี้ ก็ปรากฏว่าติดเชื้อความหวาดผวาจากวอลล์สตรีท และพากันร่วงหล่นตาม
ดัชนีหุ้นสำคัญของตลาดฮ่องกงนั้นติดลบไป 2.41% ส่วนตลาดโตเกียวเบาหน่อย แค่ 0.69% แต่ก็เป็นการกระเตื้องขึ้นจากจุดลงต่ำสุด สิงคโปร์หล่นลงถึง 3.72% ตลาดมุมไบ(บอมเบย์) ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวรุ่งดวงเด่นที่สุดของปีนี้ ตกลง 3.9% ขณะที่มะนิลาทรุด 3.16% ส่วนที่ฮวบหนักสุดคือตลาดจาการ์ตา ซึ่งดิ่งวูบถึง 6.31% ถึงแม้พวกนักวิเคราะห์ยังมองแง่ดีว่า การไหลรูดที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการปรับฐานแบบมีสุขภาพดี ในบรรดาตลาดซึ่งกำลังวิ่งทำลายสถิติหรือทำนิวไฮในรอบหลายๆ ปีกันอยู่ ไม่ใช่เป็นเพราะอารมณ์ความรู้สึกในตลาดมีการหักมุมเลี้ยวกลับแล้ว
กระนั้นก็มีนักวิเคราะห์บางคนโทษว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯภายใต้การนำของ เบน เบอร์นันกี ประธานคนใหม่ ดูจะยังไม่มีทิศทางแน่นอนชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย กำลังทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความสับสน และเป็นอันตราย
|
|
 |
|
|