แบงก์ชาติเผยยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท ภาคการผลิตมีการขออนุมัติสินเชื่อมากที่สุด รวมถึงยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มอเตอร์ไซค์พุ่งสวนกระแสราคาน้ำมันแพง เตือนแบงก์พาณิชย์ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เร่งปรับตัวและระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้รายงานตัวเลขเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 โดยมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบ 5,784,783 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาที่มียอดสินเชื่อคงค้าง 5,681,451 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 103,332 ล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่มียอดสินเชื่อมากที่สุด คือ ภาคการผลิต มียอดสินเชื่อทั้งสิ้น 1,539,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 14,063 ล้านบาท รองลงมา คือ การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล มียอดสินเชื่อ 1,043,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,947 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อของภาคธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และซ่อมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน ที่มียอดสินเชื่อ 964,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,118 ล้านบาท ตามมาด้วยภาคธุรกิจที่เป็นตัวกลางทางการเงินมียอดสินเชื่อ 731,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,458 ล้านบาท และภาคธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ มียอดสินเชื่อ 476,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40,395 ล้านบาท สำหรับภาคเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ ยอดสินเชื่อลดลง 10,669 ล้านบาท เช่นเดียวกับภาคการก่อสร้าง ที่ยอดสินเชื่อลดลง 9,252 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล หากพิจารณาดูแต่ละรายการสินเชื่อ จะพบว่า สินเชื่อเพื่อการซื้อที่ดินเปล่า เพื่อสร้างบ้านและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง 2,568 ล้านบาท เช่นเดียวกับการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ลดลง 11,135 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อการจัดหาที่อยู่อาศัย ลดลงถึง 9,267 ล้านบาท แต่ในส่วนของสินเชื่อการซื้อหรือเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ราคาน้ำมันจะแพง แต่ยอดสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวนี้กลับเพิ่มขึ้นถึง 44,257 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูเครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนซึ่งทีมเศรษฐกิจมหภาค ของธปท.รายงานเมื่อสิ้นไตรมาสแรกที่ผ่านมา จะเห็นว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในกลุ่มสินค้าคงทนมีการขยายตัวดี ทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมาจำหน่าย ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปหากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง อาจจะกระทบกับความสามารถในการขยายสินเชื่อและคุณภาพของสินเชื่อในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวสูงขึ้นและภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เร่งตัวขึ้นทั้งจากผลของการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อปลายปี 2548 ที่มีผลเต็มที่มากขึ้นและการปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลในระยะต่อไปและกดดันให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับตัวในการดำเนินงานและระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น
|