Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2539
อดีตที่อัศวินต้องจำไปจนตาย             
โดย อมรรัตน์ ยงพาณิชย์
 

 
Charts & Figures

การลงทุนของ IFCT ในบริษัทในเครือและบริษัทร่วม
ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 รายแรกใน IFCT ณ วันที่ 28 มิถุยายน 2539


   
search resources

เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ , บง
อัศวิน คงสิริ
Financing




อาคาร 34 ชั้นบน ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ที่ลงฐานรากไว้เสร็จสรรพเรียบร้อย บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ พื้นที่ใช้สอย 70,000 ตร.ม. ข้างอาคารบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ IFCT ในปัจจุบัน คงต้องปรับแผนการบริหารพื้นที่ในบางส่วนเสียแล้ว

เพราะเมื่อเลียบเคียงสอบถามจากฝ่ายการสถานที่และฝ่ายการพนักงานของบรรษัทฯ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ได้ความว่าพื้นที่ใช้สอยส่วนหนึ่งของอาคารนี้ ปูทางเผื่อไว้สำหรับทำงานในส่วนกิจการ ธนาคารพาณิชย์

หากธนาคารพาณิชย์ที่มีบริษัทเงินทุนเฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ FCI (บรรษัทฯ ถือหุ้น 51%) ซึ่งเป็นแกนนำผู้เริ่มจัดตั้งประเภทที่ 1 เข้ารอบการพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่

ท่านที่ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งตรงนี้เสริมทางออกเท่าที่ได้รับทราบจากเบื้องบนในตอนนั้นว่า หากโชคร้ายไม่ได้รับเลือก พื้นที่ที่กะเกณฑ์ไว้ก็จะปรับเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าทั่วไป

"อาคารนี้ก่อสร้างมาเมื่อ 5-6เดือนที่แล้ว ตอนนี้ลงเข็มเสร็จแล้ว เรากำลังคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มารับช่วงไป ถ้าเป็นไปตามแผนจะเข้าไปอยู่ได้ในปี 2542 และใช้งบก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท จะทำเป็นที่จอดรถชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และไม่เกิน 10 ชั้นสำหรับที่จอดในตัวอาคาร" แหล่งข่าวจากฝ่ายการสถานที่ให้ข้อมูล

ฤาจะเป็นลาง เพราะในที่สุดฝันที่ถักทออยู่นานสองนานก็มีอันต้องล่มสลายไปจริง ๆ เมื่อปรากฏว่ารายชื่อ 3 ธนาคารพาณิชย์ใหม่ไม่มี FCI อยู่ด้วย เมื่อครั้งประชุมเคร่งเครียดนาน 3 ชั่วโมงเต็มในคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

ข้อสรุปของที่ประชุมครม.ในวันนั้น ลงความเห็นให้ บดี จุณณานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เซ็นอนุมัติให้กำเนิด 3 ธนาคารพาณิชย์ใหม่ได้ทันที ได้แก่ "ธนาคารปฐมไทย" ของกลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) "ธนาคารราชสีมา" ของกลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค พร็อพเพอร์ตี้ส์ แอนด์ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ "ธนาคารจีเอฟ" ของกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ จำกัด (มหาชน)

พร้อมมอบมายให้ไปดำเนินการต่อในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อบรรลุตามแผนพัฒนาการเงิน หรือที่รู้จักกันในนามแผนแม่บททางการเงิน 5 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2543) ที่เกิดในสมัยรัฐบาลของนายกฯ ชวน หลีกภัย

โดยการอนุมัติให้ตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ได้ไม่เกิน 5 แห่งนี้ เป็นหนึ่งในแผนแม่บทฯ ดังกล่าว นอกเหนือจากแนวคิดที่ต้องการให้มีสาขาธนาคารต่างประเทศเต็มรูปแบบ รวมทั้งเปิดรอบสองสำหรับใบอนุญาตทำธุรกิจวิเทศธนกิจ (BIBF)

นอกจากนี้ มติครม.วันเดียวกัน ยังเห็นควรให้ อำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไปตรวจสอบเรื่องการติดสินบนที่เปิดประเด็นอย่างคึกโครม โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.ยุติธรรม ผู้กล่าวหาว่า มีการกินนอกกินในกันถึงใบอนุญาตละ 750 ล้านบาท

เรียกได้ว่า "โผไม่พลิก" เพราะตลอดระยะวลาการพิจารณามีกระแสหนาหูว่า FCI ตกรอบแน่ ๆ พร้อมกับอีก 3 ราย คือ กลุ่มองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) และกลุ่ม FCI จากจำนวนทั้งสิ้น 6 รายที่เสนอตัวเข้ามาในช่วงระยะเวลายื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม2538 ถึง31 มกราคมของปีนี้ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาคำขอจัดตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 11 ท่าน และมีผู้ว่าการ ธปท. คือ วิจิตร สุพินิจ เป็นประธาน

"เราทราบว่า ทางคณะกรรมการ ได้ข้อสรุปมาแล้ว 2-3 แห่ง และพอจะรู้ว่า มีใครบ้าง แต่นั่นจากคำบอกเล่าของคนอื่น มันยังไม่จบ ท่านรัฐมนตรียังไม่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดลงมา ยังมีขั้นตอนอีกเยอะและรัฐมนตรีก็เปลี่ยน ท่านผู้ว่าฯ ก็เปลี่ยนอะไร ๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ เลยยังสรุปไม่ได้ว่า ผลจะออกมาอย่างไร" อัศวิน คงสิริ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป กล่าวอย่างมีความหวังและยังไม่คิดว่าจะพลาดง่าย ๆ ในช่วงต้นของการพิจารณา

ทั้งที่รูปการณ์ในตอนนั้นยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ เนื่องจากคนในกระทรวงการคลังเองหลายต่อหลายคน ออกมาให้ความเห็น (แบบลับ ๆ ) ว่าจะมีการเสนอชื่อเข้าที่ประชุมพิจารณาเพียง 3 กลุ่มท่านั้น และ 3 กลุ่มนั้นคือ กลุ่มที่อยู่ในความคาดหมาย ซึ่งไม่นับรวม FCI

และที่สุด โอกาสของ FCI ก็ไม่เหลือจริง ๆ เพราะเรื่องนี้สามารถพิจารณาได้ทันในสมัยของผู้ว่าฯ วิจิตร และยื่นถึงมือบดี ในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันเดียวกับการยื่นหนังสือลาออกของเขา เลยกำหนดไปกว่าสองเดือนจากที่ตั้งใจไว้

ใจความในบันทึกลับฉบับนั้น อ้างถึงการทำงานของคณะกรรมการฯ ที่มีการประชุมรวมทั้งสิ้น 4 ครั้งว่า ได้มีการพิจารณาคำขอของผู้ย่นคำขอทุกรายตามหลักเกณฑ์ในประกาศกระทรวงการคลังทุกประการ

ลำดับแรกเป็นการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอแต่ละราย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ยื่นคำขอด้วยกัน และระหว่างผู้ยื่นขอกับธนาคารพาณิชย์ที่จัดตั้งขึ้นแล้วในปัจจุบัน ลึกไปกว่านั้น คือ การตรวจสอบประวัติการบริหารงาน การกระทำความผิดทางการเงิน และการถูกกล่าวโทษในทุกกรณีของผู้ยื่นคำขอและของผู้บริหารระดับสูง สุดท้าย คือ พิจารณาฐานะทางการเงินและแหล่งที่มาของเงิน ตลอดจนแผนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่จะจัดตั้งขึ้น

ซึ่ง FCI ไม่ผ่านการพิจารณาในเบื้องต้น เนื่องจากถูกตั้งข้อสังเกตถึง 3 ประการใหญ่ ๆ คือ ผู้เริ่มจัดตั้งประเภท 1 จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท พร้อมสินพัฒน์ จำกัด บริษัท จัดการอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ไอเอฟซีที แคปปิตอล แมนเนจเมนท์ จำกัด และบริษัทสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด มีฐานะการเงินอ่อนและต่างไม่มีแหล่งเงินทุนเป็นของตัวเอง ต้องพึ่งพิงบรรษัทฯ เป็นผู้อุปถัมภ์หลัก คณะกรรมการฯ จึงลงความเห็นว่า ฐานะการเงินไม่มั่นคงพอต่อธนาคารพาณิชย์ที่จะจัดตั้งขึ้น

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ FCI หมดคุณสมบัติ คือ ข้อสงสัยว่า บรรษัทฯ อาศัยบุคคลธรรมดาในบริษัทในกลุ่มถือหุ้นแทนตัวเอง โดยเมื่อคิดเบ็ดเสร็จแล้ว บรรษัทฯ จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นโดยอ้อมในธนาคารที่จะจัดตั้งไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขในประกาศกระทรวงการคลังข้อ 13 (2) ที่กำหนดให้ผู้เริ่มจัดตั้งแต่ละรายถือหุ้นได้ไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งการถือหุ้นโดยตรงของบรรษัทฯ ใน FCI ก็เป็นจุดอ่อนในคุณสมบัติเช่นกัน

ข้อติติงประการสุดท้าย ที่คณะกรรมการฯ ยกขึ้นมา คือ กรณีของผู้ร่วมก่อตั้งประเภท 2 ที่บางรายมคดีความทางอาญา ทำให้ไม่เหมาะสมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ขอจัดตั้ง

อโนทัย เตชะมนตรีกุล รองผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทฯ ในฐานะประธานกรรมการใน FCI กล่าวอย่างหัวเสีย เมื่อทราบเหตุผลเหล่านี้

"ข้อสังเกตนี้มันผิดปกติ ไม่น่าเอามาเป็นเหตุได้ เพราะกลุ่มอื่นก็เอาในครือมาร่วมกันทั้งนั้น สำรับเราก็ไม่ได้มีการปิดบังอะไร ส่วนเรื่องคดีความที่ผู้ร่วมจัดตั้งประเภท 2 บางรายมีคดีฟ้องร้องแต่นั่นเป็นเรื่องหมิ่นประมาท ไม่ใช่ปัญหาทางการเงิน ตั้งข้อสังเกตแบบนี้ผมว่าไม่ยุติธรรม เราไม่เคยได้รับการติดต่อจากแบงก์ชาติเลยแม้แต่นิดเดียวว่า เราผิดเงื่อนไข และเราเองได้เช็คกลับไปที่ฝ่ายกำกับฯ เมื่อได้ยินอะไรแปลก ๆ เขาก็บอกไม่มีอะไร"

ขณะที่อัศวินก็จุกอกไปเหมือนกัน เพราะแผนที่ตั้งใจจะทำเพื่อเป้าหมายหนึ่งกลับถูกมองเจตนาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"เราไม่เคยนึกในมุมนี้เลย เราคิดแต่เพียงว่า การใช้เงินกู้จากบรรษัทฯ จะทำให้แบงก์ใหม่เข้มแงขึ้น และทุกอย่างเราก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทุกประการ ไม่ได้บกพร่องเลย แต่เมื่อคณะกรรมการฯ ลงความเห็นไปอีกทาง จึงจำเป็นต้องเข้าชี้แจงให้รัฐมนตรีคลังได้รับทราบ" อัศวิน ตัดพ้อ

เป็นเรื่องยากระหว่างเส้นวัดในถ้อยคำทางกฎมาย กับวิจารณญาณในการพินิจพิจารณาอนุมัติ ซึ่งดูเหมือนกรณีนี้ ปัจจัยทั้งสองจะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไร

ความปรารถนาของบรรษัทฯ ที่จะมีธนาคารพาณิชย์กับเขาบ้าง โดยมี FCI เป็นตัวตายตัวแทน จึงต้องจบลงอย่างคาดไม่ถึง

แต่เมื่อมันพลาดและไม่สามารถแก้ไขอะไรอีกต่อไปได้ ก็ไร้ประโยชน์ที่จะโอดครวญ อโนทัยกล่าวเป็นเชิงปลอบใจตัวเองว่า "ก็ถือเสียว่า FCI ประหยัดเงินงทุนที่จะไปลงในบริษัทใหม่ก็แล้วกัน และจริง ๆ แล้ว FCI เองก็ถือหุ้นแค่ 5%"

เขากล่าวต่อว่า จะมีที่ลงทุนไปบ้างแล้ว ก็เฉพาะการว่าจ้างให้ BOOZ-ALLEN & HAMILTON เข้ามาช่วยวางแผนงานและให้คำแนะนำเพื่อเตรียมตัวก่อนยื่นขอจัดตั้งเท่านั้น

น่าเห็นใจ FCI อยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งรับทราบข่าวร้าย เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปฏิเสธที่จะให้ใบอนุญาตทำธุรกิจหลักทรัพย์ก็ว่าจะได้แน่ ๆ แต่แล้วก็ "ชวด"

อัศวินพยายามชี้แจงเรื่องนี้ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า "เราไม่ได้ตำหนิทาง ก.ล.ต.เพราะเขาก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่ให้ แต่ก็ไม่ได้มีข้อผูกพันที่จะให้ เพราะตอนนี้ทางการยังไม่มีกฎกระทรวงมารองรับ"

ทว่า อัศวินไม่ได้หยุดความพยายาม เขาทำหนังสือเป็นทางการถึง ก.ล.ต. เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขอให้ช่วยพิจารณาคำขอของ FCI เป็นรายแรก หากทางการมีกฏกระทรวงหรือระเบียบใด ๆ ที่จะให้ใบอนุญาตใหม่

"เราเข้าใจว่า ก.ล.ต. จะทำเพื่อเรารายเดียวไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างข้อผูกพันที่จะให้ไว้บ้าง กรณีที่มีการพิจารณาไลเซนส์แบบจำกัด" อัศวิน กล่าว

เขาว่า ก่อนหน้านี้ FCI ได้เคยยื่นต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ไป โดยอ้างข้อตกลงที่มีไว้กับ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรมว.คลัง และวิจิตร อดีตผู้ว่าฯ ธปท.

ที่เสนอว่า หากบรรษัทฯ เข้าซื้อหุ้น FCI จนครบ 51% จะได้รับใบอนุญาตหลักทรัพย์เป็นสิ่งตอบแทน

"พอเรารู้เงื่อนไขอย่างนี้ ก็พยายามซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ จนได้ครบ 51% เมื่อลางปีที่ผ่านมา และตั้งใจกู้สถานะของ FCI จนดีขึ้นอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้" อัศวินกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ใบอนุญาตใบนี้เป็นสิ่งจูงใจอันสลักสำคัญ

อย่างไรก็ดี จากคำบอกเล่าถึงเหตุการณืในอดีตครั้งนั้นโดย ชวลิต ธนะชานันท์ อดีตประธานกรรมการของบรรษัทฯ ที่มีส่วนร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย ทำให้ทราบว่าที่มาของความผิดหวังในทุกวันนี้ จุดหลัก ๆ เป็นเพราะไม่ได้มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว แม้ไม่มีกฎกระทรวงมารองรับในวันนี้ ก็ยังยึดเป็นคำมั่นสัญญาได้ว่าทางการจะผลักดันให้อย่างเต็มที่

ชวลิตท้าวความให้ฟังว่า "ช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินกับ FCI ได้มีการประชุมร่วมกันหลายฝ่าย มีคุณธารินทร์ คุณประสาร (ไตรรัตน์วรกุล) คุณวิจิตร และผมด้วย มาช่วยกันคิดหาทางแก้ไข และก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า บรรษัทฯ นี่แหละที่ควรเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งคุณธารินทร์ยืนยันด้วยวาจาชัดเจนว่า จะให้ไลเซนส์หลักทรัพย์กับ FCI หากทำให้กิจการดีขึ้นได้จนเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็พูดเป็นนัยเหมือนกันว่า ต้องไม่ติดขัดข้อบังคับทางกฎหมาย"

เขายอมรับว่า ในขณะนั้น ไม่ทันฉุกคิดว่า เงื่อนปมเพียงเล็กน้อยนี้จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในปัจจุบันได้

อัศวินกล่าวสมทบว่า "ก็ต้องทำใจและตั้งตารออย่างเดียว เพราะที่คุย ๆ กันในตอนนั้น ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำเรื่องใบอนุญาตไม่ได้อยู่ร่วมวงเจรจา"

ไม่เพียงความผิดหวังอันเกิดกับ FCI ถึงสองครั้งสองคราเท่านั้น กับตัวบรรษัทฯ เองโดยตรงก็ประสบกับเหตุการณ์อันเจ็บปวดไม่แพ้กัน และครั้งนี่เพิ่งจบไป การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยอย่างแกะไม่ออก

การแก้ไข พ.ร.บ.บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2502 ถูกตีกลับโดยคำสั่งของ เนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้รับมอบหมาย ให้ทำหน้าที่แทน สุรเกียรติ เสถียรไทย รมว.คลังในขณะนั้น ซึ่งติดราชการเดินทางไปเยือนยุโรป

เขาถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ออกจากวาระการประชุม ครม.ที่กำหนดไว้วันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา หลังเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่าหากปล่อยร่างที่บรรษัทฯ เสนอขึ้นมาเข้าสู่ ครม. ย่อมไม่ผ่านแน่ เพราะถือเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและเป็นการเข้าไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์โดยตรง

จึงสั่งตรงให้อัศวินนำกลับไปแก้ในประเด็นที่ยังขัดต่อเงื่อนไขการจัดตั้งและค่อยนำมาเสนอใหม่ เพื่อพิจารณาเข้าที่ประชุม ครม.ในโอกาสต่อไป

"พลิกล็อคสิ้นเชิง" เพราะว่าไปแล้ว จุดเริ่มต้นที่ทำให้เลยเถิดมาจนบัดนี้ไม่ได้เกิดจากบรรษัทฯ แม้ความต้องการแท้จริงแล้ว บรรษัทฯ เองก็หวังที่จะมีธุรกิจเพิ่มในส่วน BANKING อยู่เป็นทุนเดิม

ซึ่งหากสามารถแก้ไข พ.ร.บ.บรรษัทฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผลสำเร็จ เป้าหมายนั้นก็จะบรรลุผล

อัศวินย้ำอยู่เสมอว่า เมื่อถึงตอนนั้น บรรษัทฯ จะมีธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เป็นต้นว่า สามารถระดมเงินฝากจากลูกค้าได้ ปล่อยกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจได้ ให้บริการเกี่ยวกับ TRADE FINANCE ได้ หรือแม้แต่สามารถมีสาขาของตัวเองในต่างประเทศ

แต่เมื่อเหตุการณ์กลับหน้ามือเป็นหลังมือ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก อโนทัยจึงออกมาเคลียร์ภาพ และยืนยันว่า "บรรษัทฯ ไม่ได้อกหัก"

เพราะแต่เริ่มเดิมทีเกิดจากความปรารถนาอย่างมากของขุนคลังธารินทร์ ที่ต้องการเห็นสถาบันการเงินไทยแข็งแรงและพร้อมที่สุดในตลาดเสรี จึงมีแนวคิดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหลาย เช่น บรรษัทฯ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขยายบทบาทของตัวเองออกไป

โดยที่แผนแม่บททางการเงินนี้เป็นที่ยอมรับจาก ครม.แล้ว ฉะนั้นจะเกิดไม่เกิดก็ขึ้นอยู่กับตัวรัฐมนตรีคลัง

"รัฐมนตรีธารินทร์ได้ให้เรากลับมาศึกษาและทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. เราก็มานั่งทำและเตรียมส่งขึ้นไป แต่โชคไม่ดีไม่ทันยุคคุณธารินทร์ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็เลยเป็นอย่างที่เห็นนี้" อโนทัย กล่าวอย่างเบื่อหน่าย

ไม่ต่างไปจากความรู้สึกของอัศวิน เขาถึงกับหมดแรงและท้อใจไปพักใหญ่ไม่คิดจะเสนอร่างแก้ไขกลับขึ้นไปให้พิจารราอีก เพราะเห็นว่าหากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าวนี้ ก็คงไม่สามารถกระทำได้

ก่อนหน้านี้ บรรษัทฯ ทุ่มเวลาเกือบทั้งหมดให้กับการศึกษาเพื่อขอแก้ไขข้อบังคับบางประการใน พ.ร.บ. ซึ่งรวมจำนวนที่เห็นว่าน่าจะปรับทั้งสิ้น 22 ข้อ ซึ่งก็ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทั่งกำหนดเป็นวาระการประชุม ครม. ไว้ในวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา

"ผมไม่อยากพูดถึงตรงนี้อีกเลย ขอสรุปเพียงว่าเรื่องยังไม่ได้ยุติ ทุกอย่างยังคงอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมตลอดเวลา เมื่อใดที่มีนโยบายจากคลังว่าจะดำเนินการต่อไป เราก็พร้อมจะทำทันที" อัศวินสรุปจุดยืนด้วยน้ำเสียงบอกความสุขุมนุ่มลึกตามสไตล์ของเขา

อดีตที่ไม่อยากรื้อฟื้นจึงต้องถูกพักไว้ชั่วคราว แต่ภารกิจที่ต้องกระทำต่อไปเมือ่ไม่อาจหวังจากสิ่งต่าง ๆ ที่วางไว้ก็ต้องดำเนินการต่อ

เป้าหมายกลับมาที่แผนเก่า คือ การคงความเป็น "FINANCIAL INSTITUTION" ขวัญใจนักพัฒนา (ภาคเอกชน) ทั้งหลาย แต่เพิ่มดีกรีให้แรงขึ้นจนเป็น "FINANCIAL INSTITUTION โดยแท้" ที่มีเป้าหมายทางการตลาดครองส่วนแบ่งให้ได้ถึง 10% ในอีก 4 ปีข้างหน้า จากทุกวันนี้ซึ่งยืนพื้น 6-7% ด้วยการมุ่งปล่อยกู้เพื่อกิจการอุตสาหกรรมในระยะยาว 15-25 ปี โดยไม่พึ่งเครดิตรัฐบาล และให้ความสำคัญกับการบริการอย่างครบวงจรจากโครงสร้างของบรรษัทฯ และกลุ่มบริษัทในเครือ

"เป้านี้จะเป็นเส้นวัดเราได้ว่าเราเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างเต็มตัว ภายใต้ พ.ร.บ. ที่มีอยู่และเราจะภูมิใจมาก ถ้าทำได้ตามนั้นในเวลาที่คาดหมาย" อัศวิน กล่าวชัด

โดยเมื่อ 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา บรรษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมไปรวมแล้ว 561 โครงการ เป็นเม็ดเงินถึง 23,663 ล้านบาท

และอีกบทบาทที่ลืมเสียไม่ได้ คือ เป็นตัวแทนตอบสนองความร่วมมือในมุมมองสิ่งแวดล้อมที่ให้ผลพลอยได้ในทางอ้อมต่อเครดิตของบรรษั?น รวมถึงอาจเป็นตัวนำพาธุรกิจมาให้ในอนาคต ซึ่งล่าสุดที่กำลังเกิดความเคลื่อนไหว คือ เป็นตัวกลางปล่อยสินเชื่อ OZONE TRUST FUND ซึ่งเป็นเงินที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วช่วยกันลงขัน โดยไทยได้รับจัดสรรวงเงิน 40 ล้านเหรียญสหรัฐให้ปล่อยภายใน 4 ปี

ภาพลักษณ์ของบรรษัทฯ จึงยังคงเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่มุ่งช่วยเหลือกิจกรรมในอุตสาหกรรมภาคเอกชน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดทุน โดยไม่ลืมการตอบสนองทางสังคม

ที่สำคัญการทำงานของบรรษัทฯ เป็นอิสระ แม้เนื้อในจะมีกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ถือหุ้นอยู่รวมกันถึง 30.26% ก็ตาม

ศิริชัย สาครรัตนกุล รองผู้จัดการทั่วไปอีกท่านเน้นว่า "ตราบใดที่ยังมี พ.ร.บ. อยู่ มี MISSION ที่ทางการมอบหมายให้อย่างชัดเจน นั่นคือ หน้าที่ของเรา ส่วนนี้ไม่เปลี่ยน แต่ที่อยากจะเปลี่ยน คือ อาณาเขตของการทำงานที่อยากให้มันกว้างขึ้น และถึงแม้เราขยายอาณาเขตได้ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าความเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาจะหมดไป เพียงแต่จะเปลี่ยนไปนิดหนึ่งจาก FINANCIAL INSTITUTION ที่มีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนา เป็นแบงก์เพื่อการพัฒนา"

บทบาทเด่นและใหม่ที่น่าจับตามองในก้าวต่อไปของบรรษัทฯ เวลานี้ คือ การเป็นผู้นำสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (BENCH-MARK) ในระหว่างรอการเตรียมพร้อมของกระทรวงการคลัง ซึ่งยังอยู่ในช่วงสึกษาโดยคณะกรรมการพัฒนาลาดพันธบัตรที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน

การเสนอตัวของบรรษัทฯ เกิดขึ้นจากพื้นฐานที่มองว่า บรรษัทฯ เป็นผู้ออกหุ้นกู้ปริมาณสูงสุดในประเทศถึงประมาณ 30% ของมูลค่าตราสารหนี้เอกชนทั้งหมดที่มีกว่า 400 ล้านบาทที่ออกในแต่ละปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของหุ้นกู้บรรษัทฯ ใกล้เคียงกับตราสารภาครัฐที่สุด เนื่องจากได้อันดับความน่าเชื่อถือเท่าระดับประเทศ คือ ได้ A จาก S&P และ A2 จาก MOODY'S ซึ่งจุดนี้ยังเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทฯ ได้ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำและกู้ได้ยาวอีกด้วย

นอกจากนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวยังสามารถถือเป็นหลักทรัพย์ในการดำรงเงินสดสำรองตามกฎหมายที่บรรษัทฯ เพียรพยายามเดินเรื่องขอจาก ธปท. ให้อนุมัติตั้งแต่ปี 2534

ในกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวตราสารหนี้ชนิดใหม่ใช้ชื่อว่า "IFCT REFERENCE BONDS" อายุ 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี โดยมีวงเงินระดมทุนอย่างละ 1,000 ล้านบาท แต่จะทยอยออกจำหน่ายครั้งละ 100-200 ล้านาท (SERIES BOND) จากที่ในอดีตการออกหุ้นกู้ของบรรษัทฯ จะกระทำต่อเมื่อลูกค้ามีความต้องการเงินเท่านั้น

ตราสารหนี้ใหม่นี้ จะเปิดให้ซื้อขายผ่านชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ โดยมี บงล.ไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ (IFCTF) เป็น MARKET MAKER ร่วมกับอีก 3-4 ราย และยังมีแผนจะขยายความยาวของอายุหุ้นกู้เป็น 10 ปี และ 15 ปีต่อไป

"เฉพาะครึ่งปีหลัง บรรษัทฯ ตั้งใจจะระดมเงิน 12,000-15,000 ล้านบาท โดยจะระดมเป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามา 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลืออีก 7,000-10,000 ล้านบาท จะออกเป็นหุ้นกู้ซึ่งอาจเป็นสกุลอะไรก็แล้วแต่แล้วค่อยมา SWAP เป็นบาท" ศิริชัย กล่าว

การผลักดันเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ของบรรษัทฯ เป็นการทำงานภายใต้โปรแกรมระดมทุน GLOBAL MEDIUM TERM NOTE (GMTN) ซึ่งสามารถระดมเงินได้ทุกสกุล และหลากหลายระยะเวลา

ความเป็นตัวตั้งตัวตีของบรรษัทฯ ต่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ จึงยังคงความชัด และชัดขึ้นเรื่อย ๆ จนวันนี้ จากที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยแรก ๆ อย่างกรณีของ EXCHANGEABLE BOND

อีกความเคลื่อนไหวของบรรษัทฯ ซึ่งจะหมายถึงจุดเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญ คือ การปรับโครงสร้างบริหารเป็นระลอกที่ 3 ในสมัยของอัศวิน

ครั้งแรกเกิดขึ้น 2 เดือนให้หลังการขึ้นในตำแหน่งสูงสุด ครั้งที่สองซึ่งเป็นการปรับครั้งใหญ่เกิดเมื่อกลางปี 2537 โดยได้เพิ่มตำแหน่งรองผู้จัดการทั่วไปอีกหนึ่งตำแหน่ง ยกฐานะสำนักวางแผนและบริหารการเงิน รวมทั้งสำนักคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นฝ่าย ส่วนธุรกิจการเงินเป็นสำนักธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ ได้เลื่อนตำแหน่งและย้ายพนักงานบริหารระดับสูงอีก 4 ตำแหน่ง

และครั้งหลังสุด กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ และอาจจะถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดของบรรษัทฯ ก็ว่าได้

อัศวิน เปิดเผยว่า "เราจ้าง BOOZ ALLEN & HAMILTON มาศึกษาว่า บรรษัทฯ ควรปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างไรหรือควรจะ RE-ENGINEERING ไหม เป็นการศึกษาในเบื้องต้น เรามองว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอก จะช่วยให้เห็นตัวเองชัดขึ้น และสามารถเสนอจุดที่ควรแก้ไขหรือควรทำเพิ่มเติมได้ดีกว่า"

ทั้งนี้ BOOZ-ALLEN & HAMILTON เข้ามาในหน้าที่นี้เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา และคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปลายสิงหาคม จากนั้น อยู่ที่การพิจารณาเห็นควรของบอร์ดบริหารว่า จะกระทำการอย่างไรต่อไปแค่ไหน

และนอกเหนือจากการวางเป้าหมาย และกำหนดจุดยืนให้กับตัวเองแล้ว การจัดระบบประสานงานระหว่างบรรษัทฯ กับบริษัทในเครือ เป็นแผนใหญ่อีกแผนที่อัศวินเห็นว่า ควรทำให้บรรลุผลในเร็ววันนี้เช่นกัน เพื่อให้เกิดระบบที่ดี และมีหลักปฏิบัติคล้ายคลึงกัน

จึงได้เกิด "คณะอนุกรรมการประสานงานบริษัทในเครือ" ซึ่งมีอัศวินเป็นประธานอโนทัยเป็นผู้ช่วยประธาน และ ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ เป็นผู้จัดการฝ่ายนโยบายและวางแผน โดยมีกรรมการผู้จัดการของบริษัทในคเรือทุกแห่งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย

"เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะในการดำเนินงานหลายต่อหลายครั้งที่เราเอื้อซึ่งกันและกัน เช่น ว่าโยนดีลให้กันร่วมกันปล่อยกู้ หรือเราปล่อยแต่บริษัทในเครือเป็นที่ปรึกษา บริษัทในเครือทั้งหลายนี่เองช่วยสร้างรายได้ให้กับเรามาก และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต" อัศวินชี้ถึงความจำเป็น

ในจำนวนนั้น 2 บริษัทที่บรรษัทฯ ดูจะใส่ใจเป็นพิเศษ คือ IFCTF กับ FCI ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นแขนขาอันแข็งแกร่ง โดย IFCTF มอบให้เป็นผู้ชำนาญการในธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วน FCI เป็นแกนนำธุรกิจเงินทุน

ที่สำคัญกิจการทั้งสองก้าวกระโดดไปเร็วหลายเท่าตัว เฉพาะผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมา IFCTF กำไรโต 233.67% จาก 15.20 ล้านบาท เมื่อ 3 เดือนแรกปีก่อน พุ่งพรวดมาถึง 50.73 ล้านบาท ด้วยเหตุผลของการเพิ่มทุน 200 ล้านบาท ที่ช่วยให้การขยายสินเชื่อทำได้กว้างขวางขึ้น และเพราะการงอกเงยจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เติบโตกว่า 82%

ขณะที่ FCI ก็เร่งความแรงของผลกำไรไปกว่า 400% จาก 15.35 ล้านบาท เป็น 76.80 ล้านบาท เมื่อเทียบเคียงตัวเลขระหว่างไตรมาสแรกปีที่ผ่านมากับปีนี้ ด้วยเหตุผลใกล้เคียงกัน คือ เพราะการขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้น และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีนัยมากขึ้น (รายได้ค่าธรรมเนียมเงินให้กู้ยืม และรายได้จากการขายหลักทรัพย์)

ส่วนในแง่ความใหญ่ของขนาดมูลค่าสินทรัพย์สิ้นสุด ณ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 16,009.81 ล้านบาท สำหรับ IFCTF และ 23,531.59 ล้านบาท กรณีของ FCI

ฉะนั้น นโยบายที่อัศวินประกาศชัด คือ จะไม่ลดสัดส่วนการถือหุ้นให้น้อยไปกว่า 50% ในสองบริษัทนี้

ส่วนการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ หลากหลายออกไปเมื่อรวมกับสองแห่งนี้ คำนวณเป็นมูลค่าพอร์ต (วัดที่ราคาทุน) ได้มากเกินกว่า 8,000 ล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ดี วัลลภา โปษยานนท์ รองผู้จัดการฝ่ายโครงการร่วมทุน เผยว่า เป้าหมายในปีนี้ตั้งไว้ไม่สูงนัก สำหรับการสะสมกิจการในพอร์ตเพิ่มเติม เนื่องจากภาวะไม่เชิญชวนให้ลงทุน

ตัวเลขที่ประมาณไว้คือ 1,300 ล้านบาท ที่จะใช้ในปีนี้ (เฉพาะการลงทุนในส่วนทุน) จากที่โดยเฉลี่ยปีก่อน ๆ จะตกประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท ซึ่งเธอว่าจนถึงสิ้นกรกฎาคมยังใช้ไปไม่ถึงครึ่ง

"ตลาดมันซบเซาสุด ๆ เราเลยไม่อยากใจร้อน รายที่เจรจาอยู่ก็ดีเลย์ออกไป แต่ถ้าจะลงทุน ปีนี้เราไม่สนใจธุรกิจเงินทุนหรือหลักทรัพย์ จะเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะในพอร์ตที่มีอยู่ที่เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ก็พอสมควรแล้ว" วัลลภาประเมินสถานการณ์

บรรษัทฯ ได้กำไรไปไม่น้อยสำหรับการซื้อ ๆ ขาย ๆ หลักทรัพย์ในพอร์ตที่ว่านี้ ล่าสุดไตรมาสแรก (งบรวม) กำไรจากส่วนนี้พองตัวกว่า 200% ทำได้ 41.99 ล้านบาท จากการอ่านเกมใน 3 เดือนแรกของปี 2538 มา 3 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มศักยภาพเป็น 146.65 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ เป็นบทบาทสำคัญของบรรษัทฯ ที่คลุกคลีอยู่จนย่างเข้าปีที่ 37 ของการปฏิบัติภารกิจในคราบนักสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดีเด่น จะมีที่เพิ่มความคมชัดขึ้นมาบ้างก็คือ แนวคิดที่เป็นเชิงธุรกิจ

บรรษัทฯ ไม่เคยอยู่เฉย แม้จะเจอะเจอกับประสบการณ์อันแสบสันรวดเดียวในปีเดียวกัน จนทำลายขวัญไปมากพอดู เพราะด้วยผู้นำหัวสมัยใหม่ที่ผ่านวิกฤตมานักต่อนักไม่ยอมจบโอกาสเพียงเท่านี้แน่ เพียงแต่วันนี้ในเมื่อยังไม่มีหลักยึดใหม่ที่ท้าทายและแน่นอนกว่า ก็คงต้องฉวยโอกาสที่ไม่มีวันพลิกล็อคไว้ก่อน นั่นคือเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาขนานแท้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us