บริษัทแสนศิริ จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวสุดท้ายที่เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
และก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงภาวะตกต่ำของธุรกิจที่ดิน จากราคาจอง 63 บาทปิดราคาซื้อขายจริงวันแรก
64 บาทสูงกว่าราคาจองเพียง 1 บาท เรียกว่าลุ้นกันแทบหืดขึ้นคอ
หลังจากนั้น ปักหัวดิ่งมาตลอดจนช่วงประมาณกลางเดือนสิงหาคมนั้น ราคาประมาณ
40-50 บาท ต่ำกว่าราคาจองตลอด
ทำไม ? บริษัทแสนสิริจึงกล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำต่อเนื่องมานานเป็นคำถามที่มองย้อนกลับไป
ปัจจุบันแสนสิริกำลังมีอาคารสูงที่กำลังก่อสร้างพร้อม ๆ กันถึง 9 โครงการ
ใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท เป็นบริษัทพัฒนาที่ดินบริษัทเดียวที่กำลังทำโครงการตึกสูงในเมืองพร้อม
ๆ กันมากที่สุด
โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2537 ที่ผ่านมานั้น บริษัทได้ทยอยเปิดโครงการถึง
4 โครงการในปี 2538 มีโครงการที่ยังไม่เปิดตัวแต่ก่อสร้างไปก่อนอีก 2 โครงการ
และเปิดตัวเป็นทางการไปแล้วอีก 1 โครงการ และมาในปี 2539 นี้กำลังเตรียมทำฐานรากอีก
2 โครงการใหญ่
โครงการส่วนใหญ่เป็นคอนโดที่อยู่อาศัยและเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์รวมทั้งหมดแล้วประมาณ
1,000 ยูนิตเป็นพื้นที่ของออฟฟิศและพลาซ่าประมาณ 70,000 ตารางเมตร
มันเป็นการทำธุรกิจสวนกระแสที่นักลงทุนรายอื่นกำลังจับตามองด้วยความสงสัยว่าเขากล้าทำไปได้อย่างไร
?
และตรงจุดนี้คงพอเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งว่า เพราะอะไรบริษัทแสนสิริจึงจำเป็นต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์
เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เองก็ยอมรับกับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ว่าช่วงนี้บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินมาก การเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้มีช่องทางในการระดมทุนมากขึ้น
รวมทั้งการเข้าตลาดจะทำให้ภาพจน์ของบริษัทดีขึ้น
หากพลิกปูมหลังของบริษัทแสนสิริ จะพบว่า มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ฝ่าย คือ
กลุ่มตระกูลล่ำซำ และตระกูลจูตระกูล ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติที่สนิทสนมกันมานาน
"คุณชนาทิพย์ น้องสาวคุณบัญชา และบรรยงค์ ล่ำซำ ได้แต่งงานกับคุณโชติ
จูตระกูล และมีลูกชาย 2 คน คือ อภิรักษ์ และอภิชาติ ส่วนคุณแม่ของผมเป็นน้องสาวคุณโชติ"
เศรษฐา อธิบายถึงสาแหรกของเขาให้ฟัง อภิชาติ กับอภิรักษ์ ก็คือกรรมการบริหารของบริษัท
ก่อนหน้านี้ ล่ำซำได้มีบริษัทของตัวเอง คือ บริษัทสิริภิญโญ ทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินให้กับตระกูลซึ่งตั้งมาประมาณ
28 ปี
ส่วนทางตระกูลจูตระกูลมีบริษัทแสนสำราญ ซึ่งตั้งมาประมาณ 13 ปี บริหารทรัพย์สินของตระกูลจูตระกูลเช่นกัน
บริษัท สิริภิญโญ และบริษัทแสนสำราญของ 2 ตระกูลนี้ ได้ผนึกพลังรวมเป็นบริษัทแสนสิริ
เมื่อประมาณปี 2537 โดยมีนโยบายในการทำธุรกิจ 3 ประเภทหลัก คือ ธุรกิจการขายคอนโดมิเนียม
ธุรกิจการให้เช่า และธุรกิจการให้บริการ โดยมุ่งไปยังทำเลย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ
เป็นส่วนใหญ่
จุดเด่นอย่างหนึ่งของกลุ่มบริษัทนี้อยู่ที่ว่า กรรมการบริหารบริษัทถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นคนของตระกูลทั้ง
2 แต่นับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการบริหารงานสมัยใหม่ หลายคนจบการศึกษาระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจจากอเมริกา
และที่สำคัญเป็นตระกูลที่มีสายสัมพันธ์อย่างดีกับแหล่งเงินทุนใหญ่ในประเทศ
เพราะนอกจากล่ำซำแล้ว ทางกลุ่มนี้ยังเป็นเครือญาติกับทางตระกูลจักกะพากอีกด้วย
"คุณชูเชิดน้องสาวคุณโชติ คือ ภรรยาของ ดร.ประภาส จักกะพาก บิดาคุณปิ่น
และคุณชดช้อย คุณแม่ผมก็คือน้องสาวคุณชูเชิด หรือสรุปง่าย ๆ อีกทีก็ คือ
คุณปิ่น ผม และคุณอภิรักษ์ก็คือ ลูกพี่ลูกน้องกัน" เศรษฐา กล่าวและเล่าให้ฟังต่อว่า
เขาได้ความรู้ทางการเงินจากปิ่นมาพอสมควรทีเดียว เพราะเป็นญาติที่วัยห่างกันไม่มากนัก
นอกจากนั้น หลังจากการกระจายหุ้นแล้ว ยังได้กลุ่มธนาคารไทยทนุมาถือหุ้นอีก
5.58% เพิ่มความแกร่งเรื่องการเงินมากขึ้น โดยตระกูลจูตระกูลเหลือหุ้นเพียง
39.71% กลุ่มล่ำซำถือหุ้น 35.09% ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ถืออยู่ 0.84%
และกลุ่มอื่น ๆ อีก 3.29%
ในเรื่องที่ดิน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่า กลุ่มนี้เอาที่ดินมรกดมาพัฒนาโครงการนั้น
แต่ความเป็นจริงก็คือ โครงการทั้งหมดที่ทำมานั้นเป็นที่ดินมรดกของตระกูลจริง
ๆ เพียง 3 โครงการเท่านั้น คือ ที่ดินแปลงซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสิริ ภิญโญ
เป็นของตระกูลล่ำซำ ที่ดินซึ่งจะสร้างโครงการเซ็นจูรี่ปาร์คพลาซ่าบนถนนสุขุมวิท
และโครงการบ้านไข่มุกที่หัวหินนั้นเป็นที่ดินของตระกูลจูตระกูล นอกจากนั้นเป็นที่ดินที่ผู้บริหารไขว่คว้าหามาใหม่เอาทั้งสิ้น
ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าต้นทุนที่ดินของกลุ่มนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต่ำกว่านักพัฒนาที่ดินรายอื่นเลย
วันนี้ เมื่อราคาหุ้นต่ำเกินความคาดหมาย "กึ๋น" ของเศรษฐา และทีมงานก็ต้องทำการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า
จะแก้ไขกันอย่างไร