Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2539
Beardson เข็นกองทุนหุ้น ลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง             
 


   
search resources

ครอสบี้ กรุ๊ป
Timothy Beardson
Funds




ในระหว่างที่ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมณฑลยูนานของจีน กำลังคร่ำเคร่งหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันในอันที่จะสร้างให้ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นดินแดนแห่งความรุ่งโรจน์ Crosby Group กลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจเอเชียที่มีบทบาทโดดเด่นไม่แพ้เฮาส์เมืองลุงแซม หรือเมืองผู้ดี ก็ได้ริเริ่มจัดตั้ง "The Greater Mekong Capital Fund" กองทุนหุ้นลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) ที่เน้นการลงทุนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรก

Timothy Beardson ประธานกลุ่มครอสบี้ ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท เล่าว่า กองทุนนี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ กองทุนเพื่อการพัฒนา (Development Fund) แต่เน้นการลงทุนแบบ Venture Capital หรือที่คนอเมริกันเรียกว่า Private Equity คือ ลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นของกองทุนนี้มีมูลค่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,250 ล้านบาท อายุ 7 ปี มีบริษัท Crosby Asset Management บริษัทในเครือเป็นผู้บริหารเงิน ซึ่งได้มาจากการลงขันของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB), Brunei Investment Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลบรูไน, Bank of Boston สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมทั้งทำหน้าที่ตั้งแต่ศึกษาโครงการไปจนถึงตัดสินใจลงทุน

Beardson ผู้ซึ่งนั่งประจำที่สำนักงานใหญ่ ฮ่องกง อธิบายถึงนัยสำคัญของกองทุนนี้เมื่อครั้งที่มาเยือนสำนักงานครอสบี้ไทย ซึ่งจับมืออยู่กับ บงล.ตะวันออกฟายเน้นซ์ (1991) ครั้งล่าสุดว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น กองทุนนี้จะมีบทบาทสำคัญเสมือนหนึ่งเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเขตเศรษฐกิจที่มีความเจริญเติบโตแห่งนี้ ซึ่งหมายความว่า กองทุน The Greater Mekong Capital Fund จะทำหน้าที่เป็นผู้ดึงผลประโยชน์ของนานาประเทศมาสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีความแตกต่างกันในด้านอื่นเล็กน้อยเท่านั้น ยกตัวอย่าง เวียดนามมีแรงงานฝีมือจำนวนมาก เป็นต้น

"กองทุนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่ได้ไปลงทุนที่ไหน เพียงแต่อยู่ในระหว่างการมองหาธุรกิจที่ดีมีคุณภาพทั้งในไทยและประเทศรอบ ๆ นี้ เพื่อลงทุนในลักษณะเข้าไปถือหุ้น และขณะนี้กำลังทำ Due Diligence หลายโครงการ และมีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการ Investigation อีกเป็นจำนวนมาก"

ขณะนี้ ครอสบี้อยู่ในระหว่างการศึกษาคัดเลือกโครงการ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ในมือประมาณ 100 โครงการ แต่คาดว่าจะมีเพียง 10 โครงการเท่านั้นที่จะสอบผ่าน Beardson เปิดเผยเพียงคร่าวๆ ว่า บริษัทที่จะเข้าตาเขาได้จะต้องเป็นบริษัทที่ดีมีคุณภาพ มีการบริหารงานที่ดี และต้องเป็นบริษัทที่มีอนาคต โดยโครงการที่จะลงทุนนั้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 75 ล้านบาท

"กลยุทธ์การลงทุนของเรา จะเน้นที่ตัวบริษัทเป็นหลัก ไม่มีการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรม หรือธุรกิจเป้าหมายไว้ตายตัว เพราะเราจะมองหาบริษัทเอกชนที่ดีมีคุณภาพ มีโครงการที่ดี มีลักษณะพลวัต และที่สำคัญต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้น้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศไว้แน่นอน ดังนั้น พอร์ตการลงทุนของกองทุนนี้จะมีลักษณะเป็นแบบผสมผสาน ไม่มีการกำหนดเป้าหมายไว้แน่นอนตายตัว" อดีตเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจมาเลเซีย ก่อนตัดสินใจขายกิจการแล้วหันมาตั้งบริษัทของตนเองอย่างเต็มตัวเมื่อปี 1984 ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่า กองทุนนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นหุ้นส่วนทั้งหมดภายใน 5 ปี หากกองทุนนี้สามารถนำเงินไปลงทุนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยใน 3 ปีแรก ซึ่งผลตอบแทนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกำไรจริงที่ผู้จัดการกองทุนสามารถทำได้ ไม่มีการรับประกันผลตอบแทน ขณะที่ตัวเขาเองเชื่อมั่นว่า กองทุนนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น เพราะจากตัวอย่างกองทุนประเภทเดียวกันที่ลงทุนในภูมิภาคน ี้ก็สามารถสร้างกำไรจากการขายหุ้นที่ลงทุนได้อย่างสวยงามทีเดียว

"เจตนารมณ์ของเรา คือ การทำเงินจากการลงทุนในธุรกิจที่ดีในเขตลุ่มแม่น้ำโขง แต่การลงทุนนี้มีลักษณะเหมือนเป็นการซื้ออนาคตบริษัทในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นก็คือ กำไรของเรา"

จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดทุน และคลุกคลีทำธุรกิจอยู่ในเอเชียเป็นระยะเวลานาน ทำให้เขาคาดหมายว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงจะพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองไปได้อย่างรวดเร็ว นั่นย่อมหมายความว่า หุ้นส่วนที่มีหุ้นในกองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนเร็วขึ้นกว่าเดิม พร้อมกันนั้นมูลค่าของกองทุนก็อาจจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน ซึ่งเขาประมาณคร่าว ๆ ว่า อาจจะสูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นมาเพียง 200 ล้านเหรียญสหรัฐก็เป็นได้

"เราต้องการเห็นโครงการนำร่อง หรือ Pilot Project ที่เราสามารถลงทุนได้เกิดขึ้นมาก ๆ เพื่อที่เราจะได้เพิ่มเงินกองทุนให้มากขึ้น"

อย่างไรก็ดี ล่าสุดเกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มครอสบี้ โดยเฉพาะในบริษัทหลัก คือ ครอสบี้ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งประกาศโยกย้ายตัวผู้บริหารครั้งใหญ่และมีการเพิ่มทุนจาก 46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็นมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปีนี้

Beardson กล่าวว่า ครอสบี้ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้งส์ กำลังมองหาผู้ร่วมทุนเพื่อมาถือหุ้นส่วนข้างน้อย ซึ่งตอนนี้บริษัทกำลังเจรจากับสถาบันอยู่ 4 แห่ง ในจำนวนนี้มีบริษัทในแถบเอเชียรวมอยู่ด้วย และคาดกันว่า จะมีธนาคาร Banque Paribas SA แห่งฝรั่งเศส ซึ่งกำลังแสวงหาบริษัทดบรกเกอร์เอเชียเพื่อลงทุน สนใจเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในครอสยี้ด้วย

ประเด็นเรื่องการเพิ่มทุนนั้น เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก Beardson ให้เหตุผลว่า ครอสบี้กำลังพัฒนาธุรกิจด้านคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ และเล็งเห็นว่าธุรกรรมเรื่อง Bought deals กำลังเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด ครอสบี้ร่วมกับธนาคารโซซิเอเต้เจเนราล เพิ่งร่วมกันทำธุรกรรมนี้ให้กับบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าในฮ่องกงชื่อ Giordano International มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

(Bought deal หรือที่รู้จักในนาม private placement ก็คือ การขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง บริษัทที่ประสงค์จะระดมทุนโดยเร็วอาจขายหุ้นใหม่หรือหุ้นที่มีอยู่ให้แก่โบรกเกอร์ในราคาที่ตกลงกันไว้ และโบรกเกอร์ก็จะนำหุ้นจำนวนนั้นไปขายให้ลูกค้า โดยคาดหมายว่าจะได้รับผลกำไรกลับมาจากการทำรายการเช่นนี้ในเวลาอันสั้น)

Beardson เล็งเห็นว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าธุรกรรมเช่นนี้จะเติบโตสูงมาก นอกจากนี้ การค้าตราสารหนี้สกุลเงินเอเชียก็เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากขึ้น เขายังต้องการมีเก้าอี้โบรกเกอร์ในตลาดหุ้นหลายแห่งในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นมาเลเซียและอินโดนีเซีย ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ ครอสบี้จำเป็นต้องมีการเพิ่มฐานเงินทุนเพื่อที่จะขยายธุรกิจได้มากขึ้นนั่นเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us