ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ ไตรมาสนี้ต่างตกต่ำกันทั่วหน้า
จนประมาณกันว่า ค่าเฉลี่ยการขยายตัวของผลประกอบการรวมในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ
12% จากเดิมที่เติบโตในระดับ 20-30%
อย่างไรก็ตาม บมจ.กันยงอิเลคทริก ภายใต้การบริหารงานของประพัฒน์ โพธิวรคุณ
ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ ยังคงโชว์ผลประกอบการที่สวยหรูด้วยตัวเลขกำไรสุทธิที่เติบโตถึง
30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ เพิ่มขึ้นจาก 46.11 ล้านบาทเป็น
59.08 ล้านบาท
แต่หากดูกันชัด ๆ จะพบว่า กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงนี้เป็นผลมาจาก
3 ปัจจัยสำคัญ คือ รายได้อื่น ๆ เพิ่มขึ้นถึง 108% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมและต้นทุนขายลดลง
"รายได้อื่นที่มีถึง 43 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ก็มาจากดอกเบี้ยรับ 11
ล้านบาท รายได้จากเงินปันผล 21 ล้านบาท และรายได้อื่น ๆ อีก 11.1 ล้านบาท"
ประพัฒน์ แจง
ซึ่งในส่วนของรายได้อื่น 11.1 ล้านบาทนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนตัวลง โดยในไตรมาส 1 (ต.ค.-ธ.ค. 38) กันยงฯ มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ
2% ของยอดส่งออกไปญี่ปุ่น แต่ในไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค.) และ 3 (เม.ย.-มิ.ย.)
กันยงฯ มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 10% และ 24.75% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ความพยายามลดต้นทุนการผลิตมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน ก็ได้มาแสดงผลที่ชัดเจนในไตรมาสนี้
โดยบริษัทได้เจรจาต่อรองกับซัปพลายเออร์ให้มีการลดราคาสินค้าลงประมาณ 20%
ประพัฒน์ อธิบายว่า "เราตั้งเป้าให้เขาลดราคาลง 20% จากสินค้าที่ส่งมาขาย
เพราะตอนต้นทุนสูง เขาขอขึ้นราคา พอต้นทุนลดก็ควรจะลดราคาด้วย แต่ถ้าจะให้เขาลดเฉย
ๆ คงทำได้ยาก เราจึงช่วยโดยการส่งวิศวกรเข้าไปช่วยพัฒนาวิธีการทำงานของเขาให้มีระบบเดียวกับเรา
เพื่อเขาจะได้มีต้นทุนที่ถูกลง แต่อีกส่วนหนึ่งเขาก็ต้องพยายามช่วยตัวเองด้วย
เช่น พยายามซื้อสินค้าให้ได้ถูกลง"
การที่บริษัทมีซัปพลายเออร์จำนวนมากกว่า 200 ราย การเจรจาจึงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยในช่วงแรกก็เจรจากับรายใหญ่ ๆ ก่อน ซึ่ง ศุภชัย เศรษฐเสถียร ผู้จัดการทั่วไปของกันยงฯ
กล่าวยอมรับว่า การเจรจาไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และซัปพลายเออร์รายใหญ่บางรายก็ส่งขายให้กับหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ช่วยทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบลงไปได้ประมาณ
4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ต้นทุนขายลดลงจาก 86% ของยอดขายในไตรมาส
1 เหลือ 84% ในไตรมาส 2 และ 83% ในไตรมาสนี้
ส่วนของยอดขายที่ตกลงไปในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนประมาณ 16% จาก 792.45
ล้านบาทเมื่อปีก่อนเหลือ 667.13 ล้านบาท มาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง
สินค้าคงคลังของผู้จัดจำหน่ายมียอดสูงอยู่จึงชะลอการสั่งซื้อ และตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกงซบเซา
"ไตรมาสนี้ เรามียอดขายไปที่ญี่ปุ่นเพียง 56 ล้านบาทจากปีก่อนมีถึง
96 ล้านบาท" ประพัฒน์ กล่าว
ขณะที่ กันยงฯ มียอดส่งออกประมาณ 27.8% ของยอดขายทั้งหมด โดยส่งออกไปขาย
15 ประเทศ แต่เฉพาะญี่ปุ่นและฮ่องกง กันยงฯ ส่งออกไปถึง 50% และ 30% ของยอดส่งออกทั้งหมด
สินค้าที่ยอดขายตกลงมากที่สุดก็ไม่พ้นพัดลม ซึ่งตกลงมาประมาณ 4% เนื่องจากการแข่งขันสูง
มีการลดราคากันมาก จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์การค้าญี่ปุ่นพบว่า ความต้องการพัดลมในไตรมาสที่ผ่านมา
ลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ศุภชัย ให้เหตุผลว่า "พัดลมปีนี้ดีมานด์ลดลงไปมาก เป็นผลมาจากปีนี้อากาศร้อนช้า
ฝนมาเร็ว ทำให้ฤดูร้อนสั้น แต่ยังโชคดีที่มิตซูบิชิยอดขายตกลงไปไม่มากนัก
และยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดพัดลมขึ้นได้อีก"
สำหรับสินค้าที่ยอดขายเพิ่มขึ้นก็คือ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ และหม้อหุงข้าว
ทั้งนี้ ยอดขายปั๊มน้ำที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน
ทำให้ปั๊มน้ำเดิมเสียหายไปมาก จึงมียอดซื้อเพิ่มขึ้นทันที แต่สำหรับเครื่องซักผ้านั้น
ในไตรมาส 3 บริษัทมีนโยบายจะนำแบบถังใหญ่ ขนาด 4.2 และ 4.5 กิโลกรัม เข้ามาทำการตลาดเพิ่มขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันคนนิยมแบบถังใหญ่มากขึ้น
ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของบริษัทแบ่งออกเป็น พัดลม 27.8% ตู้เย็น 42.5%
ทีวีสี 15% เครื่องซักผ้า 4% ปั๊มน้ำ 8.1% และหม้อหุงข้าว 2.6%
กระนั้นก็ตาม ประพัฒน์ยังคงคาดว่า ยอดขายจะดีขึ้นในปีหน้า เนื่องจากบริษัทกำลังจะมีสินค้ารุ่นใหม่ออกมาขายในช่วงปลายปี
นอกจากนี้ สินค้าหลายตัวจะมีการขยายการส่งออกมากขึ้น โดยขยายตลาดไปสหรัฐอเมริกา
และยุโรป ขณะที่ตลาดฮ่องกงมีแนวโน้มดีขึ้น หากการกลับเข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปลายปีนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารบนเกาะฮ่องกง
"...ปีหน้าคาดว่า จะส่งออกไปญี่ปุ่น และจีนมากขึ้น เพราะปัจจุบันเราได้มาตรฐาน
GB ของจีนแล้ว เชื่อว่า จะได้ ISO 9100 ในปีหน้า" ประพัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย
ๆ กันยงฯ ยังคงพยายามที่จะลดต้นทุนขายและค่ายใช้จ่ายลงไปอีก โดยการวางแผนผลิตวัตถุดิบเอง
โดยเฉพาะชิ้นส่วนประเภทพลาสติก
แต่สำหรับยอดขายของปีนี้ ประพัฒน์ กล่าวอย่างเหน็ดเหนื่อยว่า "ทุกปียอดขายจะโตประมาณ
15-20% แต่ปีนี้ ตั้งเป้าโตไม่เกิน 10% ส่วนยอดส่งออกปีก่อนมีประมาณ 28%
ปีนี้คาดว่าจะเหลือประมาณ 26%"