บลจ.ไอเอ็นจีเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมลงทุน เผยในช่วงที่ผ่านมาแบงก์-นอนแบงก์สนใจร่วมลงทุน ในสัดส่วน 30-50% “มาริษ”ชี้พันธมิตรใหม่ที่เข้ามาร่วมทุนจะช่วยเสริมศักยภาพในการบุกตลาดลูกค้าภูธรในอนาคต จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 ขณะเดียวกันยังเดินหน้าเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยรูปแบบการตลาดใหม่ แต่ยังอุบไต๋อ้างกำลังหารือก.ล.ต.
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานธุรกิจกองทุนรวมของบริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุน เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน โดยในช่วงที่ผ่านมามีธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์)เข้ามาติดต่อร่วมลงทุน โดยบริษัทจะเปิดทางให้พันธมิตรใหม่ที่เข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้นในสัดส่วน 30-50%
สำหรับสาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจหาพันธมิตรร่วมลงทุน เนื่องจากมองเห็นว่าพันธมิตรใหม่มีความเข้มแข็งในแบรนด์ ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของบลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งแบรนด์ก็มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และที่สำคัญศักยภาพของพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนยังสามารถขยายเครือข่ายไปยังต่างจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่ต้องการขยายลูกค้าสู่ต่างจังหวัดในอนาคต จากที่ปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ หรือลูกค้าทั่วไปกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ในสัดส่วนมากกว่า 90%
“เราให้ความสำคัญกับการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย และการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง จึงได้มีการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในการร่วมลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้” นายมาริษกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน โดยรูปแบบใหม่ที่เสนอจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยในเรื่องของ มาร์เก็ตติ้ง ชาแนล ซึ่งก.ล.ต.รับในหลักการเบื้องต้น ซึ่งเชื่อว่าหลังจากได้รับการอนุมัติจะทำให้เพิ่มยอดจำหน่วยหน่วยลงทุนให้กับบริษัทได้พอสมควร
กรรมการผู้จัดการบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าบริหารพอร์ตกองทุนจำนวน 1 แสนกว่าล้านบาทซึ่งขณะนี้เกินเป้าที่ตั้งไว้โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.24 แสนล้านบาทและเชื่อว่าจนถึงสิ้นปีนี้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ5,000-10,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะออกกองทุนรวมลงทุนในต่างประเทศ (FIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนตราสารหนี้กองทุนหุ้น เพื่อตอบสนองความต้องการนักลงทุน
ทั้งนี้ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยกลุ่มธนาคารนครหลวงไทย (เพื่อสนับสนุนด้านการจำหน่าย) และกลุ่ม ING (เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ,การบริหารจัดการลงทุนและระบบพื้นฐาน) โดยใช้ชื่อว่า บลจ.นครหลวงไทย ( Siam CityAsset Management ) โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นในขณะนั้นประกอบด้วย ธนาคารนครหลวงไทย 25% , กลุ่ม ING 25% และบริษัทไทยศรีซูริค , บล.แอ็คคินซัน , บงล.นครหลวงไทย ,บง.นครหลวงไทย , บง.สยามซิตี้ซินดิเค็ด บริษัทละ 10% ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังในปี 2540
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) ได้ปิดตัวลงและธนาคารอยู่ภายใต้การจัดการบริหารของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) กลุ่มไอเอ็นจีจึงเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนที่บริษัทต่างๆที่ปิดตัวลง และทำการบริหารจัดการกองทุนรวมที่มีอยู่มาจนทุกวันนี้ และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่มาเป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2543 และเริ่มต้นบริหารโดยกลุ่มไอเอ็นจีอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการสนับสนุนข้อมูลการลงทุนจากเครือข่ายของไอเอ็นจีทั่วโลก และปัจจุบันบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)จำกัด "เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548 รวมเป็นทุนจดทะเบียน 200,000,598 บาท
สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ในปัจจุบันประกอบด้วย ธนาคารไอเอ็นจี เอ็น.วี 49% แอตลาสแคปิตอล (ประเทศไทย) 47.5% และบริษัทไทยศรีประกันภัย3.5%
|