|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วงการหุ้น แนะทิ้งหุ้น "ไอทีวี" กดดันให้ราคาหุ้นร่วงกราวรูดเป็นวันที่สอง ปิดที่ 5.45 บาท ลดลงจากวันก่อนเกือบ 17% ซึ่งเป็นราคาย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีก่อน โบรกเกอร์ แห่ปรับลดราคาที่เหมาะสมเหลือแค่ 4-5 บาท และติดลบแน่นอนในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากษาตามศาลปกครองกลาง ด้าน ปชป. แฉผลประโยชน์ทับซ้อน และความไม่จริงใจรักษาผลประโยชน์ชาติของรัฐบาล ขณะที่ คปส. เสนอ 3 ทางเลือกยกเลิกสัมปทานก่อนจัดสรรใหม่
วานนี้ (10 พ.ค.) ราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ itv ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันก่อน เนื่องจากยังมีแรงเทขายออกของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะอนุญาโตตุลาการ และทำให้ไอทีวี ต้องกลับไปปฏิบัติตามเดิม
โดยราคาหุ้น ITV ได้ปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 5.05 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายหุ้นละ 5.45 บาท ลดลงจากวันก่อน 1.10 บาท หรือคิดเป็น 16.79% มูลค่าซื้อขาย 1,034.35 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการซื้อขายสูงสุดประจำวัน ทั้งนี้ราคาปิดวานนี้ที่ 5.45 บาท ถือเป็นราคาที่ต่ำที่สุดเมื่อย้อนกลับไปถึง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ที่ราคาหุ้นไอทีวีปิดอยู่ที่หุ้นละ 5.40 บาท
ในวันเดียวกันนี้ ไอทีวี ได้แจ้งผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2549 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีรายได้รวม 496.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 103.25 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 567.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 161.61 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท หรือมีรายได้และกำไรสุทธิลดลง 12.51% และ 36.11% ตามลำดับ
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า หุ้นไอทีวี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังศาลปกครองกลางมีการเพิกถอนคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ และคาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง ดังนั้นจึงได้ปรับลดราคาหุ้นเหมาะสมปีนี้ เหลือหุ้นละ 0.76 บาท และมีโอกาสที่จะมีการปรับตัวลดลงไปติดลบ
ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลางจริง ไอทีวีจะต้องมีการควบคุมรายได้ เพื่อที่จะไม่ให้มีการจ่ายค่าสัมปทานเกิน 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทแนะนำให้มีการหลีกเลี่ยงการลงทุนเนื่องจากมีความเสี่ยงในคำตัดสินของศาลอยู่
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ราคาหุ้นคงจะไม่ลงแรงมาก คงจะอยู่ในระดับหุ้นละ 4-5 บาท เพราะไอทีวีขอความคุ้มครองจ่ายค่าสัมปทานที่ 230 ล้านบาท จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสิน ทำให้ไอทีวียังมีผลประกอบการที่มีกำไร
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ใน 1-2 สัปดาห์นี้ ราคาหุ้นไอทีวีคงจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 5 บาท เพื่อสร้างฐานใหม่ ซึ่งเป็นระดับราคาซื้อขายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ได้มีแรงซื้อเข้ามาเก็งกำไรจากกรณีที่ยังมีคำสั่งศาลเป็นที่สิ้นสุด
ขณะเดียวกัน ได้มีการปรับลดประมาณการราคาหุ้นไอทีวีปีนี้เหลือหุ้นละ 5 บาท จากเดิมอยู่ที่ 13-14 บาท และหลีกเลี่ยงการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แต่นักลงทุนที่จะเข้าเก็งกำไรจะต้องรอให้ราคาหุ้นไอทีวี มีการสร้างฐานไปอีก 1-2 เดือน ซึ่งต้องรอดูการประกาศผลประกอบการไตรมาส1/49 และรายละเอียดการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามคาดว่าผลประกอบการปี49 ของไอทีวี จะยังไม่ได้รับผลกระทบ
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาสายงานวิจัย บล. พัฒนสิน กล่าวว่า จากที่ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานเดิมปีละ 1 พันล้านบาท หรือ 44% ของรายได้ ในจำนวนเงินที่สูงกว่านั้น ในปี 2549 อาจทำให้ไอทีวีขาดทุนได้สูงถึง 1.9 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรกว่า 807 ล้านบาท เนื่องจากไอทีวีต้องจ่ายสัมปทานย้อนหลัง 3 ปี หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท และต้องปรับผังรายการเพิ่มสัดส่วนข่าวเป็น 70% จะทำให้ไอทีวีขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก
ส่วนกรณีที่ผู้บริหารจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งอาจมีนักลงทุนที่มองว่าผลอาจจะออกมาเป็นกลายเป็นชนะคดีก็มี แต่ในช่วงนี้แนะนำ "หลีกเลี่ยง" หุ้นไอทีวี และมองปรับราคาพื้นฐานอยู่ที่ 2.50 บาท
**ปชป.แฉผลประโยชน์ทับซ้อน
ด้านนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยของรัฐบาลชุดนี้ เพราะจากการตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แพ้ไอทีวี เมื่อปี 2547 รัฐบาลไม่ได้เร่งรีบในการเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์กลับคืนมาสู่รัฐ แม้จะมีการกดดันจาดมวลชน ซึ่งทำให้เห็นถึงพฤติกรรม 2 ลักษณะ คือ
1. การเลือกปฏิบัติ เห็นได้จาก กรณีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท ที่นายกฯ แสดงท่าทีขึงขังในการปกป้องผลประโยชน์ให้กับรัฐ โดยการตั้งทีมกฎหมายยื่นอุทรณ์ เพื่อจะไม่จ่ายค่าโง่ดังกล่าว ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน แตกต่างจากที่ สปน. ใช้เวลา 2 เดือนกว่า ในการยื่นคำร้องศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และยังมีคำถามตามมาว่า การที่ สปน.ฟ้องไอทีวีนั้น เพื่อลดกระแสความไม่พอใจทางสังคมหรือไม่
2. การเจรจาต่อรองที่ส่อแววว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีความพยายาม ในการเปิดช่องให้ไอทีวี ละเมิดสัญญาขยายช่วงเวลา ไพรม์ไทม์ จากเดิม 19.00 - 21.30 น. เป็น 18.00-23.00 น. รวมทั้งปรับผังรายการให้มีรายการบันเทิง รวมอยู่ช่วงเวลาข่าว โดยอ้างมติครม. เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2546 ที่กำหนดให้ออกอากาศ รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในช่วงไพรม์ไทม์ 18.00-23.00 น. มาสร้างความชอบธรรมให้กับการปรับผังของไอทีวี
"พฤติกรรมในขณะนั้นมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย เป็นเสมือนละครฉากใหญ่ ที่หลอกลวงประชาชน การสมรู้ ร่วมคิด แบบแยบยล บ่งชี้ถึงความน่าสงสัย ว่าอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะกิจการไอทีวีในขณะนั้น คือ 1 ในเครือชินคอร์ป ซึ่งยังเป็นของตระกูลของชินวัตรอยู่ วันนี้คำตัดสินศาลปกครองที่ให้ สปน. เป็นผู้มีชัย อาจไม่ใช่การสิ้นสุดกรณีพิพาท แต่เป็นการแสดงให้เห็นทาสแท้รัฐบาล ที่ยอมให้ประชาชนได้รับประโยชน์เมื่อตนเอง ไม่มีผลประโยชน์ในกิจการนั้นแล้ว" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
**เสนอยึดคืนสัมปทานไอทีวี
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า หลังจากนี้เฉพาะหน้าทาง คปส.จะผลักดันให้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับไอทีวีให้ยกเลิกสัญญาและยึดคืนสัมปทานมาจัดสรรใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนกลับคืนมาสู่เจตนารมณ์ของการก่อตั้งไอทีวีเริ่มแรก ในระหว่างนี้ทาง คปส.จะรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะการสร้างเสรีให้กับสื่อไอทีวี หลังจากนั้นจะผลักดันกับรัฐบาลชุดใหม่ในประเด็นดังกล่าวร่วมกับประชาชน
"วันนี้ไอทีวีมีโครงสร้างที่ยึดโยงอยู่กับเจ้าของที่เป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่อย่างชินคอร์ป และเทมาเส็ก แม้ว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวแล้วทำให้มีการปรับผังรายการข่าวเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากธุรกิจการเมืองและธุรกิจต่างชาติ การเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้จึงจำเป็นที่จะต้องให้ไอทีวีมีความเป็นเสรีอย่างแท้จริง"
พร้อมกันนี้ ได้เสนอทางออกไว้ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก ให้รัฐซื้อหุ้นคืนจากเอกชนที่ถือหุ้นอยู่ และอาจจะให้ อสมทเข้ามาบริหาร แต่ในกรณีนี้อาจจะเจอกรณีหนีเสือปะจระเข้ และยังมีข้อถกเถียงว่าทำไมรัฐต้องลงทุนมากมายขนาดนั้น
แนวทางที่สอง คือให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือครอง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเฉพาะคนที่เล่นหุ้นเท่านั้นและยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ
ส่วนแนวทางที่สามคือการยกเลิกสัญญาและกติกาในการเป็นเจ้าของและการบริหารใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเหมือนเริ่มแรกที่ระบุให้บริษัทเอกชน 10 แห่ง เป็นเจ้าของร่วมกัน มีอำนาจในการบริหารเท่าๆ กัน และจำกัดว่าไม่ควรมีบริษัทใดถือหุ้นเกิน 10% หรืออาจเปลี่ยนไอทีวีเป็นองค์กรมหาชน เช่นเดียวกับบีบีซีของอังกฤษที่มีลักษณะคล้ายองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้รัฐและเอกชนรายใด คนที่จะมาบริหารก็เป็นอิสระ ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากประชาชนผ่านภาษี เหมือนในกรณีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรืออาจต้องคิดโมเดลใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมไทย
|
|
|
|
|