"สาเหตุสำคัญที่ผมตัดสินใจซื้อกิจการของ Rogerson Hiller ก็เนื่องมาจากว่า
คุณพ่อผมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ฮิลเลอร์ ส่วนที่ผมเลือกใช้ไทยเป็นฐานในการผลิต-จำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ฮิลเลอร์นั้น
เพราะว่าภรรยาผมเป็นคนไทย และเธอก็ไม่ต้องการไปอยู่ที่ไหน นอกจากที่นี่"
พัฒน์ฤทธิ์ รินสาลิน หรือ Patrick C. Lim ประธานกรรมการบริษัท ฮิลเลอร์ แอร์คราฟท์
อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"ฮิลเลอร์" ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดอากาศยานปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์แก่โลก
โดยในปี 2485 สแตนเลย์ ฮิลเลอร์ จูเนียร์ และได้ทดลองบินสำเร็จในปี 2489
พร้อมกับให้ชื่อว่า "Hiller Copter XH-44"
ความสำเร็จจากการบินทดสอบครั้งนั้น เป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัท ยูไนเต็ด
เฮลิคอปเตอร์ อิงค์ โดยกลุ่มนักลงทุนสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากสแตนเลย์ ฮิลเลอร์
จูเนียร์แล้ว ก็ยังมีเซอร์ จอร์จ ที. เค. ลิม (Sir George T. K. Lim) ซึ่งเป็นบิดาของแพทริกรวมอยู่ด้วย
เซอร์ จอร์จ ที. เค. ลิม สืบเชื้อสายมาจากตระกูลข้าราชการชาวจีนเชื้อสายแมนจู
ที่อพยพไปอยู่ประเทศอังกฤษในสมัยพระนางซูสีไทเฮา เขาเกิดที่อังกฤษและรับราชการเป็นทหารเรือในกองทัพอังกฤษ
จนได้ยศนายพลเอก และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านเซอร์ด้วย
แพทริกเองก็เกิดที่อังกฤษ เขาเรียนหนังสือระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด
สาขาวิชาคณิตศาสตร์ และเอ็มบีเอ ก่อนที่จะออกมาทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาและคิดค้นคอมพิวเตอร์ที่เขาชอบมาก
ๆ
ก่อนที่จะมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฮิลเลอร์ แอร์คราฟท์ อินเตอร์เนชั่นแนล
แพทริกเคยทำงานอยู่ที่บริษัท เอ็นซีอาร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน
เครื่องลงบัญชี เครื่องเอทีเอ็มที่มีชื่อเสียงมากของอเมริกา นาน 11 ปี โดยในช่วงที่เขารับผิดชอบด้านจัดซื้อในฐานะผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
เอ็นซีอาร์ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ได้รับยอดเยี่ยมทางด้านการจัดซื้อเมื่อปี
1989
ผลงานส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทริกได้รับรางวัลก็คือ เขาสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเครื่องเอทีเอ็มให้ลดลงจากเครื่องละ
27,000 ดอลลาร์ เหลือเพียง 8,000 ดอลลาร์ นอกจากราคาถูกลงแล้ว ยังพัฒนาให้เครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัด
รวมทั้งยังสามารถใช้กับภาษาไทย ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ ได้ด้วย ทำให้เอทีเอ็มกลายเป็นโกลเบิล
โพรดักส์มาถึงปัจจุบัน
แต่เมื่อเอทีแอนด์ทีเทกโอเวอร์เอ็นซีอาร์เมื่อปี 2534 และเอทีแอนด์ทีมีข้อเสนอให้พนักงานเลือกว่าจะทำงานต่อหรือรีไทร์โดยได้รับเงินชดเชย
แพทริกจึงตัดสินใจลาออกและอพยพครอบครัวมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์
ในประเทศไทย เขาได้ถือหุ้นเล็กน้อยในบริษัท สยาม ยูไนเต็ด ไฮเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสยามสตีลกรุ๊ป
เพื่อผลิตคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์อะไหล่คอมพิวเตอร์ให้ไอบีเอ็ม นอกเหนือจากการควบคุมดูแลธุรกิจของครอบครัวในประเทศอื่น
ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น โรงงานผลิตชิบ เซมิคอนดักเตอร์ ในไต้หวัน และกิจการอื่น
ๆ ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน
วิถีชีวิตของเขาคงจะได้อยู่กับงานที่เขารักต่อไป ถ้าสแตนเลย์ ฮิลเลอร์ จูเนียร์
จะไม่มีโอกาสพบกับแพทริก ซึ่งเป็นทายาทของเซอร์ จอร์จ ที. เค. ลิมผู้เคยให้การสนับสนุนและร่วมลงทุนรุ่นแรกของฮิลเลอร์
มร.ฮิลเลอร์นี่เองที่ชักชวนให้แพทริกเป็นผู้จัดหาเงินทุนร่วมกับเจฟฟรี ฮิลเลอร์
ลูกชายของเขาจัดตั้งบริษัท สยาม ฮิลเลอร์ โฮลดิ้ง (สหรัฐอเมริกา) เข้าซื้อกิจการของ
Rogerson Hiller ซึ่งอยู่ในสภาพซบเซา เมื่อปี 2537 ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าประมาณ
500 ล้านบาท
หลังจากนั้น แพทริกก็ได้ชักชวนเพื่อนคนไทยกลุ่มหนึ่ง จัดตั้งฮิลเลอร์ แอร์คราฟท์
อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขึ้นในประเทศไทย และเข้าถือหุ้นทั้งหมดของสยาม ฮิลเลอร์
โฮลดิ้ง สหรัฐอเมริกา ทำให้สำนักงานใหญ่ของฮิลเลอร์ย้ายจากอเมริกามาอยู่ที่ประเทศไทยไปโดยปริยาย
"ที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติหลายบริษัท แสดงความสนใจจะเทกโอเวอร์ฮิลเลอร์
แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแทรกแซงมาตลอด เพราะถือว่าฮิลเลอร์เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อเมริกา
สาเหตุที่ผมซื้อได้เพราะเห็นว่า ผมเป็นลูกของผู้ก่อตั้งคนหนึ่ง" แพทริก
กล่าว
ความฝันของแพทริกในการเทกโอเวอร์ดรเจอร์สัน ฮิลเลอร์ คือ การพลิกฟื้นสถานภาพของฮิลเลอร์จากเดิมที่เคยเป็นผู้นำในตลาดเฮลิคอปเตอร์ช่วงก่อนปี
1960 ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ในอดีตฮิลเลอร์ได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือสูงมาก โดยเป็นเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อแรกที่กองทัพสหรัฐฯ
สั่งซื้อเข้าประจำการด้วยจำนวนถึง 5,000 ลำ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พัฒนาเครื่องยนต์เจ็ท
ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันอีกด้วย แต่ปัจจุบันสถานะของฮิลเลอร์ต้องตกเป็นรองเบลล์,
แมคโดนัลด์ ดักลาส, และซิคอฟสกี้ เพราะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้บริหารคนใดต้องการทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
บางรายเข้ามาซื้อกิจการ เพราะต้องการนำที่ดินแปลงงาม ๆ ของบริษัทไปขายทำกำไรเท่านั้น
หลังจากเทกโอเวอร์กิจการของฮิลเลอร์สำเร็จ แผนการฟื้นฟูฮิลเลอร์ให้กลับมายิ่งใหญ่เช่นในอดีตก็ได้ถูกร่างขึ้นอีกครั้ง
เริ่มจากการย้ายโรงงานประกอบเฮลิคอปเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา จากลอสแองเจลิสมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย
พร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 4 ลำเป็น 20 ลำ
การลงทุนสร้างโรงงานประกอบแห่งใหม่ในไทย โดยการเช่าที่ดินจากสนามบินหนองงูเห่าจำนวน
100 ไร่มาดำเนินการ ซึ่งนอกจากโรงงานประกอบที่จะมีกำลังการผลิตเดือนละ 20
ลำแล้ว ยังมีส่วนของศูนย์ซ่อมใหญ่ เพื่อรองรับเฮลิคอปเตอร์ของบริษัททั่วเอเชีย
(ปัจจุบัน ฮิลเลอร์มีเครื่องบินอยู่ในตลาดโลกที่จะต้องให้บริการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ไว้บริการ)
รวมถึงโรงงานผลิตลำตัวเฮลิคอปเตอร์และใบพัด นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนไว้เป็นสถาบันฝึกสอนนักบิน
"เราจะมีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างโรงงานในไทยและสหรัฐอเมริกา คือ
สหรัฐฯ จะซัพพลายเครื่องยนต์เครื่องยนต์ เกียร์ คลัตช์ และเพลา ขณะที่โรงงานเมืองไทย
จะผลิตลำตัวเครื่องบิน ใบพัด เก้าอี้ และประตู ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง
30% นี่ยังไม่รวมความได้เปรียบเรื่องค่าแรง ซึ่งประเทศไทยต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นสิบเท่า"
แพทริก กล่าว
ส่วนสุดท้าย คือ การสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งถ้าเป็นจริง
ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งใน 2-3 ประเทศในโลกที่คิดและผลิตเฮลิคอปเตอร์ได้เอง
โดยทั้งหมดจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5-10 ปีด้วยงบการลงทุนประมาณ 10,000
ล้านบาท ซึ่งในระยะยาวบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับในส่วนของการบริหารนั้น แพทริกมีแนวคิดที่จะทำโครงข่ายการขนส่งผู้โดยสารด้วยเฮลิคอปเตอร์ครบวงจร
(Helicopter Transportation Network) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Helinet
ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลก
แพทริกยกตัวอย่างของเฮลิเน็ทให้ฟังว่า อย่างในกรุงเทพฯ จะแบ่งออกเป็น 5
โซน คือ ทางเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และศูนย์กลาง ที่ศูนย์กลางจะมี Heliport
ขณะที่ในแต่ละโซนจะมี Heliterminal และจะมี Helipad กระจายอยู่ตามชั้นบนของอาคารสูง
โรงพยาบาล และโรงแรม เพื่อใช้เป็นจุดรับส่งผู้โดยสารไปยังจุดต่าง ๆ ในอัตราค่าบริการที่ไม่แพง
เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์แอร์แท็กซี่
สำหรับต่างจังหวัดก็จะมีเฮลิคอปเตอร์ให้บริการจังหวัดละ 1 ลำ ยกเว้นจังหวัดใหญ่
ๆ อย่างสงขลา เชียงใหม่ ชลบุรี คงมีมากกว่านี้
โดยแพทริกหวังจะใช้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการเผยแพร่คอนเซ็ปต์ "เฮลิเน็ท"
เพื่อเป็นการชักชวนให้นักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ สนใจนำไปบริการในประเทศของตน
ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสด้านการขายและการให้บริการมากขึ้น
"ด้วยหัวใจ ด้วยมันสมอง และความอดทน ผมได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้งานนี้ประสบความสำเร็จให้ได้"
แพทริกกล่าวอย่างจริงจัง แม้ว่าทุกวันนี้เขายังต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการ
ไม่ว่าจะเป็นความล้าสมัยของกฎหมาย ความล่าช้าของระบบราชการอยู่ก็ตาม
แต่เขาก็ยังไม่ย่อท้อ