นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่ประเทศไทย ได้เริ่มนำเกณฑ์การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่มาใช้ในทางปฏิบัติเมื่อวันที่
4 มี.ค. 2539 จนถึงปัจจุบันปรากฎว่า มีหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนจำนวน
15 บริษัท ได้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแล้ว
โดยบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
โดยส่วนใหญ่มีผลขาดทุนสุทธิ 3 ใน 4 ปีสุดท้ายหรือมากกว่านั้น แม้บางบริษัทจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนไม่ถึง
3 ปี แต่ก็มีผลขาดทุนสุทธิในจำนวนที่มีนัยสำคัญจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ อีกทั้งบริษัทเหล่านี้จำนวนกว่าครึ่งมีสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิเทียบกับชำระแล้วต่ำกว่า
50% และเมื่อพิจารณาผลการขาดทุนสะสม พบว่า ทั้ง 15 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมสูงกว่าจำนวนสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิในปัจจุบัน
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ ก็จะถูกแขวน
C ทันที
กฎเหล็ก 5 ข้อ
ที่อาจถูกแขวนป้าย C
ถ้าจะแบ่งถึงปัญหาหลัก ๆ ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหุ้นสามัญดังกล่าวนั้น
ได้มีการสรุปถึงปัญหาหลัก ๆ ไว้ทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน คือ
ประการที่หนึ่ง ด้านบริหารการเงินโดยบริษัทเหล่านี้มักจะมีปัญหาการก่อหนี้สูง
และในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในช่วงปี 2537-2538 ที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยสูงมากขึ้นตามไปด้วย
ในขณะที่บางบริษัทมีจำนวนหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน มีผลให้บริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียนหรือสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินงาน
ส่งผลต่อนเองให้ผลการดำเนินงานของบริษัทตกต่ำลง
ประการต่อมา ด้านการลงทุนที่มีหลายบริษัทประสบกับภาวะขาดทุน จากการนำเงินไปลงทุนในบริษัทย่อยเป็นจำนวนมาก
ชี้ให้เห็นถึงการตัดสินใจลงทุนที่ขาดความรอบคอบ และระมัดระวัง จึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้นตามมา
ประการที่สาม ด้านการผลิตบริษัทที่อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอน จากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงานที่สูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจประเภทเดียวกัน
สำหรับประการที่สี่ คือ ปัญหาด้านการตลาดบางบริษัทประสบปัญหาทางด้านภาวะธุรกิจไม่เอื้ออำนวย
ประกอบกับการที่มีผู้แข่งขันจำนวนมากราย หรือปัญหาตลาดส่งออกทำให้บริษัทไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้บ้าง
ก็ประสบปัญหาผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้ขายไม่ออกและมีสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมาก
และประการสุดท้าย คือ ปัญหาด้านการบริหาร-การดำเนินงาน บริษัทดังกล่าวบางรายประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารภายใน
เช่น ขาดผู้บริหารในบางช่วงเวลาทำให้การบริหารงานไม่ต่อเนื่องขาดทิศทางที่ชัดเจน
หรือไม่ก็ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารงานที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
เมื่อพิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้หลายบริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่แล้ว
จะเห็นว่ามีทั้งปัจจัยภายนอกบริษัท เช่น ภาวะธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ต้นทุนวัตถุดิบ
และแรงงานที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทประกอบกับปัจจัยภายในบริษัทเอง
เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารการเงิน การลงทุนการผลิต การตลาด และการดำเนินงานที่ด้อยประสิทธิภาพ
และดูเหมือนว่าปัญหาที่สำคัญจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในเสียเป็นส่วนใหญ่
สำหรับหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ทั้ง
15 รายดังกล่าว ได้ทำการขึ้นเครื่องหมาย H (TRADING HALT) ในการซื้อขายหุ้นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
30 นาที เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบ และได้แจ้งการเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หลักทรัพย์ไปยังบริษัทจดทะเบียนทั้ง
15 ราย จากนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นเครื่องหมาย NP (NOTICE PENDING) ไว้จนถึงปัจจุบัน
และขึ้นเครื่องหมาย (COMPLIANCE) ตามลำดับเพื่อให้ทราบถึงสถานภาพของบริษัทจดทะเบียน
เนื่องจากอยู่ในช่วงของการรอการส่งหนังสือชี้แจง และแผนการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว
หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาแผนการดำเนินงาน ซึ่งได้มีการทยอยส่งกันมาบ้างแล้ว
ในขณะที่หลายบริษัทขอผ่อนผันระยะเวลาในการส่งแผนดำเนินการตามกำหนดการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ออกไป ในจำนวนนี้บริษัทหนึ่งได้แจ้งต่อทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า มีความประสงค์จะขอเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนโดยสมัครใจ
คือ บริษัทเอเชี่ยนฟูดแวร์ ซึ่งก็จะต้องดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งหนึ่ง
หากไม่มีผู้ถือหุ้นแสดงความเห็นขัดแย้งเกินกว่า 10% ก็จะดำเนินการเพื่อให้มีการเพิกถอนต่อไป
โดยจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริษัทจดทะเบียนในและฝ่ายนักลงทุนรายย่อย
เพื่อร่วมกันกำหนดราคารับซื้อคืนหลักทรัพย์จากนักลงทุนรายย่อย ที่ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะบเยนดังกล่าว
ก่อนถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ