|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บอร์ดทีโอที ไฟเขียวยื่นสำนวนศาลปกครองสั่งโฆฆะมติอนุญาโตฯ ที่ตัดสินให้ทีโอทีต้องจ่ายค่าเสียหายมูลกว่ากว่า 9 พันล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2545 ให้ทรู โดยเฉพาะประเด็นประธานอนุญาโตตุลาการ "ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล " สัมพันธ์ใกล้ชิดกลุ่มทรู ศุภชัย เจียรวนนท์ บิ๊กบอส "ทรู" ออกโรงโต้ "ทีโอที" ข้อกล่าวหาไม่เป็นธรรม ไร้สัมพันธ์เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ "อลิอัลซ์" ไม่ใช่นอร์มินีกลุ่มซีพี
นับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติตัดสินด้วยเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอทีชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูเป็นมูลค่ากว่า 9,175 ล้านบาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ทางทีโอทีจะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาด และทีโอทีจะต้องแบ่งผลประโยชน์จากการเก็บค่าบริการดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ที่รับจริงนับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2545
ค่าเสียหายที่ทีโอทีจะต้องชำระให้ทรูในครั้งนี้ อยู่ภายใต้การคำนวณจากเลขหมายทรูคูณด้วยผลตอบแทนทีโอทีที่ได้รับ แล้วนำไปหารจากจำนวนเลขหมายทั้งหมดของทีโอที ทรู ทีทีแอนด์ทีเมื่อได้ตัวเลขแล้วดังกล่าวก็จะหารด้วย 2 อีกทั้งทีโอทีจะต้องจ่ายไปจนกว่าจะหมดอายุสัมปทานอีกด้วย
ผลการตัดสินดังกล่าวเหนือความคาดหมายของทีโอที ทำให้ทีโอทีมองว่า น่าจะมีความไม่ชอบมาพากลในมติของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะตัวประธานที่ชื่อ "ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล" ว่าถูกซื้อตัวไปโดยกลุ่มทรูจึงทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้การตัดสินดังกล่าวออกมาในทางลบต่อกลุ่มทรู ไม่ว่าจะเป็นการขู่จะยกเลิกสัญญาสัมปทานของทรู แม้กระทั่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วางพวงหรีดประท้วงถึงหน้าตึกทรูของพนักงานทีโอที เรื่องราวดังกล่าวก็เงียบหายไป
จนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ โดยออกมาแถลงโดยปริญญา วิเศษศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานกฎหมาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่า ทางทีโอทีได้ส่งตัวแทนยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาเพื่อขอให้เพิกถอนคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีวินิจฉัยคดีที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีการเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญาของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนโดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับทรู
สำนวนที่ยื่นฟ้องศาลปกครองในครั้งนี้ของทีโอที ทางสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทีโอทีได้มอบหมายให้เข็มชัย ชุติวงศ์ และกฤษณรักษ์ ธีรรัฐ กรรมการบอร์ดเป็นผู้ลงนามเอกสาร แทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ไม่มีใครดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลานี้ ศาลปกครองสูงสุดได้รับเรื่องเป็นคดีดำ หมายเลข 709/2549 และศาลจะพิจารณา ว่าจะรับฟ้องหรือไม่ภายใน 30 วัน
ประเด็นที่ยื่นเรื่องเพื่อเพิกถอนคำตัดสินครั้งนี้ ทางสำนักกฎหมายทีโอทีได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดศึกษาพร้อมแยกประเด็นเนื้อหาตามหลักกฎหมายให้มีน้ำหนักมากที่สุด เพื่อศาลปกครองสูงสุดจะรับพิจารณา และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินรับฟ้อง คดีความดังกล่าวก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดภายใน 1 ปี
"ยังมีบางเรื่องที่ทาง ทรู นั้นรู้อยู่แก่ใจลืมนึกถึงบางประเด็นไป ไม่เช่นนั้นก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มทรู จะเข้ามาเจรจาหาทางออกให้เกิดข้อยุติ"
ประเด็นหลักที่ทางทีโอทีเสนอให้ศาลปกครองพิจารณา 5 ประเด็น ประกอบไปด้วย หนึ่ง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีความชอบธรรม ไร้ความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดีความ เนื่องจากพบว่า ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล ประธานคณะอนุญาโตตุลาการมีส่วนได้เสียและมีความเกี่ยวพันกับทางทรูซึ่งเป็นคู่พิพาทของทีโอที โดยปัจจุบัน ประสิทธิ์ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัดซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทในเครือซีพี และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือซีพีเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีความย่อมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ส่วนตนด้วย
สอง การเรียกเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญาของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนนั้นมีมาก่อนที่ทีโอทีจะทำสัญญาร่วมการงานกับทรู และทางทรูก็รู้อยู่ก่อนแล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่ทีโอทีต้องจ่ายส่วนแบ่งดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญา
สาม การคำนวณค่าเสียหายไม่ได้เป็นสูตรที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างทีโอทีกับทรูจึงถือว่าไม่มีบรรทัดฐานในการคิดค่าเสียหาย
สี่ คำวินิจฉัยเกินคำขอ คือ ตามหลักการจ่ายเงินค่าเสียหายทีโอทีสามารถหักจากส่วนแบ่งรายได้ของ ทรูได้ แต่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท ภายใน 60 วันนับแต่มีคำตัดสิน และห้า คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมการงาน ที่ให้คู่กรณีรับทราบถึงการคิดค่าเสียหาย อีกทั้งไม่มีการนำสืบให้เห็นว่า ทรูเกิดความเสียหายถึง 9 พันล้านบาทได้อย่างไร
"นี่เป็นเพียงยกแรก ที่เราจะสวนหมัดกลับ เพราะจะให้ทรู นั้นเข้าใจถึงความเป็นคู่สัญญาที่ดี ซึ่งบางเรื่องนั้นรู้อยู่แก่ใจ และสัญญานั้นเขียนไว้อย่างชัดเจน อย่างเรื่องค่าแอ็คแซสชาร์จนั้น ทำไมถึงต้องออกมาเรียกร้องให้เป็นบริการพิเศษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทรู นั้นทราบดี ดังนั้นหากเขาอยากได้ขาเข้า ก็ไม่เป็นไร แต่ขาออกนั้นทำไมไม่นึกถึง ดังนั้นหากอยากได้ เราก็อยากได้บ้าง ซึ่งมูลค่าที่เราจะได้ก็สูงกว่านี้อีกหลายเท่า ทรู ไม่ควรที่จะเล่นบทพ่อค้ามากเกินไป"
จากสำนวนที่ทางทีโอทีได้ยื่นต่อศาลปกครองดังกล่าว ทางกลุ่มทรู ได้ออกมาแถลงรายละเอียดต่อเรื่องดังกล่าวประมาณ 3-4 วัน โดยทางศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ออกมาชี้แจงพร้อมเอกสาร ร่วมกับอถึก อัศวานันนท์ รองปธะธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารทางด้านกฎหมาย
"เรื่องของคุณประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ผมไม่ทราบมาก่อนว่า เป็นกรรมการในซีพี อาลิอันซ์ เมื่อผมสอบถามว่า ต่างก็บอกว่า ไม่ใช่กรรมการของซีพี แต่เป็นกรรมการในซีกของอาลิอันซ์" ศุภชัย เจียรวนนท์เริ่มต้นการชี้แจงกรณีที่ทางทีโอทีร้องเรียนต่อศาลปกครองถึงว่า ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ประธานคณะอนุญาโตตุลาการมีความใกล้ชิดกับกลุ่มทรู
ศุภชัยจึงได้สั่งให้ทางทีมงานทางด้านกฎหมายของทรูทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ภายในช่วง 2 วันและได้ทำการออกมาชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าว
"ประเด็นที่ทีโอทีออกมากล่าวอ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อทรู และบิดเบือนข้อเท็จจริง"
โดยศุภชัยบอกว่า กระบวนการคัดเลือกคณะอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นไปตามขั้นตอนตามระเบียบของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ และมีความโปร่งใส ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ให้การรับรองซึ่งได้มีการลงนามเห็นชอบร่วมกัน ในการประชุมครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 ที่เลือกนายประสิทธิ์เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทางนายประสิทธิ์ได้ทำการชี้แจงถึงการเข้ามามีส่วนได้เสีย นายประสิทธิ์ก็ได้ยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อ 20 พฤษภาคม 2547 เพื่อให้มีการคัดค้านได้หากเห็นไม่เหมาะสม ในการเข้ามาเป็นกรรมการอิสระในบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัด หากมีใครคัดค้านได้ก็ให้ดำเนินการคัดค้านได้ก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2547 นายปริญญาเองได้มีการลงนามรับทราบในเรื่องดังกล่าว แต่ทำไมไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้านในการประชุมครั้งนั้น ซึ่งในจุดนั้นก็ได้ผ่านมา เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นและสงสัยต่อการให้ข้อมูลของทีโอทีที่บอกว่าไม่รู้กับเรื่องราว
"การออกมาชี้แจงครั้งนี้ ผมยืนยันได้ว่า ทรูทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เรื่องนี้ก็ดำเนินการมาเป็นเวลาถึง 3ปีและได้ข้อยุติแล้ว แต่ทีโอทีกลับไม่ยอมรับพร้อมกับกล่าวหาตัวบุคคล ทำไมวันนั้น ทีโอทีถึงไม่คัดค้านพอมาวันนี้ก็ออกมายกมูลเหตุที่ไม่ใช่ "
อธึก อัศวานนท์ได้อธิบายถึงกระบวนการคัดเลือกคณะอนุญาโตตุลาการจำนวน 3 คนว่า มาจากการคัดเลือกทั้งจากทางฝั่งทรู และทีโอที โดยทรูและทีโอทีทำการคัดเลือกมาฝ่ายละ 1 คนรวมเป็น 2 คน ต่อจากนั้นในการเลือกคนทำหน้าที่ประธานหรือคนกลาง ทรูและทีโอทีจะต้องเสนอรายชื่อของคนที่ตัวเองต้องการมาฝ่ายละ 3 คนรวมเป็น 6 คน และส่งรายชื่อมาให้ที่สำนักงานอนุญาโตตุลาการ โดยรายชื่อเหล่านี้เป็นความลับทั้งหมด จากนั้นสำนักงานอนุญาโตตุลาการก็เสนอชื่อเข้าไปในโผรายชื่อนี้อีก 3 คน จึงรวมเป็น 9 คน
"ดังนั้นรายชื่อที่มีสำหรับเลือกประธานจึงมี 9 คน ไม่มีใครรู้ว่าอีกฝั่งหนึ่งเสนอชื่อใคร เพราะจะมีการสลับรายชื่อโดยไม่มีการระบุไว้ในบัญชีรายชื่อ จากนั้นทั้งทีโอทีและทรูต้องให้คะแนนผู้ที่ต้องการเลือกมากที่สุดในบัญชีรายชื่อที่ส่งมาให้ แล้วส่งมาให้สำนักงานอนุญาโตตุลาการรวบรวมคะแนน ผลการพิจารณาคัดเลือกในครั้งนั้น ปรากฏว่า นายประสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อและได้การยอมรับ"
อถึกยังบอกอีกว่า อาจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูลได้รับการแต่งตั้งด้วยความโปร่งใส การที่เป็นกรรมการในบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัด นั้นเป็นตัวแทนในฝ่ายของอลิอันซ์ไม่ใช่ฝ่ายซีพี
"อยุธยา อลิอันซ์ ซีพีเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือซีพีที่ถือหุ้น 50% ที่เหลือเป็นบริษัทอื่นและบริษัท อาลิอันซ์จากประเทศเยอรมนี เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจประกันวินาศภัย หากดูจากที่มาแล้วจะเห็นว่า อาจารย์ประสิทธิ์เป็นตัวแทนที่เข้ามาดูแลผลประโยชน์ที่ทางฝั่งอลิอันซ์เลือกมามากกว่า ไม่ได้เป็นนอร์มินีของกลุ่มซีพีแต่ประการใด"
อถึกยังบอกอีกว่า การจัดตั้งอนุฯโตตุลาการชุดนี้ ทางทีโอทีรับทราบมาโดยตลอด และเชื่อว่า มติของอนุญาโตตุลาการในครั้งนี้ถูกต้อง หากไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบให้บริษัทเอกชนรายอื่นๆ กลัวเรื่องการตั้งอนุญาโตตุลาการกับภาครัฐ เพราะถ้าดำเนินการต่างๆ ถูกต้องแล้วยังแพ้คดีต่อไปคงไม่มีเอกชนรายใดกล้ามาทำสัญญากับภาครัฐ
ศุภชัย เจียรวนนท์กล่าวเสริมว่า การยื่นเพิกถอนคำตัดสินของทีโอทีทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท แต่ทีโอทีควรที่จะเคารพกติกา เพราะกระบวนการต่างๆ ทำไปตามสัญญาสัมปทานทั้งสิ้น และหวังว่าศาลปกครองจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน ไม่ยืดติดว่าเป็นรัฐหรือเอกชน
"ที่ผ่านมา ทรู ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากกว่า และยินดีจะเจรจากับ ทีโอที หากต้องการยุติเรื่องดังกล่าว และอยากจะบอกว่า ให้ทีโอทีมองทรูเป็นพันธมิตรมากกว่าคู่แข่ง เพราะคู่แข่งที่แท้จริง คือ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาให้บริการโทรศัพท์มือถือแล้วมากกว่า
|
|
|
|
|