จุดพลุเปิดตลาดอนุพันธ์ "ทีเฟกซ์" เผยโฉม SET Index Futures 50 สินค้าใหม่ตัวแรก วางตำแหน่งฉายแววเป็นไฟฉายส่องอนาคต สวรรค์ของนักเก็งกำไรเงินหนา ที่พร้อมประลองความเสี่ยงเก็งกำไรกับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา แม้สัญญาณซื้อขายวันแรกจะเบาบาง เพราะนักลงทุนยังกล้าๆ กลัวๆ รอดูท่าทีช่วงเปิดตัว พร้อมทั้งศึกษาความรู้เพิ่มเติม คาดหวังเป็นม้าตีนปลาย มีจำนวนสินค้าใหม่-ปริมาณการเทรดเพิ่ม
ตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX (Thailand Futures EXchange)ได้เปิดตัวทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 โดยมีพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 รองรับ และถูกกำกับโดย บริษัท ตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองในแง่หนึ่งตลาดนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการลงทุนในปัจจุบันโดยคาดการณ์ล่วงหน้าในอนาคต แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เปรียบเสมือนสนามประลองฝีมือชั้นเซียนของนักเก็งกำไรด้วยเช่นกัน
สำหรับวันแรกที่มีการซื้อขายโชคอาจจะไม่เข้าข้างนักเพราะดัชนี SET 50 ที่อนุพันธ์SET Index Futures 50 ใช้เป็นตัวอ้างอิง ลดลง 2.77 จุด หรือ -0.52% แต่ก็ถือได้ว่ามีทิศทางที่ดีเป็นประกายแห่งความสดใสอยู่พอสมควรในการคาดการณ์อนาคตจากสัญญาราคาซื้อขายของอนุพันธ์ทุกตัวที่ยืนอยู่เหนือระดับ 533.86 จุด ซึ่งเป็นราคาปิดดัชนี SET 50 และมีปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น 150 สัญญา
เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ ตลาดอนุพันธ์ กล่าวว่า "แม้ในวันแรกที่มีการซื้อขายจะมีปริมาณไม่สูงนักเพราะเป็นช่วงที่ผู้ลงทุนรอดูสถานการณ์และศึกษาข้อมูลต่างๆเพื่อตัดสินใจก่อนเข้ามาลงทุน แต่ก็เชื่อว่าหลังจากที่ได้มีการซื้อขายไประยะหนึ่งแล้ว ผู้ลงทุนจะเริ่มมีความมั่นใจและเข้าใจในการซื้อขายอนุพันธ์มากขึ้น รวมทั้งจะเห็นถึงประโยชน์ในการที่จะใช้อนุพันธ์บริหารความเสี่ยงจากการลงทุน หรืออาจจะมองเห็นโอกาสในการเก็งกำไรจากการซื้อขายอนุพันธ์ คาดว่าในปีนี้ตลาดฯจะมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยราว 1000 สัญญาต่อวัน"
"หากพิจารณาจากประสบการณ์ของตลาดอนุพันธ์ในประเทศใกล้เคียง ก็จะพบว่าช่วงแรกปริมาณการซื้อขายจะยังไม่สูงนัก แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังจากนั้น อาทิตลาดอนุพันธ์ของเกาหลีที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับของโลกในแง่จำนวนสัญญาที่ซื้อขายเฉลี่ยมากกว่า 10 ล้านสัญญาต่อวัน ทั้งๆที่ตลาดฯมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น"
ด้านสัดส่วนประเภทผู้ลงทุนที่จะเข้ามาทำการซื้อขายในตลาดฯนี้ได้มีการประเมินว่าเบื้องต้นน่าจะมีสัดส่วนใกล้เคียงของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากสินค้าชนิดแรกเป็นอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนีราคาหุ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีผู้ลงทุนบุคคล, ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนต่างชาติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 62,10 และ 28 ของมูลค่ากรซ้อขายตามลำดับ
"โดยส่วนตัวมองว่าจะเหมาะสมกว่าหากผู้ลงทุนในตลาดนี้มีเงินมากพอสมควร สมมติว่ามีเงินลงทุน 5 หมื่นบาท แนะนำว่าควรจะนำเงินจำนวนนี้ไปฝากธนาคารรับดอกเบี้ยน่าจะดีกว่า" เกศรา กล่าว
ความแตกต่างหลักของตลาดตราสารอนุพันธ์ SET 50 การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ ตราสารอนุพันธ์จะมีวันหมดอายุในเวลาที่กำหนดซึ่งแบ่งเป็น 3, 6 , 9 และ 12 เดือนนับแต่วันออก และราคาซื้อขายก็คือดัชนี SET 50 ที่คาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเป็นในวันหมดอายุดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าราคาจะอิงการคาดการณ์จำนวนและราคาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้น 50 ตัวหลักในกระดานเฉลี่ยรวมกัน ภายใต้การเจรจาตกลงซื้อขายจากปัจจุบันเป็นการคาดการณ์เชิงมหภาคในอนาคต
ขณะที่การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะทำการซื้อขายเป็นรายตัวที่เป็นการดูเชิงจุลภาคมากกว่า ซึ่งหุ้นจะมีการจ่ายปันผล, แตกพาร์ได้, มีการออกลูกหุ้น และไม่มีวันหมดอายุ ในขณะที่ตรารอนุพันธ์จะเป็นตรงกันข้าม
ทั้งนี้ตราสารอนุพันธ์ SET 50 ถือได้ว่าเป็น Product ตัวแรกของตลาดฯและมี Product Line 4 ตัวประกอบด้วย SET 50 JUN xx/ SET 50 SEP xx/ SET 50 DEC xx และ SET 50 MAR xx ซึ่งวัดจากวันหมดอายุห่างกันช่วงละ 3 เดือนตามลำดับ โดยต่อไปตลาดฯมีโครงการว่าจะนำสินค้าอ้างอิงที่ผ่านการซื้อขายแบบล่วงหน้านี้เข้ามาเทรดเพิ่มเติมอีกอาทิ น้ำมัน, ทองคำ, เงินตราต่างประเทศ ฯลฯ
การตกลงซื้อขายนี้ก็ยังคงต้องมีโบรกเกอร์เป็นคนติดต่อประสานงานเหมือนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดซื้อขายอนุพันธ์แล้ว 20 ราย
สำหรับจุดเด่นที่ทำให้ตลาดฯนี้มีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนมีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกันคือ การซื้อตราสารสามารถจ่ายเพียงเงินประกันขั้นต้นเพียงส่วนหนึ่งก่อนได้และทุกวันจะมีการ Mark to Market ตอนปิดทำการเทียบให้ได้เห็นว่าอนุพันธ์ที่เราถืออยู่ได้กำไรหรือขาดทุน ซึ่งหากเป็นกำไรก็จะมีเงินเข้าบัญชีให้แต่หากขาดทุนก็ต้องวางเงินประกันเพิ่ม
แต่ปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับตลาดฯนี้ซึ่งเพิ่งเปิดทำการได้เพียงไม่กี่วันก็คือ รายงานของสายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศหรือ SET NOTE ที่ระบุว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมามีหุ้นน้องใหม่เข้ามาทำการซื้อขายในการดานเพิ่มขึ้น 37% ขณะที่มีผู้ลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 25%เท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงอุปทานที่มีมากกว่าอุปสงค์ทำให้ราคาของหุ้นไม่สูงเท่าที่ควร ดังนั้นการเปิดตลาดฯนี้จึงเปรียบเสมือนอีก 1 ในช่องทางที่จะดูดเงินจากระบบไปอีกทำให้มีอุปทานเพิ่มทวีขึ้นอีก
ไม่ว่าตลาดซื้อขายล่วงหน้าจะถูกมองว่าเป็นทูตสวรรค์หรือซาตานของระบบตลาดทุนไทย แต่วันนี้กลไกของมันได้ถูกจุดชนวนให้ขับเคลื่อนแล้ว และช่วงเวลาต่อจากนี้ไปก็จะเป็นคำตอบของอนาคตที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าเราเดินมาถูกทิศถูกทางเพียงใด
สำหรับในฟากมิติของนักลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดใด ใหม่หรือเก่า หลักการที่เป็นความจริงและคงยืนหยัดเสมอก็คือ "High Risk High return" เสี่ยงมากก็ได้มาก เมื่อมีกำไรก็ย่อมมีขาดทุน เพราะการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง.....
|