|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
รักษาการ"ขุนคลัง" เล็งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 2-3 เพื่อเรียกศรัทธาคืนจากภาคธุรกิจ ยอมรับแม้จะฝืนกติกา เสียมารยาท ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ที่ไม่ควรเสนอโครงการใดใดในช่วงนี้ แต่ก็จำเป็นต้องทำ หลังแนวโน้มการชะลอตัวของภาคอุปทาน หรือการผลิต การลงทุนเริ่มชะลอตัว จากตัวแปรหลักคือราคาน้ำมัน ผสมโรงกับการแข็งค่าเงินบาท และเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญกัดกร่อนความเชื่อมั่นอีกทางหนึ่ง...
ทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า จากการประเมินของสภาพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่าภาคอุปทาน คือการลงทุนของภาคธุรกิจจะชะลอตัวลงและจะเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังจึงได้เตรียมมาตรการที่จะกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อเรียกศรัทธาคืนจากภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตามมาตรการด้านการคลังที่จะงัดมาใช้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นรูปแบบใด
ทนง บอกว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาหารือว่าจะทำอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนเพิ่มขึ้น
โดยยอมรับว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัว และเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับสูงคือปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ดำเนินการใดใด อันเป็นผลให้ต้นทุนบริษัทเพิ่มขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้การลงทุนชะลอตัวไปมากกว่านี้จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
"มาตรการที่นำมาใช้กระตุ้นในส่วนของภาคอุปสงค์นั้นไม่ต้องใช้เม็ดเงินสูงเหมือนการกระตุ้นภาคอุปทาน ดังนั้นความกังวลว่ารัฐจะนำเม็ดเงินจากไหนมาใช้ จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และแม้ว่าเราจะเป็นรัฐบาลรักษาการซึ่งตามกฎกติกามารยาทไม่ควรที่จะเสนอหรือทำโครงการอะไรขึ้นมา แต่ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างมาตรการกระตุ้นภาคอุปทานเป็นสิ่งจำเป็นต่อประเทศ ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้"
ทนง ยังบอกอีกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ทำหน้าที่ได้ดีในการใช้นโยบายการเงินดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ควรประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจมากกว่านี้ ทั้งเรื่องของค่าเงินที่แข็งค่า เงินเฟ้อที่เพิ่มจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้งมีผลบวก ลบอย่างไรเพื่อเป็นข้อมูลให้ภาคธุรกิจนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคต
"อย่างเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่ามากซึ่งอยู่ประมาณ 37-38 บาท เป็นผลมาจากการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศ แต่ถ้าเทียบในอาเซียนแล้วของไทยถือว่าไหลเข้ามาน้อยมาก เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ไปลงที่มาเลเซีย หรือสิงคโปร์เป็นส่วนมาก และไม่ได้ทำให้ค่าเงินไทยแข็งอย่างเดียวแต่เป็นทั้งภูมิภาค"
และถ้ากลัวว่าจะมีการเข้ามาเก็งกำไรค่าบาท จนกระชากค่าเงินนั้น ในสายตานายแบงก์เก่าอย่าง ทนง กลับไม่ห่วงในเรื่องนี้ พร้อมอธิบายให้ฟังว่า "ถ้าต่างชาติจะถอนทุนออกไปเร็ว เป็นผลกระชากให้เงินบาทอ่อนตัวลงไป 40 บาท อีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ โดยปัจจุบันอยู่ที่ 60 พันล้านเหรียญ จาก2-3ปีก่อนที่เคยมี 48พันล้านเหรียญ ดังนั้นถ้าจะขนเงินออกเราก็มีดอลลาร์ให้เขา แล้วยังทำให้เราได้กำไรจากการอ่อนตัวของค่าบาทด้วย เช่น เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามา 10 พันล้านเหรียญทำให้ค่าบาทไทยแข็งขึ้นที่ระดับ 38 บาท แต่ถ้าทันทีที่เขาเอาออกค่าบาทก็จะอ่อนมาอยู่ที่ 40 บาท ซึ่งทำให้เรามีเงินบาทเพิ่มขึ้น"
แต่การแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบในส่วนของการส่งออก เนื่องจากภาคส่งออกถือเป็นพระเอกที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่คลังเบรกแบงก์ชาติในเรื่องการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อไม่ให้ภาคส่งออกกระทบมากเกินไป
อีกปัจจัยที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในภาคเศรษฐกิจคือการที่เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสูงทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น แต่เงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มเป็นผลมาจากน้ำมันที่กระชากตัวขึ้นสูงอีกครั้งเกินคาดหมาย แต่ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมอาหาร และพลังงาน)กลับไม่ได้กระชากตัวขึ้นตามมาก เพียงแต่ปรับตัวเล็กน้อย ดังนั้นภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. บอกว่า การที่ภาพเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 49 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.7% ซึ่งลดลงจาก 6%ในไตรมาส4ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมอาหาร และพลังงาน)ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ในไตรมาสแรกของปี 49 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.6%สูงขึ้นจาก 2.4% ไตรมาส4ปีที่ผ่านมา จึงยังไม่มีผลกระทบมากในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน
กระนั้นก็ตาม ในไตรมาส 1 ปี 2549 ยังคงสะท้อนภาพความเชื่อมั่นของภาคอุปโภคบริโภค และด้านการลงทุนจากภาคเอกชนอยู่ เนื่องจากการปรับตัวสนองต่อราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่กระนั้นในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในทิศทางขยายตัวดีขึ้น ทางด้านการส่งออกจึงยังน่าจะได้รับผลดี และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
การออกมาชี้แจงแถลงไขข้อมูลเศรษฐกิจทั้งในส่วนของคลัง และแบงก์ชาติให้นักลงทุนรับรู้นั้นอาจยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นที่ทำให้ภาคธุรกิจอยากลงทุนเพิ่ม เพราะที่ผ่านมานโยบายการเงินที่นำมาใช้ก็ใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ส่วนแผน 2 ที่วางไว้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ก็คือการใช้มาตรการสนับสนุนให้ภาคการผลิตเกิดการลงทุน ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นมาตรการในรูปแบบใด....
|
|
|
|
|