"ภัทรประสิทธิ์" เป็นตระกูลใหญ่ รากฐานมาจากการค้าเหล้า และกิจการสัมปทานของรัฐ
พวกเขาชำนาญในธุรกิจกึ่งผูกขาด และเป็น "ผู้อยู่เบื้องหลัง" ในบริษัทต่าง
ๆ มากกว่าจะบริหารด้วยตนเอง "ภัทราเซรามิค" เป็นตัวอย่างที่ดีของความล้มเหลว
เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับการแข่งขัน และความผันผวนของตลาดโลก ภัทราเซรามิค
ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่เจ็บปวดของ "ภัทรประสิทธิ์"
!
จากเลดี้การสุรา
จนมาเป็นภัทราเซรามิค
บริษัท ภัทราเซรามิค จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหารเป็นบริษัทของตระกูลภัทรประสิทธิ์ที่ถือหุ้นใหญ่ประมาณ
90% โดยโครงสร้างแล้ว ภัทราเซรามิค ถือเป็นบริษัทแรก ในกลุ่มภัทรประสิทธิ์
ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาลักษระการบริหารงานของภัทรประสิทธิ์นั้นจะไม่ลงทุนในธรกิจใดเองแบบ
100% หรือถือหุ้นใหญ่เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง สิ่งนี้ถือเป็นนโยบายการบริหารที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยวิศาล
ภัทรประสิทธิ์ ผู้เป็นบิดา
ดังนั้น สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้สำหรับการดำเนินธุรกิจของภัทรประสิทธิ์ คือ
จะเข้าไปร่วมทุนและนั่งเป็นกรรมการบริหารมากกว่าที่จะเข้าไปบริหารเองแบบเต็มตัว
ประวัติบริษัทนั้นก่อตั้งเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2526 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก
10 ล้านบาทชื่อเดิม คือ "บริษัทเลดี้การสุรา จำกัด" ต่อมาประดิษฐ์
ภัทรประสิทธิ์ บุตรชายคนโตของตระกูลได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทเอเชียพอร์ซเลนอุตสาหกรรมจำกัด"
เมื่อเดือน พ.ค. ปีเดียวกัน ต่อมาได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 500 ล้านาท
ผลิตถ้วยชามสโตนแวร์ ภายใต้ตรา HOUSE & HOME / CASCADE และ MAY FLOWER
ต่อมาในปี 2529 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้งเป็น 700 ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อเป็น
"รอยัลเอเชียพอร์ซเลนอุตสาหกรรมจำกัด" จนในปี 2534 ประดิษฐ์ก็นำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นบริษัท
"ภัทราเซรามิค"
จากบริษัทในเครือที่มีอยู่ทั้งหมดเกือบ 20 บริษัทนั้น ภัทรเซรามิคถือว่าเป็นธุรกิจเดียวที่ประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันถึง
3 ปีซ้อนจนทำให้ถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย C และสร้างรอยแผลลึกให้กับประดิษฐ์และตระกูลภัทรประสิทธิ์เป็นอันมาก
เนื่องจากบริษัทภัทราเซรามิคนั้น ประดิษฐ์สร้างขึ้นมากับมือในสมัยที่เขาเข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัวและเขาเป็นผู้ที่ผลักดันขึ้นมาจนได้เข้าตลาด
ซึ่งประดิษฐ์เองก็บอกว่า ภัทราเซรามิคเป็นธุรกิจที่เขาเทใจให้มากทีเดียว
ซึ่งในช่วง 4 ปีแรกผลประกอบการก็ไปได้ดี จนกระทั่งมาใน 3 ปีมานี้กิจการเริ่มแสดงตัวเลขติดลบปีละหลายสิบล้านบาท
ประดิษฐ์ ได้สรุปถึงปัญหาในการดำเนินงานครั้งนี้ว่า มีองค์ประกอบจากหลายส่วนด้วยกัน
เช่น ปัญหาเรื่องค่าแรงงานที่สูงขึ้นนั้น เห็นได้ชัดพร้อมทั้งอธิบายต่อไปว่า
ธุรกิจในลักษณะแรงงานเป็นหลัก ในประเทศไทยนี้นับวันก็จะร้าแรงขึ้นเรื่อย
ๆ แข่งกับต่างประเทศยาก
"ซึ่งเรารู้มานานแล้ว และปัญหาแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น
มาเกาหลี ไต้หวัน แล้วย้ายมาบ้านเรา พอเราเริ่มมีปัญหาก็จะย้ายฐานการผลิตต่อไปที่อินโดนีเซีย
เป็นลูกคลื่นไปแบบนี้ และตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ไปทำที่ประเทศจีนกัน"
อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้กำลังคนเป็นหลัก จึงยากที่จะเอาเทคโนโลยีเข้าทดแทน
และปัญหาในลักษณะนี้ก็มักจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอีกหลายประเภทที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลักเช่นกัน
และสิ่งที่ห่วง คือ รัฐบาลจะสนับสนุนอะไรได้บ้างที่จะให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักแบบนี้อยู่ได้
อย่างอุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบตอนนี้ ก็แทบไม่มีผลิตในประเทศบ้านเราแล้ว เพราะย้ายฐานไปอินโดนีเซียกันหมดเนื่องจากสู้ค่าแรงไม่ไหว
ปัญหาต่อมา คือ เรื่องนโยบายการตลาด ประดิษฐ์ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า ปริมาณการผลิตทั้งหมดจะส่งออกกว่า
80% โดยมีตลาดหลักอยู่ที่อเมริกา นอกจากนั้น ก็จะกระจายไปในแถบยุโรป และเมื่อ
2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกมีปัญหา อเมริกาเองซึ่งเป็นตลาดหลักก็มีปัญหาตาม
ส่งผลกระทบถึงยอดการจำหน่ายของภัทราฯ เพราะประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิคน้อยลง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอก คือ มีผู้ผลิตหน้าใหม่ไปลงทุนในจีนกันมาก และราคาต่ำกว่า
ทำให้มาตีตลาดของภัทราฯ ไปมากส่วน 20% นอกเหนือจากการส่งออกก็ขายตลาดในประเทศ
ที่ผ่านมา แม้ว่าจะขยายตลาดในประเทศให้มากขึ้นก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก
เนื่องจากปริมาณการผลิตของบริษัทมีเยอะมาก ตลาดในประเทศรองรับไม่ไหว เพราะตลาดภายในประเทศเราเล็กและมีกำลังซื้อน้อย
ในเรื่องนี้ โชคชัย คลศรีชัย รองประธานฝ่ายการตลาดและการขาย ได้เล่าให้
"ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่า ได้มีการปรับปรุงแผนการตลาดใหม่เกือบทั้งหมด
โดยปรับตลาดใหม่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อเมริกา เอเชีย ยุโรป และในปีนี้จะหันมาเน้นตลาดในเอเชียมากขึ้น
เพราะตลาดมีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งในกลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร ผู้ใช้ตามบ้าน
นอกจากนั้น ใน 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลดภาษีสินค้านำเข้าตามข้อตกลงอาฟตาเหลือ
5% จากปัจจุบันนี้ 45% ทำให้บริษัทต้องปูตลาดในประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันก่อนที่จะให้ต่างประเทศมาตีตลาดในบ้านเราได้
ส่วนตัวแทนการขายในต่างประเทศนั้น เดิมทีภัทราได้ว่าจ้างบริษัทเจเอ็มพี
นิวคอร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ทำตลาดในอเมริกาให้ แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ภัทราได้เข้าไปซื้อกิจการดังกล่าวไว้เอง เพื่อทำตลาดให้กับภัทราอย่างเต็มที่
ซึ่งขณะนี้กำลังวางระบบการบริหารภายใน และได้เริ่มงานไปบ้างแล้ว นอกจากนี้
ยังได้ตั้งเอเย่นต์ขายเพิ่มเติมในแถบยุโรปทั้งหมด เช่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส
สเปน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก นอรเวย์ สวีเดน จากการปรับนโยบายการตลาดในครั้งนี้
ประดิษฐ์เชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขติดลบมีจำนวนที่ลดลง
"คือผมยังให้คำมั่นไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ เราจะลดการขาทุนได้ แต่เราก็จะทำให้ดีที่สุด
พยายามแก้ไขในทุกจุดที่มีปัญหาคิดว่า ภายใน 2 ปีเราน่าจะฟื้นตัวได้"
ส่วนกรณีที่มีผลประกอบการขาดทุนสะสม 3 ปีซ้อนจนครบกำหนดของตลาดหลักทรัพย์
และอาจจะต้องถูกเพิกถอนนั้น ประดิษฐ์พูดถึงเรื่องนี้ด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียดว่า
ขณะนี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เขากังวลกับเรื่องนี้มากทีเดียว ตอนนี้ก็ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนสินเป็นที่ปรึกษาในการทำแผนฟื้นฟูอยู่
ซึ่งจะต้องส่งแผนฟื้นฟูประมาณวันที่ 10 ก.ค.นี้ หลังจากที่เลื่อนการส่งมาแล้ว
2 ครั้ง
ประดิษฐ์ เล่าว่า บริษัทที่ปรึกษา คือ บงล.พัฒนสิน มีทางเลือกให้ 2 ทางว่า
ถ้าอยู่ต่อจะต้องทำอย่างไรบ้างเป็นข้อ ๆ ถ้าขอถอนตัวโดยสมัครใจจะต้องทำอย่างไร
"แต่ผมก็ยังไม่ได้ตัดสินใจขอปรึกษากันในระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อน
ส่วนเรื่องผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่มีปัญหา เนื่องจากหุ้นเรากระจายอยู่ในตลาดน้อยมากไม่ถึง
10% เนื่องจากตอนที่หุ้นตกมาก ๆ เราก็ซื้อเก็บไว้เอง ไม่อยากให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเดือดร้อน
ส่วนเรื่องรายละเอียดนั้น ยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบก่อน"
และแล้วเวลาแห่งการตัดสินใจของประดิษฐ์ก็มาถึง หลังจากเขาให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการรายเดือนได้เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น
วันที่ 5 ก.ค. เขาก็ตัดสินใจยื่นหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอถอนออกจากตลาดแบบสมัครใจ
ซึ่งถือเป็นรายที่ 2 ต่อจากบริษัทเอเชี่ยนฟุตแวร์ เหตุผลในการถอนนั้นก็คือ
ภัทราฯ จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูบริษัทให้ลบขาดทุนและกลับมามีกำไรได้ต้องอย่างน้อย
2 ปี ซึ่งก็เกินกำหนดเวลาที่ตลาดได้ตั้งเอาไว้แล้ว
และประการสำคัญก็คือ เป็นการถอนตัวเพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน
น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ประดิษฐ์เล่าให้ฟังด้วยว่า ปัญหาของภัทราฯ นั้นไม่ใช่เรื่องสภาพคล่องทางการเงิน
แต่เป็นปัญหาเรื่องของการตลาด และการบริหารมากกว่า ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องอยู่เพื่อจะระดมทุนจากตลาดเพิ่ม
"ตั้งแต่เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2534 เราเพิ่มทุนแค่ครั้งเดียว
ประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อมาขยายโรงงาน หลังจากนั้นเราไม่ได้เพิ่มอีกเลย ตอนนั้นผมเข้าตลาดเพราะว่าในเวลานั้นมีความเชื่อกันว่าการนำธุรกิจเข้าตลาดถือว่าเป็นการสร้างภาพพจน์ของการได้รับการยอมรับ
ซึ่งการเข้าตลาดเป็นเรื่องที่ดีแต่เราทำงานยากขึ้น และต่อไปนี้การจะเอาบริษัทใดในเครือเข้าตลาดอีกต้องคิดให้มากขึ้น
เพราะหากเข้าแล้วถูกเพิกถอนจะเป็นเรื่องไม่ดีอาจจะเสียหายได้" สำหรับธุรกิจที่กลุ่มภัทรประสิทธิ์ถือหุ้นอยู่
และนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีด้วยกัน 3 บริษัทจากทั้งหมด 20
บริษัท คือ ธนาคารเอเชีย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา และบริษัทภัทรเซรามิค
ถ้าดูจากโครงสร้างการทำธุรกิจของกลุ่มภัทราเซรามิคแล้ว จะเห็นได้ว่า เครือญาติภัทรประสิทธิ์ไม่มีความถนัดหรือเชี่ยวชาญพอในการทำธุรกิจแบบินเดี่ยว
แต่ธุรกิจจะไปได้ดีต่อเมื่อมีการร่วมทุนกับผู้อื่นมากกว่า เนื่องจากภัทรเซรามิคสามารถจะเป็นตัวบ่งชี้การทำงานของภัทรประสิทธิ์ได้เป็นอย่างดีว่า
เข้มแข็งพอที่สมควรจะบินเดี่ยวได้หรือไม่
พลิกปูมธุรกิจ
เส้นทางความเติบโตทางธุรกิจของตระกูลภัทรประสิทธิ์ ได้เบิกโรงโดยกิมจุ้ย
แซ่เล้า ชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบจากแผ่นดินจีนมาตั้งรกรากครอบครัวที่จังหวัดพิจิตร
และเขาก็คือ ต้นตระกูลของภัทรประสิทธิ์ในเมืองไทย กิมจุ้ยมีภรรยาถึง 2 คน
คือ เมียวย้ง แซ่เตีย มีบุตรด้วยกัน 5 คน และเง็กเอี้ย แซ่โตว มีบุตร 1 คน
โดยภรรยาทั้งสองเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข และเคียงข้างอยู่เสมอนับตั้งแต่มาจากเมืองจีนใหม่
ๆ
สำหรับทายาทรุ่นที่สอง คือ วิศาล หรือเสี่ยย่งคุน ซึ่งเป็นมุตรชายคนโตของครอบครัวผู้สืบทอดตระกูลรุ่นต่อมา
และเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อธุรกิจในปัจจุบันของภัทรประสิทธิ์เป็นอันมาก
เส้นทางการเดินทางกว่าหลายสิบปีของตระกูล ได้ผ่านขวากหนามและอุปสรรคจนถึงวันนี้
ภัทรประสิทธิ์ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกลุ่มทุนขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของประเทศ
เป็นเอเย่นต์ผลิต และขายเหล้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และจังหวัดพิจิตร และตระกูลนี้ก็ยังได้สร้างลูกหลานให้ก้าวขึค้นมาเป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ
แต่ด้วยความเป็นมังกรที่ชอบซ่อนในถ้ำมากกว่าสำแดงพลังด้วยการพ่นไฟ ทำให้ลูกหลานของตระกูลค่อนข้างจะเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว
ไม่ค่อยยอมตกเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ เหมือนนักธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ
แต่ในความเงียบงันนี้ มิได้ทำให้หนทางธุรกิจของตระกูลเงียบงันไปด้วย ตรงกันข้าม
กลับสยามปีก และเครือข่ายธุรกิจออกไปอย่างเงียบเชียบ แต่มั่นคง ภัทรประสิทธิ์
จึงอาจจะไม่ใช่ตระกูลที่โดเด่นเหมือนตระกูลนักธุรกิจอื่น ๆ แต่หากพลิกปูมสืบค้นเส้นทางธุรกิจ
ภูมิหลังรอยต่อเชื่อม และจังหวะการก้าวกระโดดทางธุรกิจแล้ว ก็จะพบว่า ตระกูลภัทรประสิทธิ์ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครกลุ่มทุนตระกูลไหน
ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเงิน ความสามารถ หรือประสบการณ์
ธุรกิจของตระกูลภัทรประสิทธิ์เริ่มต้นมาจากการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในจังหวัดพิจิตร
และยังทำธุรกิจเดินเรือขนส่งสินค้าตามลำน้ำเจ้าพระยา จากนั้นก็มายึดอาชีพขายหมู
ค้าพืชไร่ แต่เมื่อพืชไร่ประสบปัญหาการขาดทุน กิมจุ้ยจึงได้หันเหธุรกิจมาค้ายาเส้นแทน
โดยในครั้งนี้ได้มอบหมายให้วิศาล ภัทรประสิทธิ์ บุตรชายคนโต ซึ่งรู้จักกันดีในนามเสี่ยงย่งคุน
เป็นผู้ดูแลกิจการค้ายาเส้น และธุรกิจของตระกูลทั้งหมด
ทายาทรุ่นที่สอง
เปิดตำนานธุรกิจใหม่
วิศาล หรือเสี่ยย่งคุน ทายาทรุ่นที่ 2 ของภัทรประสิทธิ์ ถือได้ว่าเป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์
การที่เขาได้ก้าวขึ้นมาสืบต่อธุรกิจแทนพ่อ จึงเป็นบทเริ่มแรกที่ได้ใช้ความชาญฉลาดและไหวพริบเชิงธุรกิจกรุยทางสะดวกให้กับธุรกิจของตระกูล
และกลายเป็นอานิสงส์มาถึงลูกหลานของตระกูลมายุคปัจจุบัน
ในสมัยของเสี่ยย่งคุน เขาได้สร้างธุรกิจของตระกูลให้เกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งธุรกิจหลักที่สร้างรายได้อย่างงามให้กับครอบครัวในช่วง
พ.ศ. 2480-2488 ก็คือ โรงงานยาฝิ่น จนกระทั่งต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
ในเวลานั้นได้มีคำสั่งประกาศให้ยกเลิกโรงฝิ่นทั่วประเทศไทย จึงทำให้เสี่ยย่งคุนต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ เขาตัดสินใจไปค้าขายเบ็ดเตล็ด เพราะเล็งเห็นแล้วว่า สินค้าที่สร้างรายได้และมีผลกำไรให้มากที่สุด
ซึ่งสินค้าที่จะสร้างรายได้มากในขณะนั้นก็หมายรวมถึงการค้า "เหล้า"
ด้วย เสี่ยย่งคุนจึงประมูลโรงเหล้าจากกรมสรรพสามิตเมื่อได้สัมปทาน ก็เริ่มเปิดขายเหล้าโรง
หรือเหล้าขาว 40 ดีกรี โดยขายทั้งปลีกและส่ง ซึ่งในเวลานั้นถือว่าการค้าเหล้าโรงเป็นธุรกิจที่ดีและสร้างรายได้เข้ากระเป๋าอย่างเป็นกอบเป็นกำ
และธุรกิจเหล้านี้เอง ที่ทำให้เสี่ยย่งคุนต้งเข้าไปสนิทสนมนักการเมืองหลายคนโดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น
ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้เสี่ยย่งคุนสามารถ ก้าวข้ามจากธุรกิจค้าเหล้าโรงมาสู่การตั้งโรงกลั่นเหล้าได้สำเร็จ
และในที่สุดตระกูลภัทรประสิทธิ์ก็ประมูลโรงเหล้าโรงแรกได้ที่จังหวัดพิษณุโลก
ในนามของ "บริษัทภัทรกิจการสุรา จำกัด" จากนั้นก็ชนะการประมูลโรงกลั่นเหล้าในอีก
8 จังหวัด อันเป็นที่มาของโรงเหล้า 8 โรงที่ครอบคลุมอาณาจักรเหล้าภาคเหนือ
คือ ที่จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และพิจิตร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเอง
และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก "บริษัทภัทรกิจการสุรา จำกัด" มาเป็น
"บริษัท ภัทรล้านนา จำกัด"
นอกจากนี้ ยังสยายปีกธุรกิจโรงกลั่นเหล้าไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ชื่อ
"บริษัท ภัทรเกรียงไกร จำกัด" ถึงตอนนี้ เสี่ยย่งคุน หรือวิศาล
ก็กลายเป็นเจ้าพ่อเหล้าโรงประจำภาคเหนือ อันเป็นฐานธุรกิจที่ทำให้วิศาลขยายอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และแผ่ขยายไปสู่ธุรกิจอื่นอีกมากมายในปัจจุบัน
ความสำเร็จของธุรกิจโรงเหล้า บวกกับประสบการณ์และความช่ำชองในวงการเหล้าภาคเหนือ
วิศาลได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจนได้เป็นเอเยนต์ให้กับแม่โขงประจำภาคเหนือ
แต่ความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยานของวิศาลมิได้จบแค่นั้น เขายังมีความใฝ่ฝันที่จะให้ความเป็น
"เจ้าพ่อวงการเหล้าภาคเหนือ" ของตระกูลภัทรประสิทธิ์ บรรลุถึงจุดสูงสุด
เพราะมันหมายถึงรายได้ อิทธิพล และอัตราต่อรองในเชิงธุรกิจที่สูงขึ้น วิศาลจึงตัดสินใจเข้าร่วมหุ้นกับอุเทน
เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการบริษัท สุรามหาราษฎร์ จำกัดในขณะนั้น โดยกลุ่มภัทรประสิทธิ์ถือหุ้น
13% รองจากเจ้าพ่อน้ำเมาตัวจริงอย่างเจริญสิริวัฒนภักดี
ด้วยผลกำไรมหาศาลที่วิศาลได้มาจากธุรกิจเหล้า คือ ฐานเงินทุนใหญ่ที่ทำให้วิศาลหรือเสี่ยย่งคุนนำไปลงทุนในธุรกิจอื่น
ๆ อีกมากมาย และจุดพลิกและจังหวะก้าวกระโดดที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อเขาหันมาจับธุรกิจที่เหนือชั้นขึ้นไปอีกขั้น
นั่นก็คือ ธุรกิจการเงิน
รุกธุรกิจการเงิน
ฐานใหม่เพื่อสยายปีก
การตัดสินใขของวิศาลที่ขยายฐานสู่ธุรกิจการเงินนั้น นอกเหนือมาจากการประสบความสำเร็จจากธุรกิจเหล้าแล้ว
วิศาลยังเห็นว่าการลงทุนด้านธุรกิจการเงินนั้น นอกจากจะมีรายได้งามแล้ว ยังเป็นฐานรากที่ดีเยี่ยมสำหรับการขยายธุรกิจของตระกูลไปตามแนวทางอื่น
ๆ เพราะเงินทุนคือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี่ยงธุรกิจทุกแขนง และเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้วงจรธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด
วิศาลจึงได้ตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ.2516 โดยมีสำนักงานใหญ่ที่
จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ผู้เป็นภรรยา หรือ
นงลักษณ์ อัมพุช ในอดีต
การเลือกจังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจการเงิน ถือเป็นการเลือกที่ชาญฉลาดยิ่ง
เพราะนครสวรรค์ในเวลานั้นนอกเหนือจะเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุดหน้าด้านธุรกิจการค้าแล้ว
ยังเรียกได้ว่าเป็นตัวเชื่อม หรือ LINKAGE ระหว่างภาคเหนือและภาคกลางอีกด้วย
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัดนั้น กลุ่มภัทรประสิทธิ์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่
90% โดยได้นำหุ้นอีก 10% ของทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทขายให้กับธนาคารนครหลวงไทย
เพราะเห็นว่าธนาคารมีความชำนาญทางด้านนี้ และในช่วงที่ผ่านมานั้น การแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินมีความเข้มข้นสูง
การเลือกขายหุ้น 10% ให้กับสถาบันการเงิน จึงเป็นการสร้างเสริมให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยามีภาพพจน์ที่มั่นคง
จากธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ที่เน้นการให้กู้ยืมกับธุรกิจท้องถิ่น วิศาลเห็นช่องทางที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง
นั่นก็คือ การให้บริการกับลูกค้าในส่วนของการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน ซึ่ง
บลง.เจ้าพระยา เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในภาคเหนือที่ให้บริการด้านนี้ และยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้
บลง.เจ้าพระยา มีรายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของบริษัทในเครือตระกูลภัทรประสิทธิ์จนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อธุรกิจอยู่ตัว และมีความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจเพิ่ม จึงได้ขยายสาขาของ
บลง.เจ้าพระยา เพิ่มออกไปอีก 3 สาขา คือ ที่กรุงเทพฯ พิจิตร และพิษณุโลก
ในเวลาต่อมา และขยายสาขาไปจนถึงขณะนี้มีทั้งหมด 5 สาขา และสำนักงานย่อยอีก
3 สาขา
การทำธุรกิจในช่วงเริ่มต้นของวิศาลนั้น นอกจากความเก่งทางด้านหัวการค้าแล้ว
ยังมีความเฮงหรือจะเรียกว่าโชคช่วยก็ได้ ไม่ว่าเขาจะหยิบจับอะไรมันดูดีเป็นเงินเป็นทองไปหมด
โชคชะตาหนุนนำเขาเรื่อยมาจนทำให้เขาก้าวมาสู่ธุรกิจการธนาคารอย่างไม่คาดฝันด้วยการเข้าไปถือหุ้นในธนาคารเอเชีย
ภายหลังจากที่ธนาคารดังกล่าวได้มีปัญหาระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่จาก 2 ตระกูล
คือ เอื้อชูเกียรติ และ คัณธามานนท์
สาเหตุก็เพราะตระกูลคัณฑามานนท์ ได้ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเครือข่ายของตนเองเป็นจำนวนมาก
และไม่สามารถจ่ายคืนได้ตามกำหนดจนเป็นหนี้เสียที่พอกพูนขึ้นของธนาคาร และยังเป็นผลให้เกิดความบาดหมางกันเอง
ในที่สุด คู่เขยของวิศาล คือ ไมตรี กิตติพราภรณ์ เจ้าพ่อแดนเนรมิต (สามีของนงนุช
พี่สาวของนงลักษณ์) ก็มาชักชวนให้วิศาล เข้าไปแทนกลุ่มของตระกูลคัณฑามานนท์
ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยเหลือตระกูลเอื้อชูเกียรติ ซึ่งถือว่าเป็นญาติห่าง
ๆ อีกสายหนึ่งของนงลักษณ์
การเข้าไปสู่ธุรกิจธนาคารของวิศาลครั้งนี้ ก็เป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น
โดยการไปซื้อหุ้นของตระกูลคัณฑามานนท์ส่วนหนึ่ง และจากการขายหุ้นของเสถียร
เตชะไพบูลย์อีกส่วนหนึ่งที่ยอมสละความวุ่นวาย และถอนตัวไปช่วยงานที่ธนาคารศรีนครของอุเทน
เตชะไพบูลย์ พี่ชาย ในปัจจุบันนี้ ตระกูลภัทรประสิทธิ์จึงถือหุ้นอยู่ในธนาคารเอเชียประมาณ
20%
จากความขยันขันแข็งมุมานะและสู้งานหนัก รวมทั้งเป็นคนดิ้นรนไม่หยุดนิ่งของเสี่ยย่งคุนหรือวิศาล
ทำให้เขาขยายธุรกิจของตระกูลออกไปเรื่อย ๆ แต่วิศาลนั้นมีลักษณะเฉพาะในการทำธุรกิจที่แตกต่างจากนักธุรกิจอื่น
เพราะเขาไม่ชอบที่จะไปลงทุนคนเดียวตามลำพังแบบถือหุ้น 100% แต่มีแนวคิดที่จะไปร่วมลงทุนกับผู้อื่นที่มีความสามารถและความถนัดมากกว่า
อีกทั้งเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงทางด้านการลงทุนออกไป
การตัดสินใจรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นก้าวที่น่าสนใจ เมื่อเขาได้หันมาจับมือญาติของภรรยาโดยการเข้าไปถือหุ้นในห้างสรรพสินค้าเดอะมิลล์กับศุภชัย
อัมพุช ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนงลักษณ์ และอาจถือว่าเป็นก้าวแรกในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจบริการเต็มรูปแบบ
เมื่อวิศาลหรือย่งคุนเสียชีวิตลงเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ทายาทรุ่นที่
3 ของภัทรประสิทธิ์ก็ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนธุรกิจของตระกูล โดยมีนงลักษณ์ในฐานะภรรยาของวิศาลอยู่เบื้องหลังธุรกิจ
การถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากรุ่น 2 มาสู่รุ่น 3 ในครั้งนี้ ทำให้มีเรื่องเล่าว่า
เมื่อครั้งที่มีการเพิ่มทุนของบริษัทสุรามหาราษฎร หลังจากที่มีการรวมตัวกับสุราทิพย์แล้ว
ในเวลานั้นรัฐบาลได้ให้เพิ่มทุนอีก 2,400 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนั้นหมายถึงต้องนำเงินมาโปะเป็นเงินทุนของบริษัท
ซึ่งพนักงานเก่าแก่คนหนึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟังว่า
"วันที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกผู้บริหารมาเจรจานั้น
มาด้วยกันหลายคน วันนั้นก็มีคุณวรรณา สิริวัฒนภักดี ภรรยาคุณเจริญ นั่งคู่กับคุณนงลักษณ์
ภัทรประสิทธิ์ ภรรยาคุณวิศาล ส่วนคุณวิศาลเอง ก็นั่งคู่กับคุณวานิช ไชยวรรณ
พอเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังบอกว่า สุรามหาราษฎรจะต้องเพิ่มทุนอีก 2,400
ล้านบาท คุณเจริญหันไปมองหน้าคุณวรรณา คุณวิศาลก็หันไปมองหน้าคุณนงลักษณ์
เมื่อฝ่ายหญิงพยักหน้าทั้งคู่ก็หันมาตอบรับการเพิ่มทุนกับกระทรวงการคลังทันที
ไม่มีการต่อรองอะไรเลย"
แม้ว่าปัจจุบันนี้ นงลักษณ์จะมีอายุถึง 67 ปีแล้วก็ตาม แต่เธอก็ยังมีสุขภาพดีและแข็งแรง
และยังคงมาทำงานอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด แม้ว่าหลังจากที่วิศาลผู้สามีล่วงลับไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่นงลักษณ์ก็ยังคงทำงานเพราะมีธุรกิจที่ต้องดูแลอยู่มากมาย จนไม่สามารถวางมือได้โดยนงลักษณ์ก็มีบุตรชายหญิงของเธอจำนวน
6 คนเป็นผู้ช่วย และเธอก็กำลังจะถ่ายโอนอำนาจการบริหารไปยังลูก ๆ ทั้งลูกที่เกิดจากเธอและภรรยาคนอื่น
ๆ ของวิศาล
ว่ากันว่าในวัยหนุ่มจนถึงหนุ่มใหญ่นั้น วิศาลเป็นคนมีเสน่ห์เอาการทีเดียว
ประกอบกับเป็นคนขยันทำมาหากิน จนมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี จึงทำให้เป็นที่ต้องใจของสาว
ๆ วิศาลจึงมีภรรยาถึง 5 คน แต่เขาก็สามารถบริหารครอบครัวได้ดีเท่า ๆ กับการบริหารธุรกิจ
ลูก ๆ ชายหญิงทุกคนของวิศาลจึงช่วยกิจการของครอบครัวด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างราบรื่น
สิ้นบุญวิศาล นงลักษณ์ได้ถ่ายทอดงานบริหารสู่ลูก ๆ ทายาทรุ่นที่ 3 โดยเธอมอบหมายให้ประดิษฐ์
ภัทรประสิทธิ์ ลูกชายคนโตของตนเองและถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่มากที่สุดให้ดูแลกิจการทั้งหมดของตระกูล
ประดิษฐ์ถ่ายโอนอำนาจการบริหารธุรกิจของตระกูล โดยรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทภัทรประดิษฐ์
จำกัด ซึ่งในช่วง 4-5 ปีมานี้ ธุรกิจของภัทรประสิทธิ์ มีการขยายตัวมากขึ้น
โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านพัฒนาที่ดิน แต่ประดิษฐ์ก็ยังคงสไตล์การลงทุนแบบพ่อของเขาไว้
นั่นก็คือ การลงทุนแบบ "ร่วมทุน" เช่นเดิม
จากการรวบรวมข้อมูอของผู้จัดการรายเดือนถึงบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงของประดิษฐ์ขึ้นเป็นผู้บริหาร
คือ
1. บริษัท ภัทร-ยูโรมิลล์ เมื่อปี 2532 มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างตระกูลภัทรประสิทธิ์
55% และกลุ่มยูโรมิลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล 45% เพื่อดำเนินธุรกิจการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
2. บริษัท ไพร์ทสแตท จำกัด
3. ยูโรมิลล์โฮเต็ล
4. บริษัท สยามเจ้าพระยาโฮลดิ้ง จำกัด
5. บริษัท ยูโรมิลดีเวลลอปเม้นท์
6. บริษัท ยูโรมิลเจ้าพระยา จำกัด
7. บริษัท เอ็นซี คลีนนิ่ง เซอร์วิส รับทำความสะอาด
8. บริษัท เอ็นซ๊ซี ซิเคียวริตี้ ไกด์ เซอร์วิส จำกัด รับรักษาความปลอดภัย
9. บริษัท บางกอกสแกนเดีย ทำธุรกิจตกแต่ง โดยซื้อกิจการมาจากบริษัท เบรี่ยุคเกอร์
รุ่นที่ 3 ภัทรประสิทธิ์
ผงาดใต้ฟ้าเมืองไทย
จากข้อมูลที่เปิดเผยได้นั้น วิศาลมีภรรยาถึง 5 คน และมีทายาทชายหญิงทั้งหมด
17 คน เป็นชาย 9 คน และเป็นหญิง 8 คน ในจำนวนลูกทั้งหมดมี 11 คนที่สืบสานธุรกิจของตระกูลต่อไป
โดยเฉพาะบุตรชายหญิงที่เกิดจากนงลักษณ์ทั้ง 6 คนนั้นช่วยธุรกิจของครอบครัวทั้งสิ้น
อันได้แก่ ประดิษฐ์ ประพันธ์ ลักขณา ประสงค์ ศิริลักษณ์ มีชัย ซึ่งแต่ละคนมีหน้าที่ต่างกันไป
ประดิษฐื เป็นผู้ดูแลธุรกิจทั้งหมดของกลุ่มภัทรประสิทธิ์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของภัทรประสิทะโฮลดิ้ง
และถือว่าเป็นพี่ใหญ่ ที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด
ประพันธ์ น้องชายคนรองของประดิษฐ์ รับผิดชอบภัทรกรุ๊ป ในส่วนของการวิจัย
วิเคราะห์วางแผนงาน และวางโครงสร้างองค์กรของกรุ๊ป รวมถึงเป็นกรรมการที่ธนาคารเอเชียด้วย
ประธาน ดูแลกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา
ส่วนวินัยและวิรัตน์ ก็ดูแลในส่วนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยาเช่นเดียวกัน
ลักขณา นะวิโรจน์ ดูแลทางด้านโรงแรมโนโวเทล บางนา
ศิริลักษณ์ ไม้ไทย ดูแลห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์
ประเสริฐ ลูกชายคนโตต่างมารดาของประดิษฐ์ ดูแลงานด้านการเงินอยู่ที่ธนาคารเอเชีย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
ประวัติ ดูแลภัทรล้านนา ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตสุราในเขตภาคเหนือ
ประวิทย์ ดูแลกิจการสุราทางแถบภาคอีสานของภัทรเกรียงไกร
มีชัย น้องสุดท้องของประดิษฐ์ มาดูแลกิจการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยช่วยกันกับประสงค์พี่ชายคนที่สาม
ซึ่งดูแลด้านวัสดุตกแต่งของภัทราเซรามิค และกระเบื้องภัทรา และดูแลบริษัทไพร์แสตทอีกด้วย
ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ บ้างก็ดูแลธุรกิจที่จังหวัดพิจิตร เช่น โรงพยาบาลพิจิตรภัทรเวช
และกิจการที่จังหวัดนครสวรรค์ทางด้านบุตรเขยและสะใภ้ของตระกูลภัทรประสิทธิ์
ส่วนใหญ่ก็ยังคงช่วยดูแลธุรกิจของตระกูลด้วยเช่น สมศักดิ์ นะวิโรจน์ สามีของลักขณา
นั้นก็เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ภัทราเซรามิค หรือปิยะนาฎ ภรรยาของวินัยก็บริหารงานอยู่ที่
บงล.เจ้าพระยา ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเธอจบการศึกษาทางด้านการเงิน
และมีประวัติการทำงานด้านการเงินมากว่า 10 ปี