Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2539
สร้างกำแพงกั้นทีเอ Mission Impossible ของยูคอม ?             
 

   
related stories

ไพศาล พืชมงคล ล็อบบี้ยิสต์ผู้ทลายอำนาจเก่า
ธรรมนิติ 'เดอะเฟิร์ม' ฉบับภาษาไทย
พีเอชเอส บทพิสูจน์สุดยอดฝีมือ 'ไพศาล'

   
search resources

ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรีส์, บมจ.
ภูษณ ปรีย์มาโนช
Telecommunications




ระยะ 2-3 เดือนมานี้ในช่วงเย็นย่ำของวันทำงาน ภูษณ ปรีย์มาโนช คีย์แมนคนสำคัญของกลุ่มยูคอมมีโอกาสได้ต้อนรับขับสู้เหล่าบรรดากุนซือของพรรคความหวังใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สมบัติ อุทัยสาง, ไพศาล พืชมงคล, พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ บนชั้น 10 ของสถาบันศศินทร์ ซึ่งถูกจัดเป็นชั้นสำหรับห้องอาหารจีน และฝรั่งเศสที่ได้รับการตกแต่งเป็นอย่างดี

สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของบรรดาศิษย์เก่าที่จบจากสถาบันศศินทร์ ที่ผลิตบุคคลมีชื่อเสียงในวงการธุรกิจ และราชการมานักต่อนัก

เจ้าหน้าที่ในนั้นเล่าว่า งบประมาณที่ใช้สร้างมาจากการลงขันของบรรดาศิษย์เก่า และหนึ่งในนั้นก็คือ ภูษณที่ควักทุนส่วนตัวเป็นตัวเลข 7 หลักสำหรับสถานที่แห่งนี้

"ผมเรียนปริญญาโทมาไม่รู้กี่ใบแล้ว แต่พอรู้ว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีประโยชน์ต่อธุรกิจ ผมก็จะมาลงเรียน" ภูษณ ปรีย์มาโนช คีย์แมนคนสำคัญของยูคอมสะท้อนถึงกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างคอนเนกชั่น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในธุรกิจโทรคมนาคมในยุคนี้

ภูษณ และไพศาล ล้วนเป็นศิษย์เก่าของสถาบันศศินทร์

ผลจากการรุกคืบของสถานการณ์ของยูคอมไม่ต่างไปจากชินวัตรเท่าใดนัก เพราะธุรกิจโทรศัพท์มือถือก็เป็นรายได้หลักของยูคอม เพียงแต่ยูคอมยังมี กสท. เป็นปราการด่านสำคัญ สัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือที่ได้รับการคุ้มครองหนาแน่นทำให้แทครอดพ้นจากการถูกรื้อสัมปทาน ผิดกับเอไอเอสของชินวัตรที่ยังไม่รู้ชะตากรรม

แต่ยูคอมก็รู้ดีว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์ไว้เช่นนี้คงไม่ดีแน่ ทางที่ดีที่สุด คือ ต้องยึด กสท. แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำไว้ให้มากที่สุด และหาทางรอดเพื่อไม่ให้กระทบกับสัมปทานมือถือที่อยู่ในมือ

แทคยื่นเรื่องขอโอนสิทธิ์ให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบดิจิตอล พีซีเอ็น 1800 บางส่วนให้กับไออีซี (บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง) เป็นผู้ให้บริการอีกรายไปยัง กสท. ชุดเดิม ซึ่งมีลิขิต เทอดสถิรศักดิ์เป็นประธานบอร์ด กสท. ในขณะนั้น แต่ยังไม่ทันบอร์ด กสท. จะอนุมัติ ลิขิตก็มีอันต้องพ้นตำแหน่งไป เพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก

แต่ดูเหมือนโชคยังเข้าข้างยูคอม เพราะภายหลังจากสุรศักดิ์ นานานุกูล ประธานบอร์ด กสท. คนล่าสุดที่มารับตำแหน่งแทนลิขิตได้ไม่กี่วันได้อนุมัติเรื่องดังกล่าวให้กับแทคในการประชุมบอร์ด กสท. นัดแรก

สุรศักดิ์ ให้เหตุผลว่า บอร์ด กสท. ชุดที่แล้วเห็นชอบกับเรื่องดังกล่าว และบอร์ดชุดนี้จึงอนุมัติไปตามนั้น เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนในการที่จะมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีกราย

"บอร์ดจะยึดหลักผลประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราอยากเปิดเสรี แต่ในเมื่อเราไม่สามารถทำได้ เพราะติดสัญญาคุ้มครองไว้กับแทค วิธีนี้ก็นับว่าเป็นทางออกอย่างหนึ่ง" สุรศักดิ์ ให้เหตุผล

สุรศักดิ์เป็นอดีตผู้บริหารของแบงก์กรุงเทพ สมัยที่อำนวย วีรวรรณ ยังนั่งบริหารอยู่ สุรศักดิ์เคยรับผิดชอบงานทางด้านวางแผนกลยุทธ ์และงานด้านงบประมาณ ปัจจุบันนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกเงินทุน แม้ว่าสุรศักดิ์จะปฏิเสธถึงผู้ที่มาทาบทามให้นั่งตำแหน่งนี้บอกแต่เพียงว่ามีผู้เสนอชื่อไปให้ พล.อ.ชวลิต แต่มีกระแสว่าการมาของสุรศักดิ์ใน กสท. ได้รับทาบทามจากไพศาล พืชมงคล

ตามข้อเสนอของแทค ในวงการเซ้งสัมปทานมือถือพีซีเอ็น 1800 ให้ไออีซี เพื่อเปลี่ยนฐานะจากเซอร์วิสโพรไวเดอร์ มาเป็นโอปอเรเตอร์มือถือรายใหม่นั้น ไออีซีจะต้องจัดตั้งบริษัทใหม่มีชื่อว่า ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิส (WCS) ซึ่งแทคจะถือหุ้นในสัดส่วน 45% (เงื่อนไขเดิมแทคจะถือ 30% แต่มาเพิ่มในภายหลังอีก 15%) กสท. 1.1% และที่เหลือเป็นของไออีซี 53.9%

ทั้งนี้ บริษัท WCS ซึ่งจะกลายเป็นมือถือรายที่ 3 จะต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลงสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ระบบพีซีเอ็น 1800 ที่แทคทำไว้กับ กสท. ทุกประการ ทั้งผลประโยชน์ตอบแทน และอายุสัมปทาน ซึ่งจะเหลืออีก 17 ปี 3 เดือน รวมทั้งรายละเอียดภายในสัมปทาน

ผู้บริหารของไออีซี เปิดเผยว่า บริษัท WCS จะต้องจ่าเงิน 2,250 ล้านบาท เพื่อแลกกับสิทธิขยายเครือข่าย (CELL SITE) ร่วมกับแทคมีอยู่ประมาณ 550 สถานีทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ WCS จะต้องลงทุนขยายเครือข่ายเองเพื่อรองรับกับลูกค้า 5,000 รายภายในเวลา 12 เดือน และมากกว่า 50,000 รายภายในระยะเวลา 22 เดือน

การเซ้งสัมปทานของแทคให้กับไออีซีในครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน คือ แทคนั่นเอง

ข้อแรก - แทคสามารถลดแรงกดดันจากพรรคความหวังใหม่ที่ต้องการให้เปิดเสรีโทรศัพท์มือถือ เพราะแทคครอบครองคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ไว้ทั้งแถบคลื่น ซึ่งมีทั้งหมด 75 เมกะเฮิรตซ์สามารถรองรับกับลูกข่ายหลายล้านเครื่อง และมีผู้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเพื่อผลักดันให้เปิดเสรีตลอดเวลา

สอง - โอปอเรเตอร์รายนี้ แทคเป็นผู้เลือกเอง และยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแทคมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น จะไม่มาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับแทค เพราะแทคก็ถือหุ้นอยู่ในบริษัท WCS ที่จัดตั้งขึ้น

สาม - แทคได้รับเงินจากการให้บริษัทร่วมทุน WCS เช่าใช้เครือข่ายร่วมกับแทคที่มีอยู่ทันที 2,250 ล้านบาท

สี่ - แทคจะได้ไออีซีมาลงทุนช่วยในการขยายเครือข่ายเซลลูลาร์ 1800 ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เพื่อรับมือแข่งขันกับระบบจีเอสเอ็มของค่ายชินวัตรแทนที่จะขยายเพียงลำพัง ซึ่งแทคยังมีคลื่นความถี่ที่สามารถแบ่งให้กับเอกชนรายใหม่ได้อีก 1-2 ราย

ในด้านของไออีซี ซึ่งแทคถือหุ้นอยู่ 10% แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลในเรื่องรายได้จากการยกฐานะจากเซอร์วิสโพรไวเดอร์มาเป็นโอปอเรเตอร์ชัดเจนมากนัก แต่ก็ส่งผลถึงราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นทันทีหลังจากข่าวการเป็นโอปอเรเตอร์

หลังการเซ้งสัมปทานให้ไออีซีบรรลุผล กลุ่มสามารถ ซึ่งเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์อีกรายของแทค อยุ่ระหว่างเจรจาขอเปลี่ยนฐานะเป็นโอปอเรเตอร์เช่นเดียวกับไออีซี งานนี้แทคคงรับทรัพย์ไปอีกไม่น้อย

นอกจากนี้ แทคยังมีโครงการสื่อสัญญาณความเร็วสูง หรือ (NON POTS NETWORK) ชิ้นสำคัญที่ได้อนุมัติจากบอร์ด กสท. ชุดที่มีลิขิต เทอดสถิรศักดิ์ ตั้งแต่ 31 มกราคมปีนี้ ให้กสท.จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับแทคแต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา อยู่ระหว่างรอลุ้นไฟเขียวจากพรรคความหวังใหม่

โครงการนี้มีลักษณะคล้ายกับโครงการมัลติมีเดียของทีเอช คือ เป็นการวางโครงข่ายเคเบิลจากโครงข่ายหลัก (BACK BONE) ของ กสท. ที่ใช้เป็นวงจรเช่าความเร็วสูง ซึ่งมีทั้งไฟเบอร์ออพติก, ดาวเทียมไปยังบ้านพักอาศัย หรือสำนักงานทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่ใช้แพร่สัญญาณโทรทัศน์ ในกิจการเคเบิลทีวี หรือบริการอินเตอร์เน็ต หรือบริการทางด้านมัลติมีเดียต่างๆ

หากโครงการดังกล่าวได้รับไฟเขียวจากบิ๊กจิ๋ว เท่ากับว่าต่อจากนี้เป็นต้นไป ยูคอมจะกลายเป็นเจ้าของทางด่วนข้อมูลสายสำคัญอีกเส้นของประเทศไทยที่มี กสท. เป็นแบ็กอัพ ในขณะที่ทีเอชจะเป็นเจ้าของทางด่วนข้อมูลอีกสายที่มี ทศท. หนุนหลัง

แหล่งข่าวจาก กสท. เล่าว่า การเซ็นสัญญาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง กสท. และยูคอม ซึ่งจะมีทุนจดทะเบียนประมาณ 20 ล้านบาท และ กสท.จะถือหุ้น 25% และสัญญาให้สิทธิ์ในการให้บริการของ กสท.

"ผู้บริหารของแทคกำลังวิ่งเต้น เพื่อรีบให้มีการเซ็นสัญญา เพราะสถานการณ์การเมืองไม่แน่นอน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เซ็นหรือเปล่า เพราะเป็นคู่แข่งโดยตรงของมัลติมีเดียของทีเอช" แหล่งข่าวกล่าว

ยามนี้ ภูษณคงต้องเหนื่อยอีกเป็นเท่าตัว เพราะไม่รู้ว่าเกราะกำบังใน กสท.ของแทคจะถูกทลายลงเมื่อใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us