- อนิจจาไอทีวี 10 ปี เสรีสื่อทีวีไทย นับวันยิ่งว่ายวนดิ่งลงก้นเหว
- เทมาเส็ก ไม่หวั่น ถึงแพ้วันนี้ แต่บอนไซวงการทีวีไทยได้อีก 20 ปี
- นักวิชาการ รุมสับไทยพาณิชย์ – ชินคอร์ป ร่วมยำไอทีวี กลายร่างเป็นสื่อบันเทิง – ชวนเชื่อ
- จับตาสถานีที่เกิดขึ้นช่วงหลังพฤษภาทมิฬจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อต้องแข่งกับฟรีทีวีที่ปรับภาพเป็นช่องข่าวและสาระจนแข็งปั๋ง ทำให้ที่ยืนของไอทีวีลดน้อยลงทุกที
ไม่ว่าบ่ายวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 คำตัดสินของศาลปกครอง ในคดีสัญญาสัมปทานไอทีวี ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ได้ยื่นฟ้องคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 ที่วินิจฉัยชี้ขาดปรับลดค่าสัมปทานที่ไอทีวีจะต้องจ่ายให้รัฐจากเดิมปีละราว 1,000 ล้านบาท เหลือเพียง 230 ล้านบาท รวมถึงวินิจฉัยยกเลิกไม่บังคับให้ไอทีวี ออกอากาศรายการช่วง Prime Time (ระหว่างเวลา 19.00 – 21.30 น.) ได้เฉพาะรายการข่าว สารคดี หรือสารประโยชน์ โดยสามารถออกอากาศรายการบันเทิง หรืออื่น ๆ ได้โดยอิสระ พร้อมทั้งวินิจฉัยให้ปรับสัดส่วนผังรายการ สาระความรู้ : บันเทิง ที่เคยกำหนดไว้ 70 : 30 เป็น 50 : 50 จะออกมาเป็นเช่นไร แต่วันนี้น่าเสียดาย 10 ปี ITV โดนลบเจตนารมณ์ทีวีเสรีไทยไปจนหมดสิ้นจากกลุ่มทุนธนาคาร ทุนนักการเมือง และทุนต่างชาติ
นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน นิพนธ์ นาคสมภพ มองความไม่ชอบมาพากลของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่มีต่อไอทีวี เมื่อปี 2547 ว่า ปัจจุบันชินคอร์ปเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์การจัดตั้งไอทีวีไปจากจุดเริ่มต้นจดหมดสิ้น ไอทีวี มีกรอบของการจัดตั้งสถานีที่ชัดเจน ว่า เป็นสถานีสาระเพื่อประชาชน ใครสามารถทำ สาระ 70 บันเทิง 30 ได้ก็เสนอราคามา ซึ่งหากผู้ประมูลได้มาในราคาสูง และไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้ แนวทางที่ถูกต้องคือ คืนสัมปทานกลับให้เจ้าของสัมปทาน ซึ่งก็คือสำนักนายกรัฐมนตรีไป เหมือนดังเช่นไทยสกายทีวี หรือวิทยุติดตามตัว ที่ไม่เห็นว่าจะบริหารธุรกิจต่อไปได้ ก็คืนต้นสังกัดเจ้าของสัมปทาน แต่เมื่อไอทีวี เป็นการเปลี่ยนมือ ผู้ที่รับสัมปทานต่อไป ก็ต้องยึดถือตามแนวทางเดิมที่ประมูลมาได้ มิใช่จะมาขอเปลี่ยนแปลงสัญญา ซึ่งไม่เป็นธรรมกับกลุ่มที่เคยยื่นประมูลเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ถ้ารู้ว่าประมูลไปแล้ว แก้ตัวเลขได้ แต่ละรายคงไม่เสนอผลตอบแทนให้รัฐต่ำ ๆ จนพ่ายแพ้แน่นอน
“ถ้าเป็นเช่นนี้คุณจะเปิดประมูลไปทำไม ถ้าใคร ๆ ก็ทำได้เช่นนี้ ผมไม่ให้แล้ว 2 .5 หมื่นล้าน ผมเสนอให้แสนล้านเลย แล้วหาทางมาเป็นรัฐบาล ถามว่า 5 หมื่นล้านเป็นรัฐบาลได้ไหม พอเป็นรัฐบาล ที่ได้มาจากการเสนอแสนล้านบาท ผมลดเหลือหมื่นล้านบาท มันพิเรนทร์ทั้งคนที่แก้ และคนที่ยอม”
ชลิต ลิมปนะเวช คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แสดงความเห็นว่า ชินคอร์ปพยายามสร้างภาพไอทีวี เพื่อหวังผลในการปั่นราคาหุ้นไอทีวีเท่านั้น มิได้มีความคิดจะบริหารไอทีวีให้เป็นทีวีเสรีอย่างแท้จริง การสร้างข่าวดึงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เช่น ไตรภพ ลิมปะพัทธ์ หรือกลุ่มกันตนา ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างราคาหุ้น รวมถึงการปรับผังราคาที่อ้างว่าประชาชนไม่ต้องการบริโภคข่าว หันไปเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิง ก็เพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น
“ถ้าประชาชนไม่ต้องการบริโภคข่าว แล้วทำไม CNN จึงอยู่ได้ แสดงให้เห็นว่า การสร้างสถานีข่าวที่ดีก็สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปได้ ดังนั้นการจะดำเนินการตามผังรายการที่มีรายการสารประโยชน์ 70% และบันเทิง 30% หากมีการจัดผังรายการให้เหมาะสม สรรหาผู้ผลิตรายการทั้งในส่วนรายการข่าว สาระ และรายการบันเทิงที่มีคุณภาพ ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับสถานีได้เป็นกอบเป็นกำ”
ชลิต กล่าวว่า พฤติกรรมนี้ถือเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลชุดนี้ ที่จะทำเรื่องอะไรก็ได้ จะบิดเบี้ยวเจตนารมณ์อย่างไรก็ได้ เชื่อว่า แม้ผลการวินิจฉัยของศาลปกครองจะออกมาเป็นเช่นไร เรื่องนี้จะยังไม่จบ ทางชินคอร์ปจะยื้อทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ไอทีวี ที่ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเทมาเส็คเสียหายแน่นอน
ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) อดีตผู้บริหารไอทีวี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การที่ไอทีวีจะต้องจ่ายเงินสัมปทานสูงถึง 25,200 ล้านบาท เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานีไม่สามารถจะใช้โครงสร้างรายการสาระ 70% : รายการบันเทิง 30% เพราะจะไม่สามารถสร้างรายได้มาจ่ายค่าสัมปทานได้ โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้มีรายการบันเทิงช่วยเวลาไพร์มไทม์
“สถานีข่าวไม่ได้สร้างเรตติ้งที่ยั่งยืน ข่าวจะสร้างเรตติ้งได้เฉพาะเวลาที่มีเหตุการณ์ ซึ่งจะสวนกับความรู้สึก และอาจสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ ที่แสดงว่าเรตติ้งจะดีเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่ดี”
ปัจจุบันกันตนา กรุ๊ป คือผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ป้อนให้กับไอทีวีเป็นส่วนใหญ่ ศศิกร กล่าวยอมรับว่า เป็นห่วงกับละครเรื่องใหม่ ที่เตรียมออกอากาศในช่วง 2 ทุ่ม ทางไอทีวี แต่หากศาลมีมติใด ๆ ออกมาก็ยอมรับ และมั่นใจว่าจะมีทางออก ทั้งนี้ มองว่า แม้จะมีการปรับสัดส่วนรายการบันเทิงกลับไปเหลือ 30% เหมือนเดิม และต้องถอดละครขยับไปอยู่นอกเวลาไพร์มไทม์ ก็สามารถสร้างเรตติ้งให้ดีได้ หากมีการจัดผังรายการที่ดี แต่ละรายการมีการเอื้อต่อกัน นอกจากนั้น รายการสาระที่กำหนดไว้ 70% ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นข่าว หรือสารคดี หากจะเป็นละครที่มาสาระ เช่นที่กันตนาเคยผลิตละครบาปบริสุทธิ์ ก็เชื่อว่าจะออกอากาศอยู่ในสัดส่วนของรายการสาระได้
อย่างไรก็ตาม คดีความที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการลดการจ่ายเงินสัมปทาน และการปรับสัดส่วนรายการ ศศิกร มองว่า ที่เกิดขึ้นได้เกิดจากการเขียนกฎหมายจัดตั้งไอทีวี ไม่รอบคอบ มีจุดรั่วไหลหลายจุดที่ทำให้ผู้ได้รับสัมปทานสามารถเรียกร้องใด ๆ จากภาครัฐได้
แต่นิพนธ์ นาคสมภพ กลับมองว่า สิ่งที่ไอทีวีเรียกร้องว่าเกิดความเสียหาย แท้จริงแล้วทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และยูบีซี ไม่ใช่คู่แข่งของไอทีวี เพราะบทบาทหน้าที่ของไอทีวี คือสถานีโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ต่างจากโทรทัศน์ช่อง 11 ที่ทำหน้าที่สนับสนุนงานของภาครัฐ และยูบีซี ซึ่งเป็นโทรทัศน์บอกรับสมาชิกที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก จึงไม่ใช่เหตุผลที่ไอทีวีจะอ้างว่าการดำเนินการของ 2 สถานีนี้จะไปกระทบกับรายได้ของไอทีวี รวมถึงการจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ใด ๆ หากมิใช่เป็นการจัดตั้งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานีที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสาร เหมือนเช่นไอทีวี สถานีนั้นก็สามารถจัดตั้งได้โดยไม่ผูกพันกับการตั้งไอทีวี
ด้านอดีต สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และสัก กอแสงเรือง กล่าวแสดงความคิดเห็นในแนวทางเดียวกันว่า สัญญาสัมปทานของไอทีวี ที่ล็อกไม่ให้เกิดฟรีทีวีช่องใหม่ที่จะมาแข่งขันกับไอทีวีนั้น คงไม่มีผล เพราะจะไม่มีกฎหมายใด ๆ อยู่สูงกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสัญญาผูกขาด ไม่น่าจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีของคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ เป็นสมบัติของรัฐ รัฐจึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก รวมทั้งต้องเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ทุกเรื่องจะมีหลักเกณฑ์ให้ยึดตาม
ย้อนรอยทีวีเสรี สิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
ทีวีเสรี เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ปี 2535 ภายหลังการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้ว ในด้านกิจการสื่อสารมวลชน บทเรียนจากการถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของสื่อส่วนใหญ่ที่อยูในการครอบครองของรัฐ ประชาชนเรียกร้องให้มีการตั้งสื่อเสรีที่ปราศจากการครอบงำของอำนาจรัฐ นำมาซึ่งการเกิดโครงการ ทีวีเสรี
ทีวีเสรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นสื่อที่มีการเสนอข้อมูลข่าวสารทุกด้านอย่างครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เป็นกลางและเป็นธรรม อันจะเป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรายการที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และมีการกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์ของรัฐ สังคม และประชาชน
นิพนธ์ นาคสมภพ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของไอทีวีตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งว่า เมื่อพิจารณาจากระดับชั้นขององค์กรข่าวที่วัดมาตรฐานจากทั่วโลก ไอทีวี ควรอยู่ในระดับเป็นองค์กรข่าววิชาชีพ (Profestionalism) ซึ่งมีอิสระในการทำงานที่ลึก กว้าง รวดเร็ว ให้ผู้รับสารมีส่วนร่วม และไว้วางใจได้ แต่ในความเป็นจริง ไอทีวีวันนี้ กลับมีสถานะเป็นเพียงองค์กรข่าวที่ใช้การสื่อสารชวนเชื่อ (Propaganda)
ซึ่งมีการผลิตข่าวสารออกมาเพื่อเผยแพร่โดยมีเจตนาโน้มน้าวสาธารณะหลงเชื่อเพื่อประโยชน์ใส่ตน เช่น เสนอข่าวจริงครึ่งเดียว เบี่ยงเบนเนื้อหา หรือฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกเหนือจากไอทีวีที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ก็เข้าข่ายการสื่อสารชวนเชื่อ
ไทยพาณิชย์ ต้นตอเสรีวิบัติ
หากจะสาวความย้อนไปถึงความพิกลพิการของทีวีเสรีไทย คงต้องกลับไปดูจุดเริ่มกำเนิดไอทีวี เมื่อปี 2538 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เงื่อนไขการประมูลที่รัฐมุ่งแต่จะรับผลตอบแทนสูงสุดเป็นสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นให้ไอทีวีบิดเบี้ยวมาจนทุกวันนี้ เมื่อผู้ร่วมประมูลที่ถูกรวบรวมจากทุกสารทิศเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ให้แต่ละกลุ่มต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 บริษัท และห้ามถือหุ้นเกินรายละ 10% เปิดโอกาสให้หลากหลายบริษัทที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อสารมวลชนโดดเข้าร่วมวง บางรายถึงกลับเป็นแกนนำในการประมูล โดยรายสำคัญที่เข้ามาและเป็นอีกเหตุที่สร้างความเสื่อมให้กับทีวีเสรีของไทย ชื่อว่า ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทในเครือทำธุรกิจด้านโทรทัศน์ สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์ แมนเนจเม้นท์ จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเข้าร่วมประมูลทีวีเสรีในนาม กลุ่มบริษัทสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นข้อเสนอบริหารสถานีทีวีเสรี ที่มีโครงสร้างรายการสาระ 70% และบันเทิง 30% โดยให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดถึง 25,200 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี สร้างความตะลึงงันให้กับกลุ่มประมูลอื่น ๆ โดยเฉพาะ สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ช่วงเวลานั้นยังมีบทบาทหน้าที่ในบริษัท แปซิฟิก และเข้าประมูลร่วมกับกลุ่มมติชน เนชั่น และสามารถคอร์ปอเรชั่น อันเป็นกลุ่มที่คาดหมายจะได้รับคัดเลือก ยังอดประหลาดใจไม่ได้ว่า เงินตอบแทนรัฐที่กลุ่มสยามทีวีฯ เสนอให้นั้น สูงเกินกว่าที่จะทำได้
ที่มาของข้อเสนอผลตอบแทนที่สูงลิ่วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปีนั้น นิพนธ์ นาคสมภพ กล่าวว่า เกิดจากช่วงเวลาก่อนการยื่นประมูล ตนซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 กลุ่มที่ทำงานวิจัยธุรกิจโฆษณา ได้รับการติดต่อจากนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์แมนเนจเม้นท์ ขอข้อมูลมูลค่าตลาดโฆษณาทางโทรทัศน์ และอัตราการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งปรากฎว่า มีการเติบโตอยู่ใน 20-30% ตลอด 5 ปีก่อนหน้า เนื่องจากช่วงเวลานั้นแต่ละสถานีมีการขยายเครือข่ายต่างจังหวัด โดยนายจุลจิตต์ขอข้อมูลนี้ไปโดยไม่ได้ขอความคิดเห็นใด ๆ จากตน
“เวลานั้นผู้ที่ทำงานวิจัยโฆษณาทางโทรทัศน์มีเพียงผม และนิตยสารคู่แข่ง โดยการหามูลค่าธุรกิจโฆษณาจะใช้วิธีนำเวลาโฆษณาที่ออกอากาศทั้งหมด มาคูณกับราคาโฆษณา และหักด้วยส่วนลด ซึ่งช่วงเวลานั้นโฆษณาทางโทรทัศน์กำลังเติบโตอย่างมาก คุณจุลจิตต์มาขอตัวเลข ผมก็ให้ไปว่าเติบโต 30% แต่เหตุผลเพราะอะไรไม่ได้ถาม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคุณจุลจิตต์จะคิดได้หรือไม่ว่าเติบโตเพราะอะไร และข้อมูลที่ผมให้ไปเวลานั้นก็ไม่ทราบว่าคุณจุลจิตต์เอาไปทำอะไร” นิพนธ์ นาคสมภพ กล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่อยู่ในกลุ่มสยามทีวีฯ ในขณะนั้น กล่าวว่า ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งดูแลเรื่องผลประโชน์ของกลุ่ม ใช้ข้อมูลการเติบโตของธุรกิจโทรทัศน์ในขณะนั้น ซึ่งเติบโตระดับ 20% ทุก ๆ ปี มาประกอบการเสนอผลตอบแทนรัฐ จึงเสนอเงินเป็นมูลค่าสูงถึง 25,200 ล้านบาท ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีทางที่ธุรกิจสื่อจะเติบโตเช่นนั้นได้ทุก ๆ ปีตลอดไป แต่เพราะคนที่เสนอเงินคือผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในสายงานสื่อโทรทัศน์
ชลิต ลิมปนะเวช กล่าวว่า ปัญหานี้ต้องโยนให้นายโอฬาร ไชยประวัติ (กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในขณะนั้น) รับผิดชอบ ที่คิดจะขยายธุรกิจให้ธนาคารโดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เมื่อประมูลได้มาก็พบว่าไม่สามารถบริหารต่อไปได้ ต้องส่งต่อมาให้กลุ่มชินคอร์ป และมาเปลี่ยนโครงสร้างของสถานีข่าวที่กฎหมายร่างไว้ กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไป ที่หวังจะใช้เพื่อสร้างประโยชน์ทางธุรกิจ
“คุณชิน โสภณพณิช เคยกล่าวไว้ว่า การทำธุรกิจธนาคารไม่ควรไปแย่งธุรกิจที่ลูกค้าทำ นายโอฬารอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมองว่าเป็นโอกาส แต่สุดท้ายกลับสร้างปัญหาให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จนต้องขายทิ้งโดยไม่สนใจต่อเจตนารมณ์ที่ตั้งสถานี” คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว
ชินคอร์ป แปลงร่าง ITV สู่ ทีวีของไอ
เมื่อไอทีวี ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าให้เป็นอีกธุรกิจที่จะแตกแขนงออกไป ไม่ประสบผลสำเร็จ 4 ปีของการเปิดดำเนินการ มีผลประกอบการขาดทุนราว 2,000 ล้านบาท ทั้งที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000 ล้านบาท หนี้สิน 4,000 ล้านบาท กับสัมปทานรัฐที่ต้องจ่ายรายเดือน จึงนำมาซึ่งการเชื้อเชิญให้กลุ่มทุนที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เข้ามารับภาระต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่เตรียมจะเก็บกระเป๋าหนี ซึ่งก็น่าอนาจใจที่กลุ่มทุนที่เข้ามาใหม่ กลายเป็นกลุ่มทุนการเมือง ที่นอกจากจะหวังกอบโกยรายได้จากทีวีเสรีแห่งนี้แล้ว ยังจ้องที่จะใช้ทีวีเสรีของประชาชนเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองของตน
ทันทีที่ชินคอร์ปเข้ามามีบทบาทในไอทีวี ภาพของสถานีข่าวเริ่มถูกลบ กลุ่มเนชั่น บริษัทสื่อมวลชนชั้นนำที่มีผลงานในการผลิตรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุด ถูกอัปเปหิออกไปในเวลารวดเร็ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างความกังขาให้กับสังคม ถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองที่จงใจบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฏหมาย เพื่อหวังสร้างผลประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง เกิดขึ้นในปี 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
คณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ประดิษฐ เอกมณี จุมพต สายสุนทร และชัยเกษม นิติสิริ มีคำวินิจฉัยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องปรับลดค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับ สปน.เป็นรายปี จาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท เท่ากับที่สถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 จ่ายให้กับกองทัพบก รวมทั้งให้ไอทีวีปรับสัดส่วนการออกรายการช่วงเวลาไพร์มไทม์ สามารถออกอากาศรายการบันเทิงได้ และปรับการนำเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ ในสัดส่วน 70% เหลือไม่น้อยกว่า 50% เปลี่ยนโฉมทีวีเสรี ที่เกิดขึ้นจากบทเรียนการเสียเลือดเนื้อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ในเดือนพฤษภาคม 2535 กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งหวังกำไร ควบคู่ไปกับผลประโยชน์ที่จะเอื้อต่อพรรคการเมือง และรัฐบาล
ทั้งนี้ เหตุผลที่นำมาสู่คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ เนื่องมาจาก สัญญาอัปยศที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่บริษัทสยามทีวีฯ ทำไว้กับ สปน. ข้อ 5 วรรค 4 ที่ว่า “หลังจากวันทำสัญญานี้ หากสำนักงานหรือหน่วยงานรัฐให้สัมปทานอนุญาต หรือทำสัญญาใด ๆ กับบุคคลอื่น เข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุ โทรทัศน์ โดยมีการโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับการเป็นสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมการงานได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินของผู้เข้าร่วมงานอย่างรุนแรง เมื่อผู้เข้าร่วมงานร้องขอ สำนักงานจะพิจารณาและเจรจรกับผู้เข้าร่วมงานโดยเร็ว เพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายที่ผุ้เข้าร่วมงานได้รับจากผลกระทบดังกล่าว”
และเมื่อโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 และยูบีซี เคเบิลทีวี เริ่มปรากฏมีโฆษณามาออกอากาศทางสถานีทั้ง 2 ก็เป็นเหตุให้ไอทีวี ยื่นเรื่องร้องเรียนจนประสบผลสำเร็จ
เทมาเส็ก เล็งแทรกซึมวัฒนธรรมสิงคโปร์
แม้ไอทีวี จะประสบกับภาวะไม่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจอยู่เช่นนี้ แต่ในแง่ความต้องการครอบครองธุรกิจของนักลงทุนยังมีอยู่สูง กลุ่มธุรกิจบันเทิงชั้นนำ 2 ราย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส โปรโมชั่น เป็นชื่อแรก ๆ ที่ถูกนำมาเชื่อมโยง โดยเฉพาะรายแรกได้รับการจับตามอง เนื่องจากความเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับตระกูลชินวัตร แต่ท้ายที่สุด กลับกลายเป็นกลุ่มเบียร์ช้าง ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กับมีข่าวความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนที่สุด โดยระบุว่า มีการเสนอเงินถึงกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการไอทีวี นอกจากนี้ ยังมีแนวร่วมเวิร์คพอยท์ ของปัญญา นิรันดร์กุล ที่เสนอตัวขอร่วมลงขันกับนายเจริญ แต่ทั้งหมดได้รับการปฏิเสธจากบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกลุ่มธุรกิจใด ๆ ทั้งสิ้น
ด้าน นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอทีวี กล่าวว่า กลุ่มเทมาเส็กซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อม ไม่มีแผนที่จะขายหุ้นไอทีวีทิ้งแต่อย่างไร พร้อมทั้งยังยืนยันที่จะให้ผู้บริหารชุดปัจจุบัน ดำเนินงานอยู่ต่อไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ผลการวินิจฉัยของศาลปกครองจะไม่เป็นใจให้กับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ไอทีวี อาจต้องกลับมาจ่ายผลตอบแทนให้รัฐปีละ 1,000 ล้านบาท เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติเมื่อก่อนปี 2547 โครงสร้างรายการจะต้องปรับมาเป็นสาระ ร้อยละ 70 และบันเทิง ร้อยละ 30 แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปัจจุบัน อย่างเทมาเส็ก ก็คงไม่รู้สึกรู้สาใด ๆ เพราะปัจจุบันเทมาเส็ก มีธุรกิจสถานีโทรทัศน์ที่สิงคโปร์อยู่ในครอบครอง ถึง 5 แห่ง ผลิตรายการต่าง ๆ ออกมาทุกปีเป็นจำนวนมาก เป็นที่คาดหมายกันว่า รายการเหล่านี้ ทั้งข่าว สารคดี ละคร ที่สถานีโทรทัศน์ของสิงคโปร์ผลิตขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เนื้อหาจะมุ่งไปในทางชื่นชนวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ รัฐบาล การปกครองของประเทศสิงคโปร์ทั้งสิ้น จะถูกส่งเข้ามาเผยแพร่ผ่านสถานีไอทีวี
และหากการฟ้องร้องในสัญญาอัปยศ ที่เขียนขึ้นเพื่อปิดกั้นไม่ให้เกิดสถานีโทรทัศน์อื่นมาแข่งกับไอทีวี ที่จะเกิดขึ้นในลำดับต่อไป หากมีผลออกมาที่เอื้อต่อไอทีวี แน่นอนว่า ไอทีวี และเทมาเส็คจะสามารถปิดกั้นความพัฒนาด้านการสื่อสารมวลชนของไทยได้เป็นเวลาจากนี้ 20 ปี
ไอทีวีเหนื่อยแน่เมื่อเจอช่อง 3 / 9
หากสถานการณ์ภายหลังคำตัดสินของศาลปกครอง บังคับให้ไอทีวีต้องปรับสัดส่วนผังรายการสาระความรู้ ต่อบันเทิง กลับมาเป็น 70 ต่อ 30 เหมือนเดิม เชื่อว่าน่าจะส่งผลต่อการสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ไม่น้อย เพราะอย่างที่รู้กันโดยทั่วไปว่าวันนี้ไอทีวีค่อนข้างเสีย positioning ของการเป็นสถานีข่าวไปพอสมควร ทำให้สถานีโทรทัศน์ที่เป็นฟรีทีวีบางช่องพยายามสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นสถานีข่าว ด้วยการให้ความสำคัญกับรายการข่าวเกือบตลอดทั้งวันอย่าง ช่อง 3 ที่ถือว่ามีความโดดเด่นเรื่องข่าวมากในช่วงเวลานี้ ด้วยคอนเซ็ปต์ครอบครัวข่าว ที่เริ่มต้นตั้งแต่ 03.00 นาฬิกาเป็นต้นมา ไล่เรื่อยมาถึงรายการที่นำเสนอสถานการณ์ข่าวรอบโลกของ สมเกียรติ อ่อนวิมล จนถึง ” เรื่องเช่าเช้านี้” ที่นำทีมโดยสรยุทธ สุทัศนะจินดาในช่วงเช้า มาถึงรายการ “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” กับวิศาล ดิลกวณิช ไล่มาจนถึงช่วงเย็นกับ “เรื่องเด่นเย็นนี้” และแต่ละรายการต่างมีแฟนประจำ และได้รับความนิยมไม่น้อย
ขณะที่โมเดิร์นไนน์ ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังการเข้ามาของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จนสามารถลบภาพแดนสนธยากลายเป็นสถานีข่าวที่มีโฆษณา และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ด้วยจุดขายการเป็นสถานีแห่งความรู้ และปัญญา และได้รับการตอบรับอย่างมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เบื่อละครน้ำเน่าที่มีอยู่อย่างมากมาย
ทั้ง 2 ช่อง ต่างยึดหัวหาดการเป็นการสถานีแห่งข่าวสาร และสาระ ได้ประสบความสำเร็จ และภาพนี้ได้เข้าไปอยู่ในความทรงจำของผู้บริโภคเป็นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากไอทีวีต้องกลับมาเป็นสถานีเพื่อข่าวและสาระเหมือนก่อนหน้านี้ ก็ต้องรับบทหนักที่ต้องแย่งชิงบทบาทดังกล่าวกลับคืนมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก ด้วยการจะไปซื้อรายการจากต่างประเทศมานั้นต้องใช้เม็ดเงินที่ค่อนข้างสูง ไหนไอทีวีอาจจะต้องส่งเงินให้กับภาครัฐเพิ่มจาก 230 ล้านบาท เป็น 1,000 บาท เป็นเรื่องที่เหนื่อย และหืดจับเลยทีเดียว
อีกทั้งรายการดีจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะถูกช่องโมเดิร์นไนน์กวาด และคัดเลือกไปเกือบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Mega Clever ที่ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลาประมาณ 20.30 น. ที่เริ่มมีแฟนๆติดกันงอมแงม หรือแม้แต่ผู้ผลิตรายการคุณภาพของไทย อย่างทีวีบูรพา เจ้าของรายการ คนค้นคน กับกบนอกกะลา ก็เชื่อว่าคงจะอยู่กับโมเดิร์นไนน์แน่นอน
เมื่อเป็นเช่นนี้ไอทีวีคงอยู่ในสถานการณ์ที่เหนื่อยแน่นอนในการแข่งขันกับฟรีทีวีช่องอื่นๆ
|