Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2539
พีเอชเอส บทพิสูจน์สุดยอดฝีมือ 'ไพศาล'             
 

   
related stories

ไพศาล พืชมงคล ล็อบบี้ยิสต์ผู้ทลายอำนาจเก่า
ธรรมนิติ 'เดอะเฟิร์ม' ฉบับภาษาไทย
สร้างกำแพงกั้นทีเอ Mission Impossible ของยูคอม ?

   
search resources

เทเลคอมเอเซีย, บมจ.
ไพศาล พืชมงคล
Telecommunications




ชื่อของ 'ไพศาล พืชมงคล' ปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกวัน เมื่อเขาเล่นบท "ตัวกลาง" เจรจาในสงครามโทรศัพท์ระบบพีเอชเอส หรือ PERSONAL HANDY PHONE SYSTEM ที่บอร์ด ทศท. อนุมัติให้ทีเอ และทีทีแอนด์ทีเป็นผู้ให้บริการ

เรื่องนี้ทำเอาชินวัตรถึงกับนั่งไม่ติด ต้องยื่นเรื่องขอตั้งอนุญาโตตุลาการให้ระงับการอนุมัติในครั้งนี้ หลังจากยื่นข้อเสนอ 12 ข้อ อาทิ ขอยืดอายุสัมปทาน ลดส่วนแบ่งรายได้ เพื่อขอแลกกับการเปิดเสรีมือถือมาแล้ว แต่ไม่ได้การตอบสนองจากบอร์ด ทศท.

แม้ว่าบอร์ด ทศท. ภายใต้การนำของ ไพศาล พืชมงคล จะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายอนุมัติพีเอชเอสให้กับทีเอ โดยระบุว่า เป็นบริการเสริมจากโทรศัพท์พื้นฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงสัญญาคุ้มครองที่ทำไว้กับเอไอเอส

แต่ในทางเทคนิคและทางปฏิบัติแล้ว พีเอชเอสไม่ได้แตกต่างไปจากโทรศัพท์มือถือเท่าใดนัก เว้นแต่ข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนที่จะต้องไม่เร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเทคนิคบางประการเท่านั้น

ระบบพีเอชเอสนั้นถูกพัฒนาขึ้นและใช้งานอยู่ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทนิปปอน เทเลโฟน แอนด์ เทเลกราฟ หรือเอ็นทีที ซึ่งได้เริ่มเปิดใช้บริการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ใน 2 จังหวัดใหญ่ ๆ ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ

การใช้งานในญี่ปุ่นค่อนข้างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นระบบที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับลักษณะของภูมิประเทศ และการใช้งานในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ แต่เอ็นทีทีก็พยายามเผยแพร่ระบบพีเอชเอสไปตามประเทศต่าง ๆ ในย่านเอเชียแปซิฟิก

คุณสมบัติของโทรศัพท์ระบบพีเอชเอส สามารถใช้ภายในบ้านได้เหมือนกับโทรศัพท์ไร้สาย แต่สามารถพกพาไปใช้ภายนอกได้เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดจะต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่โทรศัพท์มือถือใช้เคลื่อนที่ได้ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ ระบบพีเอชเอจะต้องใช้คลื่นความถี่ในการรับส่งสัญญาณเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งระบบพีเอชเอสจะต้องใช้ความถี่ย่าน 1900 เมกะเฮิรตซ์ ในขณะที่โทรศัพท์มือถือจะใช้คลื่นความถี่ย่าน 900, 1800 และ 1500 เมกะเฮิรตซ์

ในแง่ของผู้ให้บริการจะต้องลงทุนติดตั้งเครือข่ายเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ คือ จะต้องติดตั้งสถานีฐาน (CELL STATION) ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณ ให้ผู้ใช้สามารถพกพาเครื่องไปใช้นอกสถานที่

ส่วนต่างชุมสายของสองระบบนี้ จะแตกต่างกัน ระบบพีเอชเอสจะใช้โครงข่ายของโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะที่โทรศัพท์มือถือจะต้องติดตั้งชุมสายเซลลูลาร์ แต่บางกระแสก็ระบุว่า พีเอชเอสจะต้องติดตั้งโครงข่ายแยกต่างหากเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ

ตัวเครื่องลูกข่ายของพีเอชเอสจะเหมือนกับโทรศัพท์มือถือ แต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตออกมาจำหน่ายในญี่ปุ่นแล้วหลายยี่ห้อ

สำหรับอัตราค่าบริการจะจัดเก็บในลักษณะเดียวกับโทรศัพท์มือถือแต่ถูกกว่า คือ จะคิดค่าบริการรายเดือน ๆ ละ 200 บาท ส่วนค่าโทรจะคิดเป็นนาที (แอร์ไทม์) 2 นาทีแรก 3 บาท นาทีต่อไปนาทีละ 1.50 บาท

หากพิจารณาเทคนิครวม ๆ แล้วพีเอชเอสไม่ได้แตกต่างไปจากโทรมือถือเท่าใดนัก แม้ว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องเทคนิค แต่ด้วยค่าบริการที่ถูกกว่า ค่าเครื่องลูกข่ายไม่ถึงหมื่น ย่อมทำให้พีเอชเอสกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญโทรศัพท์มือถือได้ไม่ยากเย็น

การพยายามเปิดบริการพีเอชเอสของทีเอนั้น นอกจากเป็นการเลียบเคียงเข้าสู่ธุรกิจโทรมือถือแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นรายได้ให้กับโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณความต้องการของลูกค้าไม่ได้มีมากตามที่ประเมินไว้ ทีเอมีเลขหมายติดตั้งเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีลูกค้ามาจองเป็นจำนวนมาก

ลูกค้าที่จะใช้บริการพีเอชเอสนั้น จะต้องยื่นขอโทรศัพท์ก่อน เพราะเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจะเป็นเลขหมายเดียวกับพีเอชเอส ดังนั้นการให้บริการพีเอชเอสจะกระตุ้นความต้องการโทรศัพท์พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเลขหมาย หรือปริมาณในการโทร

แต่การลงทุนระบบพีเอชเอสจะให้ผลคุ้มค่าจริงหรือไม่ยังเป็นเรื่องต้องจับตา เพราะหากจะให้บริการมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ ทีเอจะต้องติดตั้งสถานีฐาน (CELL STATION) เป็นจำนวนมากเนื่องจากสถานีฐานของพีเอชเอสมีความแรงสัญญาณ 100 เมตรเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น บริการพีเอชเอสยังมีปัญหาว่าจะใช้เลขหมายเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานได้หรือไม่ยังไม่มีสรุป ซึ่งหากใช้เลขหมายเดียวกันไม่ได้ความสะดวกของผู้ใช้จะลดลง และเท่ากับว่าบริการพีเอชเอสจะกลายเป็นโทรศัพท์ระบบใหม่ ไม่ใช่บริการเสริมของโทรศัพท์พื้นฐานอย่างที่กล่าวอ้าง

ในเรื่องของระบบที่จะนำมาใช้ ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะเลือกใช้ระบบใดระหว่างพีเอชเอสของญี่ปุ่น หรือ DECT ของยุโรป หรือ PACS ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสามระบบนี้มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การยื่นขอให้บริการพีเอชเอสของทีเออาจต้องการหวังผลในเรื่องของส่วนต่างราคาหุ้นของทีเอเท่านั้น

หรือเพื่อต้องการครอบครองคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ไว้ในมือ ซึ่งเป็นทรัพยากรหายาก และมีอยู่จำกัดจนกลายเป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้

คนไทยจะได้ใช้บริการพีเอชเอสหรือไม่ และเมื่อใดก็คงต้องรอดูกันต่อไป

แต่ที่แน่ ๆ ผลของสงครามครั้งนี้ก็พิสูจน์ฝีมือ "ล็อบบี้ยิสต์" อย่างไพศาลได้ดีที่สุด !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us