เมเจอร์ฯเตรียมยุบไอแมกซ์รัชโยธิน หลังเปิดที่พารากอน พร้อมทั้งวางแผนตลาดไม่ให้สาขากลางเมืองต้องแบ่งลูกค้ากันเอง ชี้อนาคตตลาดรวมหนังยังเติบโตได้อีก ถ้าเร่งแก้ไขสองปัญหาหลักคือช่องทางขายตั๋วและสาขาที่เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด เผยมองข้ามมาร์เก็ตแชร์แล้ว ล่าสุดเปิดพารากอนซีนีเพล็กซ์ หวังดันเป็นสาขาเรือธง ผลักรายได้รวมปีนี้หวังโต 30%
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนโรงหนังไอแมกซ์ที่สาขารัชโยธินใหม่ โดยจะปิดบริการไอแมกซ์สาขานี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับความนิยมในระดับหนึ่งก็ตาม โดยยังคงคอนเซ็ปท์โรงหนังไว้ แต่คงต้องหาวิธีการในการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อบริษัทฯเปิดไอแมกซ์ที่สาขาพารากอนซีนีเพล็กซ์แล้วก็ไม่ควรมีไอแมกซ์สองสาขาในไทย เพราะต้องการสร้างให้เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น
รวมไปถึงอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อที่จะไม่ให้แต่ละสาขามีการแย่งลูกค้าหรือเกิดความซ้ำซ้อนกันเองโดยเฉพาะสาขากลางเมืองที่ใกล้กันอย่าง เมเจอร์สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ อีจีวีเมโทรโปลิส และพารากอนซีนีเพล็กซ์
เขากล่าวด้วยว่า ตลาดรวมของอุตสาหกรรมหนังในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่ปัจจัยหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคและต้องเร่งแก้ไขในภาพรวมคือ เรื่องของความสะดวกทั้งในด้านของการซื้อตั๋วและการขยายสาขาให้ครอบคลุมถึงผู้บริโภคมากที่สุด ขณะที่ในเรื่องของความสะดวกสบายของโรงหนัง หรือคอนเซ็ปท์โรงหนัง การบริการ การตกแต่ง เมืองไทยไม่แพ้ที่อื่นในโลก มีความหรูหราและมีการพัฒนาไปอย่างมาก ได้รับการยอมรับว่าแทบยจะดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
โดยเฉพาะในเรื่องของการซื้อตั๋ว ตลาดไทยยังใช้ระบบออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ตรวมทั้งโมบายทิคเก็ตติ้งน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในอเมริกา หรือในเกาหลีใช้โมบายทิกเก็ตมากกว่า 25% รวมทั้งคนไทยยังดูหนังต่อปีน้อยมากเฉลี่ย 2 เรื่องต่อคนต่อปี ส่วนที่อเมริกาดูหนังประมาณ 8 เรื่องต่อคนต่อปี
“ตรงนี้เป็นปัญหาที่เรามองเห็น และในส่วนของเมเจอร์ฯเองก็พยายามพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ เพื่อที่จะให้เกิดความสะดวกสบายและดึงคนเข้ามาดูหนังมากขึ้น ไม่ต้องมาซื้อตั๋วหน้าโรงหนังอย่างเดียวเท่านั้นเพราะจะเสียเวลา ซึ่งจะทำให้ตลาดรวมโตขึ้น เพราะเมื่อเวลาที่จะใช้ในการดูหนังน้อยลงก็จะทำให้คนดูหนังเพิ่มมากขึ้น”
ส่วนประเด็นการขยายโรงหนังนั้น ปัญหาใหญ่คือการหาทำเลที่ดีๆในการสร้างโรงหนังสาขาใหม่ๆ ซึ่งเมเจอร์ฯเองตั้งเป้าที่ต้องการจะขยายโรงหนังใหม่ๆให้ได้เฉลี่ย 30 จอต่อปี ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 8-10 ล้านบาทต่อจอ หรือใช้วงเงินลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันมีประมาณ 270 จอ โดยเป้าหมายรวมต้องการมีประมาณ 500 จอ ซึ่งปีนี้เมเจอร์ฯผุดโรงหนังใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 47 จอ
ในปีนี้ทางเมเจอร์ฯเองก็ยังคงขยายสาขาใหม่ๆและเตรียมเปิดสาขาใหม่ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เปิดบริการพารากอนซีนีเพล็กซ์แล้ว และคาดว่าจะเปิดเป็นทางการสมบูรณ์แบบได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ โรงหนัง ซึ่งเปิดบริการแล้ว ยังเหลือไอแมกซ์ และโรงหนังบางส่วน
นอกจากนั้นยังเปิดสาขาที่เกาะสมุยในเทสโก้โลตัส และสาขาเอสพานาด ถนนรัชดาภิเษก ที่คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ประมาณไตรมาสที่สามปีนี้ โดยปีนี้ยังคงใช้งบลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหลักๆคือสาขาพารากอนซีนีเพล็กซ์
“ตอนนี้เราไม่ได้มองมาร์เก็ตแชร์แล้ว แต่เรามองไปที่การทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมหนังโดยรวมมีการเติบโตมากกว่านี้”
ดันพารากอนซีนีเพล็กซ์เรือธง
สำหรับสาขาพารากอนซีนีเพล็กซ์นี้ได้ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่ กว่า 20,000 ตารางเมตร แต่ถ้ารวมทุกอย่างทั้งโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ฟิตเนส จะมีประมาณ 30,000 ตารางเมตร และคาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุน 5 ปี อีกทั้งจะเป็นสาขาที่ทำรายได้หลักในอนาคต มากกว่า 10-20% แทนที่สาขารัชโยธินในเวลานี้ โดยคาดว่าสาขานี้จะมีรายได้จากตั๋วหนังประมาณ 70% และอีก 30% เป็นรายได้จากส่วนอื่นที่ไม่ใช่หนัง
พารากอนซีนีเพล็กซ์ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ 16 โรง แบ่งเป็นโรงสยามภาวลัย 1 โรงความจุ 1,200 ที่นั่ง โรงภาพยนตร์โนเกียอัลตร้าสกรีน 3 โรง โรงภาพยนตร์อินิกม่า 1 โรง โรงภาพยนตร์แกรนด์เธียเตอร์ 10 โรง โรงภาพยนตร์กรุงศรีไอแมกซ์ 1 โรง รวมทั้งหมด 5,000 ที่นั่ง โบว์ลิ่ง 38 เลน คาราโอเกะ 13 ห้อง และมีราคาตั๋วหนังตั้งแต่ 120 บาท – 1,200 บาท และราคาพิเศษที่แล้วแต่โรงด้วย
นายวิชา กล่าวด้วยว่า สาขานี้ได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆที่มาใช้ในการบริการลูกค้าเข้ามาเสริม เพื่อให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้ตามที่ได้ตั้งนโยบายเอาไว้ เพื่อให้ไลฟ์สไตล์ลูกค้าง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็ว เช่น พารากอนแคช บัตรแทนเงินสดโดยลูกค้าใช้รหัสส่วนตัวซื้อบัตรดูหนังผ่านช่องทางพิเศษหลากหลายเช่น ออนไลน์ อินเทอร์เน็ต อินเทอร์แอคทีฟวอยซ์เรสปอนด์ มูฟวี่ไลน์ ตู้คีออสที่กระจายตามจุดต่างๆทั่วสยามพารากอน หรือทิคแอนด์โก ตู้จำหน่ายบัตรอัติโนมัติ , บ็อกซ์โมบายล์ ระบบจำหน่ายตั๋วเคลื่อนที่, พลาสม่า และมูฟวี่เทรลเลอร์ออนดีมานด์ เป็นต้น
ทั้งนี้จากการขยายสาขาใหม่ๆรวมทั้งการเพิ่มบริการใหม่ที่หลากหลายคาดว่าในปีนี้เมเจอร์ฯจะมีผลประกอบการที่มากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตประมาณ 30%
|