แบงก์ชาติ จับตาหนี้ภาคครัวเรือน หลังดอกเบี้ยปรับตัวในช่วงขาขึ้น หวั่นกระทบความสามารถในการชำระหนี้ ชี้หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลยังเพิ่มสูง ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลกระจุกตัวในกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีแนวโน้มเติบโตต่อ
รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนเมษายน 2549 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบเสถียรภาพของระบบการเงินมากขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน แม้จะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน
ทั้งนี้ กนง. มองว่าสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยข้อมูลสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ชี้ว่าภาคครัวเรือนยังคงมีการก่อหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 16.7 % แม้ว่าจะชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 18.1 %
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละประเภทการกู้ยืมแล้ว การกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านยังคงขยายตัวต่อเนื่องแต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น โดยหากเปรียบเทียบช่วงที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีการขยายตัวในอัตราสูงกับช่วงเวลาปัจจุบันนั้น อัตราดอกเบี้ย MLR ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1.50 % ต่อปี จากประมาณการ 5.75 % ต่อปี มาเป็น 7.25 % ต่อปี ซึ่งจะเริ่มส่งผลให้มีการปรับสัญญาเงินกู้บ้าง ทั้งในรูปของจำนวนเงินผ่อนต่องวดที่เพิ่มขึ้นหรือการขยายระยะเวลาของการผ่อนชำระ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินต่อไป
ขณะที่การกู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่ใช่การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยก็ขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาส่วนของสินเชื่อที่ให้โดยภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (Non-Bank) นั้น หนี้บัตรเครดิตยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงแม้จะชะลอลงบ้าง ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ออกโดย Non-Bank ไม่ได้ขยายตัวมากนัก ซึ่งสะท้อนการสะสมหนี้ผ่านบัตรเครดิตของภาคครัวเรือนที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของผู้มีรายได้ไม่สูงนัก
สำหรับกรณีของสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. นั้น กนง.มองว่านับตั้งแต่ที่ ธปท.ได้ออกมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลออกไปเมื่อเดือน ก.ค.2548 ที่ผ่านมา ทำให้ ธปท.สามารถติดตามตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลของ Non-Bank ได้ โดยเริ่มมีข้อมูลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 ซึ่งตัวเลขบ่งชี้ว่าสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจารณาสินเชื่อเฉลี่ยต่อหนึ่งบัญชี กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท จะมียอดคงค้างสินเชื่อประมาณ 2 เท่าของรายได้ต่อเดือน ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงขึ้นมามียอดคงค้างสินเชื่อต่อบัญชีในระดับใกล้เคียงกับรายได้ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนความแตกต่างในแต่ละกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่างกัน
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การกู้ยืมของครัวเรือนยังไม่ชะลอลงอย่างชัดเจนนั้น อาจส่งผลในทางลบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในภาพรวมได้ ซึ่ง กนง.มีความเห็นให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ถึงแม้ว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 ข้อมูลสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของครัวเรือนยังไม่บ่งชี้ถึงความเปราะบางดังกล่าวก็ตาม โดยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิต ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ว่าปริมาณบัตรเครดิตและยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีบัตรเครดิตให้บริการทั้งสิ้น 10,048,047 บัตร เป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย 3,889,926 บัตร สาขาธนาคารต่างประเทศ 1,073,581 บัตร และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตประเภทนอนแบงก์ 5,084,540 บัตร เทียบกับสิ้นปี 2547 ที่มีปริมาณบัตรเครดิต 8,648,100 บัตร โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 142,420.44 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายรวม 56,429.56 ล้านบาท แยกเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 40,333.95 ล้านบาท และปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ 1,822.33 ล้านบาท การเบิกเงินสดล่วงหน้า 14,273.28 ล้านบาท
|