บลจ.บัวหลวงมาแรงแซงทางโค้ง navกองทุนตราสารหนี้พุ่งกระฉูดระดมเงินตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนเม.ย.กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ค่ายทหารไทยตามมาติดๆเงินไหลเข้ากองตราสารหนี้ 3,6,12 เดือนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เผยบลจ.ทั้งระบบเงินไหลเข้ากองตราสารหนี้แล้วกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท
ภาพรวมกองทุนรวมตราสารหนี้ในปีนี้ ยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุน โดยจากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งระบบมีการระดมทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-21 เมษายน 2549 มีมูลค่ารวมกว่า 76,859 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18.3% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2548
สำหรับบลจ.ที่สามารถระดมทุนผ่านการออกกองทุนตราสารหนี้ได้สูงสุดคือ บลจ.บัวหลวง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 21,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 63.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี อันดับ 2.บลจ.ทหารไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำตลาดกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตั๋วเงินคลังระยะ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิในส่วนของกองทุนตราสารหนี้เพิ่มกว่า 17,176 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 42.3%
อันดับ3.บลจ.กสิกรไทย มีเม็ดเงินไหลเข้าในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 21 เมษายน 2549 กว่า 14,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% 4.บลจ.ไทยพาณิชย์ 6,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% 5.บลจ.กรุงไทย 3,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% 6.บลจ.ธนชาต 2,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% 7.บลจ.ยูโอบี (ไทย) 2,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0%
อันดับ8บลจ.นครหลวงไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.5% 9.บลจ.พรีมาเวสท์ 2,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.7% 10.บลจ.เอ็มเอฟซี 2,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.6% 11.บลจ.แอสเซทพลัส 813 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% 12.บลจ.ทิสโก้ 508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% 13.บลจ.อเบอร์ดีน 253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% 14.บลจ.ฟินันซ่า 163 ล้านบาท 15.บลจ.บีที 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% 16.บลจ.วรรณ 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% 17.บลจ.อยุธยาเจเอฟ ลดลง 699 ล้านบาท ลดลง 0.9% และ18.บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ลดลง 1,097 ล้านบาท ลดลง 1.4%
รายงานข่าวกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนตราสารหนี้ ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนโยกเงินฝากเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นจำนวนมาก โดยในระยะหลังเห็นได้ชัดเจนว่า กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นประเภท 3 เดือนและ 6 เดือนจะได้รับการตอบรับนักลงทุนเป็นอย่างมาก หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น (อาร์/พี) 14 วัน โดยล่าสุด อยู่ที่ระดับ 4.75%
นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้ธปท.ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้บลจ.หลายแห่งต่างต้องปรับกลยุทธ์การออกกองทุนตราสารหนี้ใหม่ โดยหันมาออกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 3 เดือนมากขึ้น เพราะมีนักลงทุนบางส่วนที่ต้องการพักเงินไว้ระยะสั้น เพื่อไม่ให้เสียจังหวะลงทุนในช่วงดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจากบลจ.ทิสโก้ กล่าววว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 ตลาดตราสารหนี้ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจนในช่วงต้นไตรมาส โดยมีแรงซื้อกลับเข้ามาในพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุกลางถึงยาวมากขึ้น เนื่องจากปริมาณของพันธบัตรรัฐบาลออกใหม่ที่จะประมูลในตลาดแรกมีจำนวนไม่มากนัก ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบกับอัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายไตรมาสได้เริ่มมีการเทขายทำกำไรออกมาในพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุกลางถึงยาวมากขึ้น ภายหลังจากที่มีการประกาศตารางประมูลพันธบัตรสำหรับไตรมาสาหน้า โดยจะมีพันธบัตรอายุประมาณ 5,10,15 และ 20 ปี ออกมาประมูลในตลาด
ขณะเดียวกันการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวกว่า 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.10 ถึง 0.29 สำหรับตราสารภาครัฐที่มีอายุ 1 ปีลงมา ยังคงได้รับแรงกดดันจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วัน อีกร้อยละ 0.50 ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ช่วงอายุ 3 เดือน ถึง 1 ปี เป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาจากกกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนโดยรวมของตราสารระยะสั้นยังคงปรับตัวขึ้นต่ออีกร้อยละ 0.57 ถึง 0.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
"ในส่วนของแนวโน้มไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 นั้น คาดว่าตลาดตราสารหนี้โดยรวมน่าจะยังคงอยู่ในช่วงปรับฐานต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารระยะสั้นน่าจะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งภายในประเทศและประเทศสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ จนถึงช่วงกลางปี"
สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารระยะกลางก็มีแนวโน้มทยอยปรับตัวขึ้น โดยได้รับแรงกดดันมาจากอัตราผลตอบแทนของตราสารระยะสั้น และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอัตราผลตอบแทนของตราสารระยะยาวคงจะเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ รอดูเสถียรภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง และทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นปัจจัยหลัก
|