2 ผู้ถือหุ้นใหญ่สัญชาติสิงคโปร์ "SILVERCORD CAPITAL - GOLDEN CAPITA" ขายหุ้น"ไทยเบฟเวอเรจ" ให้ "สิริวนา" บริษัทไทยเกือบ 1.6 พันล้านหุ้น หรือ 7.26% ในราคาไอพีโอ โบรกเกอร์ ชี้กระบวนการพิจารณาเร็วเกินคาด เชื่อเตรียมลิสต์สิงคโปร์กลางเดือนนี้ "กิตติรัตน์" พร้อมลาออกจากตำแหน่งรับผิดชอบ เชื่อตลาดหุ้นจะได้ผู้จัดการคนใหม่ที่เหมาะสมเข้ามาทำงานแทน
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวถึง ขั้นตอนการพิจารณาแบบรายการแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ว่า ขั้นตอนปกติในการพิจารณาแบบรายการไฟลิ่งของตลาดหุ้นไทยหรือสิงคโปร์จะต้องใช้เวลาประมาณ 60 วัน แต่กรณีการยื่นไฟลิ่งบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้างต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ใช้เวลาในการพิจารณาเพียงประมาณ 45 วัน
ทั้งนี้ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้มีการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานก.ล.ต.สิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมาภายหลังจากที่รอการปิดงบผลการดำเนินงานของบริษัทงวดปี 2548 ที่ผ่านมา
"ตลาดหุ้นสิงคโปร์อยากได้หุ้นขนาดใหญ่ๆ ของเรามาก จึงต้องเร่งรีบขบวนการพิจารณาไฟลิ่งให้เร็วจากปกติ ซึ่งคาดว่าหุ้นบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ น่าจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ได้ไม่น่าจะเกินวันที่ 20 พ.ค.นี้"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ถือว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหลายแห่งมีความสนใจให้มาจดทะเบียนโดยผลการดำเนินงานของไทยเบฟเวอเรจ และบริษัทย่อยงวดปี 2548 มีกำไรสุทธิ 10,409.37 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 0.47 บาท ใกล้เคียงกับปี 2547 ที่มีกำไรสุทธิ 10,417.47 ล้านบาท หรือ 0.47 บาทต่อหุ้น โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังอนุมัติการจัดสรรกำไรจากผลการดำเนินงานปี 2548 เป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 5,280 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.24 บาท
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีการเตรียมที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองได้ประกาศแสดงความรับผิดชอบในกรณีดังกล่าวด้วยการลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่สามารถรักษาบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศตามคำเชิญของตนเองได้
"เรื่องเบียร์ช้าง อาจจะไม่ใช่เพียงแค่การแสดงความรับผิดชอบ แต่ส่วนตัวผมมองว่าเรื่องที่ผมจะต้องรับผิดด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ผมดูแลโดยตรง ผมพูดไว้ชัดเจนว่าวันที่เบียร์ช้างจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ผมจะไม่เป็นเอ็มดีตลาดหลักทรัพย์"นายกิตติรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ห่วงเรื่องคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนต่อไป เพราะในอดีตที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์มักจะได้ผู้จัดการที่เหมาะสมกับทุกช่วงทุกสมัยอย่างเสมอ
ด้านรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน2549 บริษัท สิริวนา จำกัด ได้ซื้อหุ้นบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง จาก SILVERCORD CAPITAL (SINGAPORE) LIMITED. และ GOLDEN CAPITAL (SINGAPORE) LIMITED. จำนวน 1,597,200,000 ล้านหุ้น หรือ 7.26%
ทั้งนี้ ระบุราคาที่ซื้อขายคือราคาไอพีโอ โดยนายชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ ในฐานะกรรมการบริษัท และนายขจรศักดิ์ วันรัตน์เศรษฐ ในฐานะกรรมการบริษัทเป็นผู้รายงาน
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ที่บริษัทได้แจ้งในแบบรายการแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานก.ล.ต.เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 อันดับ1. Risen Mark Enterprise Ltd. จำนวน 5,537,600,000 หุ้น หรือ 25.17% อันดับ 2.Good Show Holdings Limited จำนวน 4,194,400,000 หุ้น หรือ 19.07% อันดับ 3.นายเจริญ สิริวัฒนภักดี จำนวน 3,156,500,000 หุ้น หรือ 14.35% อันดับ 5.คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จำนวน 3,156,500,000 หุ้น หรือ 14.35% อันดับ 5. GOLDEN CAPITAL (SINGAPORE) LIMITED จำนวน 1,012,000,000 หุ้น หรือ 4.60%
ทั้งนี้ได้มีการแจ้งว่า GOLDEN CAPITAL (SINGAPORE) LIMITED เป็นบริษัทที่นายเจริญ สิริวัฒนภักดีและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นในสัดส่วนรวม 25%
อนึ่ง ก่อนหน้านี้บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้ยื่นคำขอเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ต่อสำนักงานก.ล.ต. หลังจากที่ประชุมผุ้ถือหุ้นของบริษัทได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 22,000 ล้านบาท เป็น 29,000ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 7,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 1 บาทต่อหุ้น โดยจะเป็นการแบ่งจัดสรรให้ประชาชนทั่วไปไม่เกิน 6,000 ล้านหุ้น และ 1,000 ล้านหุ้นรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน
|