การแข่งขันในวงการคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วงชิงยุทธศาสตร์บนไซเบอร์สเปซดำเนินมาถึงจุดที่ต้องแข่งขันผลิตอุปกรณ์ที่จะสามารถต่อเชื่อมเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ง่าย
รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป้าหมายสูงสุด คือ อุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายได้ตลอดเวลา
ให้ยูสเซอร์สามารถเปิดเข้าและดาวน์โหลดข้อมูลที่ต้องการจากอินเตอร์เน็ตได้ใน
"ราคาประหยัด"
เน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์ (Network Computer -NC) เป็นอีกนิยามของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากคอนเซ็ปต์ดังกล่าว
ยูสเซอร์สามารถเปิดเข้าท่องโลกเวิลด์ ไวด์ เว็บ หรืออนุเครือข่ายที่เต็มไปด้วยภาพกราฟิกสีสันในอินเตอร์เน็ตได้ในราคาตั้งต้นเพียงแค่
500 ดอลลาร์
แนวคิดในการพัฒนาเอ็นซีนอกจากจะเกิดขึ้นจากกระแสบูมของอินเตอร์เน็ตแล้ว
ยังมีแรงหนุนจากการเมืองเบื้องหลังยุทธจักรคอมพิวเตอร์ นั่นคือ ความพยายามของบริษัทคอมพิวเตอร์ในการคิดค้นอุปกรณ์ที่สามารถแข่งขันกับพีซีในการเปิดเข้าอินเตอร์เน็ต
เพื่อที่จะโค่นล้มและถ่วงดุลอำนาจของมาตรฐาน "WINTEL" วลีที่ใช้เรียกขานการผูกขาดของซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ
"Window" จากไมโครซอฟท์กับไมโครโปรเซสเซอร์จากค่าย "Intel"
ซึ่งผูกขาดตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอยู่ในขณะนี้
ออราเคิลเปิดวิชั่น
เน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์ หรือเอ็นซี (Network Computer-NC) เริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างครั้งแรกในปี
1995 เมื่อ ลาร์รี่ เอลลิสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของออราเคิล
คอร์ป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ดาต้าเบสชั้นนำของโลก ออกเดินสายประกาศว่า ออราเคิลจะผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ราคาเพียง
500 ดอลลาร์ ให้ยูสเซอร์สามารถเปิดเข้าท่องโลก เวิลด์ ไวด์ เว็บ ในอินเตอร์เน็ต
และดาวน์โหลดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการใช้งาน รวมทั้งรับส่งอีเมล์ผ่านจากเครือข่ายได้ในราคาถูก
วิชั่นของเอลลิสันสร้างความฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์นี้พอสมควร
ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ราคา และช่องทางตลาดได้รับทั้งการคัดค้านและเสียงขานรับจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงการ
สาเหตุที่ทำให้ราคาของเอ็นซีถูกเช่นนี้ เพราะรูปแบบของอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงคอมพิวเตอร์ที่มีเพียงไมโครโปรเซสเซอร์,
หน่วยความจำขนาดไม่จุมาก และโมเดม โดยไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์อื่น ๆ แบบเดียวกับพีซี
อาทิ ดิสก์ไดรฟ์, คีย์บอร์ด, เทอร์มินัล หรือจอมอนิเตอร์ และจะพึ่งเซิร์ฟเวอร์
หรืออินเตอร์เน็ตเป็นตัวเก็บข้อมูลให้แทน ทำให้ประหยัดต้นทุนและราคาในการผลิตลงไปได้
วางมาตรฐานอุปกรณ์
เกือบ 1 ปีผ่านไป กระแสเน็ตเวิร์คคอมพิวเตอร์ โหมกระพือขึ้นอีกครั้ง
ราวปลายเดือนพฤษภาคม ปี 1996 พันธมิตรรายย่อยที่เคยอัดอั้นและเจ็บช้ำจากการผูกขาดของวินเทล
ภายใต้การนำของหัวหอกรายเดิม คือ ออราเคิล ประกาศวางมาตรฐานเน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ
โดยสามารถจูงมือยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ไอบีเอ็ม, แอปเปิล คอมพิวเตอร์,
เนทส์เคป คอมมิวนิเคชั่นส์ และซัน ไมโครซิสเต็มส์ และอีกเกือบ 70 บริษัททั่วโลก
กำหนดแนวทางร่วมกันในการพัฒนาฮาร์ดแวร์เอ็นซีที่เรียกว่า "NC Reference
Profile" ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ต่อเชื่อมกับอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายอินทราเน็ตในองค์กร
ที่สามารถรันอีเมล์ ซอฟต์แวร์เว็บเบาเซอร์ เวิร์ดโปรเซสเซอร์และสเปรดชีทได้
เอลลิสัน ยังคงรับรองหนักแน่นว่า เน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์ ของบริษัท ซึ่งขณะที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนารุ่นต้นแบบและทดลองตลาดนั้น
จะราคาเพียง 500 ดอลลาร์ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า วันหนึ่งข้างหน้า เอ็นซีที่ว่านี้จะใช้กันแพร่หลายเหมือนกับโทรศัพท์
และแม้ว่าจะไม่ถึงกับเข้ามาแทนที่พีซีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็จะส่งผลสะเทือนทำให้พีซีไม่สามารถเป็นศูนย์ถ่วงอำนาจในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้อีกต่อไป
ออราเคิล กล่าวว่า บริษัท เช่น Akai Electronic Co., Ltd., Uniden Corp.,
Olivetti และ Wyse Technology Inc. วางแผนที่จะผลิต NC นี้ร่วมด้วย ส่วน
Cirrus Logic Inc., Digital Equipment Corp., และ Motorola Inc. จะผลิตไมโครโปรเซสเซอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ชี้ให้เห็นว่า นอกจากอินเตอร์เน็ตจะเปิดมิติใหม่ของการสื่อสารยังได้เปิดช่องพรมแดนธุรกิจใหม่
ๆ ให้แก่วงการคอมพิวเตอร์ด้วย
กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับออราเคิล กลุ่มเป้าหมายของเอ็นซี คือ ทั้งผู้บริโภคที่ยังไม่มีพีซีไว้ในครอบครองและต้องการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ต
โดยไม่ต้องการสมรรถนะอื่น ๆ ที่จะต้องใช้ชิปประมวลผลกำลังสูงอย่างพีซี ตลอดจนถึงผู้ผลิตคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์
และระบบคอมพิวเตอร์แต่ละเจ้า ซึ่งต้องการผลิตเครื่องหลายประเภทสำหรับต่อกับเครือข่าย
ทั้งโทรศัพท์จอภาพ, กล่อง set top box ติดตั้งกับทีวี, ทีวี, เครื่องเล่นเกม,
พีซี และเดสก์ทอปพีซี ฯลฯ
ยักษ์สีฟ้าไอบีเอ็ม มุ่งทดสอบโครงการนำร่องสำหรับใช้ในเชิงธุรกิจและวางแผนที่จะเปิดตัวตระกูลสินค้าตัวใหม่นี้ให้ได้ปลายปี
โดยจะใช้กับไมโครโปรเซสเซอร์ที่แตกต่างกัน ทั้งของอินเทล และเพาเวอร์พีซีที่ไอบีเอ็มพัฒนา
โดยประมาณราคาไว้ล่วงหน้าว่าจะตกราว 500-1,000 ดอลลาร์
ส่วนแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ร่วมมือกับบริษัทบันได ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่เปิดตัว
"ปิ๊ปปิ้น" อุปกรณ์ที่เป็นกล่องสีดำขนาดเล็กใช้สำหรับเล่นเกมและเปิดเข้าอินเตอร์เน็ตโดยติดตั้งกับเครื่องรับทีวีตั้งราคาไว้ที่
599 ดอลลาร์ วางตลาดในเดือนกันยายน
นอกเหนือไปจากบริษัทข้างต้น ยังมีเอเซอร์แห่งไต้หวัน ที่รุกเงียบตลาดเอ็นซี
ด้วยการเปิดตัว "เอเซอร์ เบสิก" ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 1996 ที่ผ่านมา
และตั้งราคาไว้เพียงเครื่องละ 500 ดอลลาร์ เพราะใช้เทคโนโลยีชิปโคลนเพนเทียม
และระบบปฏิบัติการรุ่นเก่า วินโดว์ 3.1 ของไมโครซอฟท์ ตั้งเป้าพวกที่เริ่มเล่นคอมพิวเตอร์
ผู้เชี่ยวชาญ พีซี หรืออินเตอร์เน็ตโพรวายเดอร์ ที่จะซื้อไปให้บริการออนไลน์และเอ็นซีในเครื่องเดียวกัน
โดยจะเน้นส่งลุยตลาดประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ และจะไม่ทำตลาดในสหรัฐฯ ส่วนที่จะผลิตป้อนตลาดอเมริกันและตลาดประเทศพัฒนาแล้ว
อื่น ๆ อาจจะใช้ชิปเพนเทียม และวินโดว์ 95 หรือวินโดว์ NT ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นอีกหลายร้อนดอลลาร์
กดดันมาตรฐาน WINTEL
แน่นอนว่า เน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์ ย่อม่งผลและก่อความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์อันเป็นหัวใจของยักษ์ใหญ่ค่ายวินเทลได้
เมื่อกระแสเอ็นซีเริ่มได้รับการกล่าวขานมากขึ้นเรื่อย ๆ บิล เกตต์ ประธานไมโครซอฟท์จำเป็นต้องออกโรงมาตอบโต้
โดยการตอกย้ำว่า ไม่มีทางที่เอ็นซีจะทำตลาดได้อย่างที่คุย ลูกค้าไม่มีทางที่จะหันจากพีซีที่มีศักยภาพสูงกว่าหลายเท่าไปหาเน็ตเวิร์ค
คอมพิวเตอร์ที่ทำได้แค่การเปิดเข้าอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ขณะที่พีซีมีฟังก์ชั่นต่าง
ๆ ให้เลือกมากกว่า นอกจากนี้ แม้ว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงของเอ็นซีจะน้อยกว่าพีซี
ทว่า วินโดว์ 95 ของไมโครซอฟท์ก็จะช่วยให้ลูกค้าประเภทธุรกิจลดค่าใช้จ่ายจากพีซีได้
เพราะไมโครซอฟท์ได้ปรับปรุงการใช้งานและดูแลทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์อัพเกรดนั้นจะง่ายขึ้น
รวมไปถึงการติดตั้งสื่อสารในอินเตอร์เน็ตด้วย
เกตต์ เชื่อว่า ในอนาคต ยูสเซอร์จะยิ่งต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพในการคำนวณสูงขึ้นเรื่อย
ๆ อาทิ เพื่อการทำวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยภายใต้การพัฒนาของไมโครซอฟท์และอีกหลาย
ๆ บริษัท จะทำให้ยูสเซอร์สามารถพูดกับพีซีของตัวเองได้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมัลติมีเดียจะทำให้พีซีสามารถแสดงกราฟิก
3 มิติบนอินเตอร์เน็ตได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังการคำนวณสูง
รวมถึงโปรแกรมของไมโครซอฟท์ เช่นเดียวกับ แอนดี้ โกรฟ กรรมการผู้จัดการใหญ่
และซีอีโอของอินเทลที่กล่าวว่า แม้อินเทลจำหน่ายอุปกรณ์ประมวลผลแก่บริษัทที่พัฒนา
NCs แต่ตนเองกลับมองไม่เห็นว่า NCs จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลักในวงการได้
ในทัศนะของโกรฟ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่ง "connected
PC" หรือพีซีมัลติมีเดีย กำลังประมวลผลสูงที่สามารถเปิดเข้าอินเตอร์เน็ต
และมีศักยภาพหลากหลาย อาทิ ในการส่งวิดีโอและทำเลเลคอนฟอร์เรนซ์ ในตัวเดียวกันแทนที่จะเป็นยุคของเน็ตเวิร์ค
คอมพิวเตอร์ "ต้อง connected PC และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องจึงจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าตื่นเต้นในอุตสาหกรรม"
โกรฟ กล่าว
สอดคล้องกับเสียงนักวิเคราะห์ในวงการหลายราย ทำนายว่า ตลาดเน็ตเวิร์คคอมพิวเตอร์จะตีบตัน
ผู้บริโภคย่อมจะต้องการเข้าอินเตอร์เน็ตหากสามารถซื้อพีซีที่ใช้ชิประดับ
486 ในราคาไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี จากมุมมองของ สแตนฉี แห่งเอเซอร์ ต่อไปในอนาคต อินเทลน่าจะต้องผลิคตชิปราคาถูกป้อนเอ็นซีต้นทุนต่ำในกรณีที่ตลาดนี้เติบโตขึ้นมา
เนื่องจากลำพังชิปเพนเทียมความเร็วสูงที่อินเทลผลิตออกมาในทุกวันนี้ก็มีราคาสูงกว่าเครื่องเอเซอร์เบสิกแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อดูจากกรณีของเอเซอร์เบสิก แม้ไมโครซอฟท์จะมองเมินตลาดเน็ตเวิร์ค
คอมพิวเตอร์ แต่การที่เอเซอร์ใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ แสดงให้เห็นว่าโอกาสและช่องทางของไมโครซอฟท์ในตลาดเอ็นซีนี้ยังพอมีอยู่
หลากหลายรูปแบบ
ผลิตภัณฑ์ลุยโลกอินเตอร์เน็ตที่ไม่ใช่พีซี ทำนองเดียวกับเน็ตเวิร์ค คอมพิวเตอร์
ยังมีอีกหลายประเภท อาจเรียกรวมได้ว่าเป็น information appliance อาทิ อุปกรณ์ที่เรียกว่า
WebTV ต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตทางเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีหลายเจ้ากำลังพัฒนา
ทั้ง Zenith Electronics และล่าสุดยักษ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์โลกอย่าง
โซนี่ และฟิลิปส์ ร่วมมือกับบริษัท WebTV ประกาศเปิดตัว WebTV ให้ผู้บริโภคท่องเวิลด์
ไวด์ เว็บได้จากเครื่องรับโทรทัศน์
เช่นเดียวกับ AST Research Inc. ที่เพิ่งพัฒนาอุปกรณ์ประเภทเดียวกันให้กับ
Walmart
ส่วนประเภทอุปกรณ์เล่นเกม นอกจาก ปิ๊ปปินของแอปเปิลแล้ว ก็มี Sega Enterprises
Ltd. ที่เปิดตัวอุปกรณ์ Net Link ให้แก่นักเล่นเกมสำหรับการเปิดเข้าอินเตอร์เน็ต
ผ่านระบบเกมของเซก้า จำหน่ายในราคา 450 ดอลลาร์ พร้อมกับโมเดมและซอฟต์แวร์เบราเซอร์
และวิดีโอเกม
ถึงวันนี้ จะเรียก NCs, WebTVs, Internet TVs, network appliances หรืออะไรก็แล้วแต่
เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้เบิกพรมแดนธุรกิจใหม่ ให้แก่วงการคอมพิวเตอร์และเพิ่มอีกทางเลือกแก่ผู้บริโภคแล้วเรียบร้อย