Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2549
MINSHUTO : DPJ             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
search resources

Political and Government




พรรค Minshuto หรือ The Democratic Party of Japan (DPJ) เพิ่งมีอายุครบ 8 ปีของการสถาปนาเป็นพรรคการเมือง หากปรากฏการณ์และความเป็นไปของพรรคการเมืองแห่งนี้ กลับเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนบริบททางสังคมของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางความพยายามที่จะสร้างดุลยภาพทางการเมือง และเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อคัดง้างกับพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ที่ครองบทบาทนำในเวทีการเมืองญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน พรรคการเมืองขนาดเล็ก Good Governance Party (Minseito), New Fraternity (Shinto-Yuai) และ Democratic Reform Party (Minshu-Kaikaku-Rengo) และกลุ่มนักการเมืองอิสระ ได้ผนึกกำลังเป็นพันธมิตร ทางการเมือง ภายใต้ร่มธงผืนใหม่ในนามพรรค Democratic Party of Japan : DPJ (Minshuto) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 1998

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของการก่อเกิดเป็น DPJ อยู่ที่พันธมิตรที่ผนึกรวมเป็นพรรคการเมืองใหม่นี้ แม้จะมีแนวความคิดทางการเมืองที่หลากหลายทั้งเสรีนิยม (liberal) และสังคมประชาธิปไตย (socialdemocratic) รวมถึงภูมิหลังทางการเมืองที่แตกต่างกันแล้ว แต่ปริมาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 93 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภา อีก 38 ที่นั่ง ที่จะเข้ามาอยู่ในสังกัดหลังการก่อตั้งพรรคใหม่ ทำให้ DPJ กลายเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามของ LDP ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง

กระนั้นก็ดี กลไกการนำของ DPJ ซึ่งจัดเป็นพรรคกลางซ้าย เพื่อท้าทาย LDP ที่ดำเนินนโยบายอนุรักษนิยม ในระยะเริ่มแรก กลับต้องผูกพันอยู่กับกระแสความนิยมในตัวบุคคล โดยเฉพาะ Naoto Kan ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ในกระแสสูง มากกว่าที่จะข้ามพ้นไปสู่การนำเสนอทางเลือกในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง โดย Naoto Kan ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง DPJ เป็นคนแรก หลังจากมีการรวมพรรคขนาดเล็ก เพื่อก่อตั้งเป็น DPJ ในปี 1998

Naoto Kan (เกิด 10 ตุลาคม 1946) สร้างชื่อทางการเมืองด้วยการเข้ามีส่วนร่วมในฐานะแกนนำการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1970 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร เป็นสมัยแรกในปี 1980 ภายใต้สังกัดพรรค United Social Democratic Party : USDP โดยมีกรณีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสถานะของกลุ่มชนระดับรากหญ้าเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์หาเสียง

ความเคลื่อนไหวของ Naoto Kan ในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้เขาได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนไม่น้อย พร้อมกับสถานะที่เป็นประหนึ่ง NGOs- Hero ที่เข้าไปมีบทบาทในวงการเมืองญี่ปุ่นมากขึ้น

บทบาทของ Naoto Kan บนเวทีการเมืองระดับชาติเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ความโดดเด่นของ Naoto Kan จะฉายโชนเข้าสู่ความสนใจของประชาชนและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เมื่อพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เขาสังกัด ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลผสมที่มีพรรค LDP เป็นแกนนำในการจัดตั้ง

ในปี 1996 ด้วยฐานะของการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม (Health and Welfare Minister) Naoto Kan ได้แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีการแพร่กระจายของโลหิตที่ปนเปื้อน ซึ่งท่วงทำนองของ Naoto Kan ดังกล่าว ทำให้เขาได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ดี สถานะของ Naoto Kan ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ ต้องสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 1999 เมื่อ Naoto Kan ยอมรับว่าเขาไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ (state pension scheme) เป็นเวลารวม 10 เดือน ซึ่งแม้จะเป็นยอดจำนวนเงินที่เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับกรณี อื้อฉาวของนักการเมืองอื่นๆ แต่ Naoto Kan ได้เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน เพื่อไม่ให้พรรค DPJ ต้องได้รับผลกระเทือนจากกรณีดังกล่าว โดยมี Yukio Hatoyama (เกิด 2 กุมภาพันธ์ 1947) เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ สืบแทนตั้งแต่ กันยายน 1999

ความพยายามที่จะสร้างความเติบโตให้กับพรรค DPJ เพื่อต่อกรกับพรรค LDP ดำเนินไปภายใต้นโยบายเสรีนิยมที่แสดงออกถึงการต่อต้านแบบแผนเดิม ซึ่ง DPJ ภายใต้การนำของ Yukio Hatoyama นี้ประสบผลสำเร็จในการสร้างความนิยมจากประชาชนอย่างมาก และสามารถทำให้ผู้สมัครของ DPJ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนในรัฐสภาญี่ปุ่นมากขึ้นจากผลการเลือกตั้งในปี 2000 และ 2001

แต่กรณีที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสาธารณชนอยู่ที่การส่ง Marutei Tsurunen (ชื่อเดิม Martti Turunen) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและมีภูมิหลังเป็นชาวฟินแลนด์ แต่ได้รับสัญชาติญี่ปุ่นจากการโอนสัญชาติเมื่อปี 1979 เป็นผู้สมัครของพรรคและได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาในปี 2001

กรณีดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาญี่ปุ่นมีสมาชิกเป็น foreign-born Japanese อย่างเปิดเผย แม้ว่าก่อนหน้านี้ ชาวญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีจะเป็นสมาชิกสภาแห่งนี้มาแล้ว แต่ก็เป็นไปในฐานะที่นำเสนอตัวว่าเป็นชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

ปรากฏการณ์ Marutei Tsurunen แม้จะเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่ในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของ DPJ ในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนะของสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นประหนึ่งดัชนีที่บ่งชี้กระแสสังคมที่มิได้ยึดโยงกับกรอบของแบบแผนเดิมอีกต่อไป

การเติบโตขึ้นของ DPJ ต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อปรากฏข่าวว่าด้วยความพยายามที่จะสร้างแนวร่วมกับ Ichiro Ozawa อดีตเลขาธิการพรรค LDP ที่แยกตัวออกมาตั้งพรรค Liberal Party พรรคการเมืองแนวกลางขวา เพื่อผนึกกำลังในการต่อสู้กับ LDP ในอนาคต ซึ่งได้ก่อให้เกิดความสับสนต่อแนวทางของพรรค DPJ ไม่น้อยว่าจะนำเสนอนโยบายที่แตกต่างและเป็นทางเลือกนอกเหนือจากนโยบายของพรรค LDP ได้อย่างไร

ความสับสนและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จากกรณีดังกล่าว เป็นเหตุให้ Yukio Hatoyama ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเดือนธันวาคม 2002 ก่อนที่ Naoto Kan จะได้รับเลือกให้กลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคนี้อีกครั้ง

การรวมพรรคระหว่าง DPJ และ Liberal Party ของ Ichiro Ozawa เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2003 ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการผนึกกำลังเพื่อเตรียมการเข้าสู่สนามการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยในการปราศรัยเพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้ง Naoto Kan หัวหน้าพรรค DPJ และ Ichiro Ozawa อดีตหัวหน้าพรรค Liberal ต่างระบุว่า "ถึงเวลาแล้วที่ LDP จะยุติบทบาทและมอบอำนาจ ทางการเมืองให้กับ DPJ เพื่อผลักดันให้การเมืองญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่ระบบการเมืองแบบ 2 พรรค"

DPJ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี 2003 ด้วยการระบุให้การเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเลือกระหว่างขั้วการเมืองที่ประกอบด้วย LDP หรือการเปลี่ยนแปลงไปสู่ขั้วอำนาจใหม่ของ DPJ ขณะที่ภาพใบหน้าของ Naoto Kan ที่พร้อมจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน Junichiro Koizumi ในฐานะทางเลือกใหม่ กลายเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ในการรณรงค์ขับเคี่ยวกับ LDP ในครั้งนั้น

นอกเหนือจากกลเกมการเมืองที่ต่อสู้กัน ด้วยการชูตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแล้ว ทั้ง LDP และ DPJ ต่างแข่งขันกันประกาศนโยบายและนำเสนอแนวความคิดให้สาธารณชนได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วาทกรรมที่เลิศหรูทั้งในฐานะที่เป็น manifesto หรือ platform ซึ่งบางส่วนได้อรรถาธิบายลงลึกไปสู่รายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจงเลยทีเดียว

ผลการเลือกตั้งในปี 2003 ปรากฏว่าผู้สมัครของ LDP ได้รับเลือกตั้งรวม 237 ที่นั่ง ขณะที่ DPJ ได้รับเลือกตั้งรวม 178 ที่นั่ง ซึ่งแม้จำนวนดังกล่าวจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ DPJ วางไว้ และทำให้ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลตามที่คาดหวังไว้ได้ แต่จำนวนผู้แทนราษฎรดังกล่าวได้บ่งชี้ให้เห็นความแข็งแกร่งของพรรคการเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และดูเหมือนว่าสังคมญี่ปุ่นเริ่มจะยอมรับรูปแบบการเมืองในระบบ 2 พรรคตามที่ DPJ มุ่งหมายอีกทางหนึ่งด้วย

การนำของ Naoto Kan ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ ต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อวิบากกรรมว่าด้วยกรณีของกองทุนบำเหน็จบำนาญได้หวนกลับมาเล่นงานเขาอีกครั้ง และทำให้ Naoto Kan ต้องลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรค DPJ อีกครั้ง โดยมี Katsuya Okada บุตรชายคนที่สองของ Takuya Okada ผู้ก่อตั้ง Aeon Group ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของ Naoto Kan ให้เข้ารับตำแหน่งแทน

แม้จะมีการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่แนวนโยบายและรูปแบบการรณรงค์หาเสียงของ Naoto Kan ได้กลายเป็นมรดกความสำเร็จ ที่ดำเนินต่อเนื่องและส่งผ่านมาสู่ Katsuya Okada ให้ดำเนินสานต่อในเวลาต่อมา

Katsuya Okada (เกิด 14 กรกฎาคม 1953) สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว เริ่มทำงานในกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Ministry of International Trade and Industry : MITI) และผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองญี่ปุ่นด้วยการเป็นสมาชิกพรรค LDP ในสังกัดของกลุ่ม Noboru Takeshita

ต่อมาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่นำโดย Tsutomu Hata และ Ichiro Ozawa ซึ่งแยกตัวออกจาก LDP ไปสู่พรรคการเมืองใหม่ ในนาม Japan Renewal Party ในปี 1993 หลังจากแยกตัวและควบรวมอีกหลายครั้งในที่สุด Katsuya Okada ในฐานะสมาชิกพรรค Minseito ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ DPJ จากผลของการรวมพรรคในปี 1998

ความสำเร็จของ Katsuya Okada ประการสำคัญในฐานะหัวหน้าพรรค DPJ อยู่ที่การนำพาผู้สมัครของ DPJ กุมชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเมื่อปี 2004 ซึ่งพรรค DPJ ได้รับเลือกรวม 50 ที่นั่ง ในขณะที่ LDP ได้รับเลือกรวม 49 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับทั้ง Katsuya Okada และ DPJ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ LDP ได้รับการคัดเลือกในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น แม้ว่า LDP ยังครองเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งดังกล่าวก็ตาม

ผลการเลือกตั้งดังกล่าวในด้านหนึ่ง เกิดขึ้นจากผลของความไม่พึงพอใจในหมู่ประชาชนต่อประพฤติกรรมฉ้อฉลของสมาชิกพรรค LDP ในกรณีอื้อฉาวว่าด้วยระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญที่ได้รับการเปิดเผยออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2004 และเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้

เมื่อ Junichiro Koizumi ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือนกันยายน 2005 หลังจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปฏิรูประบบราชการไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา DPJ ซึ่งคัดค้านการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ได้เสนอนโยบายว่าด้วยการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ (pension reform) ขึ้นเป็นทางเลือกในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยหวังว่ากรณีดังกล่าวจะช่วยผลิตซ้ำความสำเร็จให้กับผู้สมัครของ DPJ อีกครั้ง

จุดยืนและความมั่นใจของ Katsuya Okada ที่จะบรรลุสู่เป้าหมายของการช่วงชิงอำนาจรัฐจาก LDP ทำให้เขาประกาศว่าจะนำพา DPJ เพื่อยึดครองชัยชนะเหนือ LDP ให้ได้ พร้อมกับเดิมพันตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ ไว้กับความสำเร็จหรือล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นจากผลของการเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ดี ความไม่กระจ่างชัดในมาตรการและแผนปฏิบัติการตามนโยบายการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญที่ DPJ นำเสนอ ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้แผนการปฏิรูปของ Koizumi ส่งผลให้ DPJ ต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง โดยสูญเสียจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเดิมให้กับ LDP ถึง 62 ที่นั่ง

ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2005 ทำให้ Katsuya Okada แสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ ในเวลาต่อมา ตามที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้ตลอดการรณรงค์หาเสียง ก่อนที่ที่ประชุมสมาชิกพรรคที่มีสถานะเป็นผู้แทนราษฎรของ DPJ ในรัฐสภาญี่ปุ่นจะลงมติเลือก Seiji Maehara เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป โดยชนะ Naoto Kan อย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนน 96-94

ผลการลงมติเลือกหัวหน้าพรรค DPJ ดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทและอิทธิพลของกลุ่มการเมืองแนวกลางขวา ที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับหลังจากมีการรวมพรรค Liberal ของ Ichiro Ozawa เข้ามา และบ่งบอกว่ายุคสมัยของ Naoto Kan และกลุ่มการเมืองแนวกลางซ้ายในพรรค DPJ มีอนาคตที่ตีบแคบลงทุกขณะ และเป็นเหตุให้ Naoto Kan ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 60 ปี พยายามที่จะรวบรวมนักการเมืองบางส่วนเพื่อจัดตั้งพรรค การเมืองใหม่ในชื่อ Dankai (Baby Boomer) Party โดยหวังว่ากลุ่ม baby boomers ซึ่งมีจำนวนมากถึง 2.7-3 ล้านคน จะเป็นฐานเสียงที่สำคัญให้กับพรรคใหม่ในอนาคต

ขณะเดียวกัน การที่ Seiji Maehara (เกิด 30 เมษายน 1962) ซึ่งเป็นนักการเมือง ที่ให้ความสนใจต่อประเด็นว่าด้วยความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่องได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ ด้วยวัยเพียง 43 ปี ทำให้เขาได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นผู้สร้างสีสันและทางเลือกใหม่ๆ ให้กับแวดวงการเมืองของญี่ปุ่น

เพราะท่ามกลางความสดใหม่ของ Seiji Maehara นอกจากจะทำให้การเมืองญี่ปุ่นเป็นเรื่องของคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังในการขับเคลื่อนแล้ว กรณีดังกล่าวยังทำให้ประเด็นว่าด้วยอายุของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP สืบต่อจาก Junichiro Koizumi ที่ประกาศว่า จะลงจากตำแหน่งในเดือนกันยายน 2006 ถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ท่วงทำนองและจังหวะก้าวของ Seiji Maehara ที่แม้จะให้ภาพเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นนักการเมืองสายเหยี่ยว ที่มีความสนิทสนมกับนักการเมือง แนวอนุรักษนิยมของ LDP และ Pentagon ซึ่งไม่น่าจะเหมาะกับตำแหน่งผู้นำพรรค DPJ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาประกาศท่าทีที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ด้วยการตัดข้อความในย่อหน้าที่ 2 ของมาตราดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การจำกัดสิทธิของญี่ปุ่นในการประกาศสงครามทิ้งไป

ในการประชุมเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา Seiji Maehara พุ่งเป้าโจมตี รัฐบาลภายใต้การนำของ Junichiro Koizumi อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีว่าด้วยความไม่สามารถลดขนาดหน่วยงานราชการ หากยังเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับนโยบายที่ LDP ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง พร้อมกับระบุว่า การปฏิรูปที่ดีควรดำเนินต่อไป แต่การปฏิรูปที่เลวร้ายของรัฐบาล LDP และ Koizumi เป็นสิ่งที่จะต้องหยุดยั้ง

ความพยายามที่จะโจมตีความชอบธรรมของ Junichiro Koizumi และรัฐบาล LDP ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวกรณี Livedoor ที่ส่งผลกระเทือนทั้งต่อบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ญี่ปุ่น ซึ่ง Hisayasu Nagata สมาชิกพรรค DPJ ได้กล่าวหาว่า LDP ได้รับเงินสนับสนุนอย่างผิดกฎหมายจาก Horie Takafumi โดยมีข้อความจากอีเมลเป็นหลักฐานพยานในการกล่าวหานี้

ข้อกล่าวหาดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับ LDP อย่างมาก ก่อนที่ต่อมาความถูก ต้องของข้อมูลจะได้รับการตรวจสอบ และปรากฏว่าข้อความในอีเมลที่นำมาใช้ในการกล่าวโทษ LDP เป็นเพียงหลักฐานเท็จที่สร้างขึ้นโดยนักข่าวอิสระผู้หนึ่งและถูกนำมาใช้อ้างอิงในรัฐสภาญี่ปุ่น โดยปราศจากการสอบทานความถูกต้อง และเป็นเหตุให้ Hisayasu Nagata ต้องลาออกจากการเป็นผู้แทนราษฎร

ขณะที่ Seiji Maehara แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2006 ที่ผ่านมา หลังจากดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น

มิติทางการเมืองของญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเป็นยุคสมัยของคนรุ่นหนุ่มสาว ถูกแรงเหวี่ยงให้ย้อนกลับเข้าสู่บริบทการนำของนักการเมือง Hexagenarian ในวัย 60 ปีอีกครั้ง หลังจากที่ Ichiro Ozawa ในวัย 64 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPJ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2006 ที่ผ่านมา

Ichiro Ozawa (เกิด 24 พฤษภาคม 1942) เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์โชกโชน และเป็นผู้มีส่วนร่วมในปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง เขาเริ่มบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกพรรค LDP และทวีบทบาทขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งในช่วงทศวรรษ 1980 ชื่อของ Ozawa ก็ได้รับการกล่าวถึงควบคู่กับ Ryutaro Hashimoto ในฐานะผู้ที่จะสืบทอดอำนาจทางการเมืองของ LDP ในอนาคต

ทักษะที่โดดเด่นของ Ozawa อยู่ที่ความสามารถในการเจรจาต่อรอง ทั้งกับกลุ่มการเมืองภายในพรรค และการต่อรองกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่งให้เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค LDP ในปี 1989 ขณะเดียวกันบทบาทของ Ozawa ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ส่งผลให้เขาเริ่มสะสมปฏิปักษ์ทางการเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในปี 1993 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงกรณีอื้อฉาวจากการดำเนินงานของรัฐบาล LDP ที่เปิดเผยออกสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง Ozawa ได้ประกาศแยกตัวออกจาก LDP เพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ Japan Renewal Party โดยมีสมาชิกของ LDP จำนวนไม่น้อยติดตามมาด้วย และทำให้พรรค LDP อ่อนแอลงอย่างมาก ก่อนที่กรณีดังกล่าวจะนำไปสู่การสิ้นสุดยุคสมัยแห่งการผูกขาดอำนาจรัฐของ LDP ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 38 ปี

Ozawa ใช้ทักษะของการเจรจาและโอกาสที่ LDP สูญเสียสถานะของการเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภา เข้ารวบรวมพรรคการเมืองน้อยใหญ่เพื่อจะตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ก่อนที่จะถอยไปคุมบทบาทอยู่เบื้องหลัง โดยมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ Morihiro Hosokawa หัวหน้าพรรค Japan New Party ซึ่งเป็นพรรคขนาดเล็กเป็นผู้รับตำแหน่งแทน

ความสำเร็จในการสถาปนารัฐบาลที่ไม่อยู่ภายใต้การนำของ LDP ดังกล่าว ติดตามมาด้วยการประกาศแนวคิดทางการเมืองที่ชัดแจ้ง ผ่านหนังสือ Blueprint for a New Japan (Nihon Kaizo Keikaku) ซึ่ง Ozawa เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทั้งในทางการเมือง ระบบกฎหมาย และมิติทางการทหาร เพื่อนำญี่ปุ่นไปสู่สถานะของประเทศที่ Ozawa ระบุว่าเป็น normal nation ที่พร้อมจะมีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศอย่างเต็มที่

ทัศนะทางการเมืองที่โอนเอียงไปทางขวาและค่อนไปทางเหยี่ยวของ Ozawa ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านโดยเฉพาะจากพรรค Japan Socialist Party หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลผสม ก่อนที่ Japan Socialist Party จะถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล และหันไปเป็นพันธมิตรกับ LDP ซึ่งทำให้รัฐบาลผสมหลายพรรคที่ Ozawa มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งต้องอับปางลงในที่สุด

ลักษณะการเป็นผู้นำแบบอัตตาธิปไตย ทำให้สมาชิกในสังกัดของ Ozawa ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับกระแสวิพากษ์ที่มีต่อ Ozawa ในฐานะนักฉวยโอกาส ซึ่งเริ่มทวีความเข้มขึ้นเป็นลำดับ หลังจากที่ Ozawa ย้ายเข้า-ออกพรรคการเมืองต่างๆ อยู่เป็นระยะ ตลอดช่วงเวลาระหว่างปี 1994-1998

รวมถึงความพยายามของ Ozawa ที่จะกลับเข้าไปมีบทบาทในพรรค LDP ด้วยการยุบรวมพรรค Liberal Party เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ LDP ซึ่งได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากสมาชิกระดับนำของ LDP รวมถึง Junichiro Koizumi ด้วย ก่อนที่ Ozawa จะหันมาผนวกรวมพรรค Liberal Party ของเขาเข้ากับ DPJ ในปี 2003 และก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่แห่งนี้ในปัจจุบัน

แม้ว่าผลงานของ Ichiro Ozawa ทั้งในฐานะอดีตเลขาธิการพรรค LDP และบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา จะทำให้ Junichiro Koizumi ต้องยอมรับว่า Ichiro Ozawa เป็นคู่แข่งขันที่น่าเกรงขาม แต่ภารกิจที่ Ozawa ต้องรีบดำเนินการอยู่ที่การผนึกประสานร่องรอยของความแตกแยกภายใน DPJ และการกำหนดกรอบเค้าโครงในแนวนโยบาย ที่จะหยิบยื่นให้สาธารณชนได้พิจารณาในฐานะทางเลือกใหม่ที่สะท้อนความแตกต่างระหว่างขั้วการเมืองทั้งสอง

มิเช่นนั้นแล้ว การขับเคี่ยวระหว่าง LDP และ DPJ นับจากนี้ คงจะดำเนินไปท่ามกลางชั้นเชิงทางการเมืองที่อาจไม่มีความแปลกใหม่ใดๆ ให้สังคมญี่ปุ่นได้พิจารณา นอกเหนือจากสมการตัวเลขจำนวนสมาชิกผู้แทนในรัฐสภา ที่มีไว้เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตเท่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us