World Baseball Classic 2006 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นปฐมบทของการปรับโฉมกีฬาเบสบอลให้กลายเป็นกีฬาในระดับโลก (Global Sport) อย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็น milestone สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวงการเบสบอลของประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้
ถึงแม้ว่าเบสบอลได้รับการบรรจุเข้าในโปรแกรมแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1992 ที่ Barcelona ก็ตาม แต่เบสบอลยังเป็นกีฬาประเภททีมที่ได้รับความนิยมไม่มากนักในระดับโลกเมื่อเทียบกับกีฬาประเภททีมชนิดอื่น ฉะนั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยว ข้องจึงพยายามผลักดันและสนับสนุนให้เบสบอลเป็นกีฬาสากลเหมือนอย่างฟุตบอลโลก
นานกว่า 2 ปีที่ MLB (Major League Baseball) ในฐานะหัวหอกริเริ่มการจัดการแข่งขันได้เห็นพ้องกับ MLBPA (Major League Baseball Players Association) โดยเสนอผ่าน IBAF (Inter-national Baseball Federation) องค์กรที่รับผิดชอบการจัดการแข่งเบสบอลนานาชาติ เช่นเบสบอลในโอลิมปิก พร้อมกับชักชวนสมาคมเบสบอลอาชีพแห่งญี่ปุ่น NPB (Nippon Professional Baseball) และเกาหลีใต้ KBO (Korean Baseball Organization) กับอีก 13 ประเทศทั่วโลกที่มีทีมในระดับนานาชาติเข้าร่วมการแข่งขัน World Baseball Classic (WBC) เป็นครั้งแรก ด้วยรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการแข่งขัน WBC เป็นการรวมเอา best major league players ของแต่ละประเทศเข้าประลองในนามของทีมชาติที่มีความแตกต่าง จากการแข่งขันโอลิมปิกและ World Cup of Baseball ที่มักจะมีนักกีฬาจาก minor league เข้าร่วม อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานการแข่งขันขึ้นใหม่ที่ช่วยโปรโมตเบสบอลไปสู่ผู้คนทั่วโลกในระดับรากหญ้า
การแข่งขันทั้งหมดมี 39 นัดโดยแบ่ง 16 ทีมชาติออกเป็น 4 pool ตามภูมิศาสตร์และความสมดุล การแข่งขันในรอบแรกและรอบสองรวม 36 นัดเป็นการแข่งแบบพบกันหมดแล้วเอาทีมที่มีคะแนนนำ 2 ทีมเข้ารอบถัดไป ส่วนรอบ semifinal และ final แข่งแบบนัดเดียว โดยใช้สนามในอเมริกายกเว้นการแข่งรอบแรก pool A ซึ่งทำการแข่งขันที่ Tokyo Dome ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับ pool A โซนเอเชียประกอบ ไปด้วย 4 ทีมจากจีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ประเดิมแข่งเป็นกลุ่มแรกปรากฏว่าในวันแรกไต้หวันแพ้เกาหลีใต้ 0 : 2, จีนแพ้ญี่ปุ่น 2 : 18, วันที่สองเกาหลีใต้ชนะ จีน 10 : 1, ไต้หวันแพ้ญี่ปุ่น 3 : 14, ในวันที่สามไต้หวันชนะจีน 12 : 3 และเกาหลี ใต้ชนะญี่ปุ่น 3 : 2
ผลการแข่งขันนัดสุดท้าย pool A สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกเนื่องจากดูตามฟอร์มแล้วคงไม่มีใครคิดว่าทีมญี่ปุ่นจะพ่ายทีมจากเกาหลีใต้ในบ้านของตัวเองแบบนี้อย่างไรก็ตาม ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ผ่านเข้ารอบสองอย่างสบายๆ ไปตามความคาดหมาย
ทีมชาติญี่ปุ่นครั้งนี้นำทีมโดย Ichiro Suzuki (จาก Seattle Mariners) และผู้เล่น จาก major league ในญี่ปุ่นที่มีผลงานเข้าตาในช่วงปีที่ผ่านมายกเว้น Akinori Ootsuka (จาก Texas Rangers) และใช้ชื่อเล่นทีมว่า "OH JAPAN" ซึ่งเรียกตามชื่อของผู้จัดการทีมคือ Sadaharu Oh
ในรอบสอง pool 1 ประกอบด้วยเกาหลีใต้, ญี่ปุ่นและอีก 2 ทีมที่ผ่านเข้ารอบจาก pool B คืออเมริกาและเม็กซิโกปรากฏผลการแข่งขันดังนี้ ญี่ปุ่นแพ้อเมริกา 3 : 4, เกาหลีใต้ชนะเม็กซิโก 2 : 1, เกาหลี ใต้ชนะอเมริกา 7 : 3, เม็กซิโกแพ้ญี่ปุ่น 1 : 6 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะแพ้เกาหลีใต้ 1 : 2 ซึ่งทำให้เกาหลีใต้มีผลการแข่งขันชนะ 3 แพ้ 0 ผ่านเข้าสู่รอบ semifinal เป็นอันแน่นอน
การแพ้ต่อทีมเกาหลีใต้ถึงสองครั้งติดกันนั้นทำให้ความหวังที่ญี่ปุ่นจะเข้ารอบ semifinal เลือนรางเต็มทีพร้อมทั้งมีเสียงวิพากษ์จากหลายแหล่งข่าวกีฬาภายในและภายนอกประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในแง่ความประมาทในการประเมินทีมเกาหลีต่ำกว่าความเป็นจริง ซ้ำยังบั่นทอน ความเชื่อมั่นจากแฟนเบสบอลญี่ปุ่นต่อทีม OH JAPAN ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดของญี่ปุ่นในห้วงเวลาปัจจุบัน
ในขณะที่ผู้จัดการทีมเกาหลีใต้ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยความยินดีที่นำทีมมาถึงจุดนี้ได้ทั้งที่คาดหวังเพียงแค่ผ่านรอบแรกเท่านั้น เป็นความสำเร็จเกินความคาดหมาย ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศให้รางวัล "ยกเว้นการเกณฑ์ทหาร" แก่นักกีฬาทีมชาติเบสบอลที่นำชัยชนะเหนืออเมริกาและโดยเฉพาะญี่ปุ่นถึง 2 ครั้งติดกัน
แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นเมื่อทีมอเมริกาแพ้เม็กซิโกไป 1 : 2 ทำให้อเมริกา, เม็กซิโกและญี่ปุ่นมีผลการแข่งขันเหมือนกันคือชนะ 1 แพ้ 2 จึงตัดสินกันที่ผลคะแนน สะสมซึ่งปรากฏว่าทีมญี่ปุ่นได้ผ่านเข้ารอบ semifinal ไปเจอกับเกาหลีใต้เป็นครั้งที่สามและกลายเป็นนัดสำคัญที่มีความหมายต่อศักดิ์ศรีของทีมญี่ปุ่นพอๆ กับโอกาสผ่าน เข้าสู่รอบ final ซึ่งเพิ่มความกดดันต่อทีม OH JAPAN มากกว่าทุกนัดที่ผ่านมา
การเปิดเกมรุกและเตรียมเกมรับของทีมญี่ปุ่นในคราวนี้สะท้อนสภาพสังคมและการทำงานสไตล์ญี่ปุ่นในยามคับขันได้เป็นอย่างดี ทีมเวิร์กที่เล่นได้สอดประสานอันเกิดจากความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่ง ของผู้เล่นแต่ละคนที่หล่อหลอมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวแบบญี่ปุ่นรวมเข้ากับเทคนิคการเล่นที่สั่งสมกันมายาวนานกว่าศตวรรษเป็นประหนึ่งยุทธวิธีที่ทำให้ญี่ปุ่นชนะแบบขาดลอย 6 : 0 นั้นได้พิสูจน์แล้วซึ่งคำว่า "No Third Time Lucky" และได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปอย่างไร้ข้อกังขา
การแพ้ชนะก็เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันแต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือน้ำใจนักกีฬา กิริยาของกองเชียร์เกาหลีใต้ตลอด 4 ชั่วโมงในสนาม PETCO Park, San Diego ที่แพร่ภาพผ่านดาวเทียมไปยังผู้ชมทั่วทุกมุม โลกนั้นแสดงให้ถึง "ความพ่ายแพ้สมบูรณ์แบบ" ที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะในเกมซึ่งไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพการจัดโอลิปิคมาแล้วอย่างเกาหลีใต้จะเป็นได้ถึงเพียงนี้ นอกจากนี้ผู้เล่นของเกาหลีใต้ Myung Hwan Park ยังถูกตรวจพบการใช้ สารกระตุ้นที่ตกเป็นข่าวฉาวในคอลัมน์กีฬาตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลกอีกด้วย
ในรอบ final ซึ่งญี่ปุ่นต้องพบกับกระดูกชิ้นโตอย่างคิวบา ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีสมาคมเบสบอลอาชีพแต่คิวบามีศักดิ์ศรีแชมป์โอลิมปิกถึง 3 สมัยจากการแข่ง 4 ครั้ง ประสบการณ์อันเคี่ยวกรำของผู้จัดการทีม Sadaharu Oh วางกลยุทธ์ใหม่ซึ่งประเดิมให้ทีมญี่ปุ่นนำคิวบา 4 : 0 ตั้งแต่เกมแรก ก่อนที่จะชนะด้วยคะแนน 10 : 6 คว้าแชมป์ World Baseball Classic ครั้งแรกได้สำเร็จ
หากเทียบกับกีฬาประเภททีมชนิดอื่น ของญี่ปุ่นแล้วพูดได้ว่าญี่ปุ่นไม่ได้สัมผัสกับตำแหน่งแชมป์โลกมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล รักบี้ หรือแม้กระทั่งวอลเลย์ บอลซึ่งญี่ปุ่นสูญเสียตำแหน่งแชมป์โลกไปในช่วงเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกที่คงเหลือเพียงหนึ่งเดียวก็คือเบสบอล ซึ่งญี่ปุ่นต้องรักษาบัลลังก์นี้ไว้อย่างสุดกำลัง
ขอบคุณภาพสวยจาก Yahoo Japan, Asahi Shimbun
|