|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2549
|
|
ในยุคนี้ไม่ว่าใคร ประเทศไหนก็มิอาจปฏิเสธความร้อนแรง และพลานุภาพทางเศรษฐกิจของจีนได้ สถิติล่าสุดระบุว่าประเทศจีนกระโดดจากประเทศธรรมดาๆ เมื่อไม่กี่ปีก่อน ก้าวขึ้นมากลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอันดับที่ 4 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี แล้ว
ปี 2548 ที่ผ่านมา ตัวเลขการได้ดุลการค้าของจีนเท่ากับ 101,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (โดยส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ก็มาจากการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาลถึง 201,700 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นตัวบ่งชี้ได้ดีถึงการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจการค้าของโลกได้อย่างมหัศจรรย์ของจีน
นอกจากนี้ในปัจจุบันอาจถือได้ว่าไม่มีมุมไหนของโลกที่ไม่มีสินค้าตีตรา Made in China วางขาย เพราะมีสถิติบ่งบอกว่าทุกวันนี้ตู้เย็นร้อยละ 20 เครื่องซักผ้าร้อยละ 30 ถุงเท้าร้อยละ 40 รถจักรยานยนต์ร้อยละ 50 โทรทัศน์สีร้อยละ 55 ยาเพนนิซิลินร้อยละ 60 อุปกรณ์กีฬาร้อยละ 65 นาฬิการ้อยละ 75 รถแทรกเตอร์ร้อยละ 80 และกระดุมร้อยละ 95 ที่ชาวโลกใช้กันอยู่ทุกวันนี้ต่างก็ผลิตจากประเทศจีนนี้ทั้งสิ้น
แน่นอนว่าชาวจีนส่วนใหญ่ย่อมยินดีกับความเข้มแข็งของภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อันนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ความอยู่ดีกินดีของชีวิตโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามพวกเขาว่า พอใจหรือไม่กับสถานะของประเทศในการเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและโรงงานขนาดมหึมาของโลก? คำตอบก็คือ
"ยังไม่พอใจ!"
ที่ยังไม่พอใจ เพราะชาวจีนเองก็มองเห็นในจุดอ่อนที่ว่า ปัจจุบันประเทศตนเป็นเพียงแค่โรงงานประกอบสินค้าให้กับโลกเท่านั้น จีนไม่มีสถานะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลก และยังไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมหลักที่มีพลานุภาพในการกำหนดกระแสของโลกได้
ช่วงเกือบปีมานี้ ชาวจีนติดใจและปวดใจกับการเปรียบเปรยของป๋อซีไหล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประโยคหนึ่งที่กล่าวต่อหน้านักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ครั้งเมื่อถูกตั้งข้อหาว่าจีนทุ่มตลาดสิ่งทอ จนทำให้สหภาพยุโรปต้องตอบโต้ด้วยการลดโควตาสิ่งทอที่ผลิตจากจีน
ครั้งนั้นป๋อซีไหลโต้ตอบกับนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสว่า "กว่าจีนจะซื้อเครื่องบินโดยสารอย่างแอร์บัส A380 ได้สักลำหนึ่ง ก็ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานของลูกหลานชาวจีนในการผลิตเสื้อเชิ้ตกว่า 800 ล้านตัว..."
นอกจากนี้ในปี 2548 เหล่าปัญญาชนชาวจีนที่แต่เดิมก็รู้สึกหวั่นไหวอยู่แล้วต่อการไหลบ่าเข้ามาของภาพยนตร์ฮอลลีวูด หลังจากการที่รัฐบาลจีนขยายโควตาอนุญาตให้ภาพยนตร์จากตะวันตกสามารถเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์จีนได้มากขึ้น ก็ต้องรู้สึกตะลึงพรึงเพริดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อละครโทรทัศน์ "แดจังกึม" จากเกาหลีใต้ ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย และก่อกระแสความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมเกาหลีขึ้นมาในประเทศเกาหลีใต้ ที่ชาวจีนจำนวนไม่น้อยต่างก็รู้สึกมาตลอดว่าเป็น "วัฒนธรรมลูก" ของจีน
ภายใต้สภาวะเช่นนี้ ปัญญาชนบางส่วนกล่าวเตือนสติคนในชาติว่า แม้ทุกวันนี้ จีนได้ดุลการค้าอย่างมหาศาล แต่ดุลวัฒนธรรมก็ติดตัวแดงอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน และชาวจีนยังไม่ควรจะดีใจกับคำว่า Made in China แต่ควรจะให้ความสำคัญกับคำว่า Made by Chinese Culture มากกว่านี้
ปัญญาชนจีนบางส่วนใช้คำศัพท์เปรียบเทียบสถานะประเทศของตัวเองในปัจจุบันว่า เต็มไปด้วยฮาร์ดแวร์ แต่ไร้ซอฟต์แวร์ สำหรับฮาร์ดแวร์ ในที่นี้นั้นก็ไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทุน แรงงาน ส่วนซอฟต์แวร์ในที่นี้นั้น ชาวจีนเขารวบยอดเอาไว้ว่าคือ ความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม
ชาวจีนที่มีวัฒนธรรมยาวนานกว่า 5,000 ปี เหตุใดจึงกล่าวว่า ตัวเองขาดความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม?
นอกจากเหตุผลอย่างกว้างๆ ที่กล่าวไปแล้วว่า ทุกวันนี้สินค้าที่จีนผลิต-บริโภคจีนไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นผู้คิดค้น ไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ และไม่มีพลังในการกำหนดกระแสวัฒนธรรมของโลกดังเช่นที่ประเทศมหาอำนาจ ประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วไปควรจะเป็นแล้ว ยังมีตัวอย่างเล็กๆ แต่สามารถยืนยันได้ถึงสถานะที่ยังอ่อนแอของวัฒนธรรมจีนในเวทีระดับโลกได้อย่างดี
ในการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน ปี 2549 ครั้งล่าสุดนี้ เจ้าฉี่เจิ้ง สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองได้ตั้งกระทู้ ยกปัญหาเกี่ยวกับสภาวะการ "ขาดดุลหนังสือ" ของประเทศจีนขึ้นมาในที่ประชุม
โดยเจ้าฉี่เจิ้งระบุว่า ปัจจุบันดุลการนำเข้า-ส่งออกหนังสือของจีนโดยเฉลี่ยนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 10 ต่อ 1 หรือหมายความว่า ขณะที่จีนนำเข้าลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศมาตีพิมพ์ 10 เล่ม หนังสือจีนเองกลับส่งออกลิขสิทธิ์หนังสือจีนไปตีพิมพ์ยังต่างประเทศได้เพียง 1 เล่มเท่านั้น โดยสัดส่วนนี้จะยิ่งถ่างกว้างขึ้นไปเป็น 100 ต่อ 1 หากพิจารณาแต่ในส่วนของดุลการค้าหนังสือระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ข้อมูลจากนิตยสาร New Weekly ฉบับที่ 224)
นอกจากนี้สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมือง ยังแจกแจงรายละเอียดอีกด้วยว่า ในปี 2547 ประเทศจีนนำเข้าลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศรวม 10,040 รายการ ขณะที่ส่งออกเพียง 1,314 รายการ โดยในจำนวนนี้ 3 ประเทศคู่ค้าหนังสือสำคัญที่สุดของจีนก็คือ อันดับหนึ่ง สหรัฐฯ นำเข้าจำนวน 4,068 รายการ ส่งออก 14 รายการ อันดับสองอังกฤษ นำเข้า 2,030 รายการ ส่งออก 16 รายการ อันดับสาม ญี่ปุ่น นำเข้า 694 รายการ ส่งออก 22 รายการ ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของหนังสือจีนและคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 70 ก็คือ ฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่เมื่อพิจารณาตามประเภทของหนังสือนำเข้า-ส่งออกแล้ว หนังสือที่จีนนำเข้า โดยมากนั้นเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ ไอที การบริหารธุรกิจ มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ วรรณกรรม เป็นต้น ขณะที่หนังสือที่จีนส่งออกนั้นเป็นหนังสือการแพทย์แผนจีน กังฟู วรรณคดีจีน วัฒนธรรมจีน และหนังสือเรียน ภาษาจีน เป็นต้น
คนในแวดวงหนังสือจีนกล่าวว่า นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีน-วัฒนธรรมจีน-ภาษาจีน แล้ว หนังสือจีนส่งออกที่เหลือและพอจะได้รับการกล่าวขานจากโลกตะวันตกบ้างอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่อง Shanghai Baby หรือ Beijing Doll นั้น โดยลึกๆ แล้วความนิยมของชาวตะวันตกที่มีต่อวรรณกรรมเหล่านี้กลับมีสาเหตุหลักมาจากความสนเท่ห์ของชาวตะวันตกที่มีต่อสังคมจีนและผู้หญิงจีนรุ่นใหม่ มากกว่าความสนใจอย่างแท้จริงต่อวัฒนธรรมของจีนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดุลการค้าหนังสือ แม้จะเป็นเพียงดัชนีชี้วัดตัวเล็กๆ ถึงความอ่อนแอทางวัฒนธรรมจีน (ในความหมายของประเทศที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก) แต่ก็ใช่ว่าคนจีนไม่คิดจะลงมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ทางการจีนก็เริ่มดำเนินนโยบายเผยแพร่หนังสือจีนให้ออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติ ซึ่งวิธีหนึ่งในทางปฏิบัติของรัฐบาลจีน ก็คือ การส่งเสริมเงินทุนในการแปลหนังสือจีนดีๆ ให้เป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้ในปีนี้ (2549) มีรายงานระบุว่า รัฐบาลจีนจะให้เงินสนับสนุนในการแปล ตีพิมพ์และเผยแพร่หนังสือจีนอย่างน้อย 10 ล้านหยวน
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องหนังสือและการปลุกกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับคนในชาติแล้ว ในภาพรวม รัฐบาลจีนภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานการศึกษาภาษาจีนกลาง ยังได้ส่งเสริมให้มีการตั้ง "สถาบันขงจื๊อ" ขึ้นทั่วโลก โดยหวังว่าสถาบันขงจื๊อจะเป็นหัวหอกในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนในภาพรวม ไม่เฉพาะแต่เพียงภาษาจีนที่ในขั้นต้นถือว่าเป็นแรงดึงดูดหลักเท่านั้น
จากเป้าหมายตั้งต้น 100 สถาบันของรัฐบาลจีน ล่าสุดได้มีสถาบันขงจื๊อเกิดขึ้น แล้วทั่วโลกรวม 40 กว่าแห่ง (รวมถึงประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) โดยส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในจีนกับสถาบันการศึกษาในประเทศนั้นๆ
สำหรับเราชาวไทย นอกจากควรจะจับตามองว่ากระบวนการทวนกระแสอัสดงคตานุวัตร (Westernization) เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลวัฒนธรรมครั้งนี้ของจีนจะเป็นอย่างไรต่อไปแล้ว ก็น่าจะใช้การดำเนินการครั้งนี้ของจีนเป็นกระจก เพื่อส่องมองตัวเองว่าการวาดฝันในการเป็นเมืองหนังสือโลก ศูนย์กลางแฟชั่นแห่งเอเชีย ดีทรอยต์แห่งเอเชีย และอีกหลายๆ ฝันของเรานั้น ในความเป็นจริงแล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร
|
|
|
|
|