|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2549
|
|
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ เป็นคนชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ และเขาก็มีวิธีถ่ายทอดความชอบที่มีประโยชน์นี้ ลงไปสู่ลูกๆ ของเขา รวมถึงลูกน้องทุกคนในกลุ่มสามารถ ไม่เว้นแม้กระทั่งนักข่าว
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ เป็นชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่ยังเด็ก ยามว่างในสมัยเรียนหนังสือ เขามักเตะฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล รวมถึงลงแข่งกรีฑาในโรงเรียน
ความชอบนี้ติดตัวเขามาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้สื่อข่าวสายไอที ที่บ่อยครั้งเขามักชักชวนผู้สื่อข่าวเหล่านี้ ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อเล่นฟุตบอลแข่งขันกันแบบสนุกๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์
แม้ในยามที่เขามีกิจกรรมที่ต้องพาผู้สื่อข่าวเดินทางไปค้างแรมยังต่างจังหวัด เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เขาก็จะชวนผู้สื่อข่าวมาร่วมเล่นกีฬา ทั้งกีฬากลางแจ้ง และกีฬาในร่มที่อาจต้องใช้สมองมากกว่าแรงกาย
นอกจากงานบริหารบริษัทในกลุ่มสามารถ คอร์ปอเรชั่น แล้ว ปัจจุบันเขายังเป็นประธานชมรมฟุตบอลของสโมสรราชพฤกษ์ หมู่บ้านนอร์ธปาร์ค
ทุกวันนี้ เขาพยายามถ่ายทอดความชอบเล่นกีฬาลงไปสู่ลูกๆ ทุกคน ซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ
"ลูกคนโตเพิ่งจบ ป.4 ที่เซนต์คาเบรียล ตอนนี้กำลังชอบเล่นกอล์ฟ ตีได้ 100 กว่าหลาแล้ว" วัฒน์ชัยบอกกับ "ผู้จัดการ"
วัฒน์ชัยจัดว่าเป็นแฟมิลี่แมนตัวยงคนหนึ่ง แม้งานของกลุ่มสามารถจะมีมาก เพราะอยู่ในช่วงขยายตัวไปต่างประเทศ แต่เขาจะต้องพยายามหาเวลาว่างให้กับครอบครัว โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่เขามักจะพาลูกๆ ไปดูเขาเล่นกีฬา ที่ถ้าไม่ไปเตะฟุตบอล ก็ต้องไปตีกอล์ฟ
"ก็พาเขาไปด้วยทุกครั้งให้เขาได้เห็น เป็นการค่อยๆ ซึมความชอบนี้ลงไปในตัวเขา โดยที่เราไม่ต้องบังคับ ซึ่งเขาก็ค่อยๆชอบมากขึ้นเรื่อยๆ" เป็นวิธีการปลูกฝังจิตใจในการรักการเล่นกีฬาลงสู่ลูกๆ
"เวลาว่างให้เขาเล่นกีฬา ยังดีกว่าไปเล่นเกม" วัฒน์ชัยสรุป
ที่บ้านของเขายังมีห้องฟิตเนสส่วนตัว และคอร์ทแบดมินตัน สำหรับใช้ออกกำลังกายในยามว่าง โดยแต่ก่อนนี้ทุกเช้าเวลาประมาณ 7.30 น. เขาต้องเข้าไปเล่นฟิตเนสที่บ้านเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมายังที่ทำงาน
แต่ทุกวันนี้ กิจวัตรประจำวันของเขาเปลี่ยนไป เพราะมีภาระหน้าที่เพิ่มต้องไปส่งลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบเศษเข้าเนอร์สเซอรี่ ที่อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้ๆ กับอาคารซอฟท์แวร์ พาร์ค ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่กลุ่มสามารถ ทำให้เขาต้องเปลี่ยนจากเล่นฟิตเนสที่บ้าน มาเล่นในฟิตเนสคลับที่สร้างไว้ในสำนักงานใหญ่ของกลุ่มสามารถแทน
8 โมงเศษๆ ของทุกวันจันทร์-ศุกร์ หากไม่มีโปรแกรมที่ต้องไปประชุมข้างนอก หรือเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องเห็นวัฒน์ชัยในชุดกีฬา หิ้วชุดทำงานที่แขวนอยู่บนไม้แขวนเสื้อ เดินขึ้นมาบนชั้น 4 อาคารคลังสินค้า ซึ่งอยู่ด้านหลังของอาคารซอฟท์แวร์ พาร์ค
สถานที่ดังกล่าวถูกก่อสร้างและตกแต่ง ให้เป็นฟิตเนสระดับมาตรฐาน อุปกรณ์ต่างๆ มีครบครัน ไม่แพ้ฟิตเนสดังๆ ที่ขยายเครือข่ายสาขาไปทั่วทุกมุมของกรุงเทพฯ ในขณะนี้
"เฉพาะอุปกรณ์ที่มีอยู่ 47 ชิ้น มูลค่ารวมตกประมาณ 12 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าก่อสร้างตกแต่งสถานที่ ซึ่งมีทั้งห้องซาวน่า แบ่งตามเพศหญิงชาย และห้องเพื่อใช้เป็นสถานที่เต้นแอโรบิกกับเล่นโยคะ ถ้ารวมเข้า ไปด้วยก็ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท" เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลฟิตเนสคลับของสามารถบอกกับ "ผู้จัดการ"
อุปกรณ์ทั้ง 47 ชิ้น เป็นยี่ห้อ Life Fitness รุ่น Signature Seris Club 2 ซึ่งเป็นยี่ห้อและรุ่นที่ได้รับความนิยมใช้ในฟิตเนส ดังๆ หลายแห่ง
เขาลงทุนสร้างฟิตเนสคลับแห่งนี้ โดยหวังให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานในกลุ่มสามารถ จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพของพนักงานให้แข็งแรง พร้อมสู้งานหนักในช่วงที่กลุ่มบริษัทกำลังขยายตัว
ทุกเช้าวันทำงานตั้งแต่เวลาประมาณ 6.30 น. ถึง 8.00 น. ห้องฟิตเนสแห่งนี้จะคลาคล่ำ ไปด้วยพนักงานระดับต่างๆ ของกลุ่มสามารถ และจะแน่นอีกครั้งในช่วงเวลาเลิกงานตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ไปจนถึง 2 ทุ่ม
ส่วนตัววัฒน์ชัยเอง เขาจะเข้ามาออกกำลังกายในฟิตเนสคลับแห่งนี้ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ซึ่งนอกจากสาเหตุที่ต้องไปส่งลูกชายคนเล็กเข้าเนอร์สเซอรี่ให้เรียบร้อยก่อนแล้ว ที่เขาจำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการในช่วงสายๆ เพราะเกรงว่าถ้าเข้ามาใช้ในเวลาเดียวกับพนักงาน ทั่วไปแล้ว พนักงานเหล่านั้นจะเขินที่ได้มาออกกำลังกายร่วมกับผู้บริหารสูงสุด
"ต้องรอให้พนักงานส่วนใหญ่เขาเล่นเสร็จกลับขึ้นไปทำงานแล้ว ถึงจะได้เวลาของผม" เขาบอก
การตัดสินใจควักเงินลงทุนกว่า 20 ล้านบาท สร้างฟิตเนสคลับไว้ที่สำนักงานใหญ่ นอกจากความต้องการให้พนักงานในกลุ่มสามารถตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพแล้ว วัฒน์ชัย ยังมองว่าฟิตเนสคลับ ยังเป็นช่องทางในการสื่อสารกันของพนักงานตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปจนถึงระดับบริหาร ที่สามารถพูดคุยปรึกษาเรื่องงานกันได้ระหว่างการออกกำลังกาย
"ผู้บริหารจะได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานระหว่างการออกกำลังกาย แทนที่จะพูดกันห้องประชุมที่บรรยากาศดูเครียดหรือเป็นทางการเกินไป"
ฟิตเนสคลับแห่งนี้เปิดให้บริการมาแล้ว ประมาณ 1 ปี ซึ่งแม้ว่าทุกวันนี้ในช่วงเช้าและ เย็น จะมีพนักงานเข้ามาใช้บริการกันแน่นพอสมควร แต่ในความเห็นของวัฒน์ชัยมองว่า พนักงานยังให้ความสำคัญกับฟิตเนสคลับแห่งนี้น้อยไป อาจเนื่องจากแนวคิดที่เป็นเหมือนกับสวัสดิการที่ไม่เป็นการบังคับ
ช่วงหลัง เขาถึงกับประกาศผ่านทางเสียงตามสาย เวลาคุยกับพนักงานว่า น่าจะต้องเข้าไปใช้บริการให้มากขึ้นกว่านี้
"ต่อไปอาจต้องบังคับ"
ความชอบส่วนตัวในเรื่องกีฬาของวัฒน์ชัย นอกจากจะถูกถ่ายทอดเพื่อสร้างประโยชน์ต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดแล้ว เขายังสามารถผสมผสานเรื่องกีฬาเข้ากับธุรกิจของกลุ่มสามารถได้อย่างลงตัว
หลายปีมาแล้ว ที่กลุ่มสามารถเป็นผู้สนับสนุนหลักในการนำทีมฟุตบอลดังๆ ของพรีเมียร์ ลีก ประเทศอังกฤษ อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอาร์เซนอล เข้ามาแข่งขันกับทีมชาติไทย ซึ่งถือเป็นการใช้กลยุทธ์ sport marketing ในยุคแรกๆ
ข้อมูลข่าวสารเรื่องกีฬา ยังกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่เขามีให้บริการพร้อมกับการขายโทรศัพท์มือถือ i-mobile และในบริการ bug 1113
เรื่องกีฬากับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของผู้บริหารในกลุ่มสามารถ และธุรกิจของกลุ่มสามารถ คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกกันได้ออก
|
|
|
|
|