|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
หากกล่าวถึงกลยุทธ์ยอดนิยมในทิศทางของกิจการ ส่วนใหญ่จะนึกถึงกลยุทธ์ที่ใช้ในการเติบโตและขยายกิจการประเภท การเทคโอเวอร์ การควบรวม การทำพันธมิตรธุรกิจ การเอาท์ซอร์สซิ่ง เป็นหลักครับ เนื่องจากดูเหมือนน่าจะให้ผลตอบแทนต่อกิจการสูงกว่า แต่อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มักถูกหลงลืมไป ทั้งๆที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ กลยุทธ์การตัดทอนธุรกิจ ซึ่งก็คือ การตัดขายธุรกิจบางประเภทของกิจการทิ้งไป อาจจะเนื่องจากไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ตามความคาดหมาย หรือ ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้นๆอีกต่อไป หรือเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดจนกระทั่งทำให้ดีมานด์ลดลงอย่างมาก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เรียกกันว่า อุตสาหกรรมตะวันตกดิน (Sunset Industry) ทำให้การดำเนินงานในธุรกิจดังกล่าว เริ่มไม่น่าสนใจอีกต่อไป
หลายท่านอาจสงสัยว่า การตัดทอนธุรกิจนี้ เหตุใดจึงกล่าวว่าสามารถเพิ่มความมั่งคั่งของกิจการได้ ซึ่งก็เนื่องมาจากหากผู้บริหารสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างประสิทธิภาพ และกำหนดเวลาการตัดขายกิจการได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ได้ราคาที่ดี ส่งผลต่อกระแสเงินสดของกิจการที่เพิ่มขึ้นและสามารถนำไปใช้ในการทำนุบำรุงสร้างความแข็งแกร่งกับธุรกิจอื่นๆที่ยังมีศักยภาพสูงอยู่ของกิจการ หรือแม้แต่นำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาดสูง ทำให้สามารถขยายขอบเขตของธุรกิจได้ อัตราการเติบโตในผลตอบแทนอนาคตก็สูงตามมาด้วย เช่น ในกรณีของเครือซีพี ที่ได้ขายธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งโลตัส และแมคโคร
เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างมากจากการรุกรานจากกิจการยักษ์ใหญ่ค้าปลีกข้ามชาติต่างๆ และนำเงินทุนที่ได้กลับมาขยายการดำเนินงานในธุรกิจที่ตนมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพสูง ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจกลับมาได้
ลองพิจารณาผลการวิจัยจากบริษัท แมคคินซี่ ซึ่งได้สำรวจกิจการยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ปรากฏว่า กิจการที่ได้มีการวิเคราะห์และกำหนดจังหวะเวลาในการขายกิจการทิ้งอย่างเหมาะสม เทียบกับกิจการที่ปล่อยให้ธุรกิจของตนถึงจุดที่มีปัญหาจนต้องถูกขายทิ้งไปโดยปริยาย ซึ่งกิจการลักษณะแรกมีมูลค่าสูงกว่ากิจการหลังถึงประมาณ 30% ทีเดียวครับ เนื่องจากการเก็บธุรกิจที่ขาดศักยภาพในการเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับกิจการนั้น ส่งผลทางลบหลายประการคือ
ประการแรก การเก็บธุรกิจเดิม ที่มีศักยภาพลดลงและเติบโตช้าเอาไว้ อาจทำให้เป็นการสกัดกั้นโอกาสในการขยายไปในธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจมากกว่า เนื่องจากบ่อยครั้งผู้บริหารมองว่า ถึงแม้จะโตช้าแต่ก็ไม่เสี่ยงมากนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ตนคุ้นเคย และมีฐานลูกค้าที่แน่นอน ตนเองก็ไม่ได้ดิ้นรนอะไรมากทำธุรกิจแบบเดิมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นการทำให้กิจการเกิดความ “หนืด” ไม่ยอมลงทุนในธุรกิจใหม่อื่นๆที่มีศักยภาพสูงกว่า ทำให้เสียโอกาสในการขยายตัวไปอย่างน่าเสียดายครับ
ประการถัดมา เมื่อผู้บริหารของกิจการเริ่มหมดความสนใจในธุรกิจบางประเภทที่ตนกำลังทำอยู่ เนื่องจากไปสนใจกับธุรกิจอื่นที่น่าตื่นใจมากกว่า ทำให้เริ่มขาดความกระตือรือร้นการพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่ให้กับธุรกิจดั้งเดิมนั้น จนกระทั่งในระยะยาวธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ศักยภาพเริ่มหดหายไปในที่สุด เช่น กรณีของเจเนอรัล อีเล็กทริก ที่แจ็ค เวลช์ ได้ขายธุรกิจเครื่องปรับอากาศออกไป ทั้งที่ยังสามารถทำกำไรได้อยู่ แต่เป็นเพราะแจ็คหมดความสนใจในธุรกิจดังกล่าว ทำให้ไม่สนับสนุนเท่าที่ควร ธุรกิจนี้จึงหดหายไปเรื่อยๆ จนลูกน้องถึงกับบอกให้แจ็คขายธุรกิจดังกล่าวทิ้งไปก่อนที่จะเสียโอกาสและราคาจะตกมากไปกว่านี้
ดังนั้นจากผลของเหตุการณ์ต่างๆข้างต้นที่เกิดขึ้น ผู้บริหารจึงควรเริ่มให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการตัดทอนธุรกิจเช่นกัน โดยเริ่มจากการเฟ้นหาหน่วยธุรกิจที่จะต้องทำการตัดออกไปจากกิจการ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งต้องมีเกณฑ์ในการคัดเลือก คือ ศักยภาพของหน่วยธุรกิจนั้นในอนาคต
ซึ่งจะเป็นการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจนั้นในระยะยาว โดยปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น แนวโน้มของการแข่งขัน ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ความผันแปรทางด้านเทคโนโลยี กฎระเบียบและเศรษฐกิจต่างๆ อันจะส่งผลกระทบต่อ "กระแสเงินสด" ที่จะได้รับในอนาคต
หากมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าปัจจุบันจะยังเป็นธุรกิจที่สร้างเงินสดกลับมาน่าพอใจ ก็อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการขายทิ้งได้ เนื่องจากหากขายในขณะนี้ จะได้ราคาดีกว่าหากต้องขายอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังในกรณีของการขายธุรกิจทางด้านการสื่อสารของบ้านเราที่แม้ว่าขณะนี้ยังให้ผลตอบแทนสูงน่าพอใจ แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูงจากการเปิดเสรีทางการแข่งขันกับต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนอีกมหาศาลที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นาน จึงได้ตัดสินใจขายในขณะนี้ที่ได้ราคาดีที่สุด
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบของการตัดธุรกิจดังกล่าว ที่มีต่อธุรกิจอื่นๆในกิจการเดียวกันด้วย เช่น หากธุรกิจที่ไม่มีกำไรนั้น เป็นแขนขาทางการตลาดของธุรกิจอื่น หรือ เป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ต่อทั้งกิจการโดยรวม การตัดขายธุรกิจนั้นๆทิ้งไป จึงอาจส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อทั้งกิจการด้วย
เมื่อเฟ้นหาธุรกิจที่จะตัดทิ้งได้แล้ว ก็ต้อดงมีการสื่อสารให้บุคลากรทั้งหมดทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นในการตัดทอนบางธุรกิจที่ไม่สร้างมูลค่าต่อกิจการโดยรวมออกไป และพยายามทำให้เกิดผลกระทบต่อบุคลากรน้อยที่สุด รวมถึงอาจต้องมีการพิจารณาเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงกว่า เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตัวให้กับกิจการในอนาคต
ท้ายสุดนี้ อยากให้มองว่าการตัดทิ้งบางธุรกิจออกจากกิจการเป็นเรื่องของกลยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องของความผิดพลาดซะทีเดียวครับ เนื่องจากธุรกิจที่น่าสนใจในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันมาก เช่นในอดีตธุรกิจการบินสร้างผลตอบแทนสูงมาก แต่ในขณะนี้กลับตรงกันข้าม เนื่องจากการแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำ รวมถึงปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงาน โรคระบาด การก่อการร้าย ฯลฯ ทำให้หลายกิจการตัดขายธุรกิจการบินของตนทิ้ง ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นความล้มเหลวครับ หากว่าในช่วงที่ผ่านมา ได้ดำเนินธุรกิจจนได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าแล้ว เป็นต้น ดังนั้นหากผู้บริหารเริ่มมีการพิจารณานำกลยุทธ์การตัดทอนธุรกิจเข้ามาใช้ใน ก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อกิจการโดยรวมในระยะยาวครับ
|
|
 |
|
|