|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2549
|
|
แม้เวลานี้อาจยังไม่แน่ชัดว่าจะมีแบงก์ใดบ้างที่จะรับมาตรฐาน Basel II มาเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง แต่สิ่งที่ชัดเจนคือมาตรฐานนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินควบคุมความเสี่ยงได้ดีขึ้น
ปีนี้อาจเป็นเพียงปีเริ่มต้นที่คนทั่วไปจะได้ยินคำว่ามาตรฐาน Basel II ซึ่งเป็นกติกาใหม่ที่กำหนดขึ้นโดยธนาคารเพื่อการชำระบัญชี ระหว่างประเทศ (BIS) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำกับดูแลคุณภาพลูกหนี้ ในสถาบันการเงิน โดยคาดหมายกันว่า ในปี 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มนำมาตรฐานนี้เข้ามาใช้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในประเทศ
ด้านอัศวิน วราทร กรรมการบริหาร ที.เอ็น.อินฟอร์เมชั่นซิสเท็มส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บอกว่า มาตรฐาน Basel II นี้ จะเป็นการพลิกโฉมระบบการ บริหารเงินทุน และการจัดการความเสี่ยงของลูกค้าเป็นรายบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินทุน การเพิ่มผลกำไร จากการลดต้นทุนดำเนินงานของธนาคารลง อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ยังจะสามารถตั้งอัตราดอกเบี้ยได้อย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยง ของลูกค้าที่ไม่เท่ากัน
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในมาตรฐาน Basel II นี้ จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างเครื่องมืออันซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลประวัติของลูกหนี้ทุกราย ที่อาจต้องย้อนหลังไปราว 3-5 ปี เพื่อนำมาใช้จัดลำดับความเสี่ยงแบบรายตัว และป้องกันความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดกับตัวสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้
โดยน้ำหนักการบริหารความเสี่ยงนั้น จะถูกถ่วงตาม Guidelines สำคัญใน 3 เกณฑ์ คือ Credit Risk ซึ่งจะมีน้ำหนักสูงสุดถึง 60% ส่วน Operation Risk และ Market Risk นั้น จะถูกถ่วงด้วยน้ำหนักที่ลดหลั่นกันไปคือ 30% และ 10% ตามลำดับ
แต่เงื่อนไขหลายๆ ประการในมาตรฐาน Basel II นี้ ถือว่ามีความผ่อนปรนมากกว่าเงื่อนไขอื่นที่ BIS เคยทำมา เช่น มาตรฐานการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง จากที่ Basel II มุ่งเน้นเรื่องความสมัครใจของแบงก์และสถาบันการเงิน แทนการบังคับให้ทุกแห่งต้องเดินตามกติกาที่ BIS กำหนดขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความต่างของโครงสร้างในระบบการเงินในแต่ละประเทศ
เช่นเดียวกับรายละเอียดตัวปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ซึ่ง BIS ยินยอมให้ธนาคารชาติของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นได้เอง บนพื้นฐานที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรมตลาด และวัฒนธรรมการบริโภคของคนในประเทศ
Basel II อาจไม่ใช่แค่ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังถือเป็นอีกความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการด้าน IT จากความยุ่งยากในการปรับโครงสร้างฐานข้อมูลเดิมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และฐานข้อมูลใหม่จะมีขนาดที่ใหญ่โตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแบงก์ที่มีลูกค้ารายย่อยเป็นฐานในการทำธุรกิจ
การขยายระบบเพิ่มเติมแบบนี้ ต้องอาศัย Solution ใหม่ๆ ที่มีจุดเด่นในการทำงานหลากหลายภายใต้ชื่อ Basel II Solution ที่นอกจากจะสามารถบริหารความเสี่ยงที่สลับซับซ้อนได้อย่างเต็มศักยภาพแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างหลากหลาย ครอบคลุมการบริหารธุรกรรมแห่งอนาคต อย่าง Securitization ได้
รวมถึงสามารถแสดงรายงานได้ในแบบที่ต้องการ ทั้ง รายงานที่แสดงต่อบุคคลภายนอก และรายงานเพื่อการบริหารงานภายใน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมองเห็นทิศทางขององค์กร เพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงภายใน
ชาย แต่บรรพกุล กรรมการบริหาร ที.เอ็น.อินฟอร์เมชั่นฯ ให้ข้อมูลถึงระยะเวลาการดำเนินการจะยืดยาวเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของฐานข้อมูลประวัติลูกค้าทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่อยู่ในรูปกระดาษ ซึ่งแต่ละแห่งได้เคยบันทึกและจัดเก็บไว้ แต่โดยมาตรฐานในต่างประเทศจะอยู่ที่ 6-9 เดือนสำหรับข้อมูลด้าน Credit Risk และไม่น้อยกว่า 9 เดือนในส่วนที่เป็น Operation Risk
แต่เขาย้ำว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำให้บริการ Basel II Solution แบบครบวงจร เพราะก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ตกลงเลือกพันธมิตรทางด้านซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพระดับโลกอย่าง SAP และ RCS จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็น Solution ที่มีส่วนสร้างความสำเร็จให้แก่สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง Com-merzbank, FitchRisk, DaimlerChrysler Bank
"เราหวังว่ามันจะเป็นฐานรายได้ใหม่ของเราในปีนี้ เพราะมีแนวโน้มว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนี้สำหรับแบงก์ที่ใช้ Basel II จะสูงยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อยกระดับเทคโนโลยีเสียอีก" ชายกล่าว
บริษัท ที.เอ็น. อินฟอร์เมชั่นฯ บริษัทในเครือไทยสงวนวานิช 2489 จำกัด เคยร่วมงานกับสถาบันการเงินของรัฐในโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ อาทิ โครงการ ปรับปรุงระบบบริหารการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS), ติดตั้งระบบ Core Banking System ในธนาคารกรุงไทย และติดตั้งระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ในธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยรายได้ของทั้งเครือเมื่อปี 2548 มีทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท
|
|
|
|
|