|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2549
|
|
ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจที่กระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ภัทรลิสซิ่งวางแผนงานในปีนี้อย่างระมัดระวัง โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนเป็นอันดับแรก
ถึงแม้ว่าปี 2548 ที่ผ่านมา ภัทรลิสซิ่งจะเพิ่งได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร Forbes จากสหรัฐอเมริกาให้เป็น 1 ใน 11 บริษัทของไทยที่ได้รับรางวัล Asia's Best Under a Billion และเป็นบริษัทลิสซิ่งเพียงรายเดียวของไทยที่ได้รับรางวัล ซึ่งแสดงถึงคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินงานในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองถึงสถานการณ์ในปีนี้ เกริกชัย ศิริภักดี กรรมการผู้จัดการ ภัทรลิสซิ่ง ยอมรับว่าเป็นปีที่ต้องประคองตัว
"ปีนี้เรามองเรื่องการเติบโตเป็นอันดับรอง เราจะไม่ทำอะไรที่จะเพิ่มความเสี่ยงของเราโดยไม่จำเป็น" เกริกชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ภัทรลิสซิ่งทำธุรกิจหลักจัดหาทรัพย์สินให้กับผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลในรูปแบบลิสซิ่ง หรือการให้เช่าในลักษณะสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) โดยเน้นไปที่รถยนต์ ทั้งที่เป็นรถยนต์สำหรับผู้บริหาร รถยนต์ประจำสำนักงานและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ให้เช่ากว่า 7,000 คัน นับเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในธุรกิจนี้ โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ปตท., ยูโนแคล และบางจาก
นโยบายของปีนี้ที่จะไม่มุ่งเน้นเรื่องของการขยายตัวค่อนข้างสวนทางกับผลการดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ภัทรลิสซิ่งมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 33% เลยทีเดียว (ดูข้อมูลจากตารางประกอบ) และนโยบายนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการทำธุรกิจในปีนี้ของภัทรลิสซิ่งได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภัทรลิสซิ่งเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่ารายได้รวมจะเพิ่มขึ้น 11% จาก 1,412.52 ล้านบาทในปี 2547 มาเป็น 1,567.98 ล้านบาทในปี 2548 แต่ผลกำไรสุทธิกลับลดลงกว่า 8% โดยสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยลบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
"ปีที่ผ่านมามีแรงกดดันในด้านต้นทุนหลายเรื่อง ทำให้การขยายตัวทำได้ยากขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งหมดประดังกันเข้ามา จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ที่เกิดสึนามิ เพราะมันมีผลกระทบในช่วงต้นปี การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อย กำไรที่ลดลงก็น่าจะถือว่าใช้ได้ในบรรยากาศที่เป็นอย่างนี้" เกริกชัยกล่าว
ปัจจัยลบดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาในปีนี้ทำให้ภัทรลิสซิ่งตั้งเป้าการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรเอาไว้ที่ 5% เท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนให้ยังอยู่ในระดับที่สามารถทำกำไรได้ โดยเฉพาะต้นทุน ด้านการเงิน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจลิสซิ่ง โดยใช้รูปแบบของการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินระยะยาวเพื่อทำให้บริษัทมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารต้นทุนด้วยการนำเงินที่มีต้นทุนต่ำมาชำระคืนเงินที่มีต้นทุนสูงกว่า
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ก็คือในปีที่ผ่านมาภัทรลิสซิ่งได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร (Company Rating) และหุ้นกู้ไม่มีประกัน (Issue Rating) จากบริษัท ทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดอันดับของไทย ได้ปรับเพิ่มอันดับจาก BBB+ ขึ้นเป็น A- อันดับเรตติ้งที่ดีขึ้นนี้จะส่งผลให้ภัทรลิสซิ่งสามารถหาแหล่งเงินทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำลง โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของบริษัท
รวมทั้งได้มีการปรับโครงสร้างเงินทุนโดยเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 300 ล้านบาท ขึ้นเป็น 450 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt/Equity Ratio) ลดลงเหลือ 2.59 เท่าจากเดิมที่ 3.36 เท่า และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายงานของบริษัทในอนาคตด้วย
นอกจากผลการดำเนินงานที่มีกำไรอย่างสม่ำเสมอแล้ว ตั้งแต่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากว่า 10 ปี ภัทรลิสซิ่งมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่งดไป 2 ปี สำหรับปีที่ผ่านมามีการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท เทียบกับหุ้นละ 0.35 บาท ในปี 2547 และ 0.27 บาทต่อหุ้นในปี 2546
ผลการดำเนินงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภัทรลิสซิ่งได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล Asia's Best Under a Billion จากนิตยสาร Forbes โดยเกณฑ์การพิจารณารางวัลดังกล่าวมี 7 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1. เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2. มีรายได้ตั้งแต่ 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ 3. มีอัตราการเจริญเติบโตของกำไรสุทธิเป็นบวก 4. มีกำไรก่อนภาษีไม่น้อยกว่า 5% 5. มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลมากกว่า 5% ในช่วงระยะเวลามากกว่า 5 ปี 6. มีอัตราการเจริญเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 5 ปี มากกว่า 0% 7. ปราศจากผู้ถือหุ้นโดยหน่วยงานราชการ
แม้ผลกำไรและเงินปันผลของภัทรลิสซิ่งจะอยู่ในเกณฑ์สม่ำเสมอ แต่ราคาหุ้นกลับไม่ได้สะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาเลย ในปีที่ผ่านมาราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาที่ซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) อีกด้วย การที่ได้รับรางวัลจาก Forbes ในครั้งนี้อาจเป็นชนวนจุดความสนใจต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มาสนใจภัทรลิสซิ่งมากขึ้นและช่วยให้ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้นได้บ้าง
|
|
|
|
|