ศาลล้มละลายให้ทีพีไอพ้นแผนฟื้นฟู เดินหน้าสู่ทีพีไอยุคใหม่ ในเงื้อมมือปตท.และพันธมิตร ราคาจริงไม่ควรวิ่งเกิน 9 บาท โครงการใหม่ตัวชี้ขาดอนาคต งานนี้ปตท.มีแต่ได้กับได้ เขี่ย"ประชัย"พ้นทาง
หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) ตามคำร้องของผู้บริหารแผน โดยศาลเห็นว่าผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ครบถ้วนแล้ว โดยเฉพาะการชำระคืนหนี้ให้กับเจ้าหน้าที่และกิจการมีความมั่นคงมีกำไรที่ดีขึ้น และยังได้ยกคำร้องของผู้บริหารฝ่ายลูกหนี้ที่ขอให้ยกเลิกการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 เมษายน
เมื่อ 11 กรกฎาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) เมื่อ 11 กรกฎาคม 2546 และเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของกระทรวงการคลังเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2547 ให้มีสิทธิเด็ดขาดในการจัดสรรการขายส่วนทุนตามแผนทั้งหมด
จากนั้นได้มีการขายเงินลงทุนในบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด(มหาชน) เมื่อ 21 ตุลาคม 2548 เจ้าหนี้แจ้งให้ทราบว่าต้องการใช้สิทธิในการซื้อหุ้น ทีพีไอโพลีน ทั้งหมดจำนวน 249,007,294หุ้น ในราคาหุ้นละ 41.18 บาท ทำให้บริษัทได้รับเงินทั้งสิ้นเท่ากับ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทได้นำเงินดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ บริษัทจึงได้รับการปลดภาระดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดทันที
ถัดมากระทรวงการคลังได้จัดสรรหุ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ร่วมลงทุนหลักประกอบด้วยปตท. 31.5% กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ธนาคารออมสิน กองทุนวายุภักษ์ 1 รายละ 10% รวมเป็น 61.50% ที่เหลือเสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อ 13 ธันวาคม 2548 ที่ราคา 3.30 บาท ได้รับชำระเงินค่าหุ้นเป็นเงิน 57,909 ล้านบาท และนำเงินไปชำระหนี้ทำให้หนี้ค้างชำระเหลือเพียง 37,895 ล้านบาท
ที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลา 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 บริษัทได้ลดระดับการผลิตในปี 2549 ลงเหลือเฉลี่ยวันละ 178,000 บาร์เรลล์ เนื่องจากบริษัทจะทำการปิดโรงกลั่น 3 แห่ง เพื่อทำการซ่อมแซมในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 จึงประมาณการว่าอัตราการผลิตโดยเฉลี่ยปี 2549 จะต่ำกว่า 178,000 บาร์เรลล์ต่อวัน
บริษัทได้ต่อสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบระยะยาวโดยตรงกับผู้ผลิตน้ำมันดิบในประเทศตะวันออกกลางและในภูมิภาค เพื่อให้เกิดความแน่นอนและสม่ำเสมอในการจัดส่งน้ำมันดิบ ที่จะใช้ในการผลิตให้กับโรงงาน
ฝ่ายบริหารแผนฟื้นฟู ได้มีการนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันรุ่งขึ้นทันที(27 เม.ย.) แน่นอนว่าครั้งนี้คณะกรรมการชุดตัวแทนของกระทรวงการคลังจะต้องเข้ามาทำหน้าที่หลังจากทีพีไอพ้นจากแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วยพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา พละ สุขเวช อารีย์ วงศ์อารยะ และวีรพงษ์ รามางกูร ตัวแทนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คงหนีไม่พ้นวิศิษฎ์ ตันติสุนทร ตัวแทนจากธนาคารออมสิน จาก ปตท.ที่ปิติ ยิ้มประเสริฐ ที่จะรับหน้าที่บริหารงานเต็มตัว คาดการณ์ว่าคงไม่มีรายชื่อของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นกรรมการ
การปรับโครงสร้างหนี้หลังจากได้รับเงินเพิ่มทุน ขายเงินลงทุนในทีพีไอโพลีน และจัดการหนี้สินกับเจ้าหนี้ ทำให้ภาระหนี้ของทีพีไอลดลงไป 65% สัดส่วนหนี้สินต่อทุนปี 2548 ลดลงเหลือแค่ 0.39 เท่า ทำให้ทีพีไอสามารถล้างขาดทุนสะสม 72,929 ล้านบาทมาเป็นกำไรสะสม 29,538 ล้านบาท
จากนี้ไปหลังจาก ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทีพีไอ คาดหมายว่าจะมีการนำเอากระบวนการบริหารจัดการของปตท.มาร่วมใช้บริหารทีพีไอ และหนี้ที่เหลือราว 3.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีการรีไฟแนนซ์เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินลดลง
นักวิเคราะห์ประเมินว่า จากแผนปรับโครงสร้างหนี้ของผู้บริหารแผนของกระทรวงการคลัง ทำได้ดี แก้ปัญหาหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้เกือบทั้งหมด ทำให้เรื่องการออกจากแผนฟื้นฟูหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป
จากนี้ไปคงต้องรอดูแผนธุรกิจของทีพีไอยุคใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร เดินไปในแนวทางไหน แน่นอนว่าเมื่อ ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว อาจจะมีการใช้ทรัพยากรบางอย่างร่วมกัน แต่ถึงอย่างไรการได้ทีพีไอมาก็สร้างประโยชน์ให้กับปตท.อย่างมาก จ่ายค่าหุ้นแค่ 3.30 บาท มีส่วนต่างจากราคาในกระดานเกินกว่า 4 บาท เท่ากับว่างานนี้ได้อาณาจักรปิโตรเคมีที่ครบวงจรมาครอบครอง เพราะจากนี้ไปผลการดำเนินงานของทีพีไอจะส่งต่อไปยังผลการดำเนินงานของ ปตท.
"การออกจากแผนฟื้นฟูถือเป็นข่าวดี อาจมีแรงเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรกันมาก แต่ก็ต้องระวังเรื่องการเทขายทำกำไรเช่นกัน อีกทั้งข่าวดังกล่าวตลาดก็รับรู้และคาดการณ์มาระดับหนึ่งแล้ว ราคาหุ้นจึงไม่ควรเกิน 9 บาท หากจะปรับขึ้นเกินกว่านี้คงต้องรอดูแผนธุรกิจของทีพีไอกันอีกครั้ง"
|