Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2549
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ "มันเป็นเช่นนั้นเอง"             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 


   
search resources

โอฬาร ไชยประวัติ




ตลอดช่วงชีวิตของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เขามักสวมหมวกหลายใบ ทั้งถูกร้องขอและได้รับมอบหมายให้ไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน

แต่ตำแหน่งที่สร้างความบอบช้ำให้กับเขามากที่สุด น่าจะเป็นตำแหน่งที่เขาเพิ่งได้รับมาในระยะ 2-3 ปีนี้

ตำแหน่งที่ว่า ได้แก่ ตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น, กรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท., กรรมการบริษัทการบินไทย และตำแหน่งที่เป็นตัวเปิดประเด็นขึ้นมาคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน)

"ตามข้อเท็จจริง ขณะที่นายโอฬาร ไชยประวัติ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้น นายโอฬารเป็นกรรมการในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารและโทรคมนาคม จึงเป็นนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ. ที่มีระบบรับส่งข้อมูลประกอบด้วยเส้นใยแก้วนำแสง และต่อมาบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งบริษัท กฟผ.โทรคมนาคม จำกัด เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารทุกชนิด บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงมีประโยชน์ได้เสียกับกิจการของ กฟผ.และบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งนายโอฬารยังเป็นกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ กฟผ.ซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อีกด้วย นายโอฬารจึงเป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ. และบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) และมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามที่ระบุไว้ในมาตรา 17(5) ประกอบมาตรา 5 มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และตามหลักฐานประวัติของนายโอฬารที่ใช้ประกอบการพิจารณาออกคำสั่งแต่งตั้งก็ระบุการเป็นกรรมการดังกล่าวไว้ชัดเจน นายโอฬารจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท อันเป็นการขัดต่อหลักความเป็นกลาง ซึ่งผู้มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งได้รู้หรือควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามดังกล่าวแล้ว คำสั่งแต่งตั้งนายโอฬารเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจึงขัดต่อกฎหมาย และถือได้ว่าเป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรง จึงมีผลทำให้การกระทำใดๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสียไปทั้งหมด หรือไม่มีผลทางกฎหมาย"

(เนื้อหาคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ล้มการแปรรูปกิจการบริษัท กฟผ.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549)

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ดร.โอฬารเพิ่งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย โดยไม่ได้ให้เหตุผลของการลาออก

วันที่ 5 เมษายน สหภาพพนักงานบริษัทการบินไทย ประมาณ 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นำโดยสมศักดิ์ ศรีนวล รักษาการประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้มารวมตัวประท้วงที่สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถ.วิภาวดีฯ เรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารบริษัทรับผิดชอบกรณีการลาออกของ ดร.โอฬารโดยไม่ได้แสดงเหตุผล พร้อมเรียกร้องให้ทวงคืนสิทธิประโยชน์ที่เขาเคยได้รับ

การประท้วงดังกล่าว เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้สงสัยในการทำงานของคณะกรรมการการบินไทย ว่าเอื้อประโยชน์เส้นทางการบินให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ถือหุ้นโดยกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-ไทเป และเส้นทางอื่นๆ ภายในประเทศ นอกจากนี้ยังต้องการความชัดเจนในนโยบายเปิดเสรีทางการบิน เนื่องจากทำให้สายการบินต้นทุนต่ำโดยเฉพาะไทยแอร์เอเชียได้รับประโยชน์ ขณะที่การบินไทยได้รับความเสียหาย

"ดร.โอฬาร เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2487 เป็นบุตรชายคนเล็กในจำนวนพี่น้อง 3 คนของคุณพ่อลือ และคุณแม่ดำริห์ มีพี่สาวและพี่ชายอย่างละหนึ่งคน ชีวิตวัยเด็กของ ดร.โอฬาร เป็นครอบครัวที่อบอุ่นอยู่ที่จังหวัดแพร่ มีลูกชายหญิงอย่างละคนกับสุชาดา สุรพิบูล คือ น.ส.ทอแสง และนายฐิติพล พี่น้องของดร.โอฬาร ล้วนประสบความสำเร็จในชีวิตการงานที่ดีกันทุกคน

ทางด้านการศึกษานั้นถือว่ามีประวัติการศึกษาที่เยี่ยมยอด เป็นคนเรียนดีเลิศโดยจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จาก WHARTON SCHOOL UNIVERSITY OF PENNSYLVANIA, USA เนื่องจากจบปริญญาตรีในระดับเกียรตินิยมส่งผลให้สามารถต่อปริญญาเอกที่สถาบันเอ็มไอทีได้ โดยไม่ต้องเรียนปริญญาโท

ในส่วนการทำงานนั้นเริ่มงานครั้งแรกที่ฝ่ายวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2513 ใช้ชีวิตอยู่ที่แบงก์ชาติเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงได้ลาออกมาในตำแหน่งล่าสุดคือผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

หลังจากนั้นก็ได้มาเริ่มงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2525 ในตำแหน่งพนักงานบริหารระดับสูง หรือเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ คร่ำหวอดอยู่ในธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปีพอดี จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อปี 2535 สืบแทนธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่ลาออกไปเล่นการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์"

(จากล้อมกรอบประกอบเรื่อง "ดร.โอฯ รายวัน รับปรึกษาทั่วราชอาณาจักร" นิตยสารผู้จัดการมกราคม 2540)

ดร.โอฬารเป็นนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 2 ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าเพื่อนนักเรียนทุนรุ่นเดียวกับเขาล้วนจบอาชีพในช่วงท้ายการทำงานด้วยอาการที่บอบช้ำมากน้อยแตกต่างกัน

"เมื่อกล่าวถึงนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วก็ขออธิบายกันสักนิดหนึ่งว่า นักเรียนทุนรุ่นที่ 2 ของแบงก์ชาติตามนโยบายของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้น มีเพียง 3 คนเท่านั้นคือ เริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งได้ทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น จรุง หนูขวัญ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ และคนสุดท้ายก็คือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา

ส่วน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในปัจจุบันนี้ เป็นรุ่นน้องของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติอีกรุ่นหนึ่ง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นนักเรียนทุนของแบงก์ชาติ รุ่นที่ 3 และได้ไปเรียนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์"

(จากรายงานผู้จัดการเรื่อง "ในวันที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ต้องสูญเสีย" นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2529)

ชื่อของ ดร.โอฬารเป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะในหมู่นักธุรกิจมานานกว่า 20 ปี เริ่มจากการที่เขาเป็นคนแรกที่กล้าทำนายภาวะเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่านยุคตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2522-2526 ว่ามีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยในปี 2528 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นบวก

ผลจากการทำนายครั้งนั้น ทำให้สื่อต่างตั้งฉายาให้เขาเป็นโหรเศรษฐกิจ เขามักจะถูกผู้สื่อข่าวถามความเห็นต่อเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งเชิงมหภาค และจุลภาค

"ขอแจ้งให้ทราบด้วยนะคะว่าการแถลงข่าวของเราครั้งนี้จะไม่เป็นทางการอย่างที่หลายๆ แห่งเขาทำกัน ผู้บริหารของเราทุกคนที่จะมาพบขอให้ท่านทุกคนทำตัวเป็นกันเอง ใครอยากคุยปัญหาอะไรกับผู้บริหารคนไหนเชิญตามสะดวกค่ะ..." ทุกคนถึงบางอ้อ... ก็เมื่อสุภาพสตรีผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ช่วยอธิบายออกมาดังๆ นั่นแหละ

อีกชั่วอึดใจผู้บริหารก็ค่อยๆ ทยอยเข้ามาในห้องรับรองทีละท่านสองท่าน เริ่มต้นจากท่านแรกซึ่งคุ้นหูคุ้นตานักข่าวน้อยหน่อย คือประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ แล้วก็ตามมาติดๆ โดย ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการอีกท่านหนึ่งซึ่งดูเหมือนกว่าจะเดินพ้นประตูเข้ามาได้ก็แทบทุลักทุเลเต็มที เพราะกลุ่มนักข่าวตั้งกำแพงคำถามกั้นเป็นชั้นๆ"

(จากเรื่อง "เก๋ไปอีกแบบ ไทยพาณิชย์" มีท เดอะ เพรส นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2527)

เมื่อมีชื่อเสียง ทำให้เขาเริ่มออกไปมีบทบาทในวงกว้างขึ้นนอกเหนือจากตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงรัฐบาล

การสวมหมวกหลายใบของเขา ครั้งหนึ่งก็เคยสร้างปัญหาให้กับตัวเขามาแล้ว

"..ดร.โอฬารไม่เพียงแต่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศเท่านั้น แต่ถือว่ายังเป็นตัวแทนของสถาบันการเงินอย่างเต็มตัวในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ตามด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควบมาด้วย

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนทั้งเวทีการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การเป็นวุฒิสมาชิก เป็นคณะกรรมการนโยบายเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น

"ทุกตำแหน่งที่คุณโอฬารได้รับล้วนมีหน้าที่ล้นมือทั้งสิ้น แค่เฉพาะงานที่ไทยพาณิชย์เองสองมือก็จะเอาไม่อยู่แล้ว แถมตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยก็ไม่ใช่น้อย ซึ่งบทบาททุกวันนี้มากกว่าประธานในสมัยก่อนๆ เช่นการเข้าช่วยเหลือซื้อหุ้นในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) การมีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะตลาดหุ้น รวมถึงการร่วมกันแก้วิกฤติการณ์อุตสาหกรรมส่งออกที่มีปัญหา 19 รายการ" แหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวให้ความเห็น

และล่าสุดคือปัญหาเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้วิกฤติธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินเพื่อกระทุ้งให้ทางการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่ดิน และเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจอื่นๆ ด้วย

ในช่วงที่ ดร.โอฬารเล่นหลายบทเช่นนี้ ทั้งเป็นตัวแทนจากภาครัฐและตัวแทนของภาคเอกชน ทำให้ในบางครั้งก็มีคำถามเกิดขึ้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการธนาคารพาณิชย์บ้างเหมือนกัน เช่นกรณีที่ต้องมีการลงขันของธนาคารทั้ง 14 แห่งเพื่อช่วยฟื้นฟูธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้นมีแหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งในแวดวงธนาคารพาณิชย์กล่าวด้วยความหงุดหงิดว่า

"การที่สมาคมธนาคารไทยจะต้องลงขันในกองทุนพยุงหุ้นหรือกองทุนฟื้นฟูให้บีบีซีนั้น สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อนในตอนแรกอาจจะเกิดจากประธานสมาคมฯ ไปรับเรื่องมาโดยที่ยังไม่ได้หารือกับสมาชิกเลย ในแต่ละปีที่มีปัญหาเราต้องลงเงินไปทีละ 700-800 ล้านบาท เราก็เสียดาย แล้วยิ่งถ้าเป็นธนาคารขนาดใหญ่ก็ต้องลงขันมากตามสัดส่วนของสินทรัพย์ ถ้าในภาวะที่เศรษฐกิจดีก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ เราก็ต้องประคับประคองตัวเองอยู่เหมือนกัน แล้วปีนี้ลงเงินไปตั้ง 3 ครั้ง คือกองทุนพยุงหุ้น 5,000 ล้านบาท โครงการปล่อยกู้ให้โบรกเกอร์อีก 6,400 ล้านบาท และของบีบีซีอีก 7,000 ล้านบาท รวมแล้วปีนี้พวกเราต้องลงขันทั้งหมด 18,400 ล้านบาท ถึงขนาดบางรายลุกขึ้นคัดค้านก็มี"

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งในวงการธนาคาร กล่าวเสริมในเรื่องเดียวกันนี้ว่า "บางครั้งเราก็พยายามมอง ดร.โอฬารอย่างเข้าใจนะ แต่บางทีก็อดที่จะเกิดคำถามกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ได้ว่าสับสนหรือไร เช่นในฐานะที่ปรึกษาของนายกฯ หรือรัฐมนตรีคลังก็อาจจะถูกขอร้องให้ช่วยเรื่องกองทุนพยุงหุ้น หรือบีบีซี แต่ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยก็จะถูกสมาชิกขอร้องให้ช่วยมาต่อรองกับรัฐบ้าง แต่ ดร.โอฬารเหมือนอยู่ตรงกลาง โดนอัดมาจากทั้งข้างล่างและข้างบน แต่เพราะรับหลายบทอย่างนี้ภาพมันเลยซ้อนทับกันอย่างแยกไม่ออก"

(จากเรื่อง "ดร.โอฯ รายวัน รับปรึกษาทั่วราชอาณาจักร" นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2540)

"ภาวะงานล้นมือของ ดร.โอฬาร ในระยะหลังคงเข้าตาคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ จนกระทั่งการประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีประจิตร ยศสุนทร เป็นประธานกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ลงมติแต่งตั้งให้ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการของธนาคารฯ และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อนหน้าของธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้มาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2539 เป็นต้นไป

เหตุผลของประจิตรในการดึงธารินทร์มาคืนรังนั้น เขาบอกเพียงคร่าวๆ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารฯ เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญหน้าสู่ความยากลำบากในการบริหารงาน ขณะที่ ดร.โอฬารเองก็มีงานล้นมือทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และยังสวมหมวกหลายใบในเวทีการเมือง"

(เนื้อหาอีกตอนหนึ่งจากเรื่องเดียวกัน)

ดร.โอฬารลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2544 หลังเสร็จภารกิจในเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนของธนาคาร ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการ 14 สิงหาคม ตามนโยบายของธารินทร์ ที่ได้กลับเข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรอบใหม่

จากนั้นชื่อของเขาก็เงียบหายไปพักใหญ่ๆ จนมีชื่อกลับมาอีกครั้ง เมื่อมาช่วยงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งทางด้านการบริหารกิจการบ้านเมือง และเรื่องธุรกิจ

เริ่มจากตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงกรรมการในบริษัทต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วในตอนต้น ฯลฯ

แม้จะเป็นคนเหนือและเรียนชั้นมัธยมต้นจากเชียงใหม่มาด้วยกัน แต่สายสัมพันธ์ระหว่าง ดร.โอฬาร กับ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเริ่มขึ้นในช่วงหลัง เพราะที่เชียงใหม่ ดร.โอฬารจบจากโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย ซึ่งมีปรัชญาและแนวคิดแตกต่างจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นศิษย์เก่า

และสายสัมพันธ์นี้น่าจะมีที่มาจากหลายช่องทางด้วยกัน ช่องทางหนึ่งโดยผ่านทางพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย

"ภายใต้ความสัมพันธ์ในฐานะศิษย์เก่าร่วมสถาบัน MIT และร่วมอยู่ในมูลนิธิศึกษาพัฒน์ พารณ อิศรเสนา อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นผู้ทาบทามให้โอฬารเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร เพื่อสานงานต่อและคิดงานใหม่ โดยทักษิณ ชินวัตร แสดงความเห็นชอบ ก่อนที่พารณจะผันตัวเองไปจัดการงานวางระบบการศึกษาขั้นมูลฐานตามแนว construc-tionism กับโรงเรียนในโครงการหลายแห่ง"

(จากเรื่อง "นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร บทบาทวันนี้ของโอฬาร ไชยประวัติ" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2545)

อีกช่องทางหนึ่ง ผ่านทางอนันต์ อัศวโภคิน ต่อเนื่องไปถึงบุญคลี ปลั่งศิริ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของ พ.ต.ท.ทักษิณ

อนันต์และโอฬารนั้นมีความสนิทสนมกันมาอย่างยาวนาน

"อนันต์ และโอฬาร ทั้ง 2 คนเกี่ยวพันกันทั้งในแง่การทำธุรกิจ เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ที่มีความผูกพันสนิทสนมส่วนตัวมานานกว่า 10 ปี

ในเรื่องของเกมกีฬา ทั้ง 2 คนชอบกีฬาที่มีความท้าทายและความเร็วสูงคือเครื่องบินเล็กเหมือนกัน จนได้ร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทสยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ เช่นบริษัทสุพรรณิกา, บริษัทสยามปาร์ค และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ มีธงชัย จิระดิลก, ศุภเดช พูนพิพัฒน์, ชินเวศ สารสาส ร่วมเป็นกรรมการ

ส่วนในเกมธุรกิจทั้ง 2 ยังมีแนวความคิดไปในทางเดียว กันและได้กำหนดยุทธวิธีให้แบงก์ไทยพาณิชย์ กับแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไปลงทุนร่วมกันอีกหลายบริษัท..."

(จากเรื่อง "โอฬาร VS อนันต์ พันธมิตรตลอดกาล" นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2541)

ส่วนอนันต์กับบุญคลีนั้นเป็นศิษย์เก่าจากคณะวิศวกรรม ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกัน (วศ.11) และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทสนมกันอย่างยิ่ง

นอกจาก 2-3 ตำแหน่ง ที่เสมือนเป็นหมวกที่มีเผือกร้อนซ่อนอยู่ข้างในที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ทุกวันนี้ ดร.โอฬารยังสวมหมวกที่มีความหมายเชิงสังคมอีกหลายใบ อาทิ รองประธานมูลนิธิศึกษาพัฒน์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดร.โอฬารเพิ่งได้รับงานใหญ่ชิ้นใหม่ โดยได้เป็นประธานจัดงานฉลอง 100 ปี นามพระราชทานของโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย และเป็นประธานกองทุน 100 ปี 100 ล้าน ที่ต้องระดมทุนให้กับโรงเรียนเก่าของเขาให้ได้ 100 ล้านบาทภายใน 3 ปีนี้

ตำแหน่งนี้ เขาทำร่วมกับศิษย์เก่าปรินส์รอยอีกหลายคน 1 ในนั้นคือ น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุคต้น

ตำแหน่งนี้น่าจะเป็นหมวกใบใหม่ที่สวยที่สุดสำหรับ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แล้วในยามนี้ หลังจากที่เขาเพิ่งบอบช้ำกับหมวก 2-3 ใบที่เคยสวมใส่อยู่

"ระยะนี้เขาคงเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่บ่อยครั้งขึ้น เพราะนอกจากมีบ้านอยู่ที่นั่นแล้ว ภาระหนึ่งที่เขาทำด้วยความสุขใจก็คือการหาทุน 100 ล้านบาทให้ได้ภายใน 3 ปี เพื่อมอบให้โรงเรียนปรินส์รอยนำไปใช้เพื่อการศึกษารวมทั้งวางแผนการทำปรินส์รอย 2 เพื่อสร้างคนดีสู่สังคมต่อไป"

ประโยคสุดท้ายในล้อมกรอบเรื่อง "โอฬาร ไชยประวัติ กับความทรงจำอันมากมาย" ประกอบเรื่อง "ปรินส์ รอยแยลส์ ความหมายลึกซึ้งกว่า 100 ปี" ที่เพิ่งตีพิมพ์ในนิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us