วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2539 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งมิติใหม่ของธนาคารออมสิน
ธนาคารที่รับฝากเงินเริ่มต้นจาก 1 บาทแห่งเดียวของไทย
เพราะเป็นวันเข้ารับตำแหน่งใหม่ของ ดร.บุญญรักษ์ นิงสานนท์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
คนที่ 10 แต่เป็นผู้อำนวยการออมสินคนแรกที่มาจากคนนอก
"สำหรับวันแรกที่ผมเข้ามารับมอบงานในตำแหน่งผู้อำนวยการของธนาคารออมสิน
ซึ่งตั้งมายาวนาน ความตั้งใจแรก คือ เป้าหมายที่จะให้ธนาคารออมสินมีการทำงานที่ดีสนองตอบต่อคนไทยทั้งหมด
และการทำให้ธนาคารเป็นสถาบันที่สร้างความก้าวหน้าในอาชีพให้กับพนักงานทุกคนได้อย่างมั่นคง
สำหรับแนวทางการก้าวสู่การทำงานในอนาคตที่จะต้องแข่งกับสถาบันการเงินอื่น"
แถลงการณ์แรกของผู้อำนวยการ ธ.ออมสินคนใหม่ ในวันรับมอบงาน
นโยบายดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้อำนวยการคนใหม่ มองว่า ปัจจุบันในแวดวงของสถาบันการเงิน
แม้แต่ภาคเอกชนก็ถือเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง หลายแห่งมีการสร้างการผลิตใหม่
มีการปรับตัวพัฒนา เพื่อให้เข้าสู่ระบบแข่งขันของตลาดการเงินที่เข้มข้น สิ่งที่ทุกแห่งเน้น
คือ การพัฒนาระบบการทำงานที่ต้องเริ่มจากคน ซึ่ง ธ.ออมสินก็ไม่มีความคิดที่ต่างไปจากที่อื่น
เพราะผู้อำนวยการคนใหม่ประกาศว่า ต่อไปนี้ คนของธ.ออมสินต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม
และต่อไปในธ.ออมสินจะไม่มีลักษณะการทำงานคนเดียว
แม้รายละเอียดในฐานะคนใหม่อย่าง ดร.บุญญรักษ์ ยังต้องรอการปรึกษากับคณะกรรมการของธนาคารในการหารายละเอียดด้านการทำงาน
แต่สำหรับแผนการพัฒนาศักยภาพให้มีความคล่องตัวเพื่อการปรับตัวเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์
และสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นผลจากนโยบายการเปิดเสรีการเงินของรัฐบาล ธ.ออมสินได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ในด้านต่าง
ๆ ไว้แล้วโดยหลักการต่อไปนี้
ด้านการพัฒนาองค์กร ธ.ออมสินได้ปรับโครงสร้าง เพื่อวางรากฐานการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่การบริหารให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวในการประกอบธุรกิจของธนาคารเชิงพาณิชย์ โดยปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงานของธนาคารในภาพรวม
และเพิ่มหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารงานเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ส่วนของสำนักผู้อำนวยการเองก็มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเล็กน้อย คือ
จะเสนอให้มีรองผู้อำนวยการเพิ่มเป็น 2 คน แต่โครงสร้างอื่นก็ยังคงไว้เหมือนเดิม
คือ จากคณะกรรมการธนาคาร แยกเป็นสายบริหารมีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ แล้วแยกสายปฏิบัติงานเป็น
4 สาย คือ สายปฏิบัติการ สายธุรกิจ สายบริหาร และสายบัญชีการเงิน และอีกสายงานที่สนองตอบนโยบายรัฐบาลแบ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท
และคณะกรรมการจัดการโครงการฯ
ด้านการพัฒนาระบบงาน ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในหน่วยงานทุกระบบตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล
ปรับปรุงระบบการตรวจสอบภายใน ระบบงานสลากออมสินพิเศษ ฯลฯ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานสาขา
เพื่อให้บริการฝาก-ถอนต่างสาขาในระบบออนไลน์ได้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
โดยใช้เครือข่ายสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมให้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น โดยผู้อำนวยการคนใหม่
กล่าวว่า
"แม้ตอนนี้ ธ.ออมสิน จะขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่บ้าง แต่เรื่องของการมีน้ำใจ
และจิตสำนึกในการบริการลูกค้าจะต้องทำได้ดีไว้เสมอ เรายังคงรับเงินฝากเริ่มต้นที่
1 บาท และพร้อมที่จะนับเหรียญที่ประชาชนนำมาฝาก ในขณะที่ธนาคารอื่นไม่มีใครทำ
จุดเด่นนี้เรายังคงไว้แต่ก็มีแผนจะปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจเงินฝากโดยการเพิ่มรูปแบบเงินฝากและเงื่อนไขการให้บริการทางการเงินเพิ่มขึ้น"
การพัฒนาการตลาดครั้งนี้ยังรวมถึงการเพิ่มบริการธนาคารทางโทรศัพท์ ปรับปรุงการให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง
ๆ หรือบริการชำระเบี้ยประกันภัยบุคคลที่สาม รวมทั้งขยายตลาดการลงทุนหาผลประโยชน์
ซึ่งนอกจากการสนับสนุนเงินทุนแก่รัฐบาลในรูปแบบของการลงทุนในพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว
ยังขยายการลงทุนหาผลประโยชน์ในภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปในรูปของหุ้นกู้ หุ้นสามัญลงทุนในหน่วยลงทุนและการกระจายสินเชื่อต่าง
ๆ ทั้งสินเชื่อบุคคล เช่น สินเชื่อผู้ค้ารายย่อย สินเชื่อเคหะ ฯลฯ และสินเชื่อเอกชน
เช่น สินเชื่อสู่ภูมิภาค สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ฯลฯ
"การพัฒนาสินเชื่อดังกล่าว จากตัวอย่างสินเชื่อเพื่อการเคหะจากเดิมที่
ธ.ออมสิน แต่ละสาขา สามารถปล่อยกู้ต่อรายได้ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ถ้าเกินนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร
ต่อไปจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงการเพิ่มวงเงินอนุมัติ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่จะช่วยเพิ่มอำนาจการแข่งขันให้คล่องตัวและขยายการลงทุนระยะยาวให้มากขึ้น
เพราะเท่าที่ผ่านมา ธ.ออมสินมีการออมมากกว่าการปล่อยกู้ เพราะต้องทำตัวเป็นธนาคารของธนาคารอีกที"
ดร.บุญญรักษ์ กล่าวถึงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของธ.ออมสิน ซึ่งในอีกหลาย
ๆ ด้านยังต้องรอการปรึกษากับคณะกรรมการบริหารของธนาคารในรายละเอียด
สำหรับตัวเลขเงินฝากของธ.ออมสินในพ.ศ.2538 มียอดรวม 182,302.09 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 14.42% จากพ.ศ.2537 และปล่อยสินเชื่อเพียง 14,281.14 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ
3,090.97 ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาบุคลากร โดยกำหนดนโยบายหลักเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์เชิงพาณิชย์
มาอบรมพนักงานทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริษัท รวมทั้งสนับสนุนให้มีการศึกษาต่อในระดับต่าง
ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ผู้อำนวยการคนล่าสุด กล่าวว่า นโยบายที่วางไว้ทุกด้านของธนาคารล้วนตรงกับคำฝากฝังของรัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เรียกไปพบก่อนรับตำแหน่งว่า
ต้องการให้ตนดูแล ธ.ออมสิน ให้ดี โดยเน้นเรื่องความั่นคงพร้อมกับขยายงานออกไปให้ก้าวสู่เป้าหมายและนโยบายที่วางไว้ได้
ซึ่งโดยส่วนตัวผู้อำนวยการคนล่าสุดมีความตั้งใจว่า จะเริ่มจากเรื่องขวัญและกำลังใจของพนักงานเป็นเรื่องแรก
เพราะเชื่อว่า ทุกธรกิจต้องเริ่มจากคน ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด เมื่อคนพร้อมแผนงานต่าง
ๆ ก็จะก้าวไปได้อย่างมั่นคง รวมทั้งการผันระบบของธนาคารสู่รูปแบบของธนาคารพาณิชย์มากขึ้นตามเป้าหมายด้วย
งานใหม่ของ ดร.บุญญรักษ์ ในวัย 49 ปี คงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจสำหรับผู้เคยมีทั้งประวัติการเรียนทั้งระดับปริญญาตรีด้านบริหารการคลัง
จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการฑูตและกฎหมาย
และปริญญาเอกสาขาเดียวกับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์
สหรัฐอเมริกา ประสบการณ์ทุกสาขาที่ได้ศึกษามาจึงน่าจะช่วยได้มากกับการทำงานใหม่ในครั้งนี้
ประกอบกับประสบการณ์การทำงานในด้านต่าง ๆ อาทิ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ดร.พิจิตต
รัตตกุล ผู้จัดการฝ่ายแผนงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการกองวางแผนส่วนรวม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ปฏิบัติงานประจำรองนายกรัฐมนตรีเสนาะ
อูนากูล กรรมการสถาบันพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประสบการณ์เหล่านี้ คงจะเป็นส่วนเสริมการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่
10 ของ ดร.บุญญรักษ์ ได้เป็นอย่างดี และคงทำให้พนักงานธนาคารออมสินเริ่มงานกับนายใหม่ด้วยขวัญกำลังใจที่ดีอย่างที่ผู้อำนวยการคนล่าสุดหวังไว้ได้
โดยไม่ต้องหวั่นว่าเป็นคนนอก หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องหวั่นต่ออาถรรพ์ตัวเลข
13 เหมือนสถาบันการเงินระดับชาติ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย