แบงก์ชาติปรับลดประมาณการ เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 4.25-5.25% จากปัญหาการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวกลางมรสุมน้ำมันแพง-ดอกเบี้ยขาขึ้น เผยลดประมาณการการใช้จ่ายของภาคเอกชนลงเหลือ 3.5-4.5% และลดการลงทุนของภาคเอกชนเหลือ 7.5-8.5% พร้อมปรับลดสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐปีนี้ 26,600 ล้าน
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2549 ในอัตรา 4.25-5.25% จากการขยายตัวในอัตรา 4.47-5.75% ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดในไตรมาสแรกและระยะต่อไป มีนัยที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้านซึ่งกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
"เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี และอาจจะกลับมาดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี หากการใช้จ่ายเอกชนเริ่มกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยตามกราฟการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ธปท.ประมาณการว่า ไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ 5-6.5% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ 4-6% และลดลงในไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวในระหว่าง 3-4%"
นายบัณฑิตกล่าวว่า ตัวเลขจริงที่ออกมาใน 2 เดือนแรกของปีชี้ให้เห็นการส่งออกที่ขยายตัวได้ถึงได้ 18.9% สูงกว่าความคาดหมาย รวมทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 9.2% ตามการเร่งตัวของการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ดีขึ้นถึง 26.1% อย่างไรก็ตาม เห็นการชะลอตัวที่ชัดเจนของการใช้จ่ายและการลงทุนในภาคเอกชน โดยภายใต้การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ ปัจจัยหลักคือ ราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงขึ้น ธปท.ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบของโลกให้สูงขึ้นจากประมาณการเดิม โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะปรับสูงขึ้นเป็น 61.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก 57.5 เหรียญฯต่อบาร์เรลในการประมาณการครั้งก่อน
หวั่นน้ำมันดูไบ 69.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล
ธปท.ยังมองเผื่อด้วยว่า ในกรณีเลวร้ายราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอาจจะสูงถึง 69.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งกระทบในทุกภาคของเศรษฐกิจไทย ธปท.ได้ปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันปีหน้าเป็น 63 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จาก 56.3 เหรียญฯ อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการลงทุนที่ชะลอตัวลงของภาครัฐ และเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ ธปท.ได้ปรับลดประมาณการการใช้จ่ายของภาคเอกชนปีนี้ จากที่ได้คาดว่าขยายตัว 4-5% ลงเหลือ 3.5-4.5% และลดการลงทุนของภาค เอกชนปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 9.5-10.5% เหลือ 7.5-8.5%
"เรายังได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐภายใต้งบประมาณปีนี้ลง 26,600 ล้านบาท และลดการลงทุนของภาครัฐในปีหน้าลง 76,700 ล้านบาท เนื่องจากการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าจากเดิม รวมทั้งความไม่แน่นอนและความล่าช้าของการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ในปีนี้และปีหน้า และได้ปรับลดการใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2550 ลง 10,900 ล้านบาท ขณะที่คงประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐในปีนี้ไว้ที่ 2-3% เท่าการประมาณการครั้งก่อน แต่ปรับลดประมาณการลงทุนภาครัฐลงเหลือ 7-8% จาก 12.5-13.5% ในการประมาณการครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยปีนี้คือ การส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกจะแข็งค่าขึ้นมากถึง 4.1% และ ธปท.คาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก็ตาม เพราะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราที่ดีขึ้นจาก 4.2% ในครั้งก่อนเป็น 4.5% ในการประมาณการครั้งนี้ โดย ธปท.ปรับขึ้นประมาณการการส่งออกทั้งปีขึ้นเป็น 11-13% จาก 10-12% ในครั้งก่อน และปรับลดการขยายตัวของการนำเข้าลงจากการขยายตัว 8-10% ลงเป็นขยายตัว 7.5-9.5% และการส่งออกที่ดีขึ้นยังทำให้ประมาณการได้ว่าดุลการค้าจะขาดดุลลดลง จาก 7,000-9,000 ล้านเหรียญ เป็นขาดดุลการค้า เพียง 5,000-7,000 ล้านเหรียญ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจาก 2,000-4,000 ล้านบาทเป็น 0-2,000 ล้านบาท
สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น ธปท.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศจะมีแนวโน้มปรับลดลงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วจากไตรมาสแรกอีกแล้ว แต่จะลดลงได้จากฐานปีที่ผ่านมาที่อยู่ระดับที่สูง และการแข็งค่าของเงินบาท ที่ช่วยลดผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในระยะต่อไป โดยได้ปรับขึ้นประมาณการเงินเฟ้อทั่วไป ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.-5% จาก 3.5-5% ในการประมาณการครั้งก่อน แต่คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ 2-3% ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับการประมาณการครั้งก่อน ขณะที่เงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงครึ่งปีจะช่วยให้การใช้จ่ายในประเทศไตรมาสที่ 4 ฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ตาม การประมาณการครั้งนี้ยังมีความเสี่ยงทั้งด้านบวก และลบที่ต้องติดตาม โดยต้องติดตามความเสี่ยงของราคาน้ำมันที่ยังสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงต่อไปอย่างไร เพราะหากราคาน้ำมันสูงขึ้นไปในระดับหนึ่งย่อมจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ประเด็นที่สอง คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและความไม่สมดุลของระบบการเงินโลก จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินทุนและส่งผลให้ค่าเงินสกุลหลักของโลกและค่าเงินในภูมิภาครวมทั้งค่าเงินบาทมีความผันผวน ต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ปัจจัยในประเทศจะต้องดูแลในเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจจะลดลงกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งต้องจับตาดูผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศว่าจะส่งผลต่อความ สามารถในการชำระหนี้และหนี้ภาคครัวเรือนอย่างไรด้วย
|