Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน26 เมษายน 2549
น้ำมันพุ่ง-บาทแข็ง-ดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจไทยปี49 ทรุดยาว             
 


   
search resources

Economics




ในช่วงปลายสัปดาห์นี้...เป็นช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมหรือไตรมาสแรกของปี 2549 ออกมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายๆฝ่ายจับตามอง...เพราะนอกจากจะทำให้เห็นภาพในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้สามารถประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้ในอีกระดับหนึ่งด้วย...

ไตรมาสแรกเผชิญมรสุมทางการเมือง

ปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนให้ชะลอลงไปนั้น เป็นเรื่องของวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลายปีก่อน...เข้มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งมาถึงจุดร้อนแรงสุดในช่วงเดือนมีนาคมเชื่อมต่อต้นเดือนเมษายน โดยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2549 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมานั้น การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนได้ชะลอตัวลง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index) หดตัวลง 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จากที่ขยายตัว 0.9% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยลบต่างๆ ได้แก่ การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ผลของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน

ในขณะที่การชะลอตัวของรายการหลักๆของดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินซึ่งหดตัว 11.3% จากที่หดตัว 1.3% ในเดือนมกราคม ,ยอดขายรถจักรยานยนต์หดตัว 6.8% จากที่หดตัว 6.1% ในเดือนก่อนหน้า และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 5.7% ลดลงจาก 9.7% ในเดือนมกราคม

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกคงมีอัตราการเติบโตที่ดี เป็นผลจากการส่งออก ยังมีอัตราการเติบโตได้ดี โดยในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 23.3% เพิ่มขึ้นจาก 14.5% ในเดือนมกราคม หรือเท่ากับมีการขยายตัว 18.9% สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 15.3% จาก 0.4% ในเดือนก่อนหน้า หรือเท่ากับขยายตัว 7.4% สำหรับในช่วง ม.ค.-ก.พ. 49 โดยอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นของการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 49 นั้น เป็นผลจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วขยายตัวเพียง 5.95% เท่านั้น

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราการขยายตัวของการส่งออกดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยทางด้านปริมาณ โดยปริมาณการส่งออก (Export Volume) ขยายตัวร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับร้อยละ 9.9 ในเดือนมกราคม (โดยขยายตัวร้อยละ 14.6 สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี) ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของอัตราการขยายตัวของการนำเข้า เป็นผลส่วนใหญ่จากปัจจัยทางด้านปริมาณเช่นกัน โดยปริมาณการนำเข้า (Import Volume) ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 8.2 ในเดือนมกราคม (แต่ยังคงหดตัวร้อยละ 1.6 สำหรับในช่วง ม.ค.-ก.พ. 49)

นอกจากปัจจัยในเรื่องของการเมืองที่ทวีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องแล้ว เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งแม้จะยังไม่ร้อนแรงเท่าปัจจัยทางการเมือง แต่ก็ยังเป็นส่วนที่จะวางใจไม่ได้...

ดังนั้น การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจากปัจจัยทางการเมืองที่เป็นตัวการหลักที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนั้น คงจะเห็นได้จากตัวเลขที่ ธปท.จะมีการประกาศออกมาในช่วงปลายสัปดาห์นี้

บาทแข็ง-ราคาน้ำมันพุ่งกระหน่ำต่อ

...ช่วงรอยต่อของเดือนมีนาคมถึงเมษายนปัญหาทางการเมืองได้คลี่คลายลงไประดับหนึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนี้ได้ประกาศที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลัง การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน... แต่เศรษฐกิจไทยกลับรับผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจากสถานการณ์ตึงเครียดของสถานการณ์ในประเทศอิหร่าน...

...ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยไปอยู่ที่ระดับ 37.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 41 บาท เมื่อปลายปี 2548 หรือแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 8 และเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนถึงการรับรู้ข่าวดีของตลาดเงินไปแล้วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่คลี่คลาย หลังการประกาศไม่รับตำแหน่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าค่าเงินสกุลหลักของภูมิภาคโดยเฉพาะเงินเยนและเงินหยวนจะยังคงแข็งค่าขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตลอดปี 2549 เงินบาทไม่น่าที่จะแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลภูมิภาค โดยคาดว่าเงินบาทอาจจะปิดระดับ 38-39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ ปลายปี 2549 หรือคิดเป็นอัตราแข็งค่าร้อยละ 5.2-7.9 จากค่าปิด ณ ปลายปี 2548 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเงินบาทตลอดทั้งปี 2549 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 38.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 40.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราแข็งค่า ประมาณ ร้อยละ 3.9 จากปี 2548

ขณะที่ทางสภาหอการค้าไทยระบุการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากจนถึงประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เพราะหากเปรียบเทียบกับเงินสกุลเอเชียอื่นๆ เงินบาทไทยแข็งค่ากว่าเงินทุกสกุล คือ แข็งขึ้นกว่าร้อยละ 8 สาเหตุเนื่องจากการเก็งกำไรของนักลงทุนข้ามชาติ ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง ของประเทศ และเห็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามกลไก ตลาด เนื่องจากนักลงทุนมองว่า เงินบาทสามารถผลักให้ขึ้นลงและเก็งกำไรได้ง่าย เพราะภาครัฐไม่มีกำลังจะฝืน ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่ากว่านี้ จะมีผลกระทบทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวลดลง เนื่องจากภาคการส่งออกเติบโตลดลงเพราะขายสินค้าได้น้อยลง

โดยในเรื่องของการดูแลค่าเงินบาทนั้นไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกนั้น ทางกระทรวงการคลังจะมีการหารือกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท.อีกครั้งในวันที่ 27 เมษายนนี้ เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกถือเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา...ซึ่งยังคงต้องติดตาม ต่อไปว่าจะมีนโยบายออกมาอย่างไร...เนื่องจากมีการประเมินว่า ธปท.เองก็ต้องการที่ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น...

ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง จากกระแสวิตกเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์อิหร่านและปริมาณน้ำมันเบนซินสำรองของสหรัฐ โดยราคาน้ำมันดิบสหรัฐงวดส่งมอบเดือนมิถุนายนขยับขึ้น 1.48 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 75.17 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิถุนายนเช่นกัน ก็สร้างสถิติใหม่ที่ 74.79 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนขยับลงมาปิดที่ 74.57 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาน้ำมันขยับขึ้นจากระดับเมื่อ 4 ปีก่อนถึง 3 เท่า

...การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นปัจจัย หลักที่กดดันให้เงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับสูง และทำให้ ธปท.ยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ เศรษฐกิจด้วย... แม้ว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังนายทนง พิทยะ จะออกมากล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว...แต่ในเรื่องนี้ทางผู้บริหารของ ธปท.ยังไม่ได้มีการออกมา รับลูกแต่อย่างใด ยังยืนยันแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดิม...

ช่วงครึ่งปีหลัง ศก.ยังมีสิทธิฮวบได้

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามทางการได้วางเป้าหมายไว้...

ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังน่าจะอยู่ในอัตรา 4.0-4.5% แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างก็ตาม หากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมีความยืดเยื้อ ธนาคารก็จะมีการทบทวนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้

ทั้งนี้ ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงขึ้น ทำให้ทางการจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

"ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะยืดเยื้อหรือไม่คงต้องจับตาสถานการณ์ในประเทศอิหร่านเป็นหลั ก ซึ่งหากแก้ไขปัญหาได้เร็วก็ไม่น่าจะกระทบมาก" ดร.บันลือศักดิ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น มาก ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบและมีการชะลอตัวมากที่สุดน่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นน่าจะยังมีอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางปี โดยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 5.0%

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้เป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและมีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 5.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ก็มีแนวโน้ม ที่จะปรับไปถึง 9.0% แต่ไม่น่าจะเกิน 10%

ส่วนค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ก็ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยอาจจะไปแตะที่ 36.00 บาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไทยไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามได้ ทำให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศต่อไป

ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าปัญหาทางการเมืองจะคลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงต้องจับตาดูปัจจัยอื่นๆอย่างใกล้ชิด รวมถึงบทบาทของผู้บริหารนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศว่ารับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร... กับปัญหาของค่าเงินบาทและราคาน้ำมันที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปได้ง่ายๆ...   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us