เมื่อไอบีเอ็มจะไม่มีผลิตภัณฑ์ ที่เรียกว่า เมนเฟรม เอเอส 400 หรือ ริกส์
6000 อีกต่อไป จะมีเพียงคำว่า e-server
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลของอินเทอร์เน็ตมากแค่ไหน แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองทะลุถึงโอกาส
และจัดการกับสภาพแวดล้อมใหม่ ที่เกิดขึ้นนี้ได้ดีกว่ากัน
ไอบีเอ็ม ตั้งรับกับการมาของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ด้วยการวางทิศทางของการเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการค้าในโลกของอินเทอร์เน็ต
สร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ พัฒนาขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ แสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ
เพื่อสามารถตอบสนองกับการค้าในยุคอีคอมเมิร์ซ และคำว่า e-business ก็คือ
ผลิตผลที่เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ใหม่ ที่กลายเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของไอบีเอ็ม
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับการค้าโลกของ e-business ในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ที่มีขีดความสามารถ
ที่จะรับมือกับความซับซ้อนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปริมาณการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นหลายพันเท่า
การเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายนอกได้แบบไร้ขีดจำกัด จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ ที่ตอบสนองได้ทั้งความจุของข้อมูล
และความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล โดยไม่มีอุปสรรคในเรื่องมาตรฐานของเทคโนโลยี ที่แตกต่างกันของระบบ
หรือแม้แต่อุปกรณ์ปลายทางอย่างโทรศัพท์มือถือ เครื่องปาล์มทอป
" และนี่คือ เหตุผลที่เรามาแถลงข่าวในวันนี้" วนารักษ์ เอกชัย กรรมการผู้จัดการ
บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศถึงทิศทางใหม่ของไอบีเอ็มพร้อมกับ 15 ประเทศไอบีเอ็มเรียกโครงการนี้ว่า
March 1 ที่เกิดมาจากจากแนวคิดในการผสมผสานเทคโนโลยี และกระบวนการดำเนินงาน
เพื่อสนับสนุนโครงสร้างของการเข้าสู่e-business
ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาไอบีเอ็มจะทุ่มเทให้กับการวิจัย และพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถให้กับผลิตภัณฑ์
ใช้งบประมาณ ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พัฒนาผลิตภัณฑใหม่ๆออกมาปีละ
2,000 ชนิด แต่ก็ยังไม่พอสำหรับการทำธุรกิจในยุค e-business ความซับซ้อนของธุรกิจ ที่มากขึ้น
จำเป็นต้องอาศัย"วิธีการจัดการธุรกิจ"เข้าช่วย
และนี่ก็คือ เหตุผลที่ทำให้ ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ ที่คุ้นเคยกันมาหลายสิบปี
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเมนเฟรม หรือเครื่องระดับกลาง AS/400 หรือเครื่องระดับยูนิกส์
อย่าง ริกส์ 6000 จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อเรียกใหม่เหมือนกันว่า "IBM e-server"
ไอบีเอ็ม e-server ของไอบีเอ็ม จะถูกแบ่งแยกออกเป็นรุ่นตามลักษณะ และประเภทของการใช้งาน
ธุรกิขนาดกลาง และเล็ก จะเป็นรุ่น i แต่หากเป็นรุ่น z ย่อมาจากคำว่า zero
down time เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่องรับจำนวนธุรกิจ และข้อมูลอย่างมหาศาล
เครื่องในรุ่นนี้จะมาจากตระกูลเมนเฟรมแบบเดิม
ส่วนรุ่น t ใช้เทคนิคล้ำหน้า เน้นความทันสมัยของเทคโนโลยี ในขณะที่รุ่น
x จะเหมาะสำหรับองค์กรขนาดเล็กใช้อินเทล ราคาย่อมเยา
"ต่อจากนี้ ลูกค้าจะไม่ต้องไปจำว่า จะซื้อเครื่อง เมนเฟรม AS/400 หรือ
ริกส์ 6000 อีกต่อไป จะมีเฉพาะไอบีเอ็ม e-server เท่านั้น และเขาจะเลือกซื้อตามปริมาณงาน ที่เขาต้องการ"
วนารักษ์ อธิบาย
แน่นอนว่า การเปลียนแปลงชื่อยี่ห้อ (re-brand) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ
60 ปีของไอบีเอ็ม ไม่ใช่เพื่อสร้างความโดดเด่นในยุคสมัยของอีบิสซิเนส หรือการประหยัดงบโฆษณา
และการตลาดจากการโปรโมทยี่ห้อสินค้าเดียว
่เหตุผลที่มากไปกว่านั้น พัฒนาการของเทคโนโลยี บวกกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
พวกเขาจะรู้แต่เพียงว่า ความต้องการคืออะไร ไม่รับรู้ว่าจะต้องเป็นเครื่องเมนเฟรม
หรือมินิ หรือพีซี ขอแต่เพียงว่าตอบสนองความต้องการได้ในราคาที่เหมาะสม และนี่ก็คือโจทย์ของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์
ตลอด 2 ปีมานี้ ไอบีเอ็มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงสร้างระบบ
อี-บิสซิเนส ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ทองแดง ที่ใช้ได้กับเครื่องระดับยูนิกส์
และเอเอส 400 หรือ การสนับสนุนระบบปฏิบัติการใหม่ๆ อย่างลีนุกซ์ รวมทั้งการเปิดตัวสถาปัตยกรรม ที่เป็นการนำเทคโนโลยีเมนเฟรมเข้ามาไว้ใน
เซิฟเวอร์ของเครื่องพีซี ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่โลกใหม่
วิธีคิดแบบใหม่
ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของคำว่า e-business แต่ไอบีเอ็ม
ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวในสนามนี้ ซันไมโครซิสเต็มส์ คอมแพค เดลล์ ออราเคิล ซิสโก้ซิสเต็มส์
เป็นคู่แข่ง ที่เติบโตและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ความคาดหวังของไอบีเอ็ม ที่จะได้รับจากยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ก็คือ การที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่อยู่
ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี ไอบีเอ็มจะยุบโรงงานที่มีอยู่หลายแห่ง เหลืออยู่เพียงแค่โรงงานเดียว
ผลที่ตามมา นอกเหนือจากความ "ง่าย" ระยะเวลาที่สั้นลง และต้นทุนที่ถูกลงของลูกค้า
ในการที่จะได้รับจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ที่จะได้จากการปฏิวัติธุรกิจกระบวนการธุรกิจใหม่ ที่ไอบีเอ็มคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า